Skip to main content
sharethis

ความกล้าหาญ ท่ามกลางความตายของเครือข่ายผู้ใช้ยา-ประเทศไทย
(Courage In The Face of Death : The Thai Drug Users" Network)

ภูมิหลัง ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 15 ที่กรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคม 2547 ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะนานาชาติต้องการจะขอบคุณและชื่นชมความสำเร็จของประเทศไทยในการต่อสู้กับเชื้อ เอชไอวีและโรคเอดส์ ประเทศไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกว่าเป็นตัวอย่างของประเทศที่ใช้ "หลักปฏิบัติอันเป็นเลิศ" ในการต่อสู้โรคเอดส์ ทั้งนี้เหตุผลหลักก็เพราะ ประเทศไทยรณรงค์ให้มีการใช้ "ถุงยางอนามัย 100%" ในช่วงทศวรรษ 1990 การรณรงค์ดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ขายบริการได้รับทราบอย่างชัดเจนว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาโรคเอดส์ระบาด ซึ่งกำลังขยายตัว

ส่วนผู้ใช้ยาเสพติดในประเทศไทยไม่ได้รับการรับรองชื่นชมในลักษณะเดียวกันถึงแม้ว่าจะมีประมาณการว่าภายในปี 2548 30% ของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีใหม่จะมาจากกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด แต่รัฐบาลไทยก็ไม่เคยหาช่องทางที่จะให้บริการในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประชากรกลุ่มนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในจำนวน 2-3 ประเทศในโลกที่ไม่มีโครงการแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยา ถึงแม้ว่าการแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยาจะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นวิธีที่สามารถป้องกันโรคที่ติดมากับโลหิตได้ โดยการอนุญาตให้ผู้ใช้ยาเสพติดสามารถนำเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วไปแลกเปลี่ยนกับเข็มฉีดยาที่มีการฆ่าเชื้อโรคแล้ว ประเทศไทยมีผู้ใช้ยาเสพติดโดยวิธีใช้เข็มฉีดยาอยู่ประมาณ 100,000- 250,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ติดเฮโรอีนอยู่เป็นจำนวนมาก การบำบัดโดยการใช้สารอย่างอื่นมาแทนยาผสมฝิ่น (opiate) เช่น ยาเมทาโดน (Methadone)นั้น เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้ใช้เฮโรอีนในประเทศส่วนใหญ่ในโลก แต่วิธีการบำบัดโดยใช้สารอย่างอื่นมาแทนยาเสพติดในประเทศไทยมีอยู่น้อยมาก นับถึงช่วงต้นปี 2547 นี้ มีผู้ใช้ยาเสพติดในประเทศไทยเพียง 1% เท่านั้นที่ได้รับบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ทั้งๆ ที่ไทยเป็นประเทศที่นานาชาติชื่นชมสรรเสริญว่าประสบความสำเร็จในการทำโครงการต่อต้านโรคเอดส์แห่งชาติ ผลก็คือทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดในประเทศไทยประมาณ 40-50% กลายเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีผู้ใช้ยาเสพติดอยู่น้อยมากที่สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี (antiretroviral therapy)

สถานการณ์ของผู้ใช้ยาเสพติดในประเทศไทยเลวร้ายลงไปมากในช่วงต้นปี 2546 เมื่อนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประกาศ " สงครามต่อต้านยาเสพติด" ซึ่งเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและตำรวจมีอิสระเต็มที่ ในการจัดการกับบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ใช้คำว่าให้จัดการได้อย่าง "ไร้ความปราณี" และ "อย่างรุนแรง" ในขณะที่เป้าหมายที่รัฐบาลไทยต้องการจะปราบคือ พ่อค้ายาเสพติด แต่ในหลายๆ เขต การปราบปรามมุ่งจัดการกับทั้งผู้ใช้ยาเสพติดรายย่อยและพ่อค้ายาเสพติดด้วย นายกรัฐมนตรีทักษิณ ใช้นโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งว่าจะ "ป้องกันและปราบปราม" ยาเสพติด และให้คำมั่นสัญญาว่าโครงการในการต่อต้านยาเสพติดของรัฐบาลของเขาจะเป็นไปอย่างมีเมตตาธรรมต่อมนุษย์ แต่ผลของการปราบปรามในช่วง 3 เดือนแรกกลับเป็นการฆ่าตัดตอนผู้คนถึง 2,275 คน ซึ่งรัฐบาลกล่าวโทษว่าคนเหล่านี้ เป็นแก๊งค์ ที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด การปราบปรามในสัปดาห์ต่อๆ มา ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 500 คน นอกจากนี้ผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็ถูกขึ้นชื่อไว้ใน "บัญชีดำ" หรือ "บัญชีบุคคลที่ต้องเฝ้าดู" ซึ่งจัดทำขึ้นตามอำเภอใจ และเป็นบัญชีบุคคลที่ตกเป็นเป้าที่จะถูกตำรวจละเมิดสิทธิและยังรวมถึงผู้ต่อต้านเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกข่มขู่ด้วย หลายคนถูกส่งเข้าค่ายฝึกเหมือนทหาร โดยอ้างว่าส่งเข้าค่ายดังกล่าวเพื่อไปรับการบำบัดรักษาอาการติดยาเสพติด ในจำนวนผู้ที่เสียชีวิตนั้นรัฐบาลอ้างว่ามีอยู่ 51 รายที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตเพราะเป็นการ "ป้องกันตัว" ข้ออ้างของรัฐบาลที่ว่าการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการที่แก๊งค์ยาเสพติดหันไปทำร้ายกันเองนั้นไม่สามารถหาหลักฐานจากฝ่ายอิสระมาพิสูจน์ได้ และการสืบสวนสอบสวนของรัฐบาลเอง ก็ดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและขาดความโปร่งใส

เสียงใหม่ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มที่ตกขอบมากที่สุด เครือข่ายผู้ใช้ยา-ประเทศไทย (Thai Drug User Network) จัดตั้งขึ้นในปี 2545 โดยกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดไม่กี่คน ซึ่งได้รับแรงผลักดันให้ต้องลงมือกระทำการบางอย่างเพราะพวกเขาเห็นผู้คนในรุ่นเดียวกันเสียชีวิตเพราะโรคเอดส์ และอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับยาเสพติดไปเป็นจำนวนมาก พวกเขาเริ่มงานโดยการบันทึกและวิเคราะห์หลักฐานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นอุปสรรคทำให้ผู้ติดยาเสพติดไม่สามารถเข้าถึงบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่บังคับให้พวกเขา ต้องใช้ชีวิตนอกกรอบของสังคมด้วย

การบันทึกหลักฐานของเครือขายผู้ใช้ยา-ประเทศไทย ไม่เพียงแต่จะเป็นการระดมสมาชิกใหม่ที่ต้องการคำปรึกษาและการสนับสนุนจากเครือข่ายที่กำลังขยายตัวนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียกร้องความสนใจของผู้คนทั้งภายในและภายนอกประเทศไทยให้หันมาเอาใจใส่ผู้ติดยาเสพติดและปัญหาที่บุคคลเหล่านี้ขาดบริการในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ด้วย ทุกวันนี้ เครือข่ายผู้ติดยา-ประเทศไทยมีสมาชิกมากกว่า 100 คนและกระจายกันทำงานอยู่ทั่วทั้ง 4 ภาคของประเทศ

เครือข่ายผู้ใช้ยาเสพติดไทยไม่ได้หยุดกิจกรรมของตัวเองแม้ในช่วงที่เผชิญกับการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 2546 ในเดือนเมษายน 2546 สมาชิกของเครือข่ายได้จัดการประท้วงอย่างสันติในที่สาธารณะในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทยนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมของสมาคมเพื่อการลดอันตรายนานาชาติ (International Harm Reduction Association) ซึ่งจัดขึ้นที่เชียงใหม่ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะตระหนักดีว่าอาจจะได้รับอันตราย ผู้ประท้วงยืนถือป้ายที่มีข้อความว่า "เข็มฉีดยาที่สะอาดช่วยชีวิตได้" และ " 50% ของผู้ใช้ยาเสพติดไทยติดเชื้อเอชไอวี" การประท้วงของพวกเขาทำให้นานาชาติหันมาสนใจการฆ่าผู้คนในระหว่างการทำสงครามปราบยาเสพติด และยังให้ความสนใจต่อการที่รัฐบาลไทยไม่ได้เอาใจใส่ผู้ติดยาเสพติดที่ติดเชื้อเอชไอวีและเป็นโรคเอดส์

การทำงานของเครือข่ายผู้ติดยา-ประเทศไทยโดยยึดการป้องกันชีวิตผู้ติดยาเสพติดเป็นหลัก ตลอดจนการวิเคราะห์นโยบายยาเสพติดและประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนได้อย่างถูกจุดตลอดจนวิธีการทำงานด้วยสันติวิธีของเครือข่ายฯดูเหมือนจะทำให้ผู้ที่มีอำนาจในการวางนโยบายเกิดความรู้สึกประทับใจ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขและของสำนักงานปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ซึ่งไม่เคยติดต่ออย่างเป็นทางการกับผู้ใช้ยาเสพติดมาก่อนเลย ตกลงยินยอมที่จะพบปะกับตัวแทนของเครือข่ายผู้ใช้ยา-ประเทศไทยและยังคงติดต่อพูดคุยกับกลุ่มดังกล่าวเกี่ยวกับปัญหาบางประเด็นอยู่ สิ่งหนึ่งที่รวมอยู่ในบรรดาความสำเร็จทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันแต่เนิ่นๆ นี้ ก็คือทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ที่จะมีสิทธิ์ได้รับการรักษาด้วยยาต่อต้านไวรัสเอชไอวี (ART) ซึ่งโดยหลักการแล้วเป็นการรักษาที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ยาเสพติดได้รับการบำบัดโดยการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี (ARV) แต่กระนั้นก็ตาม ผู้ใช้ยาเสพติดส่วนใหญ่ยังเผชิญกับการถูกตราหน้าอย่างรุนแรงและการรังเกียจลำเอียงจากผู้คนที่ทำงานด้านสาธารณสุข

ถึงแม้จะมีการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้วางนโยบายอยู่บ้าง แต่เครือข่ายผู้ใช้ยา-ประเทศไทย ก็ไม่สามารถที่จะชักชวนโน้มน้าวรัฐบาลไทยให้รวมบริการด้านเอชไอวี/เอดส์ สำหรับผู้ใช้ยาเสพติดเข้าไว้ในกลุ่มกิจกรรมที่รัฐบาลเสนอไปเพื่อขอทุนจากกองทุนโลก เพื่อการต่อสู้กับโรคเอดส์ ไข้มาเลเรีย และวัณโรค เครือข่ายผู้ใช้ยา-ประเทศไทย ได้ใช้ประโยชน์จากการที่ระเบียบของกองทุนโลกอนุญาตให้องค์กรเอ็นจีโอ (NGO) ยื่นขอทุนเองได้เมื่อข้อเสนอของรัฐบาลไม่รวมประเด็นสำคัญๆ หรือไม่รวมเรื่องของประชากรผู้ตกขอบเข้าไว้ด้วย โดยเครือข่ายฯได้ยื่นขอเงินทุนและได้รับอนุมัติทุนให้เปล่ามา 1.3 ล้านดอลล่าร์ เพื่อทำให้การทำงานด้านนโยบายในการต่อสู้ของเครือข่ายฯมีความแข็งแกร่งและขยายบริการไปสู่ผู้ใช้ยาเสพติดและสร้างขีดความสามารถของผู้ใช้ยาเสพติดในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของพวกเขาได้ เมื่อได้รับทุนมา ทุนดังกล่าวยังจะช่วยให้เครือข่ายฯ สามารถสร้างความตื่นตัวในหมู่ประชากรไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองผู้ใช้ยาเสพติดและผู้คนรอบข้างให้ปลอดจากเชื้อเอชไอวี โรคตับอักเสบ และอาการป่วยอื่นๆ ตลอดจนให้ตระหนักถึงสภาพความเป็นจริงของชีวิตของผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเข้าใจผิดของประชาชนและการรังเกียจ ลำเอียงต่อผู้ใช้ยาเสพติดด้วย

เครือข่ายผู้ใช้ยา-ประเทศไทย ยังได้รื้อฟื้นหน่วยเฉพาะกิจในการลดอันตรายแห่งชาติของประเทศไทยขึ้นมา(Thailand" s National Harm Reduction Task Force) ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวนี้เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยและองค์กร NGO ระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และหน่วยงานนานาชาติด้วย โดยมีอาณัติที่จะทบทวนตรวจสอบและเสนอแนะให้มีการปรับปรุงนโยบายยาเสพติดในประเทศไทย หน่วยเฉพาะกิจดังกล่าวนี้ยังทำงานในการปรับปรุงความเข้าใจของประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับยาเสพติดและจัดทำแนวทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการนำสารอื่นมาใช้แทนเฮโรอีนและโปรแกรมอื่นๆ ด้วย เพื่อเป็นการตอบคำวิพากษ์วิจารณ์การปราบปรามยาเสพติดที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะปรับปรุงบริการในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้ติดยาเสพติดและการรักษาผู้ติดยาเสพติดอย่างมีเมตตาธรรมให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งการรักษาดังกล่าวนี้แทบจะไม่มีอยู่เลยในปัจจุบัน ขีดความสามารถของเครือข่ายผู้ใช้ยา-ประทศไทยและความเข้าใจสภาพความเป็นจริงของการติดยาเสพติดอย่างลึกซึ้งของเครือข่ายดังกล่าวนี้ในประเทศไทย ทำให้เครือข่ายฯกลายเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการที่จะประกันให้รัฐบาลต้องรับผิดและรับชอบต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้

เครือข่ายผู้ใช้ยา-ประเทศไทยต่อต้านการมีหน่วยงานที่บริหารโดยมีลำดับชั้น จึงได้ใช้วิธีแบ่งปันภาระหน้าที่และความชอบทั้งหลายที่ได้จากการทำงานไปสู่หมู่สมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน เครือข่ายทางกฎหมายเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ของแคนาดาและองค์กรเฝ้าติดตามเรื่องสิทธิมนุษยชน(The Canadian HIV/AIDS Legal Network and Human Rights Watch) มีความภูมิใจที่จะมอบรางวัลประจำปี 2004 สำหรับการดำเนินงานในด้านโรคเอดส์ และสิทธิมนุษยชนให้แก่สมาชิกทุกคนของเครือข่ายผู้ใช้ยา-ประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net