Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-24 ก.พ.2548 ที่ห้องแกรนด์บอลลูม รร.เชียงใหม่ฮิลล์ จ.เชียงใหม่ กรมชลประทาน เชิญหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเข้าสัมมนารับฟังความคิดเห็น โครงการส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง เชื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในเขตพื้นที่การเกษตรในเขตลุ่มน้ำแม่กวง รวมทั้งพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน ขณะที่องค์กรท้องถิ่นลุกขึ้นถามถึงความชัดเจนของโครงการ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น

นายนิพนธ์ สายหอม หัวหน้าคณะโครงการสำรวจออกแบบอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งการขยายตัวของชุมชน ทำให้พื้นที่โครงการแม่กวงได้รับผลกระทบต่อการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร และการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงมีไม่เพียงพอ

จึงจำเป็นต้องมีโครงการอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง จ.เชียงใหม่ นี้ ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งในแผนระยะสั้นของแผนการพัฒนาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำแม่กวงตอนล่าง มีส่วนประกอบหลักคือ อุโมงค์ส่งน้ำมีความยาว 22.72 กิโลเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร สามารถส่งน้ำได้เฉลี่ยปีละ 47.68 ล้านลูกบาศก์เมตร

"หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูแล้งของพื้นที่โครงการชลประทานแม่กวง ได้กว่า 43,400 ไร่ ตลอดจนยังสามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค และเพื่ออุตสาหกรรมอีกปีละประมาณ 21.83 ล้านลูกบาศก์เมตร" นายนิพนธ์ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ได้เริ่มทำการสำรวจและออกแบบอุโมงค์ส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง ถึงเขื่อนแม่กวง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 ถึงเดือนตุลาคม 2548 โดยมีบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท แอสดีคอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท วายพี คอนซัลแทนท์ส จำกัด เป็นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา และหากดำเนินการโครงการตามแนวที่ 2 ที่ทำการสำรวจเปรียบเทียบราคาค่าก่อสร้างอุโมงค์แล้ว จะใช้งบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 1,400 ล้านบาท

นายนิพนธ์ ยังกล่าวอีกว่า รูปแบบของโครงการนั้น จะเป็นอุโมงค์ที่มุดอยู่ใต้ดิน โดยมีความลึกต่ำสุดประมาณ 60 เมตร และความลึกสุดประมาณ 560 เมตร ซึ่งอาจใช้การเจาะด้วยเครื่องเจาะให้เป็นวงกลม หรือไม่อาจเจาะด้วยระเบิดให้เป็นรูปเกือกม้า และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งใดที่อยู่ข้างบน เนื่องจากมีการสำรวจภูมิประเทศและธรณีวิทยาไว้แล้ว

ในการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การดำเนินงานโครงการได้เริ่มทำการสำรวจและออกแบบอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง ได้เริ่มดำเนินการสำรวจและออกแบบอุโมงค์มาตั้งเดือนตุลาคม 2546 แต่เพิ่งมีการเชิญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นเป็นครั้งแรก

อีกทั้ง หลายคนได้ลุกขึ้นถามถึงความไม่ชัดเจนของโครงการ ว่าไม่ได้มีการพูดถึงผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องปริมาณการใช้น้ำในเขตพื้นที่ของเขื่อนแม่งัด ว่าทุกวันนี้มีเพียงพอหรือไม่ ก่อนที่จะดำเนินการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำไปแม่กวง

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net