Skip to main content
sharethis


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย : วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2005 17:33น. 


 


กอส.ระบุมาเลย์ฯเปิดทางแก้ไขปัญหา 131 คนไทยทุกรูปแบบ  ย้ำน้อยใจทักษิณปฎิเสธเมินเจรจา  "บัลดาวี"ย้ำชัดหลักการรัฐชาติอิสลามไม่สนับสนุนแยกดินแดน ระบุพรรคปาส-อัมโนและรัฐกลันตันไม่ได้อยู่เหนือรัฐบาลกลาง วอนส่งกันตธีร์ถกเคลียร์ข้อคาใจ  ยันพรรคปาสสนับสนุนอิสลามสายกลางที่เน้นพัฒนาเมืองมากกว่า


 


หลังจากพรรคอัมโนของมาเลเซียได้เชิญให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฯเข้าร่วมในงานเทศกาลถือศีลอด ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ โดยนายวันนอร์จะใช้โอกาสนี้หารือส่วนตัวกับนายอับดุลลาห์ อาหมัด บัลดาวี  นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เรื่องการควบคุมตัว 131 คนไทย-มุสลิมนั้น


 


ผศ.วรวิทย์ บารู หนึ่งใน กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวว่า มาเลเซียพร้อมที่จะเจรจากับตัวแทนฝ่ายไทยเพื่อหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจากการเดินทางเข้าไปกับคณะของนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อไปพูดคุยกับนายอาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนายมหาเธร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกฯ มาเลเซียเมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า มาเลเซียอยากทราบว่าทางการไทยจะดำเนินการอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะท่าทีอันแข็งกร้าวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯรัฐมนตรี ทำให้เขารู้สึกน้อยใจว่า เหตุใดจึงปฎิเสธที่จะมีการเจรจาร่วมกัน


 


อย่างไรก็ตาม สำหรับท่าทีของพรรคการเมืองฝ่ายค้านของมาเลเซียอย่างพรรคปาสก็คงจะไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือสนับสนุนกลุ่มใดๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในประเทศไทย  เนื่องจากท่าทีดังกล่าวถือเป็นหลักการของชาติที่ผู้นำทางการเมืองในทุกยุคสมัยของมาเลเซียจะต้องไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อการแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทย


 


"มาเลเซียถือว่าเป็นเป็นหลักการของชาติ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีอับดุลรอซัค, ฮุสเซน ออน มาถึงมหาเธร์ จนถึงท่าน (อับดุลลอฮ์ บาดาวี) และท่านก็บอกว่าเป็นหลักการที่ยืนยันมาทุกรัฐบาลว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน" ผศ.วรวิทย์ กล่าว


 


ส่วนการคลี่คลายความตรึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างไทย-มาเลย์ฯนั้น  คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับวิธีการในการพูดคุยเพื่อจะกระชับความสัมพันธ์  และยอมรับว่าท่าทีนายบัลดาวีนายกรัฐมนตรีมาเลเซียฯที่พูดคุยกับประธาน กอส.ด้วยท่วงทำนองที่ดีมาก และพร้อมจะเปิดอกคุยกับทางการของไทยไม่ว่าจะเป็นอย่างเป็นทางการหรืออย่างไม่เป็นทางการ แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าทางการไทยจะพร้อมเมื่อไหร่


 


ผ.ศ.วรวิทย์  ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ในระดับหน่วยงานท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจทำได้ยาก หรือทำได้ก็เป็นเพียงการติดต่อปกติ แต่จะมากกว่านั้นไม่ได้หากไม่มีนโยบายมาจากข้างบน ยิ่งให้สัญญาณอย่างปัจจุบัน ข้างล่างก็คงไม่มีใครกล้า อย่างน้อยต้องมีนโยบายที่ชัดเจน


 


สำหรับพรรคปาสซึ่งอาจจะมีคนของเขาเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ก็ไม่เอาด้วย และความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้ คงไม่ใช่วิสัยที่เขาจะรับได้ นอกเสียจากรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งหมายถึงพรรคปาสที่ครองเสียงอยู่ในรัฐ


กลันตันจะยึดมั่นในหลักการดังกล่าวแล้วรัฐบาลกลางเองที่ยึดกุมโดยพรรคอัมโนเองก็ต้องยึดหลักการดังกล่าวด้วย ดังนั้นหากมองผ่านกรณีการอพยพของชาวบ้าน 131 คน ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐกลันตันจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ได้อย่างอำเภอใจและอยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลกลางแต่อย่างใด


 


ผ.ศ.วรวิทย์ กล่าวว่า  ผู้ที่เป็นคลังสมองให้พรรคปาสหลายคนที่รู้จัก ไม่ใช่คนประเภทสนับสนุนอิสลามแบบสุดโต่ง (Extremist) แต่สนับสนุนอิสลามสายกลาง (Moderate) ที่มุ่งพัฒนาบ้านเมืองไปพร้อมกับใช้หลักการอิสลาม โดยมีแผนที่จะเชื่อมต่อการพัฒนากับพื้นที่ 3 - 4 จังหวัดทางภาคใต้ของไทย ซึ่งถือเป็นทิศทางที่เริ่มปรับเปลี่ยนมา 5 - 6 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงหลังจากที่ดาโต๊ะ นิค อาซิสขึ้นเป็นผู้นำ


 


คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า หากมีการเจรจาพูดคุยกับตัวแทนของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย บุคคลที่ทางมาเลเซียค่อนข้างจะยอมรับคือนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากผู้นำมาเลเซียได้มีการพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ ยังคงเป็นคนใหม่ในสายตาของฝ่ายมาเลเซีย และก็ยืนยันไม่ได้ว่าหลังจากการพูดคุยแล้วจะนำไปสู่การปฏิบัติมากน้อยเพียงใด


 


เขาย้ำว่า สิ่งที่สำคัญที่ทางนายกรัฐมนตรีมาเลเซียพยายามเสนอคือการความเข้าใจกับความเป็นมลายูผ่านโครงสร้างของสิ่งที่เรียกว่า "โลกมลายู" หรือ "Malay World" ที่มีสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน ในฐานะที่เป็นญาติ พี่น้อง มีชาติพันธ์ ศาสนาที่เหมือนกัน ซึ่งต้องแยกแยะกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีอยู่ในพื้นที่และหากมีการพูดคุยเจรจากัน ผมคิดว่าประเด็นโครงสร้างของสังคมการเมืองในโลกมลายูอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ทางฝ่ายมาเลเซียหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกับทางเรา ส่วนเรื่องการช่วยเหลือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น เขาคงไม่คุยด้วยแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net