Skip to main content
sharethis

 


นับแต่เริ่มมีการเปิดเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐ  กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็ดังระงมขึ้นจากองค์กรประชาสังคม


และนักวิชาการต่างๆ ทั้งในเรื่องของกระบวนการเจรจาที่ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาการเจรจา ที่จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย


สำคัญ ๆ ภายในประเทศหลายฉบับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา และการเปิดเสรี


การบริการและการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่ผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างรุนแรงในหลายๆ ประเด็น


 


สุพาณี  ธนีวุฒิ  ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์และนโยบาย มูลนิธิชีวิตไท  ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นเสียงสะท้อนถึงจุดที่ต้องไทยต้องตระหนักและไตร่ตรอง เธอได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ "มองต่างมุม"  สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เป็นการให้ข้อมูลอีกครั้งถึงที่มาที่ไป และทำไม ปราสังคมไทยต้องแสดงพลังเพื่อติดเบรกการเจรจาเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐ ครั้งที่ 6 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่  ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 9 - 14 มกราคม นี้


 


อยากให้เล่ารายละเอียดของเรื่องการเจรจาการเปิดการค้าเสรี ไทย - สหรัฐ  ที่จะจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 9 - 14  มกราคมที่จะถึงนี้?


 


การเจรจาเอฟทีเอระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการเจรจากันมาแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2546 ที่ผ่านมาในการเจรจาก็มีความคืบหน้า คือ มีผลการเจรจา มีเนื้อหาที่เดินไปข้างหน้าเป็นลำดับ  โดยที่ผ่านมาการเจรจาส่วนใหญ่จะจัดขึ้นที่ประเทศสหรัฐฯ  มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มาจัดที่ประเทศไทย ที่พัทยา


 


ในครั้งนั้น ก็มีขบวนของภาคประชาชนเข้าไป พยายามจะตรวจสอบว่าเนื้อหาการเจรจามีอะไรบ้าง และสอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนมากน้อยขนาดไหน  เพราะว่ามีหลายประเด็นเหลือเกินในเนื้อหาการเจรจาของไทย-อเมริกา ที่คนไทยควรจะต้องรู้


     


การเจรจาทวิภาคีเปิดเสรี FTA ไทย-อเมริกา ค่อนข้างกว้างขวาง เนื่องจากว่าอเมริกามีหลักการในการเจรจาว่า  เมื่อเปิดการเจรจากับประเทศหนึ่งแล้วอย่างเช่น การเจรจากับสิงคโปร์  ก็จะเปิดกับประเทศอื่นๆ ไม่น้อยกว่าการเปิดกับสิงคโปร์  เพราะฉะนั้นในการเจรจาและการเปิดเสรีระหว่างไทยกับอเมริกา ก็จะมีการเปิดเสรีไม่น้อยกว่าที่อเมริกาเปิดกับประเทศอื่นๆ


 


มันก็จะครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของการเกษตร การลงทุน การลงทุนนี้กว้างขวางมาก และเป็นหลายเรื่องที่น่าจะทำให้เกิดผลกระทบในทางลบกับคนในหลายกลุ่มของสังคมไทย คือโดยหลักการของการเปิดเสรีก็มีหลักง่ายๆ อยู่ว่าจะต้องจำกัดอุปสรรคทางการค้าออกไป  ซึ่งคำว่า "อุปสรรคทางการค้า" ที่ว่านี้  สำหรับการเปิดเป็นสินค้าก็คือ ตัวภาษี ในการเปิดเสรีสินค้าเกษตร ก็จะมีการวางมาตรการในการลดภาษีให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่เก็บเลย


 


ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่เราเปิดกับประเทศจีน เราก็เห็นตัวอย่างแล้วว่า เรามีการลดภาษีการนำเข้าสินค้าเกษตรให้เหลือ 0% ก็คือไม่เก็บภาษี แล้วผลที่ตามมาก็คือว่า เกษตรกรที่ปลูกหอม ปลูกกระเทียมโดยเฉพาะในภาคเหนือ  ก็ย่อมได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก  ในการเปิดเสรีกับอเมริกาก็จะมีการลดภาษีในลักษณะเดียวกัน คือที่เราเรียกว่า "กำแพงภาษี"


 


สมัยก่อน ภาษีจะช่วยควบคุมปริมาณการนำเข้า แต่เมื่อมีการเปิดเสรีกันแล้ว ตัวกลไกที่ช่วยควบคุมการนำเข้า ก็จะถูกถอดออกไป ก็คือไม่เก็บภาษี


 


ถ้าพูดถึงในแง่ของสินค้าที่อเมริกาเด่นมากๆ  ก็เป็นเรื่องของข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย แล้วที่สำคัญก็คือ  ข้าว  อเมริกามีการปลูกข้าวเยอะ เกือบจะมากที่สุดในโลกและกำลังจะเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ตัวสินค้าเฉพาะเกษตรที่เราสู้ไม่ได้อยู่แล้วอย่างเช่น ข้าวโพด กับถั่วเหลือง ในบางสินค้าที่เรากำลังจะกลายเป็นคู่แข่งกับอเมริกาก็น่ากลัวเช่นกัน


 


อยากให้เล่าถึงประเด็นที่ผลกระทบเกี่ยวกับสินค้าเกษตร?


ในประเด็นของสินค้าเกษตร มันยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องเข้าไปคิดทบทวนอย่างละเอียดพร้อมกันกับเรื่อง


การเปิดตลาดสินค้าเกษตร  ก็คือ สหรัฐฯ มีกฎหมายที่เรียกว่า  "กฎหมายการเกษตรแห่งสหรัฐฯ"


กฎหมายฉบับนี้ อนุญาตให้รัฐอนุมัติเงินงบประมาณก้อนใหญ่มหาศาล เท่ากับก้อนที่เราใช้ในการบริหาร


ประเทศไทยทั้งหมด แต่ว่าใช้ในการอุดหนุนภาคเกษตรล้วนๆ เงินที่ว่าภายใต้กฎหมายที่ว่านี้ ก็จะถูกจ่ายไป


ให้เกษตรกรของสหรัฐฯ จ่ายให้โรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรของหสรัฐ  แล้วรวมถึงการจ่ายให้กับผู้ส่งออก


สหรัฐฯ


 


ช่วยอธิบายความแตกต่างระหว่างการเปิดเสรีแบบ FTA กับการเปิดแบบ WTO ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร


ข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างการเปิดเสรีแบบ FTA กับการเปิดแบบ WTO ก็คือว่า  ภายใต้การเจรจาในองค์การการค้าโลก  จะมีการลดการอุดหนุนด้วย แต่ในขณะที่การเจรจาภายใต้ทวิภาคี เราไม่ได้แตะต้องเรื่องของการลดการอุดหนุนเลย ดังนั้นการเปิดเสรี  จึงหมายถึงการลดภาษีอย่างเดียว  ไม่ได้ลดการอุดหนุน เราแทบไม่ได้รับการอุดหนุนอะไรอยู่แล้วในภาคการเกษตร


 


ยกตัวอย่างเป็นรายพืช เช่นกรณีข้าวโพด ข้าวโพดบ้านเราถ้าจะปลูกแล้วให้พี่น้องเข้าทุน น่าจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 4 บาท แต่ว่ากิโลกรัมที่ราคาที่สหรัฐฯสามารถที่จะส่งมาขายเรา เพราะว่าเขามีการอุดหนุนนี้ เขาสามารถขายได้ที่กิโลกรัมไม่ถึง 3 บาท นั่นหมายความว่า  ต้นทุนอาจสูงเท่าเรา


 


แต่ว่าเขามีเงินอุดหนุนจากภาครัฐ นั่นคือประเด็นว่าเมื่อคุณเปิดเสรีโดยที่คุณไม่ได้แตะต้องในเรื่องของการลดการอุดหนุนแล้ว  คุณไม่มีทางที่จะเขี่ยประโยชน์ตอนที่อยู่ในภาวะที่อ่อนแอในบ้านเรา  เพราะว่าการลดการอุดหนุนจาก WTO ก็กระทบกับพี่น้องเกษตรกรของเรา เราก็เลยสู้กับเขาไม่ค่อยได้


 


ในเรื่องสิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง?


นอกเหนือจากเรื่องของการเปิดตลาดสินค้าเกษตรแล้ว  ยังมีประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกันด้วย ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ก็คือเรื่องของสิทธิบัตรในส่วนมีชีวิต นั่นหมายความว่า  ถ้าเราย้อนหลังกลับไปเมื่อสักประมาณปี 2546 ตอนที่กรณีมีบริษัทไร้ซ์เทค RICE  TEC. พยายามจะนำเข้าข้าวหอมมะลิของเราไปจดสิทธิบัตร ก็จะมีกรณีแบบนี้กลับมาอีก  ซึ่งอาจจะไม่เกิดขึ้นเฉพาะกรณีของข้าว มันอาจเกิดขึ้นกับอีกหลายๆ กรณี ที่ชัดเจนที่สุดเลยก็คือว่า สหรัฐฯ ต้องการที่จะปรับกฎหมายของเรา กฎหมายคุ้มครองทางพืชภายในประเทศ  ที่แต่เดิมเราไม่อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต นี่เป็นประเด็นที่หนึ่ง


 


ประเด็นที่สอง  คือ  ประเด็นในเรื่องของการยอมรับพืช ตัดแต่งพันธุกรรมที่เราเรียกว่า GMO เราต้องรู้ก่อนว่า  สหรัฐฯ เป็นเจ้าของแห่งเทคโนโลยี ในการตัดต่อพันธุกรรมแล้วเทคโนโลยีนี้จำเป็นที่จะต้องมีทางออก เพราะมันเป็นการสร้างผลงานกำไรทางประเทศของเขา


 


แต่ว่า ณ ขณะนี้  ในประเทศไทย กฎหมายที่เรามีอยู่ยังไม่อนุญาตให้มีการผลิต GMO ในระดับไร่นา อนุญาตให้มีกักการผลิตในระดับแปลงทดลอง  แต่เราก็เห็นอยู่ว่า  มันมีการกระจายออกไปทางไหนๆ แต่ว่าพฤติกรรมแบบนี้จะได้รับการรับรองทันทีหลังจากที่เราเซ็นสัญญา FTA ไทย-อเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สหรัฐฯยื่นข้อเสนอต่อเรา เพราะว่าย้อนกลับไปที่พูดถึงก่อนหน้านี้ว่า  อเมริกาจะไม่ยอมให้ตัวเองได้น้อยกว่า


 


หลักการของเขา  ก็คือว่า ถ้าเขาได้จากสิงคโปร์แล้ว  เขาจะไม่ยอมที่จะได้จากประเทศไทยน้อยกว่าที่จากสิงคโปร์ ซึ่งประเด็นที่ได้บอกไปเมื่อสักครู่นี้ เป็นประเด็นที่ได้รับการอนุมัติ และเซ็นแล้วโดย FTA ไทย-สิงคโปร์ ดังนั้น  มันจึงเหมือนกับว่า  เราสามารถมองต้นแบบว่า  จะเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยได้บ้าง  จากการเปิดเสรีกับสิงคโปร์ระหว่างไทย


 


ทราบมาว่า  จะมีการหยิบยกประเด็นการเปิดเสรีด้านสุขภาพด้วย?


ประเด็นเรื่องของการเปิดเสรีด้านสุขภาพ  ก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเปิดเสรีการบริการสาธารณสุข  เราจะเห็นว่านโยบายรัฐ แนวล้าหลังที่เราต้องการจะเปิดเสรี เราอยากจะให้ประเทศไทย โดยเฉพาะ 3 - 4 เมืองใหญ่ๆ เช่นภูเก็ต รวมถึงเชียงใหม่ ให้กลายเป็นศูนย์กลางการให้บริการสุขภาพ


 


ประเด็นที่สำคัญสำหรับการริเริ่มนโยบายศูนย์กลางธุรกิจสุขภาพ ก็คือว่า ณ ปัจจุบันนี้  ประเทศไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ตัวเลขชัดๆ ก็คือว่าหมอ 1 คนของเรา ต้องให้บริการคนไทยทั้งหมด 1 ต่อ 2,400 คน


 


ทีนี้  เมื่อเราต้องการที่จะดึงดูดให้กับนักท่องเที่ยวก็ตาม หรือว่าคนต่างชาติก็ตามเข้ามาลักษณะพยาบาลในบ้านเรา  โดยเราบอกว่า เราจะทำนโยบาย 2 ขา คือให้ขาหนึ่งเน้นศูนย์ธุรกิจสุขภาพ กับอีกขาหนึ่งให้บริการเรื่องหลักประกันสุขภาพ


 


สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า  เมื่อปริมาณคนไข้เพิ่มขึ้น แน่นอนว่า  อัตราโดยเฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต่อคนไข้ก็ต้องเพิ่มมากขึ้น และเมื่อนั้นก็จะเข้าสู่ระบบที่ว่า ถ้าใครมีเงิน คนนั้นจะมีสิทธิ์เข้าถึงบริการได้ดีกว่า เราจะได้แพทย์เพิ่มขึ้นเพราะว่า เราต้องยอมรับว่า ณ ขณะนี้ การผลิตหมอในบ้านเรา ก็ผลิตได้ค่อนข้างจำกัด และการนำเข้าหมอจากที่อื่นก็น้อย ก็ว่าเรื่องของรายได้ด้วย เป็นเรื่องสำคัญสำหรับบุคลากรที่เป็นวิชาชีพ และก็ต้องการจะมีรายได้สูง


 


แต่เมื่อเราพูดถึงสภาพปัจจุบัน ถ้าเราเข้าไปโรงพยาบาล ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลมหาราช เชียงใหม่ เราก็จะพบว่าพี่น้องประชาชนรอต่อคิวกันอยู่ แต่ว่าถ้าคุณต้องการที่จะเร็ว ก็จะมีตึกพิเศษ นั่นคือสภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


 


ถ้าเกิดว่า  มีการกระตุ้นนโยบายในเรื่องของการให้ประเทศเป็นศูนย์กลางธุรกิจสุขภาพ ซึ่งอันเป็นนโยบายที่อยู่ภายใต้การเจรจามาแล้ว ไทย-ญี่ปุ่น แล้วสหรัฐฯเองก็มีส่วนหนึ่งในนั้น มีงานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า ยกตัวอย่างกรณี การทำฟัน  หมอฟันในบ้านเรา รวมถึงค่าบริการถูก ลักษณะมันก็คือว่า เราดึงคนต่างชาติเข้ามารักษาในบ้านเราได้ในราคาค่อนข้างถูก คือนอกจากเขามาเที่ยวเฉยๆ แล้วนี้ เขาก็มาใช้บริการทางสุขภาพด้วย หรือมาอยู่ยาวๆ เพราะว่า การให้บริการของเราถูก แต่ว่าพอเพิ่มจำนวนคนไข้ขึ้นมา ภาระของแพทย์ก็มากขึ้น พอภาระของแพทย์มากขึ้น มันก็เลยทำให้คนไทยต้องเข้าคิวยาว เพราะว่าคนไทยไม่มีเงิน หรือคนไทยที่อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพอย่างเช่น 30 บาท ก็จะได้รับมาตรฐานอีกแบบหนึ่ง ในการที่จะให้หมอดูแล ซึ่งอันนี้คือกรณีที่จะเกิดขึ้น ถ้ามีการเปิดการบริการสาธารณะสุขแบบเสรี


 


อยากให้อธิบายประเด็นเรื่อง สิทธิบัตรยา?


เมื่อพูดถึงยา  มันจะเกี่ยวพันเรื่องสิทธิบัตร ก็คือว่าโดยทั่วไป เมื่อมีการทดลองของบริษัทยา ก็จะมีการจดสนธิบัตรยา เป็นเจ้าของยาชนิดนั้นๆ ทีนี้ยาชนิดนั้นเราเรียกว่า ยาต้นตำรับ ส่วนใหญ่เมื่อคิดราคาที่บวกกับราคาต้นทุนของยา ก็จะมีราคาที่แพง ดังนั้นโดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน หรือไต ก็ต้องใช้ยาที่แพงมาก เพราะว่าเป็นยาต้นตำรับที่มีสิทธิบัตรที่ควบคุมอยู่ แต่ถ้าเกิดว่า  สิทธิบัตรหมดอายุลง บริษัทอื่นๆ ก็สามารถจะใช้ต้นตำรับนั้นมาผลิตยาภายใต้ชื่อบริษัทตัวเองได้


 


สิ่งที่อเมริกาเรียกร้องภายใต้การเจรจาครั้งนี้ก็คือว่า ต้องการที่จะขยายอายุการถือครองสิทธิบัตรออกไป ยาวขึ้นในประเทศไทย จาก 20 ปี เป็น 25 ปี เป็นต้น เพราะถ้ายังอยู่ภายใต้สิทธิบัตร ราคายาก็จะแพง แต่ถ้าเกิดหมดสิทธิบัตร ราคายาก็ถูกลง นั่นคือความแตกต่างระหว่างยาที่มีสิทธิบัตรกับ ยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว


 


ประเด็น เรื่องสิทธิการลงทุน  ของนักลงทุนชาวต่างชาติจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง?


ในเรื่องของการลงทุน  หลักการที่สำคัญของมัน  ก็คือเรื่องของสิทธินักลงทุน มันจะมีความแตกต่างจากการเปิดเสรีสินค้า ก็คือว่าในการเปิดเสรีการลงทุน มันคือการให้สิทธิกับนักลงทุน  ที่อย่างน้อยที่สุดต้องเท่าเทียมกับคนในชาติ หรือในบางกรณี  อาจได้สิทธิมากกว่าคนในชาติ ซึ่งอาจจะข้ามไปถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่ว่าจะยังไม่พูดถึงตรงนั้น เพราะว่าทุกวันนี้ การแก้ไขกฎระเบียบเพื่อจะดึงนักลงทุนมามันเกิดขึ้นอยู่ตลอดอยู่แล้ว ทีนี้ภายใต้การเปิดเสรีเรื่องการบริการของสาธารณะอเมริกาที่สำคัญ คือว่า คำว่าการเปิดเสรีการลงทุนค่อนข้างกว้างขวาง


 


ดังนั้น  การเปิดเสรีการลงทุน  จึงหมายถึง การลดบทบาทอำนาจรัฐโดยสิ้นเชิงในการควบคุมนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้  ยังเพิ่มอำนาจให้นักลงทุนชาวต่างชาติด้วยว่า ถ้านักลงทุนชาติได้รับความเสียหายจากนโยบายรัฐ หมายความว่า  ถ้าเขาได้กำไร ไม่เท่ากับที่เขาได้คาดหวังเอาไว้ เขามีสิทธิที่จะฟ้องร้องค่าชดเชยจากรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วหลายประเทศที่มีการฟ้องร้องอย่างนี้ ไม่ว่า แคนาดา เม็กซิโก ที่ต้องเอาเงินงบประมาณแผ่นดินที่เก็บจากภาษีประชาชนทุกคนไปชดเชยให้กับนักลงทุนต่างประเทศ


 


หมายความว่า  ไทยมีความเสี่ยงอย่างมากกับการเจรจา FTA  ไทย - สหรัฐ ในครั้งนี้


นี่คือจุดเสี่ยงหนึ่งที่ควรไตร่ตรอง เพราะฉะนั้น  การเจรจารอบที่ 6 ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่เชียงใหม่ ก็จะเป็นรอบท้ายๆ  แล้วไม่เกินปลายปี เราก็จะได้เห็น FTA ไทย-สหรัฐฯ อย่างสมบูรณ์ ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะยุติ หรือชะลอการเจรจาลง


 


 กลับหน้าแรกประชาไท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net