Skip to main content
sharethis

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ชีวิตในหลากรส หลายรูปแบบ ที่หลายคนจะพึงมีพึงคว้าเข้ามาเป็นเสี้ยวหนึ่งของประสบการณ์ การไร้ซึ่งกิจกรรมใด ๆ ที่จะนำมาสู่การเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง ก็อาจทำให้ก้าวแรกในบทบาทของน้อง (ใหม่) ขาดสีสัน โดดเดี่ยวและไร้ความอบอุ่นอย่างยากที่จะบรรยาย

ด่านประเพณีการรับน้องเป็นปราการแรก ที่เริ่มต้นขึ้นก่อนที่ห้องเรียนมหาวิทยาลัยจะเปิดให้น้องได้เดินตามฝัน แต่ด้วยเพราะลักษณะโครงสร้างของแต่ละสถาบันมีความหลากหลาย มีความเป็นเอกลักษณ์ (Identity) ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้น้องใหม่หลายพันหลายหมื่นชีวิตต้องถูกเข้าไปอยู่ในกรอบของการรับน้องที่ผิดแผกแตกต่างกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

อาจกล่าวได้ว่าระบบการรับน้องมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วจากอดีตถึงปัจจุบัน แตกไปในมิติที่หลากหลายมากขึ้น

ด้านแรก เป็นมิติของการเลียนแบบ จากสถาบันหนึ่งสู่สถาบันหนึ่งและนำรูปแบบของสถาบันใดสถาบันหนึ่งไปปรับประยุกต์ในวิธีการในแบบฉบับของตัวเองที่ควรจะเป็น อยู่ในกรอบหรือไร้ขอบเขต

ด้านสอง มิติของการเอาคืน จากการที่เคยถูกกระทำมาเป็นผู้กระทำจากรุ่นสู่รุ่น

ด้านสาม มิติที่สื่อถึงระบบการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยหรือสถาบัน ว่าในข้อเท็จจริงไร้ระบบที่ควบคุมการกระทำกิจกรรมอันไม่เหมาะสมของนักศึกษาได้อย่างเต็มที่

ด้านสี่ มิติของ "สื่อ" ที่เทความสนใจเรื่องนี้อย่างถล่มทลาย พลิกและสร้างประเด็นให้อยู่ในกระแสการบริโภคข่าวสาร ในยุคสังคม SMS มุ่งขายข่าวและชี้ถูกชี้ผิดให้สังคมเป็นผู้ตัดสิน ทั้งในความเป็นจริง "รับน้อง" เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมายาวนานชั่วนาตาปี

ด้านสุดท้าย มิติของ "น้อง" ที่อาจยังไม่มีใครรับรู้ความรู้สึกของพวกเขาว่า จริง ๆ แล้วน้องชอบรับน้องหรือไม่ชอบรับน้องกันแน่

**************
เหตุการณ์น้องใหม่ ปี 1 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถูกรุ่นพี่สั่งให้เดิน ๆ วิ่ง ๆ กลางแสงแดดเปรี้ยงเป็นเวลานานจนเป็นลม ต้องหามส่งโรงพยาบาล

นิสิตชาย ปี 1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยิงตัวตายที่ชุมพร เหตุเพราะรับไม่ได้และกดดันจากการรับน้อง

นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ถูกรับน้องด้วยความป่าเถื่อน นั่นคือ การเอาอวัยวะเพศของนักศึกษาชายชั้นปี 1 มาเล่นเกม ชักเย่อขวดใส่น้ำ การจุดไฟเผาขนในที่ลับ การให้น้องใหม่ถอดเสื้อไถไปบนพื้นปูนซีเมนต์จนเกิดแผลทั่วร่างกาย การให้น้องใหม่กินเนื้อสุนัข เป็นต้น

หรือแม้แต่กรณีที่มีนักศึกษารุ่นพี่ของสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในย่านคลองหก เรียกรุ่นน้องมากลางดึกอ้างว่าเพื่อจะพามาว๊าก แต่กลับมาข่มขืนรุ่นน้อง

มุมมองเฟรชชี่ต่อการรับน้อง

นักศึกษาหญิงปี 1 จาก มช. แสดงความเห็นเรื่องการรับน้องว่า คิดว่ามีทั้งรูปแบบที่ดีและไม่ดี แล้วแต่คณะ สาขาวิชา มองว่าภาพที่ออกมาตามสื่อเป็นกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมนัก แต่ก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าสื่อมวลชนตั้งใจเน้นแง่มุมที่ดูแย่หรือเปล่า โดยเฉพาะภาพผู้หญิงกับผู้ชายแสดงท่าทางที่ส่อไปในทางลามก อย่างไรก็ไม่สามารถยอมรับได้แน่นอน แต่หากภาพที่เห็นเป็นผู้ชายกับผู้ชาย ก็คิดว่ารู้สึกเฉยๆมากกว่า อย่างที่รู้กันคือพวกผู้ชายชอบเล่นสนุกแบบห่ามๆอยู่แล้ว ในส่วนของการรับน้องที่ค่อนข้างรุนแรงอย่างเช่นมีการว้าก มีการสั่งลงโทษ คิดว่าความสามารถในการยอมรับได้นั้นเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ตะโกนเสียงดังบ้างก็ได้อยู่ แต่ไม่ควรใช้ถ้อยคำที่หยาบคายมากนัก แค่มึงหรือกูนี่ก็ไม่ไหวแล้ว อยากให้การรับน้องคงอยู่ต่อไป แต่อยากให้เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ เช่นการบำเพ็ญประโยชน์ ควรลดความลามกอนาจารลงบ้าง การลงโทษจริงๆแล้วก็ไม่อยากให้มี รุ่นพี่ควรรับผิดชอบความเจ็บไข้ได้ป่วยของรุ่นน้องให้มาก และดูแลเรื่องเวลาทำกิจกรรมในแต่ละวันให้เหมาะสม ไม่ให้เหนื่อยล้าจนเกินกำลัง แต่โดยรวมคิดว่าควรมีกิจกรรมรับน้อง ไม่อย่างนั้นน้องใหม่ที่พึ่งเข้ามาอาจเกิดความโดดเดี่ยวอ้างว้าง อย่างไรก็ตามควรมีผู้ใหญ่ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยป้องกันกิจกรรมที่อาจเกินเลย"

นักศึกษาชายปี 1 รั้ว มช.อีกคนบอกว่า การรับน้องเป็นกิจกรรมเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ หากขาดไปก็จะเป็นเรื่องยากสำหรับการสร้างความสัมพันธ์กันในหมู่คณะ แต่หากรุนแรงเกินไปก็จะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี ดังนั้นจึงควรควบคุมให้อยู่ในกรอบที่ยอมรับได้ ภาพกิจกรรมที่เห็นตามสื่อคิดว่าไม่เหมาะสม รุนแรงเกินไป เรียกว่าเป็นความพิเรนที่ยอมรับไม่ได้เลยทีเดียว สื่อตั้งใจนำเสนอให้เห็นเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะถามใคร ใครก็ต้องตอบว่าไม่เหมาะสมทั้งนั้น เขารู้ว่าภาพอย่างนี้ขายได้

กลุ่มนักศึกษาหญิงปี 1 ของคณะที่เน้นเรื่องกิจกรรมเชียร์ จากรั้ว มช. บอกว่า การรับน้องโดยทั่วไปคิดว่ามีทั้งที่ดีและไม่ดี เช่นเดียวกับคนเราซึ่งก็มีทั้งดีและไม่ดี หากไม่มีการรับน้อง รุ่นพี่กับรุ่นน้องก็จะไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักกัน คิดว่าการว้ากไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดมากอะไร การออกคำสั่งโดยรุ่นพี่นั้นหากมีเหตุผลก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ไม่มีปัญหาอะไร โดยรวมคืออยากให้มีการรับน้อง แต่ให้อยู่ในรูปแบบที่พอดี อย่างการเข้าห้องเชียร์เพื่อฝึกร้องเพลง การทำกิจกรรมที่สร้าง

ด้านนักศึกษาปี 1 ม.แม่โจ้ คนหนึ่งแสดงความเห็นว่า ขึ้นอยู่กับระบบการศึกษามากกว่า บางทีการคัดคุณภาพของนักศึกษาที่จะเข้าเรียนก็มีส่วนสำคัญ ถ้าได้คนที่มีคุณภาพ ก็จะมีความคิดในระดับหนึ่ง เรื่องร้ายแรงก็คงไม่เกิดขึ้น จากภาพที่เห็นตามสื่อ คิดว่าสื่อให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เกินไปมากกว่า ซึ่งแน่นอนจะต้องมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีเป็นของคู่กัน เราไม่เรียกว่าว้าก เป็นการสอนด้วยเสียงที่ดังเท่านั้น เพราะการสอนคนที่อายุห่างกันเพียงแค่ปีเดียว จำเป็นจะต้องทำให้เด็กรุ่นน้องมีความยำเกรง หากให้ยกเลิกการรับน้อง คิดว่าไม่เห็นด้วย เพราะรับน้องเป็นประเพณี หมายถึง การกระทำสิ่งที่ดีงาม สืบทอดกันมาหลายรุ่น สิ่งที่ดีมีมากกว่าไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นการสอนให้มีความเคารพ มีวินัย ความสามัคคี ความรักเพื่อนพ้อง

นักศึกษาหญิง คณะบริหารบริหารธุรกิจ ปี 4 มช. บอกว่า รู้สึกเฉยๆกับการว้าก คิดว่าแล้วแต่คนมากกว่า ส่วนตัวไม่ได้ต่อต้าน แต่ก็ไม่ได้สนับสนุน หากมีกิจกรรมดังกล่าวก็เข้าร่วมด้วยความสมัครใจ

ด้านนักศึกษาฯ ปี 4 รั้ว มช.อีกคน บอกว่า กิจกรรมหลายอย่างเป็นการสร้างความสัมพันธ์ เพื่อให้ได้รู้จักกันมากขึ้นภายในหมู่น้องใหม่ บางครั้งอาจมีทะลึ่งตึงตังบ้าง ก็เป็นไปเพื่อความสนุกสนานผ่อนคลาย ซึ่งเราคงไม่ปฎิเสธว่าช่วงวัยรุ่นนั้นความสนใจต่อเพศตรงข้ามเป็นเรื่องปกติ ความสนใจเรื่องเพศเป็นธรรมชาติของมนุษย์ อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ทำเกินเลยกันขนาดถูกเนื้อต้องตัว และไม่มีการบังคับด้วย หากทำไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องทำ ก็ไม่มีใครว่าอะไร หากจะแก้ปัญหาอาจต้องมีการกลั่นกรองสภาพจิตใจของน้องใหม่ก่อนในระดับหนึ่ง เพื่อประเมินว่าใครรับอะไรได้แค่ไหน

ด้านนักศึกษาหญิงคณะเกษตรฯ ปี 4 มช. อีกคนบอกว่า ไม่เคยรู้สึกว่าการว้ากเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เลย แม้แต่ตอนที่ถูกว้ากก็ไม่เคยคิด พูดให้ตรงกว่านั้นคือเห็นด้วยทุกประการและจำเป็นต้องมีการรับน้องวิธีนี้ ความรู้สึกของคนกลุ่มหนึ่งที่ผ่านความยากลำบากอย่างใดอย่างหนึ่งมาด้วยกัน ทำให้เกิดสายใยผูกพันบางอย่าง และภายใต้ภาวะที่กดดัน เราจะสามารถเห็นได้เลยว่าตัวตนที่แท้จริงของแต่ละคนเป็นอย่างไร ทำให้เราเข้าใจกันและกันมากขึ้น กลมเกลียวและช่วยเหลือกันมากขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไป เรื่องราวเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเรื่องที่เรากลับมารำลึกถึง สิ่งที่เพื่อนพี่น้องเคยทำร่วมกัน และเราก็จะหัวเราะให้กับมัน

น.ศ.มช.เซ็งสื่อ
สกอ.เลิกรับน้อง ไม่ยุติธรรม

นายทรงศักดิ์ เชื้อเมืองพาน ประธานปกครองนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคณะยังคงยึดข้อสรุปเดิมอยู่ คือมีการชะลอการจัดกิจกรรมรับน้องเอาไว้ก่อน ซึ่งหลายคนต่างมองว่า ไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม หากจะมีการออกคำสั่งห้ามไม่ให้ทุกสถาบันจัดกิจกรรมดังกล่าว

"เพราะกิจกรรมรับน้องบางอย่าง ล้วนเป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อนักศึกษาที่เข้ามาใหม่ สร้างความสนุกสนานเฮฮา สร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง รวมทั้งมีการทำบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคมด้วย ซึ่งหากให้มีการยุติทั้งหมด ก็คงเป็นไปไม่ได้" นายต่อพงษ์ กล่าว

ด้าน นายต่อพงษ์ มะลิใจ นายกสโมสรคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว การจัดกิจกรรมรับน้องที่ผ่านมาของ มช. ก็มีทั้งคณบดี สโมสรนักศึกษาของแต่คณะดูแลอย่างใกล้ชิดกันอยู่แล้ว โดยการจัดกิจกรรมรับน้องในแต่ละปี ก็ได้รับการยินยอมจากนักศึกษาใหม่ มีการเขียนใบสมัครกันเอง โดยไม่เคยมีการขู่เข็ญใดๆ ทั้งสิ้น

"ซึ่งทาง มช.ก็ได้มีการจัดกันมาได้ 41 ปีแล้ว แต่ทำไมถึงมาสั่งปิดกันตอนนี้ โดยมีการพยายามนำเอาประเด็นปัญหา บางสถาบันมาเป็นข้อถกเถียงและตัดสินใจ ทั้งๆ ที่นักศึกษาใหม่ของ มช.ทุกคนนั้นต่างยินยอมที่จะเข้าร่วมกิจกรรม เพราะทุกคนถือว่า การจัดกิจกรรมรับน้อง เป็นเรื่องของกลยุทธ์ การใช้จิตวิทยา ที่จะสร้างความสัมพันธ์ ให้มีความรัก ความอดทน ความเชื่อมั่น จึงมีทั้งการปลอบ และ กระแทกกระทั้นกันบ้าง ซึ่งอาจมีผู้ปกครองบางคนไม่เข้าใจ ตีตนไปก่อนไข้ มีทัศนคติที่ไม่ดีกับเรื่องเหล่านี้ " นายต่อพงษ์ กล่าว

เขากล่าวว่าอยากให้ผู้มีอำนาจได้ลองมาถามส่วนรวมดูว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น สาเหตุนั้นมันมาจากการรับน้องจริงหรือไม่ อีกทั้งในเรื่องการนำเสนอของสื่อ บางครั้งอาจไม่ตรงต่อความจริง ซึ่งสังคมในขณะนี้ไวต่อการรับข้อมูลข่าวสาร หากนำเสนอบิดเบือน อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ ดังนั้น จึงอยากให้มีการทบทวนคำสั่งดังกล่าว เพราะเชื่อว่านักศึกษาทั่วประเทศนั้นไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน

ม.ราชภัฏ ชร.ชี้รับน้องควรมีอยู่
แต่ต้องเหมาะสมและสร้างสรรค์

นายปฏิพันธ์ อุทยานุกูล อาจารย์สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวแสดงความคิดเห็นกับการรับน้องว่า การที่รุ่นพี่แสดงกิริยาอาการหรือเจตจำนงถึงความปรารถนาดีต่อรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่ ไม่ใช่แสดงออกด้วยการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้กิริยาวาจาบังคับให้กระทำตามที่รุ่นพี่ต้องการ เพราะคิดว่าเด็กที่เพิ่งสลัดคราบนักเรียนมาหมาด ๆ บางคนเดินทางมาเป็นร้อย ๆ กิโลเพื่อมาศึกษาต่อตามที่ตนเองมุ่งหวัง แต่ยังไม่ทันได้เรียนเลย ก็กลับมาพบกับการว้ากด้วยถ้อยคำที่รุนแรง

"บางทีก็ให้ทำอะไรที่ประหลาด ๆ เช่นให้เต้นแร้งเต้นกาในท่าต่าง ๆ ที่ออกมาในทางสองแง่สามง่าม และที่ไม่น่าเชื่อเลยก็คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผมเคยได้ยินมาว่าไม่มีการรับน้อง แต่เดี๋ยวนี้เริ่มมีแล้ว บางครั้งในสายตาอาจารย์ก็รับไม่ได้ เพราะกลายเป็นว่ารุ่นน้องถูกบังคับทั้งร่างกายและจิตใจให้ทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ ผมว่ามันไม่ควร ถึงบางคนจะว่ามันเป็นประเพณีก็ช่างเถอะ แต่น่าจะมีวิธีการรับน้องที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่การสร้างความกดดันให้รุ่นน้อง" อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าว

ด้านนายวันชนะ จิตอารีย์ อาจารย์สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้กล่าวถึงการรับน้องที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ว่า กิจกรรมการรับน้องใหม่ในสถาบันอุดมศึกษานั้น เท่าที่ได้พบเห็นรูปแบบการจัดกิจกรรมของนักศึกษานั้น ยังยึดรูปแบบเดิม ๆ ไม่มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา คือ ให้น้องใหม่ออกมาร้องรำทำเพลง ว้ากน้อง ขู่น้อง โดยใช้ช่วงเวลาในการรับน้องใหม่ระยะหนึ่ง ดูแล้วเป็นกิจกรรมที่ซ้ำซากและน่าเบื่อ

"ความจริงแล้ว กิจกรรมการรับน้อง เป็นกิจกรรมที่ดีหากมีรูปแบบและการวางแผนที่ดี เช่น ผู้จัดอาจจะเสนอโครงการจัดกิจกรรมการรับน้องใหม่ในลักษณะของการเข้าค่าย ในระเวลาสั้น ๆ ประมาณ 2-3 วัน โดยมีกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ สลับกับการเชิญอาจารย์มาบรรยายให้ความรู้ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เชิญศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมาบรรยายเกี่ยวกับการใช้ชีวิต มีการแสดงกลุ่มย่อยของนักศึกษาใหม่ กิจกรรมลักษณะนี้อาจจะเป็นการแนะแนวทางในการดำเนินชีวิตของนักศึกษาใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยได้ดี และเป็นการต้อนรับที่อบอุ่นด้วย" นายวันชนะ กล่าว

นายวันชนะ ยังเสนออีกว่า กิจกรรมการรับน้องใหม่ จะยังคงมีอยู่ แต่ควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมและสร้างสรรค์ขึ้นกว่ากิจกรรมที่ทำสืบต่อกันมา

น.ส.นงคราญ พรหมเสน นักศึกษาวิชาเอกปฐมวัย ชั้นปีที่ 1 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยรายภัฏเชียงราย ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การรับน้องใหม่นั้นดี แต่ไม่ถึงกับดีมาก บางครั้งรุ่นพี่ก็ชอบให้ทำอะไรที่ไม่ชอบ ไม่ชอบที่รุ่นพี่ว้าก บางครั้งเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ไม่อยากรับน้องเลย

ด้านน.ส. จิราภรณ์ มงคลดี เพื่อนร่วมชั้นของนงคราญ แสดงความเห็นเกี่ยวกับการรับน้องว่า การรับน้องเป็นประเพณีที่แปลกมากและไม่เคยได้เจอ แต่ครั้งนี้ได้มีโอกาสมาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ได้เจอกับการรับน้อง จึงเกิดความรู้สึกไม่ค่อยประทับใจ แต่หลังจากวันสุดท้ายของการรับน้องจบลง ทำให้ค้นพบว่าตัวเองเป็นใคร และมาทำอะไรที่นี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net