Skip to main content
sharethis

สถานการณ์ภัยแล้งปี 2548 ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ หลายพื้นที่ในเขตภาคเหนือเริ่มได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำ พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ถึงขั้นแย่งชิงน้ำกันก็มี ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา หวังแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยซ้ำซากให้แล้วเสร็จใน 4 ปี พร้อมกำชับกรมส่งเสริมการเกษตรเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรัง

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรง และอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจนถึงกลางปี กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนภัยเรื่องสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ทราบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรณรงค์การปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง เพื่อบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยนอกเขตชลประทาน

ถ้าเกษตรกรยืนยันจะปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 และเกิดความเสียหายขึ้น กระทรวงเกษตรฯจะไม่เข้าไปให้ความเหลือเชื่อใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานร่วมกันสำรวจความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นกับพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำมาตรฐานให้ความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่

สำหรับสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศในขณะนี้พบว่า ปริมาณน้ำโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 47 ของความจุการใช้งาน ซึ่งน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2547 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำของเขื่อนลำตะคอง ลำพระเพลิง ทับเสลาและกระเสียว อยู่ที่เกณฑ์ร้อยละ 9, 9, 8 และ 0 ของความจุการใช้งานตามลำดับ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤต และเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้งของประชาชนในพื้นที่

กรมชลประทานจึงได้ชี้แจงให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบถึงความจำเป็นในการงดจ่ายน้ำเพื่อการเกษตรตั้งแต่บัดนี้จนถึงเดือนพฤษภาคม 2548 ซึ่งเบื้องต้นเกษตรกรส่วนใหญ่พร้อมให้ความร่วมมือและปฏิบัติตาม

ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมที่จะนำเสนอแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยที่จะดำเนินการใน 4 ปีข้างหน้าของรัฐบาล

โดยแผนการดังกล่าวประกอบด้วย 1.แผนระยะยาวได้แก่ การบริหารจัดการน้ำใน 25 ลุ่มน้ำหลัก ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร ซึ่งยึดตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศของกรมชลประทาน 2.แผนการแก้ไขและป้องกันปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วน ได้แก่ แผนรับสถาน
การณ์ในฤดูแล้ง เป้าหมายการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โครงการพัฒนาเครือข่ายน้ำและการเกษตรแบบบูรณาการ (น้ำแก้จน) โครงการแหล่งน้ำในไร่นา และโครงการพัฒนาที่ดินเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ดินเสื่อมโทรม

จากตัวเลขปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทย ถ้ามีการบริหารจัดการเก็บกักน้ำที่ดีพอ รวมทั้งการกระจายการเก็บให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่มากขึ้น คาดว่านอกจากจะช่วยลดผลความเสียหายจากภัยแล้งและอุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยที่ได้รับความเสียหายทุกปีแล้ว ยังเป็นผลดีต่อการจัดทำแผนการผลิต และการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการในที่นี้ ไม่ได้หมายความเฉพาะการก่อสร้างเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่หรือขนาดกลางเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้และการจัดสรรน้ำที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับพื้นที่.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net