Skip to main content
sharethis
  • 'บอร์ดค่าจ้าง' คงมติเดิมขึ้น 2-16 บาทต่อวัน แบ่งเป็น 17 อัตรา
  • ย้อนดูการเดินทางของนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย คือค่าแรงขั้นต่ำ ประกาศ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 70 แพทองธาร เคยประกาศว่าจะให้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทตั้งแต่ปีแรก ส่วนเศรษฐา เคยประกาศกลางสภา 400 บาทโดยเร็วที่สุด

 

สถานการณ์การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ขอนำมติมติคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เดิมที่ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราวันละ 2-16 บาท (เฉลี่ยร้อยละ 2.37) แบ่งเป็น 17 อัตรา กลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง หลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยและระบุว่าต้องขอทบทวนใหม่นั้น

ล่าสุดวานนี้ (20 ธ.ค.66) เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน รายงานว่า ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้าง ปี 2567 ว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ในวันนี้ ได้นำข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมาประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 แล้ว ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยึดตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเดิม เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566 เนื่องจากสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างใช้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เป็นสูตรที่คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการฯจังหวัดทุกจังหวัดใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการพิจารณาด้วยเหตุและผลบนข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงเห็นควรให้ปรับอัตราค่าจ้างด้วยความเหมาะสมและความเป็นจริง และเป็นการพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค เป็นธรรม และน่าเชื่อถือโดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราวันละ 2-16 บาท (เฉลี่ยร้อยละ 2.37) แบ่งเป็น 17 อัตรา โดยมีอัตราสูงสุดในจังหวัดภูเก็ต คือวันละ 370 บาท และอัตราต่ำสุดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา คือวันละ 330 บาท

สำหรับข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนั้น ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คณะกรรมการค่าจ้างจะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงสูตรในการกำหนดอัตราค่าจ้างใหม่ ซึ่งเป็นการปรับสูตรในรอบ 6 ปี ซึ่งวันที่  17 มกราคม 2567  จะลงนามแต่งตั้งอนุกรรมการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ส่วนการปรับค่าจ้างครั้งที่ 2 นั้นจะเป็นช่วงใด จะต้องดูตามเวลาดำเนินงาน พร้อมกับดูว่าจะมีไตรภาคีเสนอเรื่องนี้มาหรือไม่ และเมื่อได้สูตรใหม่แล้วจะเรียกประชุมบอร์ดค่าจ้างใหม่อีกครั้ง แต่ตอนนี้ใช้ตามมติเดิมไปก่อน  อย่างไรก็ตาม  ผมจะพยายามทำเต็มที่ และโดยเร็วที่สุด โดยคิดว่าในช่วงปี 2567 จะได้สูตรการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่  ซึ่งเราจะพิจารณาในประเภทกิจการเป็นสำคัญ เช่น การท่องเที่ยว บริการ ซึ่งอาจเป็นประเด็นหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาปรับสูตร  โดยจะรีบนำเข้าครม.ในอาทิตย์หน้า เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุดและให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567  เป็นต้นไป

ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2567 ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดบนพื้นฐานของความเสมอภาคและการหารือของแต่ละจังหวัด และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น  โดยพิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข

รัฐบาลไม่เห็นด้วย ปัดแทรกแซง

ทั้งนี้สัปดาห์ที่ผ่านมาภายหลังนายกฯ ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ดค่าจ้างขณะนั้น เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของบอร์ดค่าจ้างด้วย จนเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐากล่าวถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า ทุกคนทราบดีว่ารัฐบาลไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศออกไป อย่างพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปรับขึ้นเพียง 2 บาท ไข่ไก่หนึ่งฟองจะได้หรือเปล่ายังไม่รู้ ฟังดูแล้วมันรับไม่ได้ ลึกกว่านั้นคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมและความแตกแยก จะอ้างเรื่องมติคณะกรรมการไตรภาคีหรือนายกฯไม่มีอำนาจแทรกแซง คุณจะพูดอะไรคุณพูดได้หมด แต่เราอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงดีกว่าว่ามันเหมาะสมหรือเปล่าที่ค่าแรงขึ้นไปขนาดนั้น จะทำให้ธุรกิจถึงกับหายนะหรือไม่ หากขึ้นค่าแรงที่เหมาะสม รัฐบาลนี้ภายใต้การนำของตน การลดค่าใช้จ่าย ลดค่าไฟ การเปิดตลาดใหม่ๆ การเจรจาสนธิสัญญาการค้าและดึงนักลงทุนใหม่เข้ามา เชื่อว่าถึงจุดหนึ่งจะเป็นที่พอใจของภาคธุรกิจ เป็นขวัญและกำลังใจ คืนความชอบธรรมให้ประชาชนฐานราก ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ส่วนเรื่องกฎหมายตนมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ขณะที่หลังบอร์ดค่าจ้างออกมายืนยันมติเดิมในการปรับขึ้นนั้น วันนี้ (21 ธ.ค.66) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลเข้าใจว่าสิ่งไหนจะดำเนินการอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ในฐานะรัฐบาลสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ในช่วงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ก็ได้มีการหาเสียงไว้ รัฐบาลมีสิทธิรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคณะกรรมการที่มีหน้าที่ตามกฏหมายจะเห็นด้วยกับรัฐบาล ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งเป็นเอกสิทธิไปแทรกแซงไม่ได้

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ในเรื่องนี้เป็นไปตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุไว้ออกมาจากใจจริงว่า ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 2 บาท ใน 3 จังหวัดภาคใต้ แม้แต่ไข่ไก่ ไข่ต้มครึ่งฟอง ยังซื้อไม่ได้ หากถามว่าน้อยหรือไม่ โดยนายก มองว่าน้อยมาก ในแง่ของการครองชีพของภาคแรงงาน ค่าแรงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และคำนวณขึ้นค่าแรงล่าสุด 300 บาท เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 จนถึงปัจจุบันนี้ ค่าแรงขึ้นมาสูงสุดในรอบ 10 ปี ไม่เกิน 20 %

นายกฯ เคยประกาศกลางสภา 400 บาทโดยเร็วที่สุด

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา เศรษฐา ลุกขึ้นชี้แจงในการแถลงนโยบายชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องแรงงานตอนหนึ่งว่า รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น การท่องเที่ยว เพื่อดึงเงินเข้าภาคบริการ ทำให้ค่าแรงจะถูกปรับขึ้นตามความต้องการของแรงงาน นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจภาคบริการ เราจะลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และโลจิสติกส์ หลังแถลงนโยบายจะเดินหน้าโดยเร่งด่วน รัฐบาลมีเป้าหมายจะปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมพึงพอใจในการใช้จ่าย

"รัฐบาลจะจัดให้มีการเจรจา 3 ฝ่าย ระหว่างแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน โดยตั้งเป้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทโดยเร็วที่สุด" นายกฯ กล่าว

ทั้งนี้ การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นอัตราเดียวกันนั้นเคยเกิดชึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย เมื่อเกือบ 12 ปีที่แล้ว โดยปรับขึ้นเป็น 300 บาท ทั่วประเทศ จากเดิมการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นกลุ่มจังหวัด การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลหลายประการทั้งการปรับตัวของธุรกิจ การทำให้แรงงานสัมพันธ์กับระบบการเลือกตั้งโดยตรง แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนเมื่อปี 2560 มีการปรับขึ้นอีกครั้งและกลับไปใช้ระบบแบบกลุ่มจังหวัดที่ไม่ใช่อัตราเดียวกันทั้งประเทศ

ขณะที่การเลือกตั้งปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองที่มีการเสนอเรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากเพื่อไทยที่เสนอ 600 บาทต่อวัน ภายในปี พ.ศ. 2570 โดย แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ประกาศว่าจะให้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทตั้งแต่ปีแรก รวมทั้งนโยบายนี้เป็นนโยบายธงนำในการหาเสียงตั้งแต่ปลายปีที่แล้วของพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคอื่นๆ ที่มีนโยบายค่าแรงขึ้นต่ำ เช่น พรรคก้าวไกล เสนอที่ขึ้นค่าแรง 450 บาททันที ในปี 2566 และปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปี พรรคสามัญชน เสนอค่าแรง 723-789 บาท/วัน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และพรรคประชาธิปัตย์เสนอปรับอัตราค่าจ้างให้เหมาะกับค่าครองชีพ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามคณะกรรมการค่าจ้าง 3 ฝ่าย หรือไตรภาคีเป็นสำคัญ เป็นต้น ขณะที่ภาคประชาชนและขบวนการแรงงานเรียกร้องอัตราค่าจ้างพื้นฐานที่เป็นรายได้ของคนงาน 1 คน จะต้องสามารถเลี้ยงสมาชิกครอบครัวได้อีก 2 คน ตามคำจำกัดความของค่าจ้างขั้นต่ำในอดีตขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net