Skip to main content
sharethis

รายงานฉบับล่าสุดประจำเดือน ส.ค. 2564 ของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ระบุว่ารัฐบาลไทย ‘ล้มเหลว’ ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นแก่คนชายขอบ ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม พร้อมเสนอทางออก 7 ข้อ หวังรัฐบาลไทยทำตามกติกาสากล

27 ส.ค. 2564 รายงานประจำเดือน ส.ค. 2564 ของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists: ICJ) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมาระบุว่าประเทศไทยล้มเหลวในการจัดการผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กลุ่มคนชายขอบได้อย่างเหมาะสมและได้สัดส่วน ทั้งด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยในรายงานดังกล่าวระบุว่าประเทศไทยต้องรับประกันให้ได้ว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาโควิด-19 นั้นสอดคล้องกับหลักการปกป้องกฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

สัณหวรรณ ศรีสด ผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านกฎหมายประจำ ICJ กล่าวว่า เราเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐของไทยต้องแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติในช่วงโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อบุคคลชายขอบหรือบุคคลด้อยโอกาสที่อยู่ในประเทศไทย ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐของไทยจะตระหนักดีถึงสิทธิต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อเจ้าหน้าที่รัฐคือการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อรับรองว่าบุคคลทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ สินค้า ตลอดจนบริการด้านอื่นๆ ที่จำเป็นในการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งหมายรวมถึงวัคซีนโควิด-19 ด้วย

รายงานประจำเดือน ส.ค. 2564 ของ ICJ ระบุว่า ‘ผลกระทบที่ไม่ได้สัดส่วน’ ซึ่งเกิดจากการจัดการโควิด-19 ของไทย กระทบโดยตรงต่อสิทธิของบุคคล 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย บุคคลไร้รัฐ และแรงงานข้ามชาติ 2. กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ 3. คนชนเผ่าพื้นเมือง 4. ผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศ (Sex Workers) 5. บุคคลที่ถูกพรากเสรีภาพ และ 6. คนพิการ โดย ICJ เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแก่กลุ่มคนเหล่านี้ไว้ 7 แนวทางหลัก ได้แก่

  1. ออกแบบและปรับปรุงมาตรการเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นไปที่การปกป้องสิทธิด้านสุขภาพ รวมถึงสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ด้วยการเปิดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มบุคคลชายขอบทั้งหมดว่าพวกเขาประสบปัญหาและต้องการสิ่งใดบ้าง
  2. รับประกันว่าบุคคลทุกคน รวมถึงกลุ่มคนชายขอบ จะสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ สินค้า และบริการอื่นๆ ได้อย่างเหมาะสม ทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเรื่องการป้องกัน วินิจฉัย และการรักษาโรค ไปจนถึงมาตรการด้านความมั่นคงทางสังคม การเยียวยา และการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังต้องรับประกันด้วยว่าบุคคลทุกกลุ่มจะสามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิต เช่น อาหารที่ถูกสุขอนามัย ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ
  3. กระตุ้น สนับสนุน ช่วยเหลือ และทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ เพื่อรับประกันว่ากลุ่มคนชายขอบจะสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
  4. จัดลำดับความสำคัญด้านบริการสุขภาพให้ครอบคลุมกลุ่มบุคคลชายขอบ
  5. งดเว้นการลงโทษตามกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แก่กลุ่มบุคคลชายขอบที่ต้องการเข้ารับบริการด้านสุขภาพ
  6. งดเว้นการส่งตัวผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย บุคคลไร้รัฐ และแรงงานข้ามชาติไปยังประเทศอื่นในช่วงที่เกิดโรคระบาด
  7. ลดความแออัดในเรือนจำและสถานกักกัน รวมถึงต้องหามาตรการทางเลือกหรือปล่อยตัวผู้ต้องขังเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อภายในเรือนจำ

ICJ คาดหวังให้ข้อมูลในรายงานฉบับนี้เผยแพร่ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจของไทย เพราะประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) จึงต้องให้สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง (ESCR) แก่ปัจเจกบุคคล รวมถึงบุคคลชายขอบตามจุดประสงค์ของสนธิสัญญาดังกล่าว

“ถือเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่ทุกคนในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเอง หากไม่มีความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ ก็คงยากที่จะรับประกันได้ว่ารัฐบาลจะปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เคยลงนามไว้หรือเปล่า เช่น สนธิสัญญา ICESCR เป็นต้น” สัณหวรรณกล่าว

อนึ่ง รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดย ICJ และได้รับความร่วมมือจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย, สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ONCHR), คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net