Skip to main content
sharethis

ภาพจากผู้จัดการออนไลน์
==================================

ประชาไท - 17 ม.ค.48 "สุริยา" ตั้งกรรมการสอบกรณีรถไฟฟ้าใต้ดินชนกันใช้เวลาเพียง 3 ชม.สรุป ผลระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมปกติ แต่พนักงานละเลย ไม่ทำตามคู่มือ สั่งหยุดเดินรถ ทบทวนระบบ 1 สัปดาห์

หลังเกิดเหตุรถไฟใต้ดินชนกันบริเวณสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศ เมื่อเวลาประมาณ 9.20 น. เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 180 ราย และคนขับรถขบวนเปล่าได้รับบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากไหลลงมาจากศูนย์ซ่อมฯ จนชนกับรถอีกขบวนที่จอดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีฯ

ต่อมานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จ จริงที่เกิดขึ้น โดยให้ได้ข้อสรุปภายใน 3 ชม.พร้อมกับแถลงข่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการกู้ภัยรถไฟฟ้าขบวนหนึ่งซึ่งจอดเสียอยู่ที่บริเวณทางโค้งของศูนย์ซ่อมบำรุงพระราม 9 โดยการกู้ภัยซึ่งใช้รถอีกขบวนหนึ่งมากู้ภัยไม่ได้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ จึงทำให้ขบวนรถที่จอดเสีย ไหลลงไปชนกับรถไฟฟ้าใต้ดินที่จอดให้บริการที่ศูนย์วัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม รมว.คมนาคมเชื่อว่าอุบัติเหตุเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานที่ไม่เป็นไปตามคู่มือ ไม่ใช่เพราะระบบคอมพิวเตอร์ควบคุม ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องประมาณ 5-6 คน โดยเป็นคนขับ 2 คน และผู้ควบคุมในศูนย์ควบคุมิอีก 3 คน นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้มีการหยุดการเดินรถประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้ไปทบทวนคู่มือฝึกอบรมต่างๆ และตรวจสอบระบบต่างๆ อย่างรัดกุม

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า เห็นวิดีโอชัดเจนแล้ว พบว่าคอมพิวเตอร์ไม่มีอะไรผิดปกติ แต่เป็นความผิดพลาดของคนขับรถที่ไม่ปฏิบัติตามคู่มือไปปลดเบรก อีกทั้งเหตุ การณ์นี้ไม่ใช่รถไฟชนกัน แต่เป็นการไหลจากศูนย์ซ่อมฯ ลงไป เพราะระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่วิ่งอยู่ทุกวันโดยมีคอมพิวเตอร์ควบคุมนั้นไม่มีทางชนกันแน่นอน อย่างไรก็ตามจะเปิดให้บริการต่อเมื่อตรวจสอบทุกอย่างอย่างละเอียด ส่วนความเสียหายเบื้องต้นอยู่ที่ขบวนละ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้สัมภาษณ์เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.ว่า จากการสรุปสาเหตุเบื้องต้นพบว่าสาเหตุของการชนกันเกิดจากระบบสัญญาณการควบคุมของคอมพิวเตอร์ขัดข้อง และสัญญาณขาดหายไปบางช่วง จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว

ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. ผู้ว่าการฯ รฟม. ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า จากการตรวจสอบพบว่ารถเปล่าที่กำลังวิ่งเข้าไปที่โรงซ่อมเพื่อต่อขบวนเกิดขัดข้อง ผู้ขับไม่สามารถบังคับรถให้ต่อกันได้และเกิดลื่นไหลมาชนกับรถไฟฟ้าอีกขบวนที่มีผู้โดยสารประมาณ 700 คน และกำลังชะลอจอดที่สถานี ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ส่วนในเรื่องของระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการเดินรถนั้นเจ้าหน้าที่ยืนยันแล้วว่าไม่เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคกำลังทำการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป

ส่วนนายวิภูติ จันทนะผลิน อายุ 27 ปี พนักงานขับรถไฟใต้ดินขบวนที่ถูกชน ซึ่งได้รับบาดเจ็บกระดูก หัก และคางแตกเปิดเผยว่า เหตุการณ์อาจเกิดจากความผิดพลาดในการควบคุมการสับรางของศูนย์ควบคุมการเดินรถ เนื่องจากรางรถไฟเป็นรางคู่ ไม่มีทางเกิดการชนกัน และปกติจะปล่อยรถโดยทิ้งช่วงเวลาห่างกัน 3-6 นาที อย่างไรก็ตาม ทราบว่ามีการใช้ประแจสับรางเพื่อสับเปลี่ยนทิศทางรถแต่คงมีการควบคุมผิด ทำให้รถวิ่งผิดทางเพราะปกติรถที่วิ่งมาชนจะต้องแยกออกไปตั้งแต่สถานีพระราม 9แล้ว

ด้านนายการุญ จันทรางศุ อดีตกรรมการอำนวยการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งใช้ระบบเดินรถซีเมนส์เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าใต้ดินของรฟม. กล่าวว่า ปัญหาน่าจะเกิดขึ้นจากคน เพราะคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุมระบบมีอยู่ถึง 3 ชั้น ดังนั้นอุบัติเหตุดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย อีกทั้งระบบที่วางไว้จะไม่ยอมให้รถ 2 ขบวนที่วิ่งบนรางเดียวกันเข้ามาใกล้ชิดกัน เกิน 300 - 400 เมตร หากเข้ามาใกล้รถจะเบรกโดยอัตโนมัติทันที อย่างไรก็ตาม รถสองขบวนอาจเข้ามาชิดกันได้กรณีที่มีรถเสียแล้วนำรถอีกขบวนหนึ่งไปลาก แต่จะต้องควบคุมโดยศูนย์ควบคุม แต่กรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net