Skip to main content
sharethis

หลังการประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่มีบทบัญญัติอันเป็นหลักการกระจายอำนาจไว้หลายมาตรา องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็เกิดขึ้นรวมถึงค่อยๆ มีการถ่ายโอนอำนาจการบริหาร

ผ่านเลยเวลามา 7 ปี องค์กรส่วนท้องถิ่นรับโอนอำนาจมาหลายประการ แต่อำนาจหนึ่งที่ไม่สามารถถ่ายโอนให้บริหารจัดการได้ แม้ว่าจะมีการผลักดันอย่างต่อเนื่องนั่นคือ "การศึกษา" นั่นเป็นเพราะข้อถกเถียงหลายประการที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้

ท่ามกลางความท้าทาย และความลังเล ไปจนถึงการยืนกรานคัดค้าน

แต่กฎหมายกระจายอำนาจได้เดินหน้า จนวันนี้ ได้มาถึงจุดที่บางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบางโรงเรียนกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญแล้ว

---------------------

ว่ากันว่าผลพวงของการจัดการศึกษาแบบเดิมจากส่วนกลางเบ็ดเสร็จ ส่งผลให้ลูกหลาน กลาย เป็นเด็กตกงาน อยู่ยาก ทุกข์ง่าย อย่างทุกวันนี้

จึงเชื่อกันว่าการจัดการศึกษาแนวทางใหม่ โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน โดยชุมชนและท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านการให้การศึกษาแก่ลูกหลาน โดยส่วนกลางทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานให้เป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542

แต่ท่ามกลางคำถามซ้ำซากถึงความพร้อมทำหน้าที่นี้ กติกาหลายประการได้ถูกกำหนดขึ้นมา เพื่อพิสูจน์ความพร้อมของอปท. และสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการศึกษาเองด้วย
ล่าสุด จากกว่า 32,000 โรงเรียนทั่วประเทศ จึงมีโรงเรียน 1,490 แห่ง จาก 352 อปท.จาก 66 จังหวัด ที่อยู่ในสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน 175 เขตที่ขอรับการประเมินความพร้อมเข้าบริหารจัดการศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ผลจะเป็นอย่างไรนั้น อยู่ที่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่ละแห่งจะต้องตั้งคณะกรรมการประเมินความพร้อมของ อปท.นั้นๆ จำนวน 9 คน ซึ่งมาจากทั้งผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน และ ผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา. 3 คน ทำหน้าที่ประเมินความพร้อมของโรงเรียนที่จะถ่ายโอนให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากนี้

บทสะท้อนผ่านการสัมมนาเตรียมความพร้อมการรับโอนการจัดการศึกษาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ ตีแผ่สถานการณ์ได้ดี ว่าบุคลากรครูยังมีความกังวล และลังเลต่อการย้ายบ้านครั้งนี้อยู่ ขณะที่อปท.ก็ใช้ความพยายามไม่น้อยที่จะแสดงความจริงใจในการทำหน้าที่นี้

นายไพบูลย์ เสียงก้อง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่านี่คือก้าวหนึ่งของการปฏิรูปการ ศึกษา แต่การเดินไปข้างหน้าย่อมมีข้อสงสัย ลังเล เลยมาทำความเข้าใจว่าระบบการประเมินความพร้อมเพื่อถ่ายโอนการศึกษาจะทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์ และให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพในตัวนักเรียน คนมีคุณภาพดีต้องได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ อันเกิดมาจากคนทำการศึกษาด้วยความตั้งใจ และการที่คนจะตั้งใจทำงานได้จะต้องมีความมั่นใจในระบบด้วย

นายไพบูลย์ กล่าวข้อกฎหมายระบุชัดเจนว่า กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่หนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการศึกษาที่ดี มีคุณภาพ และมีบทบาทเสนองบประมาณให้อปท.ได้รับงบเพียงพอในการจัดการศึกษา เวลานี้จึงต้องทำให้อปท.ที่พร้อมเดินหน้าไปก่อน ส่วนที่ไม่พร้อมก็ต้องช่วยกันสร้าง และอนาคตจะคืนส่วนเหล่านี้ให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทดูแลซึ่งจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ได้มีการตั้งเกณฑ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะรับจัดการด้านการศึกษาไว้เบื้องต้นว่า จะต้องเป็นอปท.ที่มีประสบการณ์ มีแผนเตรียมความพร้อม มีวิธีการบริหาร จัดสรรรายได้ไว้เพื่อการจัดการการศึกษาและประชาชนของอปท.นั้นพร้อมช่วยเหลือ และเมื่อผ่านการประเมินคุณ
สมบัติเหล่านี้แล้ว อปท.นั้นจะต้องจัดให้มีการกระจายอำนาจให้สถานศึกษาเพื่อให้เกิดความคล่องตัว เหมือนกับที่สถานศึกษาได้รับและมีบทบาทหน้าที่อยู่ จัดองค์กรขึ้นมาดูแลเฉพาะ เช่นการจัดให้มีกองหรือสำนักว่าด้วยการจัดการศึกษาในอปท.นั้น เพื่อให้มีคนที่เข้าใจการจัดการ
ศึกษาจริงและให้มีระบบบริหารงานบุคคลที่เป็นมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้บุคลากรหรือครูที่โอนมาอยู่ในสังกัดใหม่

นายไพบูลย์กล่าวว่า การถ่ายโอนทำได้ 3 วิธีคือ 1.อปท.ไม่ประสงค์รับโอนแต่ตั้งสถานศึกษาขึ้นมาเองเลยโดยการสนับสนุนของกระทรวงศึกษาธิการ ข้อนี้จะพิจารณาจากจุดโหว่ในพื้นที่ที่ขาดการศึกษาจริง 2. รับโอนเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบ และ 3.ถ่ายโอนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเภทเช่นจากประถมศึกษาเป็นมัธยมศึกษา ที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้คือประเภทที่ 2

การถ่ายโอนจะดำเนินการใน 3 ประเด็นคือ ถ่ายโอนกิจการ นั่นคือสถานศึกษา ทรัพย์สิน , งบ
ประมาณ และบุคลากร

"2 รายการแรกดูจะไม่ยุ่งยาก แต่ข้อ 3 อันคือ "บุคลากร" นี่คือสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกันดำเนินการคือ

สร้างความเข้าใจในรายละเอียดให้ชัดเจน สร้างแรงจูงใจโดยจะต้องช่วยกันดูแลพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของครูบาอาจารย์ ว่าเคยได้สิทธิอย่างไร จะได้อย่างไรตามกฎหมายใหม่ที่จะได้สิทธิเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของพ.ร.บ.ข้าราชการครู

ผู้ที่ถ่ายโอนมาก็จะต้องได้รับในมาตรฐานอันเดียวกัน เช่นสิทธิกบข.กำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอให้แก้ไขพื่อให้ข้าราชการที่อยู่ในอปท.ได้สิทธิ์ด้วย และที่สำคัญการถ่ายโอนจะต้องเป็นระบบสมัครใจควบคู่ไปกับระบบช่วยราชการ และจะต้องมีระบบบริหารราชการบุคคลกลาง"

นายไพบูลย์เชื่อว่า หากได้ทำความเข้าใจและประเมินความพร้อมกันไปเป็นขั้นตอน ที่ใดสามารถจัดการศึกษาให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ก็ควรทำ ซึ่งอยู่ในความต้องการของแต่ละอปท.อยู่แล้ว ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและเป็นแรงจูงใจให้บุคลากรได้ จึงมีระบบถามความสมัครใจ และถ้าหากการดำเนินการช่วงโอน แต่จำเป็นต้องดำเนินการเรียนการสอน ก็ให้เป็นระบบให้ยืมตัวข้าราชการ ที่ทำให้ข้าราชการยังอยู่ได้ในสังกัดเดิมอยู่

นายไพบูลย์ยังให้สัมภาษณ์แสดงความมั่นใจว่า แม้ถ่ายโอนการจัดการศึกษามายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จะไม่มีปัญหาเรื่องการใช้สถานศึกษาเป็นฐานเสียงทางการเมือง เพราะอย่างไรเสีย กระทรวงศึกษาธิการยังคงดำเนินการควบคู่ไปกับท้องถิ่น ไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่จะแสวง
หาความร่วมมือให้ท้องถิ่นได้นำวิสัยทัศน์มาจัดการศึกษา

ส่วนการจะโยกย้ายหรือฝากใครเข้ามารวมทั้งการบริหารเรื่องงบประมาณ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการเชื่อว่า มีระเบียบกฎเกณฑ์ควบคุมดูแลอยู่ทุกระบบ

นายเอกศักดิ์ คงตระกูล นิติกร 8 ว.สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครู กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่กำลังพิจารณากันอยู่คือประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการพิจารณาของอปท. เพราะการบริหารงานบุคคล กระจายอำนาจมาให้เขตพื้นที่การศึกษานั้น กำหนดให้เขตพื้นที่ทำหน้าที่สรรหาบุคลากรครู และถ้าสถานการศึกษาใดพร้อม เขตต้องมอบอำนาจให้สถานศึกษาที่มีความพร้อมนั้น ระบบการบริหารจัดการผ่องถ่ายสู่การกระจายอำนาจถึงสถานการศึกษา

และเพื่อให้สถานศึกษาเป็น school base management ผู้บริหารสถานศึกษาต้องถูกประเมิน มีใบประกอบอาชีพ ด้วยระบบเช่นนี้ ผู้บริหารจึงต้องมีอำนาจและกำหนดการบริหารจัดการให้คล่องตัวยิ่งขึ้น พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ จึงกำหนดให้ผู้บริหารการศึกษามีอำนาจสั่งบรรจุ คนจะเข้าจะออก มีอำนาจสั่งให้ออกหรือรับเลื่อนความดีความชอบนี้

ตำแหน่งครูผู้ช่วย ตำแน่งครู บุคลากรในสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษามีอำนาจสั่งบรรจุ และยังมีผลการพิจารณาดำเนินงานทางวินัยร้ายแรงด้วย กฎหมายกำหนดให้คนมีอำนาจสั่งบรรจุ เป็นมาตรการของการบังคับบัญชา เมื่อกฎหมายกำหนดให้ผู้บริหารเป็นผู้ที่บรรจุก็มีอำนาจแต่งตั้งการสอบสวน เป็นการบริหารงานบุคคลรองรับการกระจายอำนาจ ซึ่งอปท.จะต้องพิจารณาถึงร่าง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับครูที่ย้ายโอนมานี้ด้วย

ยังมีสิ่งที่เป็นข้อถกเถียงในการรับโอนครั้งนี้หลายกรณี

ประเด็นแรกคือเรื่องของ สถานภาพของ ครูอาจารย์ ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของเงินเดือน หรือบำเหน็จบำนาญที่จะได้รับ แต่ยังรวมถึงการบรรจุเป็นครู การพัฒนาศักยภาพในวิชาชีพครู

นาย อนุวัช หมื่นรังษี อ.2 ระดับ 7 โรงเรียนฮอดพิทยาคมกล่าวว่ายังไม่ตัดสินใจในในตอนนี้ว่าย้ายโอนหรือไม่เพราะต้องดูข้อมูลต่างๆ รวมถึงกฎหมายที่จะออกมาเพื่อที่จะไม่ทำให้เรานั้นเสียประโยชน์

นางบัญญัติ ศรีโยทัย อาจารย์โรงเรียนแม่ริมวิทยาคมกล่าวว่า โรงเรียนยังไม่ตัดสินใจในตอนนี้เพราะยังไม่มีความชัดเจนในหลายๆเรื่อง เช่นเรื่องของสถานภาพ สวัสดิการที่เราจะได้รับรวมถึงความมั่นคง คงต้องรอให้มีความชัดเจนมากกว่านี้

ประเด็นที่สองคือเรื่องของภาพลักษณ์ของโรงเรียน โดยชี้ว่าจากนโยบายของทางภาครัฐที่อนุญาตให้เด็กที่มีอายุครบเกณฑ์การศึกษาเข้าเรียนในโรงเรียนแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานว่ามีสัญชาติไทยหรือไม่ ซึ่งโรงเรียนในองค์กรส่วนท้องถิ่นนั้นถูกมองว่า เป็นโรงเรียนชั้นสอง

นาง จินตนา ก้นรัง จากร.ร.ชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย สำนักงานการศึกษาเทศบาลเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า การที่ครูอาจารย์ยังไม่ตัดสินใจย้ายเข้ามาอยู่ในสังกัดของ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น มีอยู่หลายสาเหตุอาจเนื่องมาจากความไม่มั่นใจในสถานภาพของตัวเอง สวัสดิการ หรือการพัฒนาวิชาชีพ รวมถึงภาพลักษณ์ของโรงเรียนเทศบาลเอง

เพราะที่นี่เด็กที่มาเรียน บางคนนั้น เป็นเด็กไม่มีสัญชาติ ตั้งแต่นโยบายของรัฐที่ออกมาให้เด็กมีอายุครบเกณฑ์แล้วจะต้องเรียนหนังสือแม้ว่าจะไม่มีหลักฐาน ส่วนเรื่องการเมืองท้องถิ่นที่จะเข้ามามีผลกับการศึกษานั้นไม่มีปัญหาเพราะทุกวันนี้หากเรามีปัญหาอะไรทางโรงเรียนก็จะไปขอความช่วยเหลือในเรื่องงบประมาณ ทางเทศบาลก็ให้ เขาไม่ได้เข้ามายุ่งในเรื่องการบริหารของโรงเรียน

อีกประการคือ ความกลัวนักการเมืองท้องถิ่นจะเข้ามามีอิทธิพลต่อการศึกษาในท้องถิ่นซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อระบบการศึกษาโดยรวม นายสุทัศน์ สุทัศนรักษ์ ที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่กล่าวว่าการเมืองท้องถิ่นจะเข้าไปมีอิทธิพลในโรงเรียนนั้นไม่มีแน่ เพราะอบจ.เป็นเพียงผู้ที่จะเข้ามาบริหารงานในเรื่องแผนงาน การจัดทำโครงการต่างๆเท่านั้น ส่วนเรื่องของขั้วการเมืองนั้นคงไม่มีผลกับการบริหารการศึกษา

นายอุทัย ขัติยศ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 4 กล่าวว่า ในความเห็นของผม คิดว่าในเวลานี้ไม่เหมาะที่จะทำการโอนการจัดการศึกษา เพราะในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ขอให้ช่วงนี้ผ่านไปก่อนเพื่อให้การเมืองมีความชัดเจน มีกฎหมายออกมาอย่างชัดเจนเพื่อที่จะให้ ครูอาจารย์ทั้งหลายนั้นได้มองเห็น แต่เราจะใช้เวลาในช่วงนี้ทำการประเมินเพราะถึงอย่างไรก็จะต้องมีการโอนการจัดการศึกษาแก่ท้องถิ่นเพราะมีกฎหมายบังคับไว้

นายวีระ สุเมธาพันธ์ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 กล่าวว่า เห็นใจในความไม่ชัดเจนของสถานภาพของข้าราชการครูที่จะโอนย้าย ซึ่งต้องให้เขาตัดสินใจเลือกเอง ในส่วนของการเมืองท้องถิ่นที่จะเข้ามาแทรกแซงนั้นไม่น่าเป็นห่วงเพราะทุกวันนี้ การเมืองกับการศึกษาก็คู่กันอยู่แล้ว แต่เป็นการเมืองในระดับบน ส่วนในเรื่องของเด็กเส้นเด็กฝากนั้นคงมีบ้างแต่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะยังมีระบบการเมืองท้องถิ่นควบคุมอยู่ เพราะถ้าผู้บริการองค์การทำไม่ดีเขาติว่าได้ ถ้าไม่ฟังสมัยต่อไปชาวบ้านไม่เลือก ส่วนเด็กนักเรียนนั้นไม่มีปัญหาอะไรสถานภาพก็ยังเป็นเหมือนเดิม

อ.วีรชัย จอมดวง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดล้านตอง อ.สันกำแพง กล่าวว่าหากจะมีการโอนย้ายก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะ หากครูไม่อยากที่จะเข้ามาอยู่ในสังกัดเขาก็มีทางออกให้โดยอาจจะให้ในสถานเดิมแต่มาช่วยสอนหรืออาจย้ายไปทำงานในที่อื่นก็ได้

ความคลุมเครือในสถานภาพของครูอาจารย์ในสังกัดของโรงเรียนที่จะทำการโอนนั้นยังเป็นปัญหา เพราะเวลานี้เป็นช่วงรอยต่อที่กฎหมายกำลังยกร่าง ซึ่งหาความชัดเจนยังไม่ได้ ทั้งในเรื่องสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ หรือการพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพ

ซึ่งเวลาและความจริงใจของอปท.ที่แสดงออกถึงการกำหนดวิสัยทัศน์และการวางแผนด้านการศึกษาให้เป็นรูปธรรม คงเป็นตัวที่จะสามารถคลี่คลาย สร้างความมั่นใจให้กับครูผู้สอนที่จะโอนย้ายในอนาคต.

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net