Skip to main content
sharethis
  • ชวนอ่านมุมของนักเคลื่อนไหวชาวพุทธเรื่องสันติภาพในจังหวัดยะลาที่สะท้อนภาพอดีตซึ่งแตกต่างกับปัจจุบัน ย้ำ 'รัฐ' คือคนที่ทำให้เราเหินห่างด้วยการเลือกปฏิบัติต่อคนแต่ละศาสนา พร้อมเสนอ 'สิทธิ เสรีภาพ เท่าเทียมกัน' คือ กุญแจสำคัญสำหรับไขปัญหา
  • และเปิดมุมปาตานีในประวัติศาสตร์บอกเล่าของเขา ตอกย้ำเพราะปีนั้นมันเกิดตากใบ กรือเซะ มันจึงเป็นวันนี้ 

สามจังหวัดชายแดนใต้ จ.ปัตตานี จ.ยะละ จ.นราธิวาส และ 4 อำเภอสงขลา อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี หลังเหตุการณ์กรือเซะ - ตากใบ ปี 2547 พื้นที่ดังกว่าวถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก ตั้งแต่ปี 2548 ในรัฐบาลของพล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  

วันที่ 11 พฤศจิกายน วันรำลึกถึงเหตุการณ์สูญเสียเอกราชปาตานี การแต่งกายวัฒนธรรมมลายู เพื่อแสดงละครเหตุการณ์การสูญเสียเอกราชปาตานี  

อดีตที่แตกต่างกับปัจจุบัน

“ในอดีตพุทธ มุสลิมในพื้นที่ไม่ได้แยกจากกัน เราก็โตมากับการวิ่งเล่นกับพวกเขา รากครอบครัวบางคนก็เป็นพุทธบ้าง บางรุ่นมุสลิมบ้างแล้วแต่รุ่น ความเชื่อร่วมเช่น ตูปะ กลับมาหาครอบครัว ทำขนมรากินกัน” รักชาติ สุวรรณ์ นักเคลื่อนไหวชาวพุทธเรื่องสันติภาพในจังหวัดยะลา กล่าว

รักชาติเป็นชาวพุทธในพื้นที่ได้เล่าว่าในอดีต พื้นที่ตรงนี้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความแตกต่างทางศาสนา และยังมีวัฒนธรรมอาหารร่วมกัน เขาอธิบายว่าในอดีตพื้นที่นอกจากจะไม่มีความขัดแย้ง ประชาชนยังใช้ชีวิตร่วมกัน เติบโตมาด้วยกัน ไม่ได้มีช่องว่างทางศาสนาเหมือนในปัจจุบัน

ภาพสตรีทอาร์ตจ.ยะลา รูปตูปะ อาหารท้องถิ่นที่เป็นวัฒนธรรมร่วมของพื้นที่จ.ยะลา 

“เราเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้วิถีชีวิตเรากลับมาเหมือนเดิม ในอดีตเรานั่งคุยกัน ปั่นจักรยานไปด้วยกันเหมือนเดิม” รักชาติกล่าว

รักชาติเล่าว่า ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เขาเองก็ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสันติภาพ เช่น ร่วมกันออกแบบชุมชนร่วมกับคนมุสลิม เป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อรักษาสันติภาพ รักชาติเล่าว่าเขายังคงจำชีวิตในวัยเด็กก่อนที่เกิดความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงได้ดีว่าศาสนาทุกศาสนาในพื้นที่นี้ไม่เคยมีปัญหากัน 

รัฐ คือคนที่ทำให้เราเหินห่างด้วยการเลือกปฏิบัติต่อคนแต่ละศาสนา

รักชาติ สุวรรณ์ นักเคลื่อนไหวชาวพุทธเรื่องสันติภาพในจังหวัดยะลา

รักชาติอธิบายถึงความขัดแย้งทางศาสนาว่า สาเหตุที่คนในพื้นที่ห่างเหินกันไม่ใช่เพราะศาสนา แต่เพราะรัฐเลือกปฏิบัติระหว่างพุทธและมุสลิม จึงทำให้เกิดการเปรียบเทียบและทำให้ประชาชนเกลียดชังกันเอง

“บริบทของพื้นที่เรานั้นมีทุกศาสนา เราสูญเสียกันทุกศาสนา คนพุทธก็เช่นกันที่สูญเสีย การที่รัฐเลือกปฏิบัติกับประชาชนเลยก่อให้เกิดความไม่พอใจระหว่างประชาชนต่างศาสนา ผ่านการไปดูงาน แล้วทำไมไม่พาคนพุทธไปด้วย เราก็สูญเสียเหมือนกัน” 

รักชาติเล่าว่าช่วงเริ่มต้นของการปะทะระหว่างทหารและกองกำลังนั้นยังไม่มีคนออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสันติภาพมากนัก เพราะยังมีความกลัวต่อเหตุการณ์ปะทะกัน เช่น เหตุการณ์กราดยิงร้านน้ำชาที่ปัตตานี ทำให้ไม่มีคนพุทธกล้าออกมาเรียกร้อง 

“แต่ความรุนแรงมันเริ่มต้นที่รัฐ ทุ่มเทงาน งบประมาณต่างๆ ให้แก่มุสลิม พยายามเอาใจด้วยการไปดูงานต่างๆ พาไปซาอุดิอาระเบีย คนพุทธก็เกิดคำถามว่าทำไมรัฐไม่ดูแลให้เท่าเทียมกัน”

รักชาติอธิบายว่าการพาคนมุสลิมไปดูงาน ไปแสวงบุญ แต่ไม่มีการดูแคนพุทธในพื้นที่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนในพื้นที่ ทำให้เกิดภาพการเปรียบเทียบระหว่างสองศาสนา เลยเกิดการตั้งคำถามและความไม่วางใจระหว่างประชาชนต่างศาสนาภายในพื้นที่เดียวกัน

รักชาติเล่าว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2556 เกิดขึ้นและหลังจากการพูดคุยก็มีวงอัปเดทผลเจรจาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ จ.ยะลา 

“เราออกมาเคลื่อนไหวเพื่อที่เราอยากกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม หลังจากออกมาเคลื่อนไหวก็เริ่มมีคนพุทธออกมาในประเด็นที่แตกต่างกันไป เช่น ไม่เอาฮาลาล พุทธต้องเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งจริงๆ มันไม่จำเป็น เราต้องเรียกร้องสิทธิให้คนพุทธเพื่อความเท่าเทียมทางสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่การทำให้คนพุทธเหนือหรือเหินห่างจากคนในพื้นที่ต่างหาก”

“รัฐจึงเป็นตัวแบ่งแยกคน คนพุทธสูญเสีย คนมุสลิมก็สูญเสีย คุณต้องไปดูไทม์ไลน์ว่าเกิดเหตุกับใคร ซึ่งมักเป็นเจ้าหน้าที่ที่ถืออาวุธ”

รักชาติเล่าทุกวันนี้ค่ายทหารปักหลักถาวร และเขาเองก็ไม่อยากเห็นทหารถืออาวุธเดินอยู่ในพื้นที่ เพราะมันทำให้รู้สึกถึงความรุนแรง ทำให้พื้นที่เกิดภาพตั้งคำถามว่าทหารมาเพื่อปกป้องคนกลุ่มพุทธ และมองคนมุสลิมเป็นผู้ร้าย ประชาชนเลยระแวงกันเอง จนห่างเหินกัน 

“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปะทะกัน และรัฐเลือกปฏิบัติกับคนต่างศาสนา ทำให้คนพุทธไม่นับตัวเองว่าเป็นคนมลายูอีกเลย” รักชาติกล่าว

สาเหตุที่รัฐไทยยังคงใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ของตนเองนั้น รักชาติมองว่า “เพราะรัฐไทยมองจากเหตุตากใบกรือเซะว่าเป็นปัญหา เลยต้องไปแก้ที่ศาสนาอิลาม”

รักชาติอธิบายว่า รัฐไทยแก้ปัญหาที่คนมุสลิมด้วยเงินและโอกาสเพื่อซื้อใจคนมุสลิม แต่ไม่ได้มองว่าหน้าที่ของรัฐไทยคือการดูแลประชาชนทุกคน 

“เช่น โควต้าการศึกษา ผมสมัย 2516 เพื่อนๆ มุสลิมจบ มส.3 เขาไม่ได้แข็งแรงทางภาษาไทย เขาเลยเลือกทำงานเกษตรต่อที่บ้านเขา รัฐเลยต้องส่งเสริมภาษา เลยต้องให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา โดยการให้โควต้าการเรียนมหาวิทยาลัย แต่พอเวลาผ่านมา พี่น้องเราภาษาไทยแข็งแรง เข้าถึงความรู้ได้ แต่คนพุทธก็ยังคงไม่ได้รับโควต้าแบบคนมุสลิม ทุกวันนี้อยากให้เปลี่ยนเป็นทุกศาสนาสามารถเข้าสอบโควต้ามหาวิทยาลัยได้แบบเดียวันได้”

รักชาติอธิบายถึงการเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านเรื่องการเข้าถึงการศึกษาในพื้นที่ซึ่งในอดีตไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงการศึกษาแกนกลางได้ แต่ทุกวันนี้แตกต่างออกไป ซึ่งโควต้าการเรียนมหาวิทยาลัยยังจำกัดสิทธิใหเฉพาะคนมุสลิมในพื้นที่ รักชาติมองว่านี่เป็นอีกหนึ่งความเหลื่อมล้ำ 

“เช่น รัฐให้คนมุสลิมไปแสวงบุญที่ซาอุดิอาระเบีย คนพุทธก็ควรได้แสวงบุญที่อินเดียเหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องค่าใช้จ่ายนะ แต่เป็นเรื่องโอกาส แค่ว่ารัฐไทยไม่ได้เข้าใจว่าสำหรับมุสลิมการไปแสวงบุญคือ คนที่เขาพร้อมไปแสวงบุญ แต่กับพุทธ ศาสนาเราไม่ได้บังคับ มันอยู่ที่สายตารัฐมองมุสลิมยังไงถึงได้ต้องพยายามปฏิบัติกับเขาให้แตกต่างกับคนพุทธในพื้นที่ และรัฐจะไม่สนใจคนพุทธก็ไม่ได้ เพราะคนในพื้นที่ต้องได้รับสิทธิเท่าเทียม ไม่เหลื่อมล้ำ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐในการดูแลประชาชนทุกคน นั่นคือความเท่าเทียม”

ภาพรักชาติกับเพื่อนมุสลิมของเขา

รักชาติยกตัวอย่างถึงความเท่าเทียมทางศาสนาในพื้นที่ว่า 

“เราอยากเรียกร้องวันหยุดสารทเดือน 10 กลับมาทำตูป๊ะ กลับมาหาครอบครัว ทำขนมรากินกัน เพราะเป็นประเพณีที่คนใต้กลับบ้าน แต่ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นวันหยุดชดเชยหากมันชนวันเสาร์ อาทิตย์ เพราะรายอมุสลิมก็ไม่ได้หยุดเช่นกัน แต่ทำให้ทุกศาสนามีพื้นที่เท่าเทียมกัน นอกจากนั้นยังมีศาสนาอื่นในพื้นที่ คริสต์ ฮินดู รัฐต้องดูแลทุกศาสนาต่างหาก”

และรักชาติมองว่าการมีกฎหมายพิเศษในพื้นที่เป็นเรื่องที่ไม่สมควรเกิดขึ้น“เช่น เราต้องเรียกร้องให้พื้นที่เรายกเลิกกฎหมายพิเศษ คนพุทธอาจไม่สบายใจเพราะเขาคิดว่ารัฐคุ้มครองเขา พอบอกยกเลิกอย่างไร เช่น อ.แม่ลาน และบางพื้นที่ในที่จ.นราธิวาส มีหลายพื้นที่ยกเลิกกฎหมายพิเศษไป เขาก็อยู่กันได้ปกติ”

รักชาติอธิบายว่าประชาชนอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องอาศัยกฎอัยการศึกก็ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ทหารและงบประมาณถูกเทลงมาในพื้นที่ และเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะพื้นที่นี้มีปัญหาเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐในการดูแลประชาชนให้เข้าถึงสวัสดิการต่างๆ โดยเท่าเทียมกัน

“ทุกวันนี้คนพุทธที่เขาไม่เห็นด้วยกับเราก็มี เช่นการชูธงปาเลสไตน์ ก็มีคนพุทธบางส่วนบอกว่า “พวกเดียวกันก็ย้ายออกไปเลย” ทั้งๆ ที่ในอดีตเราอยู่ด้วยกันได้ ”

ภาพสตรีทอาร์ตจ.ยะลาเล่าถึงการละเล่นในอดีต เด็กด้านซ้ายเป็นมุสลิมเล่นกับเด็กด้านขวาไว้ผมแกละตามวัฒนธรรมเดิมของสยาม

สิทธิ เสรีภาพ เท่าเทียมกัน กุญแจสำคัญสำหรับไขปัญหา

ในความเห็นของรักชาตินั้นมองว่า รัฐโดยเฉพาะ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ว่าเป็นรัฐซ้อนรัฐ 

“โดยเฉพาะการที่อดีตกอ.รมน.ออกมาบอกว่า ไม่ใช่รัฐซ้อนรัฐเป็นสิ่งที่ขัดแย้งมาก เพราะการทำกิจกรรมต่างๆ การรวมตัว การใช้ชีวิตของปาตานี ถูกควบคุมผ่านการนำของทหาร ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปาตานีว่าจะทำได้หรือไม่ได้ ถูกตัดสินจาก กอ.รมน.ไม่ใช่ประชาชน เป็นรัฐซ้อนรัฐ”

ภาพสนามแข่งนกกรงหัวจุก จ.ยะลา

“ที่ยะลาไม่ได้เน้นที่วัฒนธรรมของพุทธ กอ.รมน. ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ) ก็อาจมีการส่งเสริมบ้าง ส่วนมากจะเป็นงาน นกเขาชวาเสียง อาเซียน ที่เทศบาลนครยะลา จะเป็นคนมุสลิมเข้าร่วมซะเยอะ มีคนพุทธเข้าร่วมแข่งบ้าง มีชมรมนกบินอิสระ ของยะลา มาประกวดนกสววยงามกัน ส่วนมากก็เป็นคนมุสลิม พุทธก็มี จะเป็นงานลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาที่เราออกมาอยู่ร่วมกัน ออกมาสนุกด้วยกันได้”

รักชาติเล่าถึงการรวมกลุ่มทำกิจกรรมว่ามักเป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องทางศาสนาถึงจะออกมาทำกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งในอดีตรักชาติ เติบโตมากับปาตานี ได้เล่าว่าในอดีตก็เหมือนคนพื้นที่อื่น มีงานอะไรก็ช่วยกัน สนุกด้วยกัน ไม่ได้มีความห่างเหินทางศาสนาอย่างทุกวันนี้

“คนที่ออกมาบอกว่าพวกเราอยู่ร่วมกันไม่ได้ เราไม่เชื่อแบบนั้น เพราะทุกวันนี้เหตุการณ์เกิดเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นกับกับคู่ต่อสู้ทางตรง คือคนติดอาวุธด้วยกัน ทุกวันนี้เด็กๆ ในพื้นที่อยากเรียนจบมีงานทำที่บ้านเรา แต่มันไม่มีงาน เช่น รือเสาะ เป็นเด็กผู้หญิงพุทธ จบนิติศาสตร์ ถามว่าเขาจะทำงานที่บ้านหรือไม่ เขาตอบว่าถ้าที่บ้านมีงานทำก็ทำ รากปัญหาอาจมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบนะ เพราะมันไม่เกิดการลงทุนที่บ้านเรา แต่ราคาที่ดินที่นี่แพงมาก เป็นอะไรที่ย้อนแย้งมากกับรายได้คนในพื้นที่”

รักชาติอธิบายอีกหนึ่งปัญหาความยากจนคือ การไม่เกิดการลงทุนในพื้นที่ เพราะปาตานีถูก กอ.รมน.เป็นตัวตัดสินและควบคุมพื้นที่ และมีกฎอัยการศึกด้วย ทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่พร้อมสู้รบกัน จนก่อให้เกิดปัญหาความยากจนเเละอัตราการจ้างงานในพื้นที่น้อย เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำและยากจนในขณะที่ราคาทีดินในราคายะลาสูงมาก ขัดแย้งกับรายได้ประชาชนในพื้นที่ 

“การที่รัฐจะแก้ปัญหา ต้องมองทุกบริบทของพลเรือนในพื้นที่ เอาใจใส่ ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ”

รักชาติกล่าวว่า การแก้ปัญหาต้องแก้ให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ เท่าเทียมกัน รัฐไทยต้องมองหน้าที่ของตนเองว่ามีหน้าที่ดูแลประชาชน ไม่มองประชาชนเป็นศัตรูหรือไม่มองประชาชนเป็นปัญหา

โรงเรียนศาสนา ตาดีกา

ภาพทหารไทยมาแทรกการสอนในโรงเรียนตาดีกาช่วงเวลาที่นักเรียนกำลังเรียนวิชาศาสนา ด้วยการศาลเกี่ยวกับธงชาติไทย ถ่ายโดย someone 

“เจ้าหน้าทหารเข้ามาสอนเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทย สัญลักษณ์ไทย ความเป็นไทย มันส่งผลต่อเด็ก” เจ๊ะฆูคอลี ครูโรงเรียนตาดีกาในจังหวัดยะลาเล่าถึงเจ้าหน้าทหารที่เข้ามาสอนในคาบเรียนตาดีกา

“การที่เจ้าหน้าที่ทหารมาสอนภาษาไทยเป็นเรื่องไม่จำเป็น เพราะจันทร์ถึงศุกร์เด็กๆ เรียนที่โรงเรียนเป็นภาษาไทย”

เจ๊ะฆูคอลีเล่าว่าประสบการณ์ของเขาที่เจอในชั้นเรียนตาดีกาคือ การที่เจ้าที่ทหารเข้ามาสอนเรื่องภาษาไทย สัญลักษณ์เกี่ยวประเทศไทยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ส่วนมากเป็นเวลาครึ่งวันเช้า เเละยังมีการห้ามครูสอนประวัติศาสตร์ปาตานี ทั้งๆ ที่โรงเรียนตาดีกามีการสอนประวัติศาสตร์ศาสดามูฮัมหมัด ซึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศาสนาอิสลาม

ภาพทหารพร้อมอาวุธเข้ามาในโรงเรียนตาดีกา โดย someone 

“เป็นการรบกวนสมาธิเด็กๆ ต่อเรื่องการเรียนศาสนา เพราะเด็กๆก็จะเห็นภาพทารพร้อมปืน มันคือสัญลักษณ์ของความรุนแรง”

เขาเล่าว่ามันเป็นภาพที่ไม่เหมาะให้เด็กเล็กได้เห็น เพราะเด็กๆที่เรียนในตาดีกาจะอยู่ในวัยอนุบาลถึงประถมศึกษาที่ 6 ซึ่งเด็กบางคนผ่านความรุนแรง เช่น การถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าบ้านและมีอาวุธ พอเห็นภาพทหารเข้ามาในโรงเรียนก็กระตุ้นความทรงจำของเด็ก

“ส่วนมากครูผู้ชายจะน้อย เพราะเจ้าหน้าที่จะโยงเกี่ยวกับความมั่นคง เพราะตาดีกาสอนศาสนา รัฐไทยมองมุสลิมในพื้นที่เป็นปัญหา จึงมาแก้ที่ครูสอนศาสนา”

เจ๊ะฆูคอลีเล่าว่าการที่ครูตาดีกาถูกเพ่งเล็งให้เกี่ยวกับความมั่นคง เพราะเจ้าหน้าที่มองว่าผู้ชายจะเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดน แม้ว่าสิ่งที่สอนจะการเรียนการอ่านอัลกุรอานของศาสนาอิสลามก็ตาม แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐขัดขวางช่วงเวลาสอนศาสนาอยู่ดี

“อสม.(อาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ก็มักมีโครงการเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งพวกเขาเล็กเกินจะรู้จักยาเสพติด แต่มันคือการกินเวลาสอนศาสนาของเรา เลยไม่เห็นด้วยกับโครงการเหล่านี้” เจ๊ะฆูคอลีให้ความเห็นต่อการเข้ามาทำกิจกรรมของอสม.ว่าเป็นการแทรกแซงอย่างหนึ่ง ทำให้เด็กๆ มีเวลาเรียนศาสนาน้อยลง การเรียนการสอนภาษามลายูจึงน้อยลงไปด้วย 

“ยกตัวอย่าง ภาษายาวี หรือบางที่เรียกยูมี เป็นภาษาที่ใช้เชื่อมต่อพูดคุยกับทางมาเลเซียได้ แต่พอถูกเข้าแทรกแแซงโดยเจ้าหน้าที่รัฐมากๆเข้า เด็กๆ มีเวลาเรียนภาษามลายูน้อยลงและเกิดความสับสน ในสิ่งที่เรียนจากครูในห้องเรียนตาดีกาและสิ่งที่ทหารสอน เราเป็นคนไทยโดยดั้งเดิมหรือปาตานีมีจริงหรือไม่ แม้ว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะมีอยู่มากก็ตาม”

เจ๊ะฆูคอลีอธิบายว่าความสับสนในคาบเรียนที่เกิดจากการแทรกแซงของเจ้าหน้าที่ทหารและอสม.ทำให้เวลาเรียนภาษามลายูน้อยลง ทำให้เด็กๆ เรียนภาษาลายูได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ทั้งติดต่อสื่อสารกับประเทศมาเลเซีย ใช้ในการอ่านอัลกุรอาน และตัวอักษรมลายูหรือยาวีมีความใกล้เคียงกันภาษาอาหรับ ถ้าเด็กๆ อ่านภาษามลายูออก ก็เป็นเรื่องไม่ยากที่เด็กๆ จะเรียนภาษาอาหรับได้ 

นอกจากนั้นความสับสนของเด็กๆ จากการแทรกแซงเวลาเรียนในตาดีกาโดยเจ้าที่ทหารและอสม.ยังลดความเชื่อถือต่อครูตาดีกา ทำให้ครูบางคนถูกเด็กๆ มองว่าทำไมพวกเขาต้องเรียนศาสนาอิสลาม เพราะเชื่อว่าตัวเองเป็นคนไทย ไม่จำเป็นต้องอ่านภาษามลายูก็ได้

“เด็กๆ ไม่รู้จักปาตานีแล้ว”

เจ๊ะฆูคอลีครูตาดีกาในจังหวัดยะลากล่าวทิ้งท้ายว่า “ถ้าจะมาสอนภาษาไทย ความเป็นไทยก็ไปสอนที่โรงเรียน ตามระบบของกระทรางศึกษาธิการ และถ้าสอนภาษาไทยแล้วเด็กๆ ฟัง อ่าน เขียนไม่ได้ ก็ไปแก้ที่ระบบการศึกษา ไม่ใช่ที่ตาฎีกา”

ปาตานีในประวัติศาสตร์บอกเล่าของเขา

ภาพการเล่นละครสมมติบอกเล่าประวัติศาสตร์ปาตานี ในช่วงรัชกาลที่ 5 การฆ่าผู้นำของราชวงศ์ปาตานีและประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว 

“สงครามจารีตที่มันดำเนินมาเนิ่นนาน แล้ววันหนึ่งปาตานีก็แพ้ในรัชการที่ 1 และเพื่อถอนรากมลายูทิ้ง และรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งเดียว ก็เกิดการกวาดล้างเชื้อพระวงศ์มลายู ปาตานีจึงไม่ได้สู้เพื่ออาณาจักร อีกต่อไป แต่เราสู้ด้วยศรัทธาและสู้เพื่อกำหนดชะตาชีวิตของพวกเราเอง”

ฮาซัน ยามาดีบุ กล่าว อีกหนึ่งนักเคลื่อนไหวด้านการศึกษา และสันติภาพปาตานี คนในพื้นที่มักเรียกเขาว่า อุสตะฮาซัน แปลว่า ครูฮาซัน อธิบายถึงสงครามจารีตและความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐไทยและปาตานีที่สะสมบาดแผลกันมาจนถึงปัจจุบัน และเขาได้เล่าถึงที่มาของคำว่าปาตานีว่า อาณาจักรปาตานีเป็นอาณาจักรตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทร มีการค้าขายกับต่างชาติ ตัวผู้ปกครองในอดีตเป็นมุสลิม ดังนั้นเลยใช้คำว่าสุลต่าน ที่ผ่านมามีการรบในอดีตที่เรียกว่าสงครามจารีต เป็นสงครามที่มีมาโดยตลอด เช่น กรุงศรีอยุธยาไปรบกับอาณาจักรล้านนา กับอาณาจักรต่างๆ ที่นี้ก็เช่นกัน ก็รบกันมาตลอด ก่อนจะล่มสลายไปในรัชกาลที่ 1 

ภาพการเล่นละครสมมติเล่าประวัติศาสตร์ปาตานี ในช่วงรัชกาลที่ 5 การฆ่าผู้นำของราชวงศ์ปาตานี

“พอเข้ารัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ปาตานีถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคมคือ อังกฤษ ปาตานีก็พยายามแสดงตัวตนว่าเรามีตัวตน แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับเพราะยังถูกมองเป็นเมืองประเทศราช แต่สยามก็พยายามแสดงตัวว่าตนว่าตัวเองก็เป็นเจ้าอาณานิคมในแถบนี้เช่นกัน”

อุสตะฮาซันอธิบายว่าความขัดแย้งระหว่างสยามกับปาตานีเรื้อรังกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพราะถึงแม้ปาตานีจะพ่ายแพ้ สยบยอมแก่สยาม แต่ก็ยังคงมีความพยายามทวงคืนเอกราช แต่ไม่สำเร็จ นำไปสู่การกวาดล้างเชื้อพระวงศ์เดิมของมลายูก็สูญสิ้นไปในรัชการที่ 5 

เมื่อสิ้นสุดเชื้อพระวงศ์ สิ่งที่เข้ามาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนกลายมาเป็นศาสนา เพาะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด เป็นความหวังที่ใช้ในการยืนยันตัวตนของเรา เลยนำไปสู่การเกิดผู้นำโดยโต๊ะครู และเป็นจุดกำเนิดการนำศาสนามาเป็นจุดนำในการต่อสู้ การใช้ศาสนานำการต่อสู้ การต่อสู้จึงเริ่มขึ้น จนเกิดเป็นกลุ่มต่อสู้รูปแบบต่างๆ ซึ่งมันหลากหลายรูปแบบทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง แต่ความรุนแรงมันออกมาชัดเจนในเหตุการณ์ “ตากใบ กรือเซะ” 

ปาตานีคือผู้คน

“ปาตานีไม่ใช่แค่ประชาชนมุสลิม แต่หมายถึงทุกคน ไม่เคยทะเลาะกันเพราะต่างศาสนา แต่ปัญหามันเกิดมาตอนที่ทหารส่งลงมาปาตานี” อุสตะฮาซัน กล่าว

อุสตะฮาซันอธิบายว่าการส่งทหารมายังพื้นที่สามจังหวัดได้เริ่มเข้มข้นขึ้นเป็นอย่างมากในสมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร 

ด้วยแนวคิดทางทหารที่พุ่งเป้าไปยังชาวมุสลิมว่าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โดยสันนิษฐานว่ามุสลิมเป็นคนร้ายไว้ก่อน แม้จะไม่มีหลักฐานก็ตาม 

ภาพเจ้าหน้าที่เดินตรวจตราตามซอยบ้านประชาชนในอ.เมืองยะลา จ.ยะลา พร้อมอาวุธ

“มีการพูดคุยกับคนต่างศาสนา เช่น ไทยพุทธ ว่าอย่าไปคบค้า เดี๋ยวเกิดเหตุร้าย ประกอบกับการเกิดเหตุยิงรายวัน ยิ่งทำให้คำพูดว่ามุสลิมเป็นคนร้ายยิ่งน่าเชื่อถือ คนไทยพุทธจึงหันไปสนิทกับทหารต่างพื้นที่ที่ถูกส่งเข้ามา มุสลิมก็ระแวงคนพุทธ จนตอนนี้แทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน”

ภาพการปิดถนนเวลากลางคืนของชุมชนพุทธในจ.ยะลาเพื่อควบคุมคนเข้าออกชุมชน

อุสตะฮาซันเล่าถึงความเหินห่างของคนในพื้นที่ที่ต่างศาสนากัน ถูกทำให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยการส่งทหารเข้ามาควบคุมพื้นที่ นำไปสู่การแทรกแซงในศาสนาโดยทหาร เช่น การส่งโต๊ะครูที่สยามไว้เนื้อเชื่อใจมาสอนศาสนาหรือตามในโรงเรียน และทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่

“ปัจจุบันคนที่เป็นนักการศาสนาของสยามส่งมาไม่ใช่คนมีชื่อเสียง คนก็ไม่นับถือ เลยเกิดการกดดันกรรมการอิสลาม ครูสอนศาสนา” อุตะฮาซัน กล่าว

อุตะฮาซันอธิบายว่า จากข้อมูลการคุกคามมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดการคุกคามโดยทหารต่อพลเรือน ซึ่งไม่ใช่แค่การมองหาตัวคนร้ายอย่างเดียว แต่การคุกคามยังเป็นวิธีการที่นำไปสู่การทำให้คนในพื้นที่ให้ไปสร้างความแตกแยกทางศาสนาจากภายในได้ เช่นการขู่เข็ญ การพยายามทำให้สารภาพ หรือแม้แต่การซ้อมทรมานเพื่อให้ออกมาแถลงถ้อยคำบางอย่างในสาธารณะ และโดยส่วนมากคนเหล่านี้มักถูกซ้อมทรมานมาก่อน เลยเกิดการจำใจต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ เช่น การตีความอังกุรอานในแบบที่ไม่อยากทำ 

“เขาก็หายไปจากบ้าน พอกลับมาเราอาจมองไม่เห็นแผลภายนอก แต่มันเกิดบางอย่างขึ้นแน่ๆ ความคิดหรือคำพูดบางอย่างที่เปลี่ยนไป คนเราก็รักชีวิต เขาจำใจต้องพูดตามคำสั่งรัฐไทย เพราะกลัวกระบอกปืน”

อุสตะฮาซันกล่าวว่าการอยู่ในสถายการณ์เช่นนี้เป็นเวลาหลายปี ไม่ใช่สิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ จึงไม่ใช่การกำหนดชะตาชีวิตของประชาชนในพื้นที่ แต่เป็นการถูกกำหนดให้กลายเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชน

“หลายคนถูกกระตุ้นจากเหตุการณ์ตากใบ มันเลยทำให้คนไม่อยากอยู่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้” อุสตะฮาซันกล่าว

บงแปลว่าสหาย

บงอลาดีหนึ่งในนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องสันติภาพปาตานีได้เล่าถึงเหตุจูงใจในการปะทะระหว่างทหารไทยและขบวนการว่า

“ทักษิณใช้คำว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน มันทำให้เกิดการปะทะของคู่ขัดแย้งที่ชัดเจน” บงอลาดี กล่าว

บงอลาดีอธิบายว่า สถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ทวีความรุนแรงขึ้นหลังเหตุการณ์ตากใบ และการที่นายกในสมัยนั้นคือ ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้คำว่าตาต่อตาฟังต่อฟัน จึงทำให่กลุ่มที่เชื่อเรื่องการปกป้องพื้นที่ของตนเองออกมาเคลื่อนไหว และโจมตีกันอย่างชัดเจน เช่น การที่ทหารได้ทำร้ายคนมุสลิมที่ร้านน้ำชาจนถึงแก่ชีวิต ก็ทำให้ชุมชนพุทธก็ถูกโจมตีกลับ เพราะคำว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

ภาพป้ายประกาศจับคดีความมั่นคงที่สถานีรถไฟ อ.เทพา จ.สงขลา

“คนพุทธอาจรู้สึกสูญเสียในช่วงรัฐบาลทักษิณ แต่ในทางประวัติศาสตร์พื้นที่ปาตานีเราสูญเสียกันมาโดยตลอด” อลาดี กล่าว พร้อมเล่าถึงความขัดแย้งว่าเป็นปัญหาเรื้อรัง เพราะพื้นที่อื่นในอาณาเขตของไทยนั้นนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก ในอดีตเคยมีการส่งทหารจากภาคอื่นๆ เช่น อีสาน เหนือ ลงมาปฎิบัติการณ์ในพื้นที่เพื่อกลมกลืนและกลืนกินวัฒนธรรมมลายูและส่งเสริมความเป็นไทยให้มากขึ้น

“จะเห็นได้ชัดผ่านช่วงรัฐชาตินิยม อย่างสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ที่พยายามบังคับให้ทุกคนอยู่ภายใต้วัฒนธรรมเดียวกันคือ วัฒนธรรมของสยาม”

ภายหลังได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่สาจังหวัดชายแดนใต้ ในปี 2550 มีการส่งทหารจากภาคอื่นๆ ของไทยลงมาเช่นเคยและส่วนมากมักเสียชีวิตจากการปะทะกับขบวนการเคลื่อนไหว 

“ช่วงหลังมานี้ทหารในพื้นที่จึงมักเป็นคนใต้ด้วยกัน เช่น จากสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ซึ่งพวกเขามีความเชื่อที่เข้มข้นเรื่องศาสนาพุทธเช่นเดียวกับคนปาตานี คู่ต่อสู้จึงยิ่งชัดเจน และเป็นความรุนแรงที่ไม่จบสิ้น”

ภาพจากเฟซบุ๊ก ชนพุทธ กลุ่มน้อย ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ช่วงหลังมานี้เราจะเห็นกลุ่มพุทธสุดโต่งที่เลือกใช้ความรุนแรงมากกว่าการเจรจา” อลาดี กล่าว และเล่าถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนพุทธที่สนับสนุนความรุนแรงในพื้นที่ โดยช้คำว่า “แบ่งแยกดินแดน” มาเป็นความขัดแย้งระหว่างคนพุทธและมุสลิม ยิ่งทำให้ความขัดแย้งชัดเจนผ่านศาสนามากกว่าเดิม 

“เราต้องเจรจาเพื่อหาทางออก แต่หากเรายังมีรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย การต่อสู้เช่นนี้ไม่มีคนชนะ ทั้งรัฐไทยและขบวนการ เราสูญเสียกันหมด เพื่ออะไร” อลาดี กล่าว

อลาดีมองว่านี่เป็นความขัดแย้งที่ต้องใช้การเจรจาเพื่อหาทางออก แต่การเจรจาที่ผ่านมานั้นแทบไม่ได้รับความสำคัญจาก รัฐไทย โดยเฉพาะกอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญในพื้นที่ที่ใช้ทหารในการควบคุมสถานการณ์ 

ภาพจากโรงเรียนตาดีกา

“รัฐไทยไม่ให้ความสำคัญกับการเจรจาสันติภาพ เพราะรัฐไทยส่งคนจากข้างนอกพื้นมาตาย เพื่อครอบครองพื้นที่ที่ไม่ใช่ของตน” อลาดี กล่าวทิ้งท้าย

เพราะเมื่อวานจึงมีวันนี้ เพราะปีนั้นมันเกิดตากใบ กรือเซะ มันจึงเป็นวันนี้

ภาพการแต่งกายวัฒนธรรมปาตานี

“ปัญหาปาตานีมันเรื้อรังสะสมมานาน เป็นวันนี้เพราะเมื่อวาน เมื่อวานเพราะปีก่อน เป็นพัฒนาการการต่อสู่ที่มันมาไกล ที่อื่นอาจจะแค่บางจังหวัดที่มีความต้องการปกครองตัวเอง แต่สามจังหวัดมันเป็นไปทั่วทุกหมู่บ้านแล้วมันมีพัฒนาการมาไกล”

อุสตะฮาซันอธิบายถึงทางออกของความขัดแย้งว่า การกระจายอำนาจอาจไม่เพียงพอ อาจไม่ใช่ยารักษาตรงจุด แต่ปัญหาความขัดแย้งจะแก้ไขได้นั้น ต้องให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีสิทธิเลือกว่าเขาอยากได้การปกครองแบบไหน เช่น มีการปกครองเฉพาะพื้นที่ที่มันแตกต่างจากทีอื่น การจัดสรรทรัพยากร เรียนในภาษามลายู การรักษาอัตลักษณ์มลายู ไม่แทรกแซงและยอมรับอัตลักษณ์วัฒนธรรมภาษาของมาลายู รวมถึงคนทำงานราชการ ผู้ว่าฯจังหวัด ผู้นำทางการเมือง ควรมาจากคนในพื้นที่ แต่ไม่ได้เสียหายอะไรที่จะใช้เงินไทย ธงไทย 

“เพราะเราต้องการการยอมรับการมีตัวตนจริง เลิกแทรกแซงและให้ประชาชนในพื้นที่ได้เป็นผู้เลือกเองว่าต้องการให้พื้นที่เป็นแบบไหน” อุสตะฮาซันกล่าว 

เขาอธิบายถึงปัญหาที่เรื้อรังของความขัดแย้งนี้ว่า เพื่อรักษาไว้ซึ่งดินแดนสามจังหวัดให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐไทย ในการกำหนดทิศทางของพื้นที่ การใช้ทรัพยากรณ์ และการทำลายรากเหง้าวัฒนธรรม ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกของคนในพื้นที่ แต่เป็นสิ่งที่รัฐไทยได้กำหนดลงมา จึงไม่ใช่การกำหนดชะตาชีวิตโดยประชาชน

ภาพความเสียหายจากความรุนแรง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

“เมื่อพื้นที่ไม่มีเสรีภาพ ถูกทำลายรากเหง้า คำถามคือทำไมคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ถึงไม่มีสิทธิที่จะกำหนดชีวิตและความเป็นมาตุภูมิของตนเอง” อุสตะฮาซันอธิบายว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกมิได้ มาตรา1 รัฐธรรมนูญ ที่ถูกเขียนไว้แบบนี้เป็นกรอบบีบปาตานีไม่ให้แสดงออก

รูปการแสดงออกปาตานี ครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์ตากใบ

“เราต้องการยืนว่าเราคือเรา เป็นรัฐและถูกยึดครอง แล้วพออยู่ภายใต้สยบสมยอมแล้วเป็นอย่างไร

เราถูกกลืนให้เป็นไทยมุสลิม ไม่ใช่มลายู ถูกริดรอนสิทธิ มันเลยต้องทวงกลับมา” อุสตะฮาซันกล่าวทิ้งท้าย

หากเปรียบเทียบสิทธิ เสรีภาพ การคุ้มครองในฐานะมนุษย์ ของคนมุสลิมในพื้นที่อื่นกับพื้นที่สามจังหวัด แตกต่างกันอย่างไร

พระราชวังเก่าที่อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

“หลังสงครามโลก หลายประเทศทวงคืนเอกราชจากเจ้าอาณานิคม ปาตานีก็เช่นกัน” รอมซี ดอฆอ นักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในปาตานี กล่าว และระบุถึงยุคสมัยหลังสงครามโลก ช่วงปี 1960 ที่ทั่วโลกเองก็เข้าสู่ช่วงพยายามปลดแอกตัวเองออกจากการเป็นประเทศราช เกิดการรวมตัวเพื่อเอกรากกลับคืนประเทศตนทั่วโลก ปาตานีก็เช่นกัน

“ทหารคือสัญลักษณ์หนึ่ง มีความสำคัญในการควบคุมพื้นที่เสมอมา” รอมซีกล่าว

และว่า หากจะพูดถึงสิทธิให้ใกล้ตัว ความแตกต่างที่ชัดเจนก็คือทุกวันนี้ยังมีด่านตรวจตลอดตามท้องถนน 

“เวลาที่มีคนแต่งกายด้วยวัฒนธรรมมลายู เราจะเจอการเรียกเข้าด่านตรวจและถามคำถามที่ด่านตรวจแล้วใส่ชุดที่มีความวัฒนธรรมมลายู จะถูกค้นตัว ขอใบบัตรปชช ใบขับขี่ ทำประวัติ นี่คือเข้าด่านบนถนน

ภาพการปฏิบัติงานของทหารในโรงเรียนตาดีกา โดยการนำพระมามอบของให้เด็กมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัด

รอมซีอธิบายว่าทหารก็เป็นกลไกหนึ่งในการควบคุมสถานการณ์ 2547 ค่ายปีเหล็ก เจาะไอร้อน ปล้นปืน รัฐบาลพยายามตามหาความผิด ซึ่งเป็นการแสดงความสามารถของฝ่ายตรงข้าม นำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึก

2548 รอมซีเล่าว่าเหตุการณ์ปิดไฟถล่มเมือง หลังการจับกุมผู้ชุมนุมตากใบ ซึ่งเป็นชนวนกระตุ้นให้เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายต่อต้าน 

ในยุคของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรก็ได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ออกมา รอมซีคิดว่าเป็นการประกาศเพื่อพยายามควบคุมสถานการณ์พื้นที่ และยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ก็ถูกชะงักโดยคณะรัฐประหาร และเกิดการประกาศกฎอัยารศึกทั่วประเทศ ภายหลังยกเลิกทุกพื้นที่ ยกเว้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”

ภาพป้อมทั่วไปที่สามารถพบเจอได้รายทาง ตามชุมชนพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้

“บางคนก็พูดว่าคนนี้ไม่ใช่คนก่อเหตุ แต่มันก็สืบสวนได้” รอมซี กล่าว

รอมซีเล่าถึงจำนวนคดีบนชั้นศาล ประเด็นความมั่นคงและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัด ส่วนมากจำเลยจะเป็นคนมุสลิม ทั้งๆ ที่ความเสียหายมันมีต่อทุกคน ไทยพุทธ มลายูพุทธ 

“เราแสดงออกไม่ได้แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่คิด ถ้าไม่มีมาตราหนึ่ง ปฏิกริยาในการแสดงออกถึงสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง สิทธิการปกครองตนเองในพื้นที่จะชัดเจนมากกว่านี้ ซึ่งมันอาจไม่นำมาสู่ความรุนแรงที่เรื้อรังยาวนานขนาดนี้ก็ได้” 

อุสตะฮาซันกล่าวและเล่าถึงความพยายามในอดีตเช่น หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ หรือ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา  ตัวแทนสามจังหวัดจากการเลือกของคนในพื้นที่ได้ไปสู่การสู้บนรัฐสภา แต่สุดท้ายก็ถูกอุ้มหาย ที่ทะเลสาปสงขลาพร้อมบุตรชายและเพื่อน รวม 4 คน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2497 เพราะข้อเสนอที่มาจากคนในพื้นที่ปาตานี เสนอโดยคนจากคนในพื้นที่ แต่รัฐไทยก็พยายามปัดตก และไปจบที่การอุ้มหายและการฆ่านอกกฎหมายในอีกหลายกรณี และทุกวันนี้ยังมีคนถูกฆ่านอกกระบวนการกฎหมาย ถูกอุ้มหาย และซ้อมทรมาน

ภาพการแต่งกายของตามวัฒนธรรมปาตานี

“ถ้าสยบสมยอมแล้วถูกปฎิบัติด้วยความรุนแรง พยายามกดไม่ให้เรามีสิทธิเสรีภาพ ทำลายรากเหง้าวัฒนธรรม โดยการใช้กำลังทหารกับคนในพื้นที่ นี่ไม่ใช่สิ่งที่คนปาตานีต้องการ เราเลยเรียกร้องเสรีภาพ เพื่อทุกคนในปาตานี” อุสตะฮาซันกล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิง : 

  • ‘กรมหลวงชุมพร’ เจ้านายมีพระนาม ‘ชุมพร’ แต่แทบไม่เกี่ยวกับเมืองชุมพร ทำไมเป็นเช่นนั้น?  https://www.thepeople.co/history/the-legend/51713
  • สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ (สวนแม่ สวนลูก) http://www.pattani.go.th/travel/detail/41
  • สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ (สวนแม่ - สวนลูก) https://pattani.prd.go.th/th/content/category/detail/id/381/iid/60995
  • บรรยายสาธารณะ : สถาปัตยกรรมมลายูในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้ https://lek-prapai.org/home/view.php?id=1043

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net