Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความเห็นนั้นต่างจากความรู้ในข้อที่ว่า แม้คนโง่เขลาก็อาจแสดงความเห็นได้ แต่ความรู้นั้นคือรู้ว่าจะต้องรู้เรื่องอะไรบ้างเพื่อจะสังเคราะห์เป็นความเห็นออกมา ข้อนี้เองจึงทำให้การตั้งคำถามมีความสำคัญมาก คำถามที่ดีนั้นต้องตั้งให้ถูกกับบุคคล ถูกกับสถานที่ ถูกกับกาล จึงจะได้ความเห็นที่เป็นความรู้ขึ้นมา

ยกตัวอย่างกรณีปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ สื่อมวลชนควรจะตั้งคำถามกับตนเองก่อนว่า ควรจะไปสัมภาษณ์ถามใครบ้าง จึงจะเรียกว่าได้ความเห็นที่เป็นภาพรวมของสังคม หรือได้รับมุมมองข้อเสนอแนะอย่างรอบด้าน การสัมภาษณ์บุคคลทั้งในและนอกพื้นที่ ดังเช่น นักคิด นักเขียน กวี ศิลปิน ผู้นำทางศาสนา เกษตรกร คนหาเช้ากินค่ำ แม่ค้าในตลาด ย่อมได้คำตอบแตกต่างจากข้าราชการของรัฐ นักการเมือง ทหาร และตำรวจ อย่างแน่นอน ยิ่งในสถานการณ์สงคราม กองทัพยิ่งเป็นแหล่งสุดท้ายที่ควรจะเข้าไปสอบถามความคิดเห็นด้วยซ้ำไป

หรือลองจินตนาการดูว่า หากเราได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์ หรือพบปะพูดคุยกับบุคคลสำคัญของโลก ดังเช่น บิลล์ เกต จอร์จ บุช แกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ วลาดิเมียร์ ปูติน พระสันตปาปา ทะไลลามะ สมเด็จพระสังฆราช บิน ลาเดน ฯลฯ เราจะเตรียมคำถามอะไรไว้บ้าง จึงจะทำให้การสัมภาษณ์หรือการพบปะพูดคุยนี้เป็นประโยชน์ขึ้นมา

คำถามนั้นสำคัญยิ่งกว่าคำตอบ เพราะทุกคำถามย่อมมีคำตอบ แต่หากตั้งคำถามไม่เหมาะสม ก็ไม่อาจจะได้คำตอบที่นำไปสู่ความรู้หรือปัญญาใหม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าก็ยังทรงปฏิเสธที่จะตอบคำถามบางคำถาม เพราะไม่เห็นประโยชน์ ไม่นำไปสู่ปัญญา ไม่นำไปสู่สัจจะความจริง

สิ่งที่ยืนยันได้ดีถึงความสำคัญของคำถามก็คือ คาถาหัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ - ฟัง คิด ถาม เขียน เราจะมองเห็นการเคลื่อนไหลของความรู้ โดยผ่านการเรียนรู้ทั้งการฟัง การอ่าน การสังเกต (สุตตะ) พิจารณาไตร่ตรอง (จิตตะ) ตั้งคำถามกับความรู้เพื่อสังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ (ปุจฉา) และถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่น (ลิขิต) และจะเห็นได้ว่า หากปราศจากการตั้งคำถามแล้ว การสังเคราะห์ความรู้ใหม่ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ และหากตั้งคำถามสะเปะสะปะ เป็นคำถามที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่อาจนำไปสู่คำตอบที่เป็นความรู้หรือนำไปสู่คำถามเพื่อเข้าใกล้ความรู้ความจริงยิ่งขึ้น การตั้งคำถามจึงสำคัญมากโดยเหตุนี้ เพราะต้องใช้สติปัญญามาก

แม้ในทางวิชาการเอง ปัญหาทุกปัญหา การวิจัยทุกประเภท จะถูกตั้งคำถามกำกับไว้เสมอว่าจะค้นคว้าวิจัยด้วยเหตุผลอะไร การตั้งคำถามเกี่ยวกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของความรู้จึงมีความสำคัญมากด้วยเหตุนี้
นีล โพสต์แมน อาจารย์ทางด้านนิเวศวิทยาสื่อ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ระบบการศึกษาร่วมสมัยมุ่งผลิตนักเรียนที่ตอบคำถามเสียยิ่งกว่านักเรียนที่ตั้งคำถาม นักเรียนถูกฝึกให้ตอบคำถามของครูผ่านการสอบการเก็บคะแนน แต่มิได้ถูกฝึกให้ตั้งคำถามกับครูเลย เราจึงไม่มีนักเรียนที่ตั้งคำถามกับวิชาประวัติศาสตร์เลยว่า ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนเป็นของใคร ใครเป็นคนเขียน เชื่อถือได้เพียงใด ฯลฯ

ตัวอย่างรูปธรรมเรื่องนี้ก็คือ อาจารย์สาขาวิศวกรรมศาสตร์อย่างด็อกเตอร์วรภัทร ภู่เจริญ ออกข้อสอบให้นักศึกษาเขียนข้อสอบพร้อมเฉลยเอง ก็มีคนสอบตกกว่าค่อนห้อง เพราะตั้งคำถามไม่เป็น ส่วนใหญ่ตั้งคำถามง่าย ๆ และตอบง่าย ๆ ไม่บ่งถึงความรู้ และไม่แสดงสติปัญญา

มนุษย์ที่ถูกผลิตออกมาจากโรงงานการศึกษาสำเร็จรูปแบบกระป๋องเหล่านี้ จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับพลเมืองของโลกอนาคต ที่อัลดัส ฮักซ์เลย์ เขียนไว้ใน โลกใหม่อันอาจอง - Brave New World คือ ปราศจากความหวาดกลัวที่หนังสือบางเล่มจะถูกห้ามพิมพ์เผยแพร่ เพราะไม่มีความจำเป็นเลย เนื่องจากผู้คนแทบจะเลิกอ่านหนังสือกันแล้ว ปราศจากความหวาดกลัวที่จะถูกปิดบังข้อมูลข่าวสารโดยผู้มีอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจได้ป้อนข้อมูลข่าวสารจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา ปราศจากความทุกข์ร้อนเพราะได้รับข่าวสารรายการบันเทิงตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังหัวเราะให้กับเรื่องอะไร และปราศจากความหวาดกลัวหรือขัดแย้งต่อผู้มีอำนาจ เพราะได้เป็นมิตรเชื่องเชื่อและสยบยอมต่อผู้มีอำนาจอย่างสิ้นเชิง

สังคมไทยกำลังตั้งคำถาม ว่าด้วยการนำสังคมให้พ้นจากความเห็นอันเลวไปสู่ความรู้ดีงาม นอกเหนือจากการตั้งคำถามที่เหมาะสมแล้ว การวิพากษ์เชิงคุณค่ายังมีบทบาทสำคัญยิ่ง เพราะจะทำให้แยกแยะคุณภาพของคำถามคำตอบตลอดจนความเห็นได้ เมื่อแยกแยะได้ กลั่นกรองได้ ก็รู้ว่าสิ่งใดเป็นแก้วเพชรสิ่งใดเป็นกรวดทราย สมควรนำไปเจียรนัยเป็นมุกมณีประดับมหาพิชัยมงกุฏแห่งปัญญาญานได้ การวิพากษ์เชิงคุณค่า แท้จริงแล้วก็คือการตั้งคำถามเชิงคุณค่าต่อสิ่งต่างๆ

หากมีการฝึกฝนการตั้งคำถามสร้างสรรค์อันนำไปสู่ปัญญาใหม่ ฝึกฝนการวิพากษ์คุณค่าของคำถามและคำตอบ เราก็จะรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของเผด็จการทางความรู้ รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อทางความเห็นของคอลัมนิสต์ หรือพิธีกรดำเนินรายการโทรทัศน์ รอดพ้นจากการเป็นสาวกทางความรู้ความเห็นของผู้ที่ตั้งอยู่ในความเคารพรัก และแม้กระทั่งสัจจะสมบูรณ์ของเรา

ก็ในเมื่อปัญญาญานในตัวของเราเอง เรายังอาจหาญท้าทายได้ด้วยความรักและนับถือ สาอะไรกับอวิชชาภายนอกที่มากวักมือเชื้อเชิญในรูปของพระคัมภีร์ พระราชดำรัส ปาฐกถา การพัฒนา ทฤษฎีทางวิชาการ ความเห็นของผู้ชำนาญการ ฯลฯ

รัตนบุรุษอย่างพรินซ์สิทธัตถะ โพรเฟสเซอร์ที่ยืนอยู่ทั้งฝั่งวิชาการและการเมืองอย่างไอน์สไตน์ นักเศรษฐ ศาสตร์และนักมนุษยนิยมอย่างชูมาร์กเกอร์ ทนายความและนักต่อสู้เรียกร้องเอกราชด้วยอหิงสธรรมอย่างคานธี ผู้คนเหล่านี้ล้วนก้าวข้ามเขตแดนแห่งความรู้เก่าไปสู่ความรู้ใหม่ของมนุษยชาติก็ด้วยปุจฉาธรรมนั่นเอง

เจ้าไม่รู้หรือพระบิตุรงค์บรรจงรักพระโพธิญาณ
หวังจะยังสัตว์ให้ข้ามห้วงมหรรณพภพสงสารให้ถึงฟาก
เป็นเยี่ยงอย่างยอดยากที่จะข้ามได้

- มหาเวสสันดรชาดก -

ชลนภา อนุกูล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net