Skip to main content
sharethis

หารือ ตม.เกาหลีใต้ ลดปัญหาคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมือง เพิ่มแรงงานไทยทำงานถูกกฎหมาย

นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล พร้อมด้วยนายบัญชา ยืนยงจงเจริญ อุปทูต ณ กรุงโซล ได้พบหารือกับนายอี แจยู ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสาธารณรัฐเกาหลี และนายคิม จองโด อธิบดีกรมนโยบายตรวจคนเข้าเมือง ณ สำนักงานใหญ่ตรวจคนเข้าเมืองสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือในการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งรวมถึงชาวไทยที่พำนักในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย การขอให้ฝ่ายเกาหลีใต้ปรับปรุงระบบ K-ETA ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อลดปัญหานักท่องเที่ยวไทยถูกปฏิเสธเข้าเมือง และการส่งผู้ประสานงานตรวจคนเข้าเมืองของสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อปฏิบัติงานในไทย

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมแรงงานไทยมาทำงานแบบถูกกฎหมายในเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรม ก่อสร้าง เกษตร และสาขาบริการที่เพิ่งเปิดใหม่ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร โลจิสติกส์

ทางการไทยยังขอให้ฝ่ายเกาหลีใต้ส่งเสริมการยกระดับแรงงานแบบไร้ฝีมือของไทยที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นแรงงานมีฝีมือจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 พันคนต่อปี  รวมถึงส่งเสริมการส่งแรงงานตามฤดูกาล และแรงงานมีฝีมือในสาขาอู่ต่อเรือมาทำงานในเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีคนไทยอาศัยอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีประมาณ 200,000 คน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 25/2/2567

เชิญชวนแรงงานไทยอายุ 17 ปี ขึ้นไป ทดสอบประเมินคุณสมบัติเป็นแรงงานทักษะเฉพาะประเทศญี่ปุ่น

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้รับการประสานจากสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นแจ้งว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรม ประเทศญี่ปุ่นได้จัดทำแผนการจัดทดสอบเพื่อประเมินคุณสมบัติเป็นแรงงานทักษะเฉพาะประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย สำหรับทักษะงานอุตสาหกรรมก่อสร้าง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม 2567

นายคารม กล่าวว่า กรมการจัดหางาน ได้กำหนดวัน และสถานที่ทดสอบเพื่อประเมินคุณสมบัติเป็นแรงงานทักษะเฉพาะประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย สำหรับทักษะงานอุตสาหกรรมก่อสร้าง ดังนี้

1.วันที่ 27 และ 29 กุมภาพันธ์ 2567 กำหนดสถานที่สอบ ณ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วิทยาเขตร่มเกล้า อาคารเกษมนครา อาคารที่ 2 ห้อง STN 10988 ชั้น 6 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.00 น.

2.วันที่ 4 - 6 และวันที่ 8 – 10 มีนาคม 2567 กำหนดสถานที่สอบ ณ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วิทยาเขตร่มเกล้า อาคารเกษมนครา อาคารที่ 2 ห้อง STN 10988 ชั้น 6  ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.00 น.

สำหรับคุณสมบัติผู้ทดสอบ จะต้องมีอายุ 17 ปี ขึ้นไป ณ วันที่สมัครทดสอบ โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา

“ขอให้แรงงานไทยที่ประสงค์จะไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นในสถานะแรงงานที่มีทักษะ (แรงงานฝีมือ) เตรียมความพร้อมล่วงหน้า ขอให้พิจารณาไตร่ตรองการโฆษณาชักชวนและข้อมูลต่าง ๆ ให้รอบคอบ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ฉวยโอกาส แสวงหาประโยชน์จากกระบวนการจัดสอบภาษาและทดสอบทักษะฝีมือในสาขาอาชีพต่าง ๆ ของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะในประเทศไทย หากมีข้อสงสับประการใด สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กองบริหารแรงงานไทยในต่างประเทศ หมายเลขโทรศัพท์ 02-245-6708 ในวันและเวลาราชการ” นายคารม ย้ำ

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 24/2/2567

รมว.แรงงานยืนยันไม่ล้มเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ชี้ กม.เปิดช่องให้ รมว.แต่งตั้งกรณีฉุกเฉิน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระทรวงแรงงานจะชงแก้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ… โดยตัดที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้ง ว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ ว่าตนจะเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม โดยแก้มาตรา 8 วรรคสาม ตัดสิทธิคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ที่มาจากการเลือกตั้งออก

รวมถึงกรณีที่เพิ่งมีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2566 ซึ่งบอกว่าเป็นการล้มการเลือกตั้ง ซึ่งตนขอชี้แจงยืนยันว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว จะย้อนกลับไปสู่การแต่งตั้งเพื่ออะไร แต่ในส่วนของกฎหมายที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น เป็นเรื่องของเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายที่เสนอต่อเนื่องมากจากรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งมีการระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้น เราจึงคิดว่า หากมีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถเลือกตั้งได้ ก็ให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แต่งตั้ง แต่ขออย่ากังวล เนื่องจากมาตรา 9 กำหนดให้บอร์ดประกันสังคม พิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับที่รมว.แรงงานเสนอหรือไม่ ตนเข้าใจที่มีคนกังวลและสงสัยเรื่องนี้แต่ยอมรับว่า ถ้อยคำในกฎหมายออกมาคลุมเครือไม่ชัดเจน ในส่วนนี้ตนจะมีการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งก่อนเสนอเข้า ครม.

“ยืนยันว่าเรายังมีการเลือกตั้งแน่นอน ไม่มีใครสามารถไปลบล้างได้ โดยวาระละ 2 ปี แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัย เกิดภัยพิบัติ โรคระบาดเหมือนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ก็ให้รมว.แรงงาน แต่งตั้งมา เราไม่สามารถให้มีการเว้นวรรคได้ เพราะสิทธิประโยชน์มีมากมาย ต้องมีกรรมการทำงานต่อเนื่อง ส่วนหากไม่มีเหตุสุดวิสัย เราก็จะมีการเลือกตั้งไปตามกฎหมาย” นายพิพัฒน์ กล่าวและว่า ตนหรือนักการเมือง ไม่มีไม่มีสิทธิไปวุ่นวายในบอร์ด สปส.แต่อย่างใด

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/2/2567

สธ.เปิดโอกาส ป.ตรีทุกสาขา เรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง แก้ปัญหาขาดแคลน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบข้อเสนอจากสถาบันพระบรมราชชนก(สบช.) ร่วมกับสภาการพยาบาล ในการผลิตพยาบาลเพิ่มในได้ภายใน 10 ปี หรือจำนวน 10,000 คน เฉลี่ยปีละ 2,500 คน โดยเปิดโอกาสให้ผู้จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ มาศึกษาต่อในคณะพยาบาลศาสตร์อีก 2 ปีครึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาพยาบาลขาดแคลน

โดยจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2568 เนื่องจากปัจจุบันพบว่า มีปัญหาขาดแคลนพยาบาลในการดูแลประชาชน บางพื้นที่มีพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 700 คน อย่างไรก็ตาม จากภาพรวมเฉลี่ยยังขาดแคลนอยู่ถึง 51,420 คน ในภาพรวมพบว่าพยาบาล1 คนต้องดูแลประชากร 343 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเกณฑ์และสัดส่วนของพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 270 คนเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย พบว่า มีปัญหาการกระจายกำลังคนด้านสุขภาพในส่วนภูมิภาค 42 จังหวัดที่มีสัดส่วนมากกว่า พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 400 คน และมี 15 จังหวัดที่มีสัดส่วน พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 500 คน

และมีถึง 5 จังหวัด ที่พบสัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากรจำนวนมาก คือ  1.หนองบัวลำภู สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 712 คน 2.บึงกาฬ สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อพยาบาล 608 คน

3.เพชรบูรณ์ สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 572 คน 4.กำแพงเพชร สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 571 คน และ 5.ศรีสะเกษ สัดส่วนพยาบาล 1คน ต่อประชากร 569 คน

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ไม่เพียงแต่เรื่องการผลิตพยาบาล ยังมีอีกโครงการที่ล่าสุด ครม.มีมติเห็นชอบผลิตทีมหมอครอบครัว ซึ่งเป็นการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 สาขา เพื่อไปประจำในหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฯ พยาบาล ทันตแพทย์ชุมชน เภสัชกรชุมชน แพทย์แผนไทย ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล นักจัดการฉุกเฉินชุมชน และนักวิชาการสาธารณสุข คาดจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี เมื่อผลิตครบจะมีคนเข้าสู่ระบบราว 6.2 หมื่นคน

ที่มา: Thai PBS, 21/2/2567

พ่อแรงงานไทยในอิสราเอลจี้รัฐบาลเร่งเจรจาช่วยลูกชายถูกจับเป็นตัวประกันเกือบ 5 เดือน

นายวิลาศ แทนนา อายุ 64 ปี ชาวตำบลบ้านคู อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ พ่อของนายพงษ์ศักดิ์ แทนนา อายุ 36 ปี หนึ่งในแรงงานไทยทำงานอยู่ที่ประเทศอิสราเอล และถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกัน ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2566 ที่เกิดเหตุการณ์สู้รบวันแรก จนถึงขณะนี้ผ่านไปเกือบ 5 เดือนแล้ว ก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว มีเพียงทางการไทยและตัวแทนที่ประสานช่วยเหลือแรงงานแจ้งว่าลูกชายและแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันรวม 8 คน ขณะนี้ยังปลอดภัยดี

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบ้านของนายวิลาศ พ่อของนายพงษ์ศักดิ์ หนึ่งในแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันและยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ก็ยังตั้งตาเฝ้ารอลูกชายกลับสู่อ้อมกอดอีกครั้ง จากที่ก่อนหน้านี้ทางการได้แจ้งว่าลูกชายจะได้รับการปล่อยตัวช่วงปีใหม่ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังเงียบหายไปยังไม่เห็นมีการปล่อยตัวคนไทยเพิ่มอีกเลย ในฐานะคนเป็นพ่อที่ห่วงลูกชายก็พยายามติดต่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งได้ติดต่อสอบถามกับนายสันติ บุญพร้อม ซึ่งเป็นหัวหน้างานซึ่งถูกจับเป็นตัวประกันพร้อมกัน แต่ได้รับการปล่อยตัวกลับมาที่บ้านเกิดแล้ว เพื่อให้ช่วยสอบถามข่าวคราว และประสานช่วยเหลือลูกชายอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งก็ได้รับการยืนยันเพียงว่าลูกชายยังปลอดภัยดี แต่ยังไม่รู้ว่าจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไหร่ และไม่ทราบว่าเพราะเหตุผลอะไรลูกชายกับแรงงานอีกรวม 8 คนยังไม่ได้รับการปล่อยตัว  

จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาล หรือทางการไทยที่เกี่ยวข้อง เร่งหาแนวทางเจรจาช่วยเหลือแรงงานไทยที่ยังถูกจับเป็นตัวประกัน ให้กลับบ้านอย่างปลอดภัยทุกคนโดยเร็ว เพราะเกรงหากเกิดการสู้รบขึ้นอีกระลอกจะไม่ปลอดภัย   แต่ก็ภาวนาขอให้ลูกปลอดภัยและได้รับอิสราภาพโดยเร็ววัน

ด้านนายสันติ บุญพร้อม หนึ่งในแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันและได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านเกิดอย่างปลอดภัยก่อนหน้านี้ ได้เล่าให้ฟังว่า  ช่วงที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566  ก็นำไปควบคุมตัวไว้สถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างคับแคบแต่ก็ไม่ได้ทรมานหรือบังคับให้ทำอะไร และให้อาหารรับประทานทุกวันก็ดูแลค่อนข้างดี  แต่ไม่ให้ออกไปไหนถึงเวลาก็เอาอาหารมาให้กิน  แต่ก็ยังได้ยินเสียงปืนระเบิดทุกวัน 

ส่วนนายพงษ์ศักดิ์ ซึ่งถูกจับตัวตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566 วันเดียวกัน ยืนยันว่า เห็นถูกจับตัวไปจริง  แต่ไม่ได้ถูกคุมขังในสถานที่เดียวกันและตนก็ไม่รู้ว่าที่ไหน  แต่หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว ก็ได้ติดต่อไปหาคนรู้จักที่อิสราเอลเพื่อถามข่าวคราวเกี่ยวกับแรงงานไทยที่เหลือ ซึ่งได้รับการยืนยันว่าพงษ์ศักดิ์  และแรงงานไทยอีกจำนวน 8 คน  ยังปลอดภัยดี  ส่วนเหตุผลที่ยังไม่มีการปล่อยตัวตนก็ไม่ทราบ  แต่ก็พยายามติดต่อประสานและแจ้งทางครอบครัวพงษ์ศักดิ์ ทราบเป็นระยะ

ที่มา: แนวหน้า, 21/2/2567

ก.แรงงาน หารือมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ ยันผู้พิการได้รับสิทธิภายในกำหนด พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ยกระดับการให้บริการ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ให้การต้อนรับ นายปรีดา ลิ้มนนทกุล กรรมการและเลขานุการมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ และคณะ กรณีเข้าพบเพื่อยื่นหนังสือถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอให้ช่วยตรวจสอบพฤติกรรมทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 9 กรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของข้าราชการพลเรือน ซึ่งอาจทำให้คนพิการ และผู้ดูแลคนพิการถูกละเมิดสิทธิในการขอรับการส่งเสริมอาชีพ ณ บริเวณโถงด้านล่าง อาคารกระทรวงแรงงานและห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน

นายอารีกล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับแรงงานทุกคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการให้โอกาสคนพิการได้มีงานทำ ในเรื่องนี้ท่านรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเป็นพิเศษ ที่ไหนไม่มีการจ้างงานคนพิการขอเพิ่มให้มีตามกฎหมาย ซึ่งวันนี้ต้องขอบคุณมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการที่เป็นตัวเชื่อม เป็นตัวกลาง ในการประสานให้คนพิการได้มีงานทำ ซึ่งหากไม่มีท่านกระทรวงแรงงานก็ทำงานลำบาก ในส่วนของหนังสือที่ยื่นไว้นั้น กระทรวงแรงงานได้ให้กรมการจัดหางานตรวจสอบตามข้อร้องเรียนดังกล่าว จากการสอบถามผู้ประสานงานของบริษัทผู้ให้ความช่วยเหลือในการให้สิทธิผู้พิการตามมาตรา 35 ซึ่งเป็นผู้ให้สิทธิผู้พิการทั้ง 11 ราย ยืนยันว่ามิได้ต้องการยกเลิกการให้สิทธิผู้พิการแต่อย่างใด และทราบเป็นอย่างดีว่ากระบวนการตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบสิทธิผู้พิการ ตลอดจนการอนุมัติ มีกำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี

ส่วนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานมีแนวปฏิบัติเรื่องการขอใช้สิทธิ มาตรา 35 อย่างชัดเจน รวมทั้งระบุเอกสารที่ต้องใช้เพื่อดำเนินการอย่างครบถ้วน โดยประกาศผ่านหน้าเว็บไซต์กรมการจัดหางาน ซึ่งในกรณีนี้เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานได้ปฏิบัติตามขั้นตอน และเรียกเอกสารเท่าที่จำเป็นตามที่ระบุไว้ใน “แบบคำขอการให้ความช่วยเหลืออื่นใด” (กกจ.พก. 2-7) อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้กรมการจัดหางานพิจารณาลดขั้นตอน ลดการขอเอกสาร เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุด และวางแนวทางเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจส่วนตัวในการแก้ไขหรือเรียกรับเอกสารเพิ่มเติม

“กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเฉพาะการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการและครอบครัวให้ดีขึ้น วันนี้ผมรับรู้ถึงความกังวลใจของผู้พิการทุกท่าน และขอยืนยันว่าทุกท่านจะได้รับสิทธิแน่นอน” นายอารีกล่าว

นางสาวบุณยวีร์กล่าวว่า นายจ้าง สถานประกอบการทั้งเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องรับผู้พิการเข้าทำงาน อัตราส่วน 100 คน ต่อ 1 คน ซึ่งหากไม่ประสงค์จะจ้างงานคนพิการ หรือส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถเลือกให้สิทธิตามมาตรา 35 แทนได้ โดยมูลค่าของสัญญาต้องไม่น้อยกว่า 119,720 บาทต่อปี ซึ่งกระบวนการให้สิทธิ-รับสิทธิ ผู้พิการตามมาตรา 35 มีกำหนดยื่นความประสงค์ให้สิทธิภายในวันที่ 31 ธ.ค. ของทุกปี ณ สำนักงานจัดหางานท้องที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วนของเอกสาร และทำหนังสือถึงสำนักงานจัดหางานจังหวัด ในพื้นที่ที่ผู้พิการขอรับสิทธิ เพื่อตรวจสอบสิทธิให้ผู้พิการ

นางสาวบุณยวีร์กล่าวอีกว่า หากถูกต้องจะยืนยันการให้สิทธิ เพื่อพิจารณาอนุมัติสิทธิและแจ้งต่อสถานประกอบการ ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเอกสาร และเจ้าหน้าที่ได้แจ้งรายละเอียดที่ต้องแก้ไขแก่ผู้ประสานงานบริษัทเรียบร้อย โดยผู้ประสานของบริษัทผู้ให้สิทธิพร้อมจะดำเนินการตามที่ได้รับแจ้ง ซึ่งคาดว่าสามารถอนุมัติได้ภายในวันที่ 1 มี.ค. 2567

ที่มา: มติชนออนไลน์, 21/2/2567

ก้าวไกลค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เปลี่ยนบอร์ดเลือกตั้ง เป็นแต่งตั้ง ฉะ ก.แรงงาน ถอยหลังลงคลอง

ที่รัฐสภา นายเซีย จำปาทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร แถลงกรณีการแก้ไขร่างพระราชบัญัตติ (พ.ร.บ.) แรงงาน ว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้เสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่.) พ.ศ…. ไปยังสำนักเลขารัฐมนตรี โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว มีการแก้ไขจากฉบับเดิมหลายมาตรา

สิ่งที่สำคัญที่ตนในฐานะ ส.ส.สัดส่วนเครือข่ายผู้ใช้แรงงานพรรคก้าวไกล และ ส.ส.ทุกคน ขอคัดค้าน คือ เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแก้ไขที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตนและนายจ้าง (บอร์ดประกันสังคม)

โดยให้เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นแบบเลือกตั้งไปเป็นแบบแต่งตั้ง ตามเนื้อหาในร่างกฎหมาย ว่า หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

เมื่อก่อนนั้น การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม จะมาจากการเลือกตั้งของผู้แทนสหภาพแรงงาน โดยมี 1 เสียง ไม่ว่าสหภาพแรงงานจะมีสมาชิก 5,000 คน หรือมีสมาชิกแค่ 50 คน ก็มี 1 เสียงเท่ากัน ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนสหภาพแรงงานเพียงแค่ราว 1,400 แห่งเท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนสถานประกอบการ

มีสถานประกอบการจำนวนมากที่ไม่มีสหภาพแรงงาน และมีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากที่ไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้นจึงไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งๆ ที่พวกเขาจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกๆ เดือน

ที่ผ่านมา ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากพยายามเสนอให้มีการเลือกตั้งโดยตรงจากผู้ประกันตน คือ 1 ผู้ประกันตน 1 สิทธิ แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบรับจากรัฐบาลแต่อย่างใด จนต่อมาเมื่อมีการทำรัฐประหารปี 2557

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้กระทำการซ้ำร้ายกว่าเดิม ในวันที่ 8 พ.ย. 2558 โดยมีคำสั่งที่ 40/2558 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมใหม่ทั้งหมด แทนที่ชุดเดิมที่มาจากการเลือกตั้งโดยผู้แทนสหภาพแรงงาน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตนได้ร่วมกับพี่น้องแรงงานในการติดตามทวงถามต่อ รมว.แรงงาน สำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง โดยช่วงต้นเดือน ต.ค. 2566 สำนักงานประกันสังคมประกาศให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้ง เริ่มลงทะเบียนภายในวันที่ 12-31 ต.ค. 2566 และจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา

หลังการเลือกตั้งสำนักงานประกันสังคมได้ประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการ และประกาศรับรองในวันที่ 23 ม.ค. 2567 ปรากฏว่าผู้ที่ได้คะแนนอันดับที่ 7 ไม่ใช่คนเดิมตามประกาศแรก จึงทำให้มีคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับผลคะแนนการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

ประชาชนมองเห็นความไม่ชอบมาพากลหลายประการ ทั้งกระบวนการประชาสัมพันธ์จัดการเลือกตั้ง กติกาที่กีดกันผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติออกจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้เลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง การรับรองคะแนนที่ล่าช้าไปอย่างต่ำ 2 เดือน และผลการเลือกตั้งทางการที่จู่ๆ ก็เปลี่ยนตัวกรรมการไป 1 คน

วันนี้กระทรวงแรงงานได้เสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่.) พ.ศ….. เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยในเนื้อหาของร่างกฎหมายนั้นเหมือนว่าประกันสังคมต้องการจะย้อนเวลาตามหายุค คสช. กลับไปล้าหลังกว่าเดิม

ดังที่ระบุไว้ใน มาตรา 8 ว่า หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี นี่เป็นสิ่งที่ล้าหลังและถอยหลังอย่างยิ่ง

การที่ นายบุญส่ง ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการประกันสังคม ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยอ้างว่าใช้งบประมาณจัดเลือกตั้ง เกือบ 100 ล้านบาท แต่คนมาใช้สิทธิไม่ถึงล้านคนจากผู้ประกันตน 24 ล้านคน ผู้ที่มีสิทธิ 10 ล้านกว่าคน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้สรุปบทเรียนการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ว่าเกิดจากอะไร

การประชาสัมพันธ์น้อยไปหรือไม่ การลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ประกันสังคมมีปัญหาจริงหรือไม่ การเดินทางไปหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ห่างไกลร่วมร้อยกิโลทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ได้จริงใช่หรือไม่

มิหนำซ้ำ หน่วยเลือกตั้งเหล่านี้หลายหน่วยก็ไม่รับรองผู้พิการด้านต่างๆ อีกด้วยหรือเปล่า ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เป็นอย่างไร ควรจะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้การเลือกตั้งในครั้งหน้าดีขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า ทำไมถึงกลับมาแก้ไขกฎหมายให้ถอยหลังลงคลองเช่นนี้

“หรือที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม ไม่เคยคิดอยากให้มีการเลือกตั้งในรูปแบบ 1 สิทธิ 1 เสียง มีใครได้ประโยชน์อะไรจากการแต่งตั้งบอร์ดประกันสังคมหรือไม่ วันนี้ในเมื่อเรามีกฎกติกาที่ก้าวหน้ามาไกลแล้ว ทำไมถึงได้มีความพยายามดึงถอยหลังกลับไปอีก วันนี้ผมและคณะจึงขอคัดค้านในประเด็นดังกล่าว รวมถึงขอเชิญชวน ครม. ทุกท่านมาร่วมคัดด้านกับเราด้วย

เพราะเราต้องการให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่เป็นประชาธิปโดยน้อยลง ดังนั้น ในการเลือกตั้งขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของผู้ใช้แรงงาน เราจึงสมควรปกป้องความศักด์สิทธิ์ของกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่มัวหวาดระแวงการเลือกตั้งเยี่ยงรัฐบาลเผด็จการ” นายเซีย กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/2/2567

จับตาแรงงานเมียนมาทะลักเข้าไทยส่อผิด กม. 1-4 ล้านคน จี้รัฐเร่งแก้ไข

สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตฯ ไทยจับตาแรงงานเมียนมาทะลักเข้าไทยเพิ่ม แม้ตัวเลขถูกกฎหมายจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นแต่ก็เริ่มมาผิดกฎหมายที่ยังตรวจสอบได้ยากอีกจำนวนนับล้านคน ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการอาจพุ่งกว่า 4 ล้านคน รัฐต้องเร่งวางนโยบายแรงงานต่างด้าวให้ชัดเจน ชี้ช่องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเหตุไทยยังต้องพึ่งพิงแรงงานเหล่านี้สูงเหตุคนไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และขาดแคลนแรงงานขณะที่คนไทยก็ไม่ทำงานหลายประเภท ย้ำดีกว่าเปิดฟรีวีซ่าให้ทุนจีนสีเทามาแย่งอาชีพคนไทยกินรวบจนไม่เหลืออะไร

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย “ECONTHAI” เปิดเผยว่า สิ่งที่น่ากังวลขณะนี้คือจากปัญหาสงครามกลางเมืองในเมียนมาที่ดำเนินมาระยะเวลาหลายเดือนและมีการเกณฑ์ทหารของรัฐบาลทำให้คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งมุ่งเข้ามายังประเทศไทยทำให้เกิดการทะลักเข้ามาจำนวนมากซึ่งอาจจะส่งผลต่อวิกฤตและโอกาส โดยเห็นว่าไทยควรให้ความสำคัญต่อแรงงานเมียนมาเพราะไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์ (Complete Aged Society) สัดส่วนคนสูงวัยมีถึง 20% (เฉลี่ยอายุ 40 ปี 7 เดือน) ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยต้องเคลื่อนไป Smart Technology และ AI ขณะเดียวกันไทยยังต้องพึ่งพิงแรงงานเข้มข้นทั้งอุตสาหกรรม บริการ และเกษตรกรรม รัฐบาลจึงควรมีความชัดเจนถึงนโยบายแรงงานต่างด้าวว่าจะไปในทิศทางใดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด

ปัจจุบันพบว่าแรงงานเมียนมาที่เข้ามายังไทยเป็นการติดต่อผ่านญาติ-เพื่อนที่ทํางาน มีค่าใช้จ่ายแบบ “One Stop Service” คนละประมาณ 20,000 บาทเป็นราคารับ-ส่งถึงที่อยู่ในประเทศไทยจนถึง กทม. ปัจจุบันแรงงานเมียนมาถูกกฎหมายที่อยู่ในไทยมีประมาณ 2.374 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 76.2% ของแรงงานต่างด้าวรวมกันในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาแรงงานถูกกฎหมายเมียนมาเพิ่มขึ้น 5.74 แสนคน เข้ามาตาม MOU (มาตรา 59) ประมาณ 2.742 แสนคน และตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จํานวน 2.099 ล้านคน ในจํานวนนี้ยังไม่รวมแรงงานเมียนมาผิดกฎหมายอีกนับล้านคน อย่างไรก็ตาม บางข้อมูลมีการระบุว่ามีมากกว่า 4 ล้านคนแล้ว

“ขณะนี้แรงงานเมียนมาส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม-บริการ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตยางรถ, เสื้อผ้า, ก่อสร้าง, ประมง, ร้านอาหาร-แรงงานยกเคลื่อนสินค้าในภาคโลจิสติกส์ ตลอดจนทํางานตามบ้านครัวเรือน แรงงานผิดกฎหมายส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเกษตรและปศุสัตว์ เช่น กรีดยางพารา, ตัดอ้อย, มันสําปะหลัง, เลี้ยงหมู-ไก่, สวนผักฯลฯ งานเหล่านี้ขาดแคลนคนและแรงงานไทยเลือกที่จะไม่ทํา แรงงานเมียนมาส่วนใหญ่อยูใน กทม. ตามด้วยจังหวัดสมุทรสาครซึ่งถือเป็นย่างกุ้งแห่งที่ 2 ในไทย ที่เหลือกระจายอยู่จังหวัดที่เป็นฐานอุตสาหกรรม เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม ฯลฯ” นายธนิตกล่าว

นอกจากนี้ ปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมายังทำให้เส้นทางการค้าในเมียนมาถูกตัดขาด รวมถึงผลกระทบต่อไทยนั้นชายแดนไทยจากชายแดนแม่สอดไปเมืองย่างกุ้งถนนหลักถูกทําลายต้องวนเข้าทางเก่าผ่าน "เมืองกอกาเระ" เป็นเส้นทางเสี่ยงจากอุบัติเหตุ และอยู่ในเส้นทางที่กําลังรบกัน อีกทั้งต้องอ้อมและเสียความคุ้มครองทำให้ค่าขนส่งจากศูนย์ขนส่งเมียวดีไปเมืองย่างกุ้งค่าขนส่ง (รถ 22 ล้อ) ราคา 28,000 บาทเพิ่มเป็น 60,000 บาท และจากชายแดนไทยข้ามสะพานมิตรภาพไปศูนย์ขนส่งเมียวดีระยะทาง 16 กิโลเมตร มีด่านกะเหรี่ยง 5 ด่าน เสียภาษีเถื่อนเพิ่มจากคันละ 750 บาทเป็น 1,500 บาท ส่งผลให้ปริมาณสินค้าในเมียนมาลดลงและมีราคาสูงขึ้น

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 20/2/2567

รองเลขาธิการ สปส. แจงเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมเป็นร่างเดิมที่เคยเสนอแก้ไขไว้ตั้งแต่ปี 2565 แต่ตกไปเพราะมีการยุบสภาในปี 2566

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567  นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ นางมารศรี ใจรังษี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงประเด็นที่สื่อสังคมออนไลน์ ได้โพสต์ว่ากระทรวงแรงงานได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมที่ให้บอร์ดใช้ระบบแต่งตั้งกรรมการเหมือนเดิม อีกทั้ง ยังตั้งข้อสังเกตถึงการพยายามยกเลิกระบบเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนอาจถูกผลักดันโดยกลุ่มอำนาจเก่าของกระทรวงแรงงานที่ฝังรากอยู่มาอย่างยาวนาน

นางมารศรี ชี้แจงว่า ในร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. มีการแก้ไขที่มาของการได้มา คณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตน และนายจ้างไม่ได้เพิ่งเสนอแก้ไข หลังจากมีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมตามที่เป็นข่าว แต่เป็นร่างเดิมที่เคยเสนอแก้ไขไว้ตั้งแต่ปี 2565 แต่ตอนนั้นต้องตกไป เพราะมีการยุบสภาในปี 2566 โดยวิธีการได้มาซึ่งกรรมการให้เป็นไปตามที่ รมว.แรงงานประกาศ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี นั้น มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการจากเดิมที่กำหนดให้ กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้มาจากการเลือกตั้ง เป็นวิธีการสรรหาแต่อย่างใด เพราะในร่าง มาตรา 8 ได้กำหนดวิธีการได้มา ไว้ 2 วิธี ได้แก่ 1) การเลือกตั้ง หรือ 2) วิธีการสรรหา โดยเหตุผลที่กำหนดเช่นนี้ เนื่องจากหากเกิดเหตุสุดวิสัย เช่น ในกรณีเกิดโรคระบาด หรือกรณีเกิดภัยพิบัติ ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ เพื่อให้การบริหารกองทุนไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากกรรมการหมดวาระลง (บอร์ดรักษาการ) จะไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบในบางเรื่องได้ จึงกำหนดให้  รมว.แรงงาน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถประกาศกำหนดวิธีการอื่น เช่น การสรรหาคณะกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ได้ ทั้งนี้ หลักการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ยังคงมีอยู่เช่นเดิม ประกอบกับในการเสนอร่างกฎหมาย ทุกขั้นตอนมีการเผยแพร่และผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ทั้งในชั้นก่อนเสนอเข้า ครม. และชั้นการตรวจร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ที่มา: newtv18, 19/2/2567

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net