Skip to main content
sharethis

วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ องค์กรแรงงานและสื่อเตรียมจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ผู้สมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม 12 ธ.ค.นี้ ปลัดกระทรวงแรงงานเผยสั่งการให้ประกันสังคมจังหวัดลงพื้นที่รณรงค์ให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิ์-ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เปิดตัวถึงสาเหตุลงสมัคร

11 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า นภาพร อติวานิชยพงศ์ นักวิชาการวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ร่วมกับมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ ไทยพีบีเอส สำนักข่าว The Reporters สำนักข่าวชายขอบ และ The Isaan Record จะจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการ(บอร์ด)ประกันสังคมขึ้นที่ห้องประชุมประภาศน์ อวยชัย อาคารเอนกประสงค์ 1 ชั้น 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

“เราจะเชิญผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตราคือ 33 ,39 และ 40 มาร่วมสะท้อนปัญหา และมีผู้แทนเครือข่ายแรงงานข้ามชาติมาร่วมด้วย ส่วนนักวิชาการจะเชิญจากสถาบันปรีดี พนมยงค์ มาร่วมนำเสนอที่ทางผู้ประกันตนต้องการเห็นการปฏิรูปประกันสังคม ส่วนตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งมีทั้งหมด  8 ทีม และผู้สมัครอิสระโดดเด่น 1 ท่าน“ นภาพร กล่าว

นักวิชาการจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวอีกว่า การจัดเวทีรับฟังวิสัยทัศน์ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมวันที่ 12 ธ.ค. 2566 นี้ จะช่วยกระตุ้นสร้างบรรยากาศให้ผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ 8 แสนกว่าคน อยากไปเลือกตั้ง

“ความสำคัญในการที่ผู้ประกันตนควรจะออกมาเลือกตั้งก็คือว่ากองทุนประกันสังคมมันเกี่ยวข้องกับเราโดยตรงเพราะเราต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน คณะกรรมการที่เลือกไปตรงนี้ก็เหมือนคนที่จะไปช่วยรักษาดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับเราในกองทุนที่มีเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท เงินเยอะก็ต้องมีคนมาดูแลซึ่งที่ผ่านมาคนที่เข้ามาเป็นบอร์ดประกันสังคมไม่ได้มาจากผู้ประกันตน ทำให้มีปัญหาเยอะ เสนอกันมานานแล้วว่าผู้ที่จะเข้ามาบริหารกองทุนต้องอิสระ รัฐบาลก็เคยเอาเงินกองทุนไปใช้ไม่ถูกวัตถุประสงค์ บางช่วงในอดีตเอาไปรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดหรือซื้อเสื้อมาแจกแรงงานซึ่งมันไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกองทุนประกันสังคม” นภาพร กล่าว

ต่อคำถามที่ว่าที่ผ่านมาบอร์ดประกันสังคมอาจไม่มีหน้าที่ในการอนุมัติหรือนำนโยบายประกันสังคมไปเสนอ เป็นเพียงคณะกรรมการที่ให้ความเห็นในวาระการประชุม นภาพร กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงนั่นคือสิ่งที่บอร์ดประกันสังคมจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตนต้องเข้าไปปฏิรูประบบการบริหารงานประกันสังคม

“มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่เข้าไปด้วย มีเสียงว่าแค่ตัวแทนลูกจ้างไม่ได้ทำตัวเป็นผู้แทนลูกจ้างจริงๆ บางทีเหมือนไปร่วมมือกับตัวแทนรัฐบาลในการพิจารณาตัดสินต่างๆ องค์กรแรงงานที่เคลื่อนไหวเขารายงานมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากเราเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ คนที่เข้าไปแล้วทำหน้าที่แทนแรงงานจริงๆคิดว่ามันจะต้องเปลี่ยนไป ที่เขาเสนอให้ปฏิรูประบบประกันสังคม ให้มีความอิสระ เคยมีการทำวิจัยมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องทำกัน” นภาพร กล่าว

ขณะที่ ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม กล่าวว่าถึงแผนในการรณรงค์เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมว่า ได้มีการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้ได้มากที่สุดที่สำคัญคือสั่งการให้ประกันสังคมจังหวัดและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่รณรงค์เพราะมีข้อมูลแล้วว่ามีผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิอยู่ในพื้นที่ไหนบ้างจึงได้เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ติดตามไปที่กลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ไปเลือกตั้งในวันที่ 24 ธ.ค.นี้

“การออกสื่อมีความสำคัญมาก เราจึงต้องใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์ เช่น ติ๊กต็อก นอกจากนี้ต้องมีการให้ข้อมูลไปยังกลุ่มไลน์ผู้ประกันตนในแต่ละจังหวัดโดยประสานกับนายจ้าง เมื่อลงทะเบียนกันไหว้แล้วก็อยากให้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง” ไพโรจน์ กล่าว

ต่อคำถามที่ว่าสำนักงานประกันสังคมจะมีการจัดเวทีให้ผู้สมัครมาแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่นั้น ประธานบอร์ดประกันสังคมกล่าวว่า ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวว่า จริงๆผู้สมัครสามารถแสดงวิสัยทัศน์ผ่านสื่อโซเชียลได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามจะแจ้งไปยังเลขาธิการสปส.ให้หาเวทีเพื่อให้ผู้รับสมัครเลือกตั้งได้แสดงวิสัยทัศน์

กรณีผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)เพราะถูกตัดสินในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมและกสม.ได้ส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาโดยนายกฯได้แจ้งมายังกระทรวงแรงงาน ไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไรนั้น ไพโรจน์กล่าวว่า ได้รับเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยในระเบียบไม่เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายซึ่งคงไม่ทันการเลือกตั้งครั้งนี้ และหลังวันที่ 24 ธ.ค. ต้องมีการหารือเรื่องนี้กันใหม่

กีรติ โกสีย์เจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้สมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมหมายเลข 113 ให้สัมภาษณ์ว่ กองทุนประกันสังคมมีจำนวนมากกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่ตารางรายจ่ายกับรายได้ที่รับมาไม่สัมพันธ์กัน และมีความเสี่ยงที่กองทุนจะขาดสภาพคล่องในเวลาไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า

“ผมเป็นผู้ประกันตนที่จะไปเลือกตั้ง แล้วเห็นว่าไม่มีใครที่น่าสนใจเลย ยิ่งนโยบายที่บอกว่าจะเพิ่มกำไรให้กองทุนมันดูดี เหมือนขนมที่หวานมากๆคนชอบทานแต่ไม่รู้ว่าดีต่อสุขภาพหรือเปล่า เลยคิดว่าอยากจะนำเสนอตัวเองเป็นอีกหนึ่งทางเลือก การเพิ่มสวัสดิการเพียงอย่างเดียวผมคิดว่ามันจะมีความเสี่ยงให้กับผู้ประกันตนได้ เลยอาสามาลงสมัคร” กีรติ กล่าว

“เมื่อคนอายุมากขึ้นกองทุนต้องจ่ายสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเติมอาจจะไม่ทัน กองทุนประกันสังคมตอนนี้มีความเสี่ยงเพิ่มกับสภาพที่ต้องเจอสังคมผู้สูงวัย มีนักวิชาการหลายค่ายทำโปรเจคชั่นว่าสิทธิประโยชน์จ่ายไม่เกินอีก 7 ปีกองทุนน่าจะเริ่มมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ผมมองเองว่าถ้าเราไม่ได้ทำอะไรเลย น่าเป็นห่วงจริง หรือถ้าเข้ามาแล้วเพิ่มสิทธิประโยชน์แบบบุฟเฟ่ต์กองทุนจะมีปัญหาสภาพคล่องแน่นอน” กีรติ กล่าว

กีรติ กล่าวว่า ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนก่อนเพื่อให้เกิดความมั่นคงแล้วจึงปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของสมาชิก ลดความซ้ำซ้อนอื่นๆไปพร้อมๆกัน โดยต้องไปดูเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนประกันสังคม แล้วดูการบริหารการใช้จ่ายคุ้มค่าทุกบาท การดูประสิทธิภาพในการบริหารปกติแล้วรายได้ของกองทุนมาจากการลงทุน ถ้าสมมุติว่าเราลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สนับสนุนทีมลงทุนไม่ให้ติดขัดข้อจำกัดต่างๆเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสดีๆในการลงทุนก็จะเพิ่มรายได้ฝั่งลงทุน

ด้านธนัสถา คำมาวงษ์ ประธานสหภาพแรงงานสมยามโตโยต้า และประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (สอยท.) ผู้ลงสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมหมายเลข 83  กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องการเข้าไปผลักดันคือ เรื่องเงินสงเคราะห์บุตร เงินชราภาพ และโรงพยาบาลประกันสังคม โดยเรื่องเงินสงเคราะห์บุตรจะผลักดันจากเดือนละ 600 บาทมาเป็น 800 บาท 6 ปี ส่วนเงินชราภาพ จากทุกวันนี้ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 15 ปี 180 เดือน ไม่เกิน 4,700 บาทต่อเดือนคิดว่ามันน้อยไป ไม่พอใช้ในโลกปัจจุบันนี้ โดยเราจะผลักดันให้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นบาท

ประธาน สอยท. กล่าวถึงนโยบายโรงพยาบาลประกันสังคมว่า ที่ผ่านมาการไปโรงพยาบาลทำให้ผู้ประกันตนมีความรู้สึกว่าถูกแบ่งชนชั้น ยาที่ได้ก็คนละเกรดกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งทหาร ตำรวจ ครู ต่างก็มีโรงพยาบาลของตัวเอง แต่ผู้ประกันตนต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลซึ่งได้ยาเกรดต่ำกว่า สปสช. ต้องไปก็รอนานครึ่งค่อนวัน จึงคิดว่าควรจะทำโรงพยาบาลของตัวเองได้

ประธานสหภาพแรงงานสมยามโตโยต้า ยังประเมินด้วยว่า จำนวนคะแนนเสียงจากผู้ประกันตนที่น่าจะทำให้ชนะเลือกตั้งได้น่าจะอยู่ราวๆ 3,900-4,000 คะแนน จากจำนวนผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 9.4 แสนราย

“คิดเร็วๆแบบหารกัน คน 247 คนที่มาลงสมัคร ก็น่าจะได้ประมาณ 3,900-4,000 คน ผมมาในนามทีมเดียวเลยคือแรงงานยานยนต์ เราก็มองว่าเราน่าจะมีโอกาสเพราะสมาชิกค่อนข้างเยอะเป็นผู้ประกันตนจริงๆ ส่วนลงอิสระคือถ้าคนไม่โซเชียลจริงๆเขาก็ไม่รู้ ไม่สนใจ” ธนัสถา กล่าว

รายละเอียดกำหนดการมีดังนี้ :

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net