Skip to main content
sharethis

เครือข่าย 47 องค์กรชุมชนยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ปลด 'จุติ ไกรฤกษ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เหตุปฏิบัติงานบกพร่อง ไม่เหมาะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี

28 ก.ย. 2564 สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่า วันนี้ (28 ก.ย. 2564) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชน 47 องค์กรนำโดยเจษฎา มิ่งสมร ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความไม่ไว้วางใจจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมี รศ.ธนพร ศรียากูล คณะทำงานสำนักงานบริหารนโยบาย สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับหนังสือ

เจษฎากล่าวว่าเครือข่ายองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมทั่วประเทศ ในฐานะที่เป็นทั้งกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาและเป็นพลังทางสังคมตามยุทธศาสตร์ชาติได้ติดตามการบริหารงานของรัฐมนตรี พม. อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องมาเกือบ 3 ปี พบว่าการบริหารงานของกระทรวง พม. ภายใต้การนำของจุติ ไกรฤกษ์ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายแนวทางยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศ ขาดวิสัยทัศน์ ไม่เข้าใจแนวคิดแนวทางการพัฒนาสังคมเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก ทั้งยังไม่ทำตามพันธกิจสำคัญของกระทรวงฯ คือ "จะเสริมสร้างจากทุกภาคส่วน ในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมและพร้อมจะส่งเสริมภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบสู่การเป็นหุ้นส่วนทางสังคม"

พร้อมกันนี้ เจษฏาได้ชี้แจงเหตุผล 4 ข้อว่าเหตุใด จุติ จึงไม่เหมาะกับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี พม. ได้แก่ 1. ขาดประสิทธิภาพในการช่วยเหลือ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเชิงรุกและทันต่อสถานการณ์ 2. ขาดความใส่ใจในการแก้ปัญหาที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้กับคนยากจนในระดับนโยบายอย่างจริงจัง ทำให้คนไร้บ้านและคนยากจนยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการอยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. ไม่ยอมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ปล่อยให้ล่าช้ามากกว่า 1 ปี 4. ไม่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงภาคประชาสังคมในการพัฒนาชุมชนและสังคมให้เกิดผลในการทางปฏิบัติ

“เครือข่ายองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมทั่วประเทศ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล ได้โปรดพิจารณาความเหมาะสมของจุติ ไกรฤกษ์ ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี พม. เพื่อยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศชาติ ประชาชน และรัฐบาล พร้อมกับพิจารณาบุคคลที่มีวิสัยทัศน์ คุณสมบัติและความสามารถเหมาะสมกับการบริหารงานให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวง และสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเร็ว” เจษฎากล่าา

 

นอกจากการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว เครือข่ายองค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ยังได้ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลองค์การมหาชน เพื่อให้ช่วยคลี่คลายปัญหาการแต่งตั้งบอร์ด พอช. เนื่องจากมีความล่าช้ามากว่า  1 ปี  ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของ พอช. ที่จะสนับสนุนการทำงานพัฒนาชุมชนทั่วประเทศ โดยระบุว่าบอร์ด พอช. หมดวาระตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2563 ซึ่งตามระเบียบกำหนดให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 150 วัน  แต่จนถึงวันนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 1 ปีแล้ว  แต่การแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากรัฐมนตรี พม. ไม่ลงนามรับรองประวัติผู้แทนองค์กรชุมชน 1 คนที่ได้รับการเสนอชื่อ ด้วยเหตุผลว่าเคยมีคดีเกี่ยวกับครอบครัว เกรงจะกระทบต่อภาพลักษณ์ต่อกระทรวง พม. แต่เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้เสนอชื่อบุคคลใหม่เข้าไปเป็นบอร์ดแทนตั้งแต่เมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาแล้ว แต่จนบัดนี้ รมว.พม. ยังไม่นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net