Skip to main content
sharethis

สื่อท้องถิ่นรายงาน 'มินอ่องหล่าย' กล่าวในการประชุม ครม. เมื่อ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าจะไม่มีการจัดเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมา จนกว่าจะมีการทำสำมะโนประชากรในเดือน ต.ค. 2567 และคาดว่าจะจัดเลือกตั้งได้เร็วสุดอย่างน้อยในปี 2568

 

7 ก.ย. 2566 เว็บไซต์ อิรวดี ภาคภาษาอังกฤษ รายงานวานนี้ (6 ก.ย.) กองทัพเผด็จการเมียนมา เผยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะไม่มีการจัดการเลือกตั้งจนถึงปี 2568 เป็นอย่างน้อย 

สื่ออิรวดี เผยว่า พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหาร และประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2023 (พ.ศ. 2566) เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า เขาวางแผนจะจัดการเลือกตั้ง หลังการสำรวจสำมะโนประชากรในเดือน ต.ค. ปีหน้า (2567) และการจัดการเลือกตั้งที่คณะรัฐประหารเคยให้สัญญาไว้นั้น จะไม่เกิดขึ้นจนถึงปี 2568 อย่างเร็วที่สุด 

มินอ่องหล่าย พูดถึงคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ความขัดแย้ง และสงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมา ทำให้การจัดการเลือกตั้งต้องชะลอออกไป 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่า หลังจากที่กองทัพเมียนมาออกมาประกาศเลื่อนการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน เมื่อ ส.ค. 2566 กองทัพเมียนมาได้มีการเปลี่ยนแปลงแผนโร้ดแมป 5 ประการ ที่กองทัพเมียนมาเคยประกาศไว้หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 โดยจัดให้เรื่องการจัดการเลือกตั้งมีความสำคัญเหนือวัตถุประสงค์อื่นๆ 

นอกจากนี้ ในการประชุม ครม. มินอ่องหล่าย กล่าวด้วยว่า การจัดเลือกตั้งถือเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของคณะบริหารประเทศชุดนี้ 

ก่อนหน้านี้หลังการรัฐประหาร มินอ่องหล่ายเคยให้สัญญาว่าจะมอบอำนาจบริหารประเทศให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ 

ทั้งนี้ ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ "Global New Light of Myanmar" ได้สรุปคำสุนทรพจน์ของ มินอ่องหล่าย ในการประชุม SAC ครั้งที่ 3/2566 ดังนี้

1. จุดมุ่งหมายสูงสุดของ สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) จัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแบบพหุพรรคโดยบริสุทธิ์ และยุติธรรม 

2. ไม่ควรเรียกร้องระบบประชาธิปไตยด้วยวิธีการก่อการร้าย

3. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสร้างสหภาพตามระบบประชาธิปไตย และรัฐบาลกลาง จะต้องเป็นปัญญาชน และปัญญาชน

4. ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมา ซึ่งจะมีผลตามกฎหมาย และไม่ถือว่าเป็นโมฆะ

5. ทางทัตมาด่อ (Tatmadaw) จะยึดมั่นตามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ในการริเริ่มกระบวนการสันติภาพ

6. ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการต่อต้านการก่อการร้าย และร่วมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพเพื่อประโยชน์ที่เกี่ยวข้องภูมิภาค

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมา (UEC - Union Election Comission) ได้มีการสาธิตเครื่องลงคะแนนเลือกตั้ง ให้มินอ่องหล่ายได้ดู นอกจากนี้ มีข้าราชการกว่า 6 พันราย จาก 29 กระทรวง ได้ทดลองใช้เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งนี้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2566

กกต.เมียนมา (UEC) ได้พบปะพูดคุยกับพรรคการเมือง 35 พรรคการเมืองในนครย่างกุ้ง เมื่อ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเปิดตัวเครื่องลงคะแนนเลือกตั้ง และอ้างว่า ด้วยเครื่องลงคะแนนดังกล่าว พวกเขาจะสามารถลดต้นทุนการผลิตบัตรลงคะแนน และจะสามารถหยุดการโกงเลือกตั้งได้

โดยหัวหน้าพรรคที่เข้าร่วมชมการสาธิตเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งของ UEC ประกอบด้วย พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของทหารพม่า พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (SNDP) และพรรคแนวหน้าอาระกัน (Arakan Front Party)

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐบาลนานาชาติ และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG รัฐบาลเงาที่ตั้งขึ้นมาต่อต้านเผด็จการทหาร ได้ออกมาวิจารณ์ว่าการเลือกตั้งที่จัดโดยกองทัพเมียนมา เป็นการเลือกตั้งจอมปลอม ที่ไม่บริสุทธิ์ และยุติธรรมใดๆ 

เกิดเหตุใช้โดรนทิ้งระเบิดโจมตีเมืองเมียวดี มีผู้เสียชีวิตหลายราย รวมผู้ว่าฯ จังหวัดเมียวดี

เฟซบุ๊ก มติชน ออนไลน์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ผู้สื่อข่าว และสุทธิชัย หยุ่น ผู้สื่อข่าว รายงานเมื่อ 4 ก.ย. 2566 เผยแพร่เอกสาร วิทยุ กรมการปกครอง จากนายอำเภอจังหวัดตาก ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เมื่อ 4 ก.ย. 2566 ประทับตรา “ด่วนที่สุด” มีรายละเอียดดังนี้

เมื่อ 3 ก.ย. 2566 ช่วงเวลา 20.30 น. ได้เกิดเหตุการณ์ใช้โดรนโจมตีทิ้งระเบิดสถานที่ราชการทางการจังหวัดเมียวดี และบ้านพัก 3 จุด คือ ค่ายทหารกองทัพที่ 275 จ.เมียวดี ศาลากลางจังหวัดเมียวดี และสถานีตำรวจภูธรเมียวดี ซึ่งอยู่ห่างจาก ต.ท่าสายลวด จ.ตาก ชายแดนไทย-เมียนมา ราว 2 กิโลเมตร ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก 

โดยมีการประสานงานขอให้ทางการไทยเปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ตรงตลาดริมเมย เพื่อนำตัวผู้บาดเจ็บเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลแม่สอด อินเตอร์เนชั่นแนล โดยมีผู้บาดเจ็บเบื้องต้น จำนวน 6 ราย รวมอูโซเต็น ผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี พ.ท.อ่องจ่อมิน ประธานทหารประสานงานชายแดนไทย-เมียนมา และเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา อีก 3 ราย 

ทั้งนี้ เอกสารที่เผยแพร่ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ รายงานเชิงสถิติสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือเอเอพีพี เปิดเผยว่า ตั้งแต่หลังรัฐประหาร เมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึง 5 ก.ย. 2566 ระบุว่า มีชาวเมียนมาถูกสังหารชีวืตโดยทหารพม่า รวมอย่างน้อย 4,043 ราย มีผู้จับกุมเพิ่มขึ้น 24,694 ราย และยังคงถูกคุมขังโดยกองทัพเมียนมา 19,857 ราย

 


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net