Skip to main content
sharethis


ภาพจาก www.manager.co.th


 


เป็นเรื่องตามฤดูกาลปกติสำหรับภาคใต้ในช่วงนี้ที่มีฝนตกหนักและมีน้ำท่วม แต่ไม่บ่อยนักที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่มากอย่างผิดปกติเหมือนในขณะนี้ ในช่วงแรกกรมอุตุนิยมวิทยาเองได้เตือนให้ระวังน้ำท่วมใหญ่แค่ในวันที่ 13-16 ธันวาคมเท่านั้น แต่ถึงวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ 21 ธันวาคมแล้ว ฝนและปริมาณน้ำอันมหาศาลยังไม่ลดลงเท่าไร


 


ร้ายไปกว่านั้น กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศซ้ำมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมอีกว่า ให้จับตาพายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้เอาไว้ เพราะตอนนี้กำลังเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตก และอาจจะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยในวันที่ 20-21 ธันวาคม แม้ตอนนี้มีข่าวว่า พายุดังกล่าวเปลี่ยนทิศทางไปแล้วแต่อาจมีผลกระทบต่อสภาพอากาศในภาคใต้ไปอีกระยะหนึ่ง


 


น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ปีก่อนเกิดอุทกภัยมากมายเกือบทั่วทุกมุมโลก หรือบางพื้นที่สภาพอากาศได้เปลี่ยนแปลงไปแบบกะทันหัน และความผิดปกติทางสภาพอากาศเหล่านั้นก็ลากยาวต่อเนื่องมาถึงปีนี้


 


ทำไมเรื่องดังกล่าวจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน หรือว่ามนุษย์เองเป็นผู้บีบคั้นให้โลกต้องใช้วิธีที่รุนแรงในการตักเตือนการกระทำบางอย่างที่กำลังเดินผิดทาง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ซึนามิเมื่อปีก่อน เหตุการณ์พายุเฮอริเคนแคทรินาที่ถล่มรัฐนิวออลีนส์ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หรือเหตุการณ์อื่นๆ


 


น้ำท่วมโลกในมือมนุษย์


สาเหตุของน้ำท่วมใหญ่ที่ภาคใต้ในครั้งนี้ นักวิเคราะห์ชี้ว่า อาจเกิดจากการที่โลกร้อนขึ้น แต่  ใคร ? ทำให้โลกร้อนขึ้น


 


ผศ.ไตรภพ ผ่องสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่   วิเคราะห์ว่าโลกร้อนขึ้น เพราะกลุ่มประเทศต่างๆ  พยายามฉวยโอกาสใช้พลังงานที่มีอยู่บนโลกมาใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจเป็นเวลานานจนทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย


 


"การที่สิ่งแวดล้อมต่างๆ ของโลกถูกทำลาย ย่อมส่งผลให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะปฏิกิริยาของน้ำซึ่งเป็นของเหลวที่ได้ระเหยขึ้นไปกระทบกับสภาวะของอากาศชั้นบน หลังจากที่มีการใช้พลังงานกันมากขึ้น เหตุผลดังกล่าวทำให้น้ำตามแหล่งต่างๆ เช่น น้ำในมหาสุมทร น้ำในทะเสสาบ รวมถึงน้ำในแม่น้ำลำคลอง ระเหยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศก่อนที่จะไปทำปฏิกิริยากัน แล้วกลายเป็นฝนที่ตกลงมาในจำนวนมหาศาล"


         


ส่วน นายภูเวียง ประคำมินทร์ ผู้อำนวยการส่วนตรวจวัดและเตือนภัยจากแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่าสภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดน้ำท่วมครั้งนี้ ผลกระทบจากโลกร้อนทำให้สภาพอากาศในทุกพื้นที่แปรปรวนและกลายเป็นปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งตอนเหนือของประเทศมาเลเซียตอนนี้ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน


 


"ปกติมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหากไม่รุนแรงจริงๆ จะไม่ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของชายแดนภาคใต้ จะป้องกันพื้นที่ไม่ให้เกิดฝนตกหนักจนมีปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน แต่ปีนี้เท่าที่ติดตาม ปรากฏว่าขณะนี้ประชาชน 3 จังหวัดเผชิญปัญหาระลอกที่ 3 แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี" นายภูเวียง กล่าวกับ "คมชัดลึก" เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2548


 


ความผันผวนนี้ทำให้ฤดูกาลในหลายระเทศเริ่มผิดปกติ โดยเฉพาะจีนจะมีหย่อมความกดอากาศสูง อิทธิพลนี้ทำให้แนวอากาศในประเทศเขตร้อนชื้นเช่นพื้นที่ภาคใต้ของไทย เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำลงเรื่อยๆ การก่อและกลั่นตัวของพายุหรือเมฆฝนจึงมีมากขึ้น ส่งผลให้ฝนกระหน่ำตกในพื้นที่อย่างไม่ลืมหูลืมตา และอนาคตภาคใต้มีโอกาสเผชิญหน้ามรสุม หรือพายุบ่อยขึ้น


เมื่อกลับมาทบทวนผลการวิจัยกรุงปารีส ที่ "ประชาไท" เคยนำมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 พบว่าสาเหตุหลักของโลกที่ร้อนคือ การมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในรอบ 650,000 ปี คือมีปริมาณสูงกว่าระดับที่เคยสูงสุดถึงร้อยละ 27


 


ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซค์เวลานี้สูงถึง 380 ส่วน ต่อ 1 ล้านส่วน (วิจัยโดยการขุดแกนน้ำแข็งลึกที่สุดในโลกในบริเวณที่เรียกว่า โดมคอนคอร์เดีย หรือโดมซี ทางตะวันออกของขั้วโลกใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิติดลบ 54 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งปี โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ยุโรปขุดลึกลงไปถึง 1,000 กิโลเมตร เพื่อนำแกนน้ำแข็งอายุ 650,000 ปี ขึ้นมาวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการประเมินอายุจากชั้นของหิมะที่ตกทับถมกันในแต่ละปี)


 


ทั้งนี้ เมื่อนักวิจัยเปรียบเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตอนนั้นมีความเข้มข้นเพียง 278 ส่วน ต่อ 1 ล้าน ปริมาณที่สูงขึ้นนี้ ทำให้ส่วนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเฉลี่ย 0.2 องศาเซลเซียส คิดเป็น 100 เท่า ของการเพิ่มขึ้นในอัตราปกติสำหรับช่วงเวลาสั้นๆ และคาดกันว่าปีนี้จะเป็นปีที่อุณหภูมิโลกสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วย


 


นักวิทยาศาสตร์จึงเตือนไว้ตั้งแต่ตอนนั้นว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด โลกอาจจะไม่น่ารักกับเราอีก หากปล่อยไว้โลกอาจจะตอบแทนมนุษย์ด้วยการทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมืองชายฝั่งจมหาย เกิดน้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง พายุรุนแรง และเกิดคลื่นผู้ลี้ภัยหนีสภาพอากาศจำนวนหลายสิบล้านคน


 


ถึงตอนนั้นก็ไม่รู้ว่านักโบราณคดีจะขุดเรือโนอาห์บนเทือกเขาอารารัตมากอบกู้สรรพชีวิตและรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์ไว้ได้อีกครั้งหรือไม่?


 


การงอนง้อโลกของมวลมนุษย์


เมื่อวันที่ 28 พ.ย. - 9 ธ.ค.  48  สหประชาชาติเริ่มเห็นอันตรายของการที่โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ จึงเปิดเวที "ประชุมรับมือภาวการณ์โลกร้อน (UN Framework Convention on Climate Change : UNFCCC)" ที่นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยมุ่งไปที่การตกลงกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ตัวการทำน้ำแข็งขั้วโลกละลาย และกดดันเจ้าโลกอย่างสหรัฐฯตัวการในการผลิตมลภาวะมากที่สุดในโลก ให้เข้าร่วมข้อตกลงพิธีสารโตเกียว


 


เพราะหากพิธีสารนี้ได้รับการนำไปปฏิบัติและประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ คาดว่าจะสามารถลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้ถึงประมาณ 0.02 - 0.028 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050


 


อย่างไรก็ตามประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา ยังคงดื้อดึงที่จะทำลายโลกน้อยใบนี้ต่อไปด้วยการถอนตัวออกจากข้อตกลงพิธีสารนี้ตั้งแต่ปี 2001 โดยให้เหตุผลว่า หากจะให้ทำสำเร็จตามพิธีสารเกียวโตจะต้องใช้งบประมาณสูงมาก
        


สุดท้ายผู้แทนสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมประชุมก็ต่อรองว่า ขอเข้าร่วมการลดปริมาณก๊าซช่วงหลังปี 2012
เอาเป็นว่า การประชุมดังกล่าวยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม แต่ที่เห็นผลเป็นรูปธรรมแล้วคือสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทยขณะนี้


 


ประเทศไทยก็ทำร้ายโลก


แม้จะกล่าวได้ว่าโลกร้อนเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและผลกระทบถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ แต่ประเทศไทยเองก็สร้างปัจจัยภายในที่ทำร้ายตัวเองโดยการสร้างนโยบายการพัฒนาประเทศแบบทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายโครงการ


 


รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล นักวิทยาศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา ที่ทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นปัจจัยสำคัญภายในประเทศที่ทำให้น้ำท่วมในใหญ่ในจังหวัดสงขลา แต่คนทั่วไปอาจไม่ได้นึกถึงประเด็นนี้มากนัก


 


ร.ศ. เริงชัย กล่าวต่อว่า โครงการท่าเรือดังกล่าวสร้างมา 20 ปีแล้ว แต่เมื่อต้นปีมีการสร้างเพิ่มเติม จนขวางทางระบายน้ำ ทำให้น้ำระบายได้ช้าลง ในเวลาฝนตกปกติ อาจไม่เห็นผลกระทบมาก แต่เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินภาวะปกติ น้ำระบายไปไหนไม่ได้ น้ำทะเลก็หนุนท่วมขึ้น ตัวเมืองสงขลาที่ติดทะเลและน้ำไม่เคยท่วมนานก็ท่วม เพราะท่าเรือขวางการระบายน้ำ


 


"แม่ผมอายุ 79 ปีแล้ว อยู่ที่สงขลามาตลอดก็บอกว่า ยังไม่เคยเห็นน้ำท่วมสงขลาขนาดนี้มาก่อน ที่เห็นชัดอีกพื้นที่คือ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง  น้ำทะเลหนุนเข้ามากวาดบ้านไป 36 หลัง เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิด น้ำที่ไม่ไหลเวียนและท่วมนี้เกิดที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาด้วย" รศ.เริงชัยกล่าว


 


ทั้งนี้ ปัญหาท่าเรือน้ำลึกสงขลาขวางทางน้ำเป็นเรื่องที่ชาวบ้านในพื้นที่เคยตระหนักถึงและคาดการไว้แล้วแต่ไม่ได้รับการรับฟัง เพราะตอนนั้นเป็นการมองในเรื่องปากท้องของชาวบ้านมากกว่าผลกระทบด้านอุทกภัย


 


ย้อนกลับไปดูข้อมูล เมื่อปีก่อน วันที่ 11 กันยายน มีการล่ารายชื่อชาวบ้านเพื่อเสนอกรมเจ้าท่า จังหวัดสงขลา ให้ทำการแก้ไขปัญหาการสร้างท่าเรือขวางทางน้ำมาแล้วครั้งหนึ่ง


 


ตอนนั้นชาวบ้านพบว่ามีการสร้าง คันกั้นตะกอนบริเวณท่าเรือเพิ่มขึ้น ทำให้มีปัญหาการไหลเวียนของน้ำ ซึ่งเดิมการสร้างท่าเรือก็มีปัญหาแบบนี้อยู่แล้ว ชาวบ้านจึงต้องการให้เจาะท่าเรือให้น้ำไหลสะดวกขึ้น และให้รื้อคันกั้นตะกอนออกไป


แต่ปัญหาดังกล่าวยังคงยืดเยื้อและเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นจากการที่น้ำทะเลเริ่มกลืนแผ่นดินและกัดเซาะชายฝั่ง


 


เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนปีนี้ นางสาวเบญจวรรณ เต็งหนู ผู้ประสานงานโครงการศึกษาผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและบทบาทสตรีในชุมชนประมงทะเลสาบสงขลากรณีท่าเรือน้ำลึกสงขลา ระบุว่า การที่ท่าเรือน้ำลึกสงขลาสร้างยื่นลงไปในทะเล ทำให้หาดแก้ว อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง จนที่ดินกว่า 70 ไร่ ของธรรมสถานหาดทรายแก้ว เหลือไม่ถึง 4 ไร่


 


ส่วนข้อมูลของชุมชนประมงบ้านที่สำรวจผลกระทบของท่าเรือน้ำลึก ตั้งเดือนสิงหาคม 2547 ถึงต้นปี 2548 ยืนยันการก่อสร้าง ท่าเรือน้ำลึกสงขลาตรงปากน้ำทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่ปี 2528 ได้ปิดทางไหลของกระแสน้ำในทะเลสาบสงขลาจริง โดยท่าเรือน้ำลึกดังกล่าวทำให้ปากทะเลสาบแคบลงเหลือเพียง 400 เมตร  แม้แต่ปลาหลายชนิดก็ไม่สามารถว่ายทวนน้ำเข้าไปวางไข่ในทะเลสาบสงขลาได้


 


จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีความเสียหายจากน้ำท่วมจนถึงขั้นต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทั้งจังหวัด เมื่อวันที่16 ธันวาคม


 


ในพื้นที่ดังกล่าวก็มีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังและการจัดการชายฝั่งที่ทำลายชายหาดเช่นกัน ดังนั้นเป็นไปได้ว่าการที่น้ำท่วมจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างรุนแรงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาที่ไม่รอบคอบ


 


ทั้งนี้ นายดำรงค์ โยธารักษ์ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่าปัจจัยการทำลายชายหาดที่สำคัญได้แก่การวาง ตัว T กันคลื่น วางท่อสูบน้ำป้อนนากุ้ง  ขุดลอกร่องน้ำปากคลอง  ปิดประตูเขื่อนอุทกวิภาชประสิทธิ์


 


ปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง ถึงตำบลหน้าสตน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะทาง 59 กิโลเมตรจากข้อมูลเดือนกันยายน 2547 พบว่าชายฝั่งบริเวณดังกล่าว ถูกน้ำทะเลกัดเซาะไปแล้ว 3,917.5 ไร่ โดยจุดที่ถูกกัดเซาะมากที่สุด ลึกเข้าไปในแผ่นดินประมาณ 200 เมตร


 


ทั้งนี้ การทำลายดังกล่าวทำให้ปัจจุบันกระแสน้ำจากแม่น้ำปากพนังไม่แรงพอที่จะผลักกระแสน้ำจากทะเล ซึ่งนำทรายมาด้วยออกไป ผลที่ตามมาคืออ่าวปากพนังตื้นเขิน


 


ที่ยกมาเป็นเพียงบางตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่มุ่งไปทางวัตถุและธุรกิจ ยังมีอีกหลายโครงการที่ตอนนี้ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือหากมีก็ไม่ยอมรับว่ามี เพราะผลประโยชน์อันมหาศาลบังตา ไม่รู้ว่าความสูญเสียที่เกิดจากธรรมชาติที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องในระยะนี้จะทำให้วิธีคิดด้านการพัฒนาเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง


 


บทเรียนธรรมชาติที่คงไม่มีใครจำ


หลังเหตุการณ์ซึนามิผ่านไปจนเกือบครบรอบหนึ่งปีในวันที่ 26 ธันวาคมที่จะถึงนี้ สิ่งที่รัฐสนใจมากที่สุดคือทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวฟื้น เพื่อให้มีเงินเข้ามามากที่สุด สิ่งก่อสร้างของนายทุนบนชายฝั่งคือสิ่งที่รัฐยกมาพัฒนาเป็นอันดับต้นๆ แต่สิ่งที่ลืมไปแล้วคือการคืนธรรมชาติให้ดูแลธรรมชาติ เมื่อปีก่อนหากยังมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์กว่านี้ ความสูญเสียจะน้อยกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ ขอฝากไว้เป็นคำถามที่ไม่ขอคำตอบ


 


หลังน้ำท่วมภาคใต้ครั้งนี้ เส้นทางที่เราเลือกพัฒนาคงไม่ต่างกับหลังจากเหตุการณ์ซึนามิ อีกไม่นานเราคงลืมกันว่า แท้จริงแล้วธรรมชาติยิ่งใหญ่และมีพลังในการทำลายมนุษย์มากแค่ไหน ความเย่อหยิ่งจองหองที่คิดว่าจะเอาชนะธรรมชาติได้ ทำให้เราทำร้ายธรรมชาติอย่างบ้าคลั่ง สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นย้อนกลับมาทำลายตัวเราเองไปกี่ครั้งแล้ว


 


มวลมนุษย์เอ๋ย จำไว้เถิดว่าเมื่อโลกเจ็บปวด พวกเจ้าจะเจ็บปวดมากว่าเป็นร้อยเท่าพันทวี!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net