Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 25 เม.ย.48 "ผมอยากเห็นงานวิจัยที่เป็นพลวัตรนำไปสู่การฟื้นของสิทธิชุมชนคนพื้นถิ่น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเส้นทางในอนาคตของชุมชน โดยมุ่งสู่องค์ความรู้แห่งอิสรภาพ ความเป็นธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งทำให้ทุกสิ่งอยู่ภายใต้ระบบตลาด กลไกราคาตลาด" ศ.เสน่ห์ จามริก กล่าวปาฐกถาในงานประชุมเชิงวิชาการ "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น: เส้นทางสู่อนาคต"

งานดังกล่าวจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อนำเสนองานวิจัยในโครง
การวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทั้ง 4 ภาค รวม 29 โครงการ ซึ่งศ.เสน่ห์ระบุว่า โครงการศึกษาดังกล่าวเป็นจุดตั้งต้นสำคัญ แต่ยังมีเส้นทางอีกยาวไกลและซับซ้อนที่จะฟื้นเศรษฐกิจและสิทธิชุมชน เพื่อให้กระแสโลกาภิวัตน์อยู่ในภาวะสมดุล และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

โดย ศ.เสน่ห์กล่าวว่า กระแสโลกาภิวัตน์ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาความยากจน ทำให้เกิดการล่มสลายในวัฒนธรรมและสถาบันทางสังคมที่เคยอยู่อย่างเป็นองค์รวมระหว่างคนกับธรรมชาติ เพราะระบบตลาดทำทุกอย่างให้เป็นเงิน โดยเฉพาะการแย่งชิงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งน่าจะเป็นหัวข้อสำคัญที่นักวิจัยจะหันมาศึกษาวิจัยมากขึ้น เพื่อให้เห็นระบบการจัดการกรรมสิทธิ์ที่เป็นของชุมชนร่วมกันใช้ร่วมกันจัดการ นอกเหนือจากมาตรฐานของตะวันตกที่มองเพียงว่าหากกรรมสิทธิ์ไม่เป็นของรัฐก็ต้องเป็นของเอกชน

นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายสำคัญของการครอบงำดังกล่าว เพราะเป็นส่วนหนึ่งของฐานทรัพยากรเขตร้อนของโลก มีความร่ำรวยของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งในความเป็นจริงประเทศโลกที่ 3 มีเนื้อที่ไม่ถึงร้อยละ 7 ของโลก แต่เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพถึงร้อยละ 50-60 ของโลก และคนในท้องถิ่นเป็นตัวจักรสำคัญในการรักษาและจัดการทรัพยากรเหล่านี้มาหลายชั่วคน

ศ.เสน่ห์ระบุด้วยว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถือเป็นการศึกษาวัฒนธรรม ซึ่งก็คือการเรียนรู้ หรือ "ภูมิปัญญา" ของชุมชน ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพูดถึงสิทธิชุมชนได้ ทั้งนี้ สิทธิชุมชน มีลักษณะสำคัญ คือ 1.สิทธิซึ่งไม่จำกัดที่ปัจเจกชน 2.สิทธิในการพึ่งตัวเอง พัฒนาตัวเอง 3.สิทธิในการพิทักษ์รักษา และการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ 4.สิทธิที่จะแตกต่าง หลากหลาย

ส่วนภารกิจต่อไปของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้น ศ.เสน่ห์ระบุว่า ไม่ใช่การศึกษาแบบโหยหาอดีต แต่ควรมีทั้ง 3 มิติ คือ อดีต ปัจจุบัน และหาทางเลือกสู่อนาคต รวมทั้งฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเป็นระบบเพื่อคัดสรรวิทยาการที่มาจากภายนอกให้เหมาะสมกับตนเองและเพื่อการถ่ายทอดสู่เยาวชน

"ที่สำคัญ เวลาพูดถึงชุมชนท้องถิ่น เราต้องพูดถึงเครือข่ายชุมชนฐานทรัพยากร ถ้าต่างคนต่างอยู่คงไม่รอด ต้องสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน สร้างระบบตลาดของชุมชนด้วย ไม่ใช่นึกอะไรไม่ออกก็โอท็อปอย่างเดียว ทั้งที่มันเป็นการอาศัยความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของชนบทมาเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก" ศ.เสน่ห์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net