Skip to main content
sharethis

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย และเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย จัดงาน “ทำงาน สุขใจ ไร้ความรุนแรง” Ending violence in the world of work “ยุติความรุนแรงในโลกแห่งการทำงาน” หวังแสดงจุดยืนและรวมพลังการรณรงค์ 16 วันในการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ 

11 ธ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย และเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย จัดงาน “ทำงาน สุขใจ ไร้ความรุนแรง” Ending violence in the world of work “ยุติความรุนแรงในโลกแห่งการทำงาน” เพื่อแสดงจุดยืนและรวมพลังการรณรงค์ 16 วันในการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ที่ห้อง AUDITERIUM ชั้น M TCDC ศูนย์สร้างสรรค์งานนออกแบบ อาคารไปรษณีย์กลาง กรุงเทพมหานคร

โสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ผู้หญิงแรงงานนอกระบบ เป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นอกจากความรุนแรงจะพุ่งสูงขึ้นแล้ว ผู้หญิงแรงงานส่วนใหญ่ที่ประสบกับเหตุแห่งความรุนแรง เลือกที่จะไม่ขอความช่วยเหลือจากบริการต่างๆ หรือกระทั่งขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย เพราะเกรงว่าจะเกิดความรุนแรงซ้ำอีก หรือเกิดความอับอายต่อสังคม

รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการฯ ย้ำว่า ปัจจุบันการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงมีอัตราสูง โดยความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นกว่า 163 ประเทศทั่วโลก และความรุนแรงในครอบครัวไทยติดอยู่ในสิบอันดับแรก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแรงงานหญิงที่เปราะบาง มีข้อจำกัดทางภาษา และต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงตลอดเวลา

กนกวรรณ ด้วงเงิน ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบในกรุงเทพฯ อธิบายว่า ความรุนแรงในกลุ่มผู้หญิงลูกจ้างที่รับงานไปทำที่บ้าน หาใช่มีเพียงเรื่องการคุกคามทางเพศเท่านั้น หากแต่เป็น “ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ” ที่ทำให้พวกเธอไม่สามารถหาเงินให้พอใช้จับจ่ายได้ในแต่ละวัน

ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบในกรุงเทพฯ กล่าวต่อว่า บางครอบครัวไม่อยากมีลูกด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ บางครอบครัวต้องเผชิญกับภาวะที่ลูกหลานติดยาเสพติด หรือบางคนที่มีลูกเล็ก ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อร่างกายของลูกหลานจากการทำงาน เช่น ฝุ่นจากงานเย็บผ้า สารเคมีจากตะกั่ว เพราะบางโรงงานและชุมชนไม่มีศูนย์เลี้ยงเด็ก

ทางด้าน Kyan Par ผู้หญิงลูกจ้างทำงานบ้านชาวเมียนมา และรองประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านประเทศไทย เสริมว่า ผู้หญิงลูกจ้างทำงานบ้านต้องเผชิญกับความรุนแรง ไม่ว่าจะจากครอบครัวหรือนายจ้าง ทั้งวาจาดูหมิ่นเสียดสี ทำร้ายจิตใจและร่างกาย ขณะที่สถานะของการทำงานก็ต่ำกว่ามาตรฐาน เวลาส่วนตัวน้อย ขาดสวัสดิการ ไม่มีประกันสังคม

ขณะที่ลูกจ้างทำงานบ้านมักถูกเลือกปฏิบัติเมื่อไปทำธุรกรรมต่างๆ หรือกระทั่งเข้าไม่ถึงความเป็นธรรมเมื่อถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง เช่น เจ้าหน้าที่พยายามบ่ายเบี่ยงที่จะดำเนินการ หรือต้องเขียนคำร้องในแบบฟอร์มที่เป็นภาษาไทย ซึ่งแรงงานข้ามชาติหลายคนไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้

ทางด้าน พรรณี รวมทรัพย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ อธิบายว่า กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบมีหน้าที่ในการส่งเสริมเพื่อให้ประชาชนหรือผู้มาติดต่อได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความบกพร่องของเจ้าหน้าที่บางท่านได้ ซึ่งทางหน่วยงานก็พยายามพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เรื่องของการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ประเทศไทยก็มีกฎหมายที่จะดูแลลูกจ้างอยู่ 4 ฉบับ เช่น กฎกระทรวงผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ร.บ.คุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ซึ่งเราก็มีการปรับปรุงให้ทันสถานการณ์ต่างๆ เช่น ออกแนวปฏิบัติการส่งเสริมคุ้มครองสตรีมีครรภ์ให้นมบุตรหรือหลังคลอดบุตรที่เป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อจะรองรับอนุสัญญา 177 ที่ว่าด้วยการรับงานไปทำที่บ้าน

ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กล่าวต่อว่า ขณะที่กฎกระทรวงฉบับที่ 14 ที่มีการแก้ไขปรับปรุง 11 เรื่อง และขณะนี้ อยู่ในระหว่างขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งก็ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงไปแล้วเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) เสริมว่า เราต้องรีบเร่งมือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้ เพราะผู้หญิงแรงงานแทบทุกคนอยู่ในระบบนิเวศของความรุนแรง เพราะเมื่อก้าวสู่ความเป็นแม่หรือเมีย ผู้หญิงหลายคนต้องสูญเสียงานและชีวิตทั้งชีวิตของพวกเธอ และต้องเผชิญกับความภาวะความเครียดที่วัดเป็นตัวเงินไม่ได้ หรือกระทั่งต้องเป็นหนี้มากมายจากกองทุนชุมชนต่างๆ

หากนำงานดูแลเหล่านี้มาจัดสันปันส่วนใน GDP จะคิดเป็นถึง 26.8% นับเป็นมูลค่ากว่า 18.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจที่จะใหญ่ติด 1 ใน 4 ของประเทศไทย เพราะฉะนั้นหากเราเสริมในส่วนนี้  และสนับสนุนในเรื่องผู้หญิงและเด็ก ไม่ว่าจะเป็นมุมนมแม่หรือศูนย์เลี้ยงเด็ก ประเทศไทยอาจได้ผลตอบแทนกลับมาถึง 16% จากเหล่าผู้หญิงที่มีเวลาออกไปทำงานและเสียภาษี

“พวกคุณควรจะเล่นตัวได้แล้ว มันไม่มีงานไหนที่จะแพงเท่านี้อีกแล้ว ตอนนี้มันขึ้นยิ่งกว่าวิศวกรอีก เพราะงั้นการรวมตัวเพื่อต่อรองมันดีมาก มันขึ้นสูงมาก เพราะงานนี้ไม่มีใครอยากทำ และนายจ้างที่เขาจ้าง เขาจะจ้างใคร จ้างผู้หญิง ถ้าเราไม่ให้คุณค่าแรงงาน care เราก็จะสูญเสียเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ แล้วสังคมจะมั่นคงได้ยังไง” เรืองรวีทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net