Skip to main content
sharethis
  • 'เสร็จกี่โมง' #conforall ทวง กกต. ตรวจสอบรายชื่อเสนอคำถามประชามติ ร่าง รธน.ใหม่ของ ปชช.เมื่อไรจะเสร็จสิ้น หลังเครือข่ายยื่นกว่า 2 แสนรายชื่อไปแล้วเมื่อปลาย ส.ค.ที่ผ่านมา
  • กกต.ส่งหนังสือตอบ 'iLaw' ยืนยันเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติของประชาชน ไม่สามารถเข้าชื่อออนไลน์ได้ เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ได้กำหนดไว้ 

 

14 ก.ย. 2566 เพจเฟซบุ๊กของ iLaw รายงานวันนี้ (14 ก.ย.) ด้วยว่า เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าในการตรวจสอบรายชื่อประชาชน 211,904 ชื่อ เสนอคำถามประชามติ #conforall จากภาคประชาชนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังจากยื่นรายชื่อทั้งหมดตามกระบวนการอย่างถูกต้องเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 

แม้กระบวนการตามกฎหมายกำหนดกรอบระยะเวลาให้ กกต. มีเวลาตรวจสอบรายชื่อ 30 วัน ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา อย่างไรก็ตาม เวลาก็ผ่านมากว่าครึ่งหนึ่งแล้วนับตั้งแต่ที่กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำรายชื่อส่งให้ กกต. จึงนำมาสู่การยื่นหนังสือในครั้งนี้เพื่อสอบถาม กกต. ถึงความคืบหน้าและความแน่ชัดว่าจะดำเนินการตรวจสอบเสร็จครบถ้วนอย่างเป็นทางการเมื่อใด

แถลงการณ์โดยเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ในนามของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Call) รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กฤษ แสงสุรินทร์ ตัวแทนกลุ่ม We watch และ ธีรัตม์ พณิชอุดมพัชร์ ตัวแทนคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)

กกต.ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาทั้งหมด 30 วันในการตรวจสอบรายชื่อ

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวถึงกรอบระยะเวลาในการทำงานของ กกต. สำหรับระยะเวลาตามระเบียบของ กกต. เขียนว่ามีเวลา 30 วันในการตรวจสอบรายชื่อทั้งหมด เราได้ยื่นไปเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 จนถึงตอนนี้ผ่านมาครึ่งหนึ่งของ 30 วันแล้ว ซึ่งจริงๆ ทางปฏิบัติ กกต. ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาจนหมด เมื่อประชาชนทำมาหมดแล้ว คีย์ข้อมูลลงบน Excel ส่งให้ กกต. การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐบาลเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน การทำให้เร็วจะเป็นประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ วันนี้เราเลยมาตรวจสอบความคืบหน้าว่า กกต.ดำเนินการถึงไหนแล้ว

เมื่อ ปชช.รวมชื่อไม่ถึงสัปดาห์ กกต.ควรที่จะดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จไวกว่า

จีรนุช เปรมชัยพร จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Call) กล่าวถึงความคาดหวังในการดำเนินงานของ กกต. ว่า ที่ผ่านมาหลังจากจบแคมเปญผู้คนติดตามถามไถ่ความคืบหน้า จึงเป็นหน้าที่ของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญต้องมาสอบถามถึงความคืบหน้า เราได้อ่านข่าวได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ กกต. ที่จะเร่งดำเนินการให้เสร็จ ซึ่งตอนนี้ผ่านมากว่าครึ่งทางของเดดไลน์แล้ว แม้เราคาดหวังว่าหนึ่งสัปดาห์ควรที่จะเสร็จ 

จีรนุช เห็นว่า การเรียกร้องให้ กกต.เร่งรัด ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินเลย เพราะจากการที่รวมรายชื่อประชาชนกว่าสองแสนรายชื่อทางภาคประชาชนรวบรวมได้ภายใน 3 วัน หลังจากได้รายชื่อแล้วจำเป็นต้องคีย์ข้อมูลลง Excel ก็ใช้เวลา 4 วันจากอาสาสมัครทั่วประเทศ ทำให้รายชื่อบรรจุลงในไฟล์สำเร็จเสร็จภายใน 4 วัน นี่คือสิ่งที่ประชาชนทำได้ในส่วนที่เราไม่มีทรัพยากรในขณะที่กกต. เป็นองค์กรอิสระได้งบประมาณจากภาครัฐมีทรัพยากรเต็มที่ เราจึงคาดหวังว่ากกต. จะทำเสร็จโดยไวไม่ต้องรอให้ครบ 30 วัน

ชง ครม. รับคำถามประชามติของ ปชช. ยืนยันเจตจำนงของประชาชน ไม่ต้องรอ กกต.

ธีรัตม์ พณิชอุดมพัชร์ ตัวแทนคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กล่าวว่าการเข้าชื่อประชามติคนที่มีอำนาจกำหนดสุดท้ายคือครม. ถ้าเราดูนโยบายของพรรคเพื่อไทยช่วงก่อนการเลือกตั้งได้พูดอย่างชัดเจนว่าจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเขียนโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากการเลือกตั้ง แต่หลังจากที่เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่นรวมถึงการแถลงนโยบายที่ผ่านมา มีความไม่ชัดเจนว่าสสร. ที่มาจากการ “จัดตั้ง” หมายความว่าจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจริงหรือไม่

ธีรัตม์ ย้ำว่า ภาคประชาชนขอยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องรอให้กกต. ตรวจเสร็จก็ได้ ครม. สามารถนำไปเป็นคำถามประชามติได้เลย ถ้าครม.ยังไม่มีคำถามที่ชัดเจน ถึงแม้จะคิดคำถามแล้วสังคมอาจจะไม่พอใจก็ได้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ครม. ควรรับคำถามจากประชาชนนี้ไปเลยให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและสสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

กกต. ควรทบทวนประสิทธิภาพของการทำงาน ต้องไม่ทำให้การมีส่วนร่วมของ ปชช.ล่าช้า

กฤษ แสงสุรินทร์ ตัวแทนจาก We watch  กล่าวทบทวนเหตุผลที่กลุ่มประชาชนต้องมาในวันนี้ว่า ถึงเราจะพูดไปแล้วว่าส่วนร่วมของประชาชนควรจะต้องง่ายและเร็วที่สุดเพราะประชาชนไม่ได้มีต้นทุนเท่าหน่วยงานรัฐ และกกต.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับการมีส่วนร่วมของประชาชน  ย้อนไปประเด็นที่กกต.ไม่อนุญาตให้ประชาชนลงชื่อออนไลน์เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายของประชาชน เราจึงต้องรวบรวมรายชื่อให้ประชาชนที่อาจลงชื่อไปแล้วมาลงในกระดาษอีกรอบเพราะอยากให้เสียงประชาชนไปถึงครม.เร็วที่สุดจึงยอมทำตามที่กกต.ให้เหตุผลต่างๆ มา เราจึงมีความคาดหวังว่ากระบวนการเหล่า 2-3 วันก็เสร็จ แต่พอได้สอบถามก็พบว่ากกต.ต้องไปแบ่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอีกแล้วจึงมารวมกัน ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาถึงประสิทธิภาพในการทำงานของกกต.และขอยืนยันว่าหากกกต.ให้ลงชื่อออนไลน์ตั้งแต่แรกก็จะเป็นการสะดวกทั้งต่อประชาชนและการดำเนินงานของ กกต. 

กกต.ตอบชัดแล้ว เข้าชื่อออนไลน์ไม่ได้ เหตุ กม.ไม่ได้กำหนด

14 ก.ย. 2566 เพจเฟซบุ๊กกลุ่มสาธารณะ 'iLaw' (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) ระบุว่า เรื่องนี้เริ่มมาจากการที่กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ จัดกิจกรรม #conforall รวบรวมรายชื่อประชาชนให้ครบ 50,000 ชื่อ เพื่อเสนอคำถามสำหรับการทำประชามติ เรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ https://ilaw.or.th/node/6612 จึงได้ติดต่อสอบถามไปยังสำนักงานกกต. ทางโทรศัพท์ว่า การเข้าชื่อต้องดำเนินการแบบใดบ้าง

แต่ กกต.ยังไม่ตอบคำถามทางโทรศัพท์ และพยายามหาวันนัดหมายพูดคุยเรื่อยมา จนกระทั่งประชาชนเข้าชื่อกันได้เกิน 50,000 รายชื่อแล้ว จึงได้มีโอกาสประชุมร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ กกต. และได้รับแจ้งว่า การเข้าชื่อไม่สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้

นอกจากประชาชนจะต้องลงชื่อบนกระดาษแล้ว ยังต้องสแกนเอกสารทั้งหมดเป็นไฟล์ ‘PDF’ และกรอกข้อมูลที่ประชาชนเข้าชื่อบนกระดาษกลับเป็นไฟล์ดิจิทัล เพื่อนำส่งให้ กกต. ตรวจสอบความถูกต้อง 

ตัวแทนไอลอว์ ได้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลของการปฏิบัติในเรื่องนี้ซึ่งสร้างภาระให้การเข้าชื่อของประชาชนมาจนเกินไป จึงได้ขอให้ทาง กกต. ออกคำสั่งหรือคำอธิบายเรื่องดังกล่าวเป็นเอกสาร แต่ทางสำนักงาน กกต. ไม่ออกเอกสารใดๆ รับรองให้ ทางไอลอว์ จึงทำหนังสือโต้แย้งขอให้ทบทวนความเห็นเรื่องการเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 23 ส.ค. 2566 ส่งไปยังสำนักงาน กกต. https://ilaw.or.th/node/6632

จนกระทั่งวันที่ 12 ก.ย. 2566 สำนักงาน กกต. จึงทำหนังสือตอบกลับมายังไอลอว์ และยืนยันอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่าการเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติ ไม่สามารถทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เรื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องมิได้กำหนดไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net