Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานฉบับใหม่ และแคมเปญ “นับถอยหลัง 100 วัน” #100DayCountdown เรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ผลิตยา จัดสรรวัคซีนโควิด-19 แก่ประเทศยากจน 2,000 ล้านโดสก่อนสิ้นปีนี้

22 ก.ย. 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานฉบับใหม่ ชี้บริษัทรายใหญ่ 5 แห่งซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เนื่องจากปฏิเสธที่จะยกเว้นการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการแบ่งปันเทคโนโลยีด้านวัคซีน โดยบริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศยากจน พร้อมกันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดตัวแคมเปญ “นับถอยหลัง 100 วัน” #100DayCountdown เรียกร้องรัฐต่างๆ และบริษัทยา ให้ส่งมอบวัคซีนจำนวน 2,000 ล้านโดสให้กับประเทศรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลางระดับต่ำก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครต้องทนทุกข์ทรมาน และอยู่กับความหวาดกลัวต่อไปอีกหนึ่งปี

รายงานฉบับใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชื่อ “ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนเข็มสอง: บริษัทยาและวิกฤติด้านวัคซีนโควิด-19” (A Double Dose of Inequality: Pharma companies and the Covid-19 vaccine crisis) ได้ประเมิน 6 บริษัทที่เป็นผู้กุมชะตากรรมของประชาชนหลายพันล้านคน ได้แก่ แอสตราเซเนกา, ไบโอเอนเทค เอสอี, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, โมเดอร์นา, โนวาแวกซ์, และไฟเซอร์ ทำให้เห็นภาพที่เลวร้ายของอุตสาหกรรมที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล เผยว่า การฉีดวัคซีนให้ประชากรทั่วโลกเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตินี้ได้ ถึงเวลาที่ควรยกย่องบริษัทเหล่านี้ในฐานะวีรบุรุษ ที่สามารถพัฒนาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่น่าละอายและเป็นความเศร้าสลดของคนจำนวนมากที่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ กลับขัดขวางการถ่ายทอดความรู้ และมุ่งทำสัญญาขายวัคซีนให้กับประเทศร่ำรวย ส่งผลให้เกิดความขาดแคลนวัคซีนตามที่คาดการณ์ไว้ และสร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับประเทศอื่นๆ อีกมากมาย 

“หลายประเทศในแถบลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ต้องประสบกับวิกฤติครั้งใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพที่อ่อนแออยู่แล้วให้ถึงจุดต่ำที่สุด ก่อให้เกิดการเสียชีวิตที่ควรจะป้องกันได้ของคนจำนวนหลายหมื่นคนในทุกสัปดาห์ ในหลายประเทศที่มีรายได้ต่ำ แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงก็ยังไม่ได้รับและเข้าถึงวัคซีน”   

“ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงเหล่านี้ ไบโอเอ็นเทค โมเดอร์นา และไฟเซอร์ น่าจะมีรายได้รวมกัน 130,000 ล้านเหรียญภายในสิ้นปี 2565 ผลกำไรไม่ควรสำคัญเหนือกว่าชีวิตคน”   

เปิดตัวแคมเปญ "นับถอยหลัง 100 วัน" #100DayCountdown 

ในวันนี้ (22 ก.ย. 2564) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดตัวรายงานพร้อมกับเริ่มแคมเปญรณรงค์ระดับโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เพื่อตรวจสอบรัฐและบรรษัทยายักษ์ใหญ่ "แคมเปญนับถอยหลัง 100 วัน: วัคซีนโควิด-19 จำนวน 2,000 ล้านโดส ในตอนนี้!" เป็นการเรียกร้องตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ที่จะฉีดวัคซีนให้กับ 40% ของประชากรในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับต่ำภายในสิ้นปีนี้ เราเรียกร้องให้รัฐต่างๆ จัดสรรวัคซีนที่เกินความจำเป็นหลายร้อยล้านโดส ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บไว้เฉยๆ และให้บริษัทผลิตวัคซีนดำเนินการเพื่อส่งมอบอย่างน้อย 50% ของวัคซีนที่ผลิตได้ให้กับประเทศรายได้ต่ำเหล่านี้ หากรัฐและบริษัทยายังคงดำเนินการตามทิศทางในปัจจุบัน เราย่อมมองไม่เห็นทางที่จะหลุดพ้นจากปัญหาโรคโควิด-19 ได้

 

“วันนี้เป็นการเริ่มต้นนับถอยหลัง 100 วันก่อนสิ้นปี เราเรียกร้องรัฐต่างๆ และบริษัทยาดังกล่าว ให้เปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานอย่างจริงจัง และดำเนินการทุกอย่างที่จำเป็น เพื่อส่งมอบวัคซีนจำนวน 2,000 ล้านโดสให้กับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับต่ำ โดยให้เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เราไม่ควรปล่อยให้ใครต้องทนทุกข์ทรมาน และอยู่กับความหวาดกลัวต่อไปอีกหนึ่งปี”  

“บริษัทยาได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีของประชาชนหลายพันล้านเหรียญ และยังได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากสถาบันวิจัยต่าง ๆ จนทำให้พวกเขากลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนที่สามารถช่วยชีวิตคนได้ แต่ตอนนี้ พวกเขาต้องดำเนินการส่งมอบวัคซีนหลายพันล้านโดสให้กับประชาชนโดยทันที เพื่อให้มีคนได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการจัดสรรวัคซีนที่เป็นธรรมและรวดเร็ว บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องให้ความสำคัญกับการส่งมอบให้กับประเทศที่ต้องการใช้วัคซีนมากสุด และต้องระงับการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ต้องถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี และอบรมให้ผู้ผลิตที่มีคุณสมบัติสามารถช่วยเร่งการผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้”  

ขณะที่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมประกาศพันธกิจใหม่ในที่ประชุมสุดยอดที่เกิดขึ้นวันนี้ เพื่อต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส รวมทั้งการฉีดวัคซีนให้กับ 70% ของประชากรโลกภายในเดือน ก.ย. ปีหน้า เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล กล่าวว่า “เราต้องจัดสรรวัคซีนโควิด-19 และทำให้เกิดการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและบริษัทยาที่จะทำเรื่องนี้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ เราต้องการผู้นำอย่างประธานาธิบดีไบเดน เพื่อระดมวัคซีนหลายพันล้านโดส และเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเป็นเพียงคำสัญญาที่ว่างเปล่าและเราอาจต้องสูญเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้รัฐต่า ๆ ประกันว่า บุคคลทุกคนต้องสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลและยารักษาโรคในปริมาณที่มากพอ เข้าถึงได้ ยอมรับได้ และมีคุณภาพ โดยต้องมีการออกกฎหมายและนโยบายเพื่อประกันว่าบริษัทยาจะปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เขียนจดหมายถึงแต่ละบริษัท ก่อนจะเปิดตัวรายงานฉบับนี้ และได้รับจดหมายตอบกลับจาก ถ บริษัท ได้แก่ แอสตราเซเนกา โมเดอร์นา ไฟเซอร์ ไบโอเอนเทค และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน บริษัทเหล่านี้ยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดสรรวัคซีนที่เป็นธรรมและเท่าเทียม โดยเฉพาะสำหรับประเทศรายได้ต่ำ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถปฏิบัติตามอุดมการณ์และความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net