Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 ส.ค. 49 ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง อารมณ์ ความรู้สึกของสาธารณชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,637 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 17-20 ส.ค. ที่ผ่านมา


 


ผลสำรวจของเอแบคโพลล์พบว่า ร้อยละ 71.1 ติดตามข่าวการเมืองตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ร้อยละ 20.4 ติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 8.5 ไม่ได้ติดตามเลย


 


ส่วนความรู้สึกต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 95.7 ระบุว่า การเมืองเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ร้อยละ 92.0 เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาเจรจากันด้วยสันติวิธี ร้อยละ 75.5 ระบุรู้สึกเบื่อหน่ายต่อเรื่องการเมือง ร้อยละ 71.8 ระบุวิตกกังวลต่อเหตุการณ์การเมือง และร้อยละ 37.1 ระบุรู้สึกเครียดต่อเรื่องการเมือง


 


ที่น่าเป็นห่วงคือ อารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนกำลังกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในหลายมิติเมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเดือนเม.ย.ที่มีบรรยากาศของความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง ผลสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์การเมืองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46.1 มาเป็นร้อยละ 71.8 ความเครียดต่อเรื่องการเมืองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29.3 มาเป็นร้อยละ 37.1 และความเบื่อหน่ายต่อเรื่องการเมือง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 69.1 เป็นร้อยละ 75.5


 


นอกจากนี้ ยังพบว่า ความขัดแย้งของประชาชนกับคนรอบข้างกำลังเข้าสู่สภาวะเช่นเดียวกับเดือนเม.ย.ที่มีบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ดี ประมาณร้อยละ 5 - 10 มีความขัดแย้งกันกับคนในครอบครัว ร้อยละ 10 - 15 ขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน และร้อยละ 10 - 15 ขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานในเรื่องการเมือง


 


ผลการสำรวจยังพบต่อไปว่า ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังคงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น "ผลดี" ร้อยละ 33.7 คิดว่าเป็นที่น่าเชื่อถือสำหรับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ร้อยละ 26.5 คิดว่ามีนโยบายในการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง หรือสานต่อนโยบายต่างๆ ที่ค้างไว้ ร้อยละ 25.5 คิดว่าสามารถปราบปรามยาเสพติดได้ ร้อยละ 21.5 คิดว่าทำให้คนจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น / ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และ ร้อยละ 14.6 คิดว่ามีระบบการบริหารบ้านเมืองที่ดี/ทำให้บ้านเมืองเจริญ และประเทศพัฒนาขึ้น


 


ผลสำรวจพบ "ผลเสีย" ร้อยละ 57.8 คิดว่าจะทำให้สังคมไทยมีความขัดแย้งมากขึ้น/ เกิดความแตกแยกท่ามกลางประชาชน ร้อยละ 17.2 คิดว่าทำให้เศรษฐกิจแย่ลง/การลงทุนจากชาวไทยและชาวต่างชาติหยุดชะงัก ร้อยละ 14.7 คิดว่าจะมีการทุจริตคอรัปชั่นเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.7 คิดว่าทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น / ราคาสินค้าแพงขึ้น และร้อยละ 4.8 คิดว่าทำให้ประเทศชาติแย่ลง / ระบบการปกครองจะมีความเสียหายเกิดขึ้น เป็นต้น


 


ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้กำลังทำให้สังคมไทยกลับเข้าสู่บรรยากาศเดิมๆ เหมือนในช่วงเดือนก.พ.- เม.ย. คือ มีความกังวลใจของประชาชนต่อวิกฤตการเมือง ความเบื่อหน่าย ความเครียด และความขัดแย้งเรื่องการเมืองในหมู่ประชาชน โดยประชาชนส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 90 ยังคงให้ความสำคัญและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาทางออกของวิกฤตการเมืองด้วยสันติวิธี


 


ดร.นพดล กล่าวต่อว่า การอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เหมือนกำลังเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 30 ของคนในพื้นที่ที่ศึกษา โดยอ้างอิงจากผลสำรวจก่อนหน้านี้ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากพอสมควร คนกลุ่มนี้ไม่เอาทักษิณและกำลังเผชิญหน้าด้วยแนวคิด การวางแผนและปฏิบัติการกับคนที่สนับสนุนทักษิณ ความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากำลังมีพัฒนาการไปสู่การใช้กำลังปะทะด้วยร่างกาย และอาจถึงขั้นการใช้อาวุธเข้าทำร้ายกัน สถานการณ์ความแตกแยกของคนไทยจึงกำลังจะตกอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงและอาจถึงขั้นเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดถึงได้


 


ทางออกของวิกฤตการเมืองของสังคมไทยขณะนี้ที่น่าจะเป็นไปได้ ประการแรกต้องแก้ปมการเมืองอย่างน้อยสามปม ปมแรกเป็นปมการเมืองที่ระบบตามกลไกของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่ง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เคยประกาศว่าจะยอมรับทุกอย่างที่เป็นไปตามกติกาของระบบการปกครองประชาธิปไตย ปมที่สองเป็นปมที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และบุคคลใกล้ชิด และปมที่สามเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ นอกสภา


 


ส่วนการแก้ไขวิกฤตการเมืองโดยฝ่ายตุลาการ ผ่านกระบวนการของศาลอาญาและศาลฎีกาได้คลี่คลายวิกฤตการเมืองไปได้บางส่วน แต่ก็ยังมาติดอยู่ที่วุฒิสภาที่เป็นตัวแทนแบบเข้มข้นของกลุ่มสนับสนุนและไม่สนับสนุนรัฐบาล ดังนั้นความหวังจากแนวทางนี้จึงค่อนข้างเลือนลาง ทางออกโดยผ่านกระบวนการของศาลจึงน่าจะอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง วันประกาศผลวินิจฉัยอาจเป็นวันที่สังคมไทยวุ่นวายที่สุด ฝ่ายความมั่นคงต้องเตรียมรับมือให้ดี


 


ถ้าผลวินิจฉัยเป็นแบบประนีประนอม ทางออกของวิกฤตการเมืองจึงน่าจะมุ่งไปที่การตัดสินใจของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ว่าจะเป็นวีรบุรุษของประวัติศาสตร์ชาติไทยด้านการเมืองหรือไม่ คือ ถ้า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ประกาศเดินหน้าหาเสียง ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังชนะการเลือกตั้งอีก พรรคไทยรักไทยน่าจะได้ตามเป้าหมายนั้น แต่อาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนมากพอในการผลักดันนโยบายสาธารณะ และความขัดแย้งแตกแยกของคนไทยในสังคมอาจมีอยู่ต่อไป


 


แต่ถ้า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ประกาศเดินหน้าหาเสียงว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพียงเพื่อขวัญกำลังใจ ความสงบในพรรคไทยรักไทย และฐานเสียงเดิมจากประชาชนสักระยะหนึ่ง แล้วสรรหาคนมาดำรงตำแหน่งแทน ก็น่าจะพอมีความหวังต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมไทย


 


ประการที่สอง สิ่งที่สังคมไทยอาจหลงลืมไปในบรรยากาศการเมืองขณะนี้คือ ความงดงามของคนไทยที่รู้จักการให้อภัย ถ้าแก้ปมต่างๆ ทางการเมืองที่กล่าวมาข้างต้นพร้อมช่วยกันนำพาประเทศให้พ้นวิกฤตไปได้อย่างสันติวิธีแล้ว คนไทยทั้งประเทศควรให้อภัยแก่กันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก มีความรู้สึกและความหวังร่วมกันทั้งในกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติว่า ประเทศไทยอยู่ได้ และประเทศไทยต้องฝ่าวิกฤตทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไปได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net