Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"เราต้องเตรียมตัวอะไรอีกมาก เพราะเหมือนว่าเรากำลังล่องเรือ โดยไม่รู้ว่าจะเจอลมแรง หรือเจอหินโสโครกอย่างไรบ้าง" เสียงของนายจุมพล ชุติมา ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกับผู้ร่วมเสวนาในเวทีสาธารณะ เรื่อง เขตการค้าเสรี ไทย-จีน : หายนะภัยของเกษตรกรไทย ณ ห้องประชุมอาคารบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา

นายจุมพล เห็นว่า ผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าไทย-จีน 1ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเร่งรีบเกินไป และมองเพียงผลประโยชน์ผู้บริโภค โดยไม่ค่อยปกป้องผู้ผลิตและเปิดเสรีไปโดยขาดข้อมูลที่ครอบคลุม ทำให้ไม่รู้เขารู้เรา ขณะที่จีนมีข้อกีดกันซึ่งไม่ใช่ภาษีมากมาย ซึ่งรัฐบาลเคยรับว่าจะไปเจรจาขอร้องให้ยกเลิกแต่จีนกลับถามว่าแล้วทำไมไทยไม่มี นั่นหมายความว่าจีนมีการเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบเอฟทีเอนานแล้ว ซึ่งหอการค้าฯ จะพยายามผลักดันให้รัฐบาลศึกษาข้อมูลให้ครอบคลุม ละเอียดกว่าที่เป็นอยู่ก่อนการตัดสินใจเปิดการค้ากับประเทศอื่นๆ เพิ่ม

ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ยังมองถึงผลกระทบต่อเนื่อง คาดว่าไม่เกิน10ปีการค้าชายแดนจะหมดความหมายลง เพราะผู้ค้ามุ่งค้าขายกับจุดศูนย์กลางของประเทศที่สามารถส่งต่อการกระจายสินค้าไปทั่วประเทศได้ง่ายกว่า และสินค้าส่วนมากจะผ่านแหลมฉบัง เข้าเซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง โดยยกกรณีของการส่งข้าวสารที่ต้องส่งจากเชียงรายไปกวางเจา ไม่สามารถส่งไปที่สิบสองปันนาได้ทั้งที่อยู่ใกล้กันกว่า

"ถ้าการค้าเสรีเปิดเต็มที่ การค้าชายแดนจะไม่มีความหมาย เพราะการค้าชายแดนของเราเป็นเพียงอุบัติเหตุทางการเมืองเพราะการปกครองของแต่ละประเทศใกล้เคียงไม่เหมือนกันยังจำเป็นต้องอาศัยสายสัมพันธ์ของพ่อค้าชายแดน แต่เมื่อมีการค้าเสรีก็ไม่ต้องผ่านการค้าชายแดน สามารถส่งสินค้าเข้าจุดศูนย์กลางที่สามารถกระจายไปทั่วประเทศได้ง่ายกว่า"

นายจุมพล ยังกล่าวอีกว่า การที่จีนพยายามย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เพียงเพราะต้องการทางผ่านเพื่อค้าขายกับประเทศที่ไทยเปิดเอฟทีเอด้วยมากกว่า และเสนอทางออกว่า เกษตรกรผู้ผลิตต้องเร่งให้ภาครัฐหาข้อมูลครบถ้วนว่าจะสามารถค้าขายอะไรได้บ้าง และหากรัฐบาลนำแนวทางที่เคยดำเนินงานกับที่ได้ทำกับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาพิจารณากับผลผลิตการเกษตรบ้าง มีการดูแลและต่อยอดให้เกิดการแปรรูปและทำการตลาดให้ได้ก็น่าจะดีขึ้นและสามารถรักษาข้อได้เปรียบของไทยไว้ได้

ด้านนายเสริมชัย กิตติรัตนะไพบูลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า มูลค่าการค้าชายแดนที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายที่มีปีละกว่า 3,000 ล้านบาทได้เริ่มเปลี่ยนแปลง การนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก และการส่งออกของการค้าเสรีไทย-จีน กำลังทำให้การค้าชายแดนที่อำเภอเชียงแสนมีบทบาทน้อยลง การค้าจะต้องเปลี่ยนไปที่แหลมฉบังกับคลองเตยมากขึ้น ในเมื่ออัตราภาษีเป็น 0 % ทั่วประเทศ พ่อค้าย่อมเลือกลงที่คลองเตยมากกว่า เพราะตลาดไทเป็นแหล่งกระจายสินค้าหลักของประเทศไทย

นายเสริมชัยยังบอกอีกว่า การค้าขายแบบเอฟทีเอจะต้องมี 2 ใบสำคัญคือ ใบซีโอหรือใบแหล่งกำเนิดสินค้า และใบรับรองการปลอดสารพิษตกค้าง และต้องแจงค่าใช้จ่ายต้นทุน การประกันภัย และการขนส่ง ซึ่งด้วยกระบอบการปกครองที่แตกต่างจีนย่อมมีต้นทุนที่ต่ำกว่าอยู่แล้ว ซึ่งในไทยไม่มีทางสู้จีนได้ในทุกกรณี และชั้นเชิงจีนสูงกว่ามาก

"ฝ่ายไทยยังไม่เอื้อต่อระบบการจัดการ อย่างกรณีใบซีโอหรือใบแหล่งกำเนิดสินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ออก มีสำนักงานอยู่ที่ จ.เชียงราย แต่ใบใบรับรองการปลอดสารพิษตกค้าง กลับไปอยู่ที่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เพราะฉะนั้น ต้องใช้เวลาในการขนส่งผักผลไม้ไปตรวจที่เชียงใหม่ จนทำให้สินค้าบอบช้ำเสียหาย" นายเสริมชัย กล่าว

นายเสริมชัย ยังบอกอีกว่า การปรับตัวพ่อค้าที่เชียงแสนนั้นภาครัฐน่าจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยลดต้นทุน กรมวิชาการเกษตร ควรจะตั้งสำนักงานตรวจสอบสารคกค้างมาที่เชียงรายโดยเร็ว มิเช่นนั้น จะเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการ เพราะขณะนี้ผลไม้จากภาคตะวันออกจะส่งออกทางท่าเรือเชียงแสนจะต้องแวะตรวจสารพิษที่เชียงใหม่ก่อน 1 วัน

นางชิง ชิง ทองดี ประธานสมาคมผู้ส่งออกผลไม้ไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เอฟทีเอหรือข้อต่อรองการค้าเสรีของไทยจีนเป็นเหมือนการยกเว้นภาษีนำเข้า แต่สำหรับสินค้าผักและผลไม้สด ภาษีไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญ การลงนามกับจีน สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลไม่ใช่ภาษีแต่เป็นเรื่องอื่นเพราะเป็นสินค้าที่ของเสียหายง่าย

ทั้งนี้ตนเห็นว่ารัฐบาลไทยแทนที่จะมีมาตรการสนับสนุนผู้ส่งออก แต่เหมือนกับว่าพยายามเอาใจจีนซึ่งเป็นลูกค้าด้วยการนำอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีมาตั้งกับพ่อค้าของเราเอง แนวทางของรัฐบาลต้องการให้เราไม่ส่งของไม่ดี หรือมีสารพิษให้แต่จริงๆไม่ได้อยู่ในข้อตกลงกับจีนอยู่แล้ว เราไปกีดกันของเราเอง และยิ่งรัฐไปเซ็นข้อตกลงกับใครก็ยิ่งเข้าเนื้อผู้ประกอบการไปใหญ่

"ตนมองว่าจีนให้ความสะดวกด้วยซ้ำ เพราะส่งสินค้าเข้าจีนแล้วไม่มีคนบริการจะไม่สามารถส่งได้เลย ทั้งเรื่องขนส่ง เรื่องหัวลาก ตลาดเขาเหมาจ่ายทั้งหมด ส่วนเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มรัฐบาลของเขามีสิทธิเก็บได้ ศุลากากรเขาเก็บแทนรัฐบาล ข้อตกลงก็บ่งบอกอย่างนี้ ไทยเราไม่มีสิทธิ์และไม่ควรด้วยที่จะไปขอร้องเขาเรื่องให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่มตรงนี้ แล้วบอกว่าทีเราไม่เก็บ เพราะนั่นเป็นเรื่องของเรา ในมุมมองของผู้ประกอบการงงว่า ทำไมเราต้องเจรจาว่าเขาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 13 % เพราะทุกประเทศก็เก็บกัน ทั้ง ยุโรป มาเลเซีย เป็นนโยบายของเขา ผู้ประกอบการไม่อยากให้พูดเรื่องนี้ เพราะมันไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ ถ้าเราจะเก็บ ก็มีมาตรการอื่นที่ไม่ใช่ภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ที่รัฐบาลไทยทำได้ทั่วโลกก็ทำกัน"

นางชิง ชิง เห็นว่าภาษีตัวเดียวมีวิธีดำเนินการหลายอย่าง เช่น การทำภาษีพ่วงกับโควต้าก็มี พ่วงกับฤดูกาลก็มี ไม่ใช้การยกเว้นทั้งหมด เขาพ่วงกันทั้งนั้น เช่นพ่วงภาษีกับโควต้า ตัวอย่างคือเมื่อนำเข้า 20,000 ตัน ยกเว้นภาษีให้ แต่หลัง 20,000ตันขอเก็บภาษี หรือจะพ่วงกับฤดูกาลก็ได้ แต่เราไม่ทำเอง ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมไทยไม่ทำ

"และสิ่งที่กลุ่มผู้ส่งออกผลไม้ กลัวกันมากที่สุด คือ กลัวนโยบายของรัฐบาล เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้ไปจีน ทางโน้นเขาจะสอบถามว่า นโยบายของไทยในช่วงนี้วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง เพราะทุกคนต่างไม่มั่นใจนโยบายของรัฐบาลไทย" นางชิง ชิง กล่าว

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net