Skip to main content
sharethis


(เอกสารประกอบ จากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 31 ต.ค. 48 หน้า 2)

 


หมายเหตุ : คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2548 รับทราบแผนการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Mega Project) ในช่วงปี 2549-2552 เฉพาะสาขาทรัพยากรน้ำเท่ากับ 200,000 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 12 ของวงเงินลงทุนทั้งหมด และมีมติ 4 ตุลาคม 2548 ให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ซึ่งมีนายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ไปปรับปรุงแผนใหม่ในรายละเอียดให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงยิ่งขึ้น


 


ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 คณะกรรมการได้เห็นชอบรายละเอียด และจะนำเสนอ ครม.สัญจรที่ จ.นครสวรรค์ อนุมัติในวันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน "มติชน"  จึงเสนอรายละเอียดโครงการดังกล่าดังต่อไปนี้


 


ประเทศไทยได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากอุทกภัยปีละกว่า 70,000 ล้านบาท และเนื่องจากการขาดแคลนน้ำอีกปีละประมาณ 23,700 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาปัญหา รวมทั้งลดความสูญเสียอันเนื่องจากภัยทางน้ำ รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในภาพรวมเป็นไปอย่างมีระบบและยั่งยืนโดยการจัดการแบบบูรณาการแบบผสมผสานทุกกิจกรรมในระบบลุ่มน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบในอนาคต


 


แนวทางการดำเนินงานจัดการลุ่มน้ำแบบบูรณาการ ประกอบด้วย พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีการบริหารจัดการตามยุทธศาสตร์ต่างๆ ดังนี้


 


1.การจัดการต้นน้ำลำธาร


ยุทธศาสตร์การจัดการต้นน้ำลำธารเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารและป่าสงวนต่างๆ ให้คงสภาพความอุดมสมบูรณ์ ให้เกิดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ลดความรุนแรงของการเกิดภัยธรรมชาติ ทั้งอุทกภัยและดินถล่ม โดยการชะลอความเร็วของน้ำ ลดการชะล้างหน้าดินลงสู่พื้นที่ตอนล่าง นอกจากนั้น ยังสามารถช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น เกิดการเก็บกักน้ำเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน ทำให้การกระจายตัวของน้ำท่าในฤดูแล้งมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยมีมาตรการประกอบด้วย


 


-การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ป่าสงวน โดยใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ จำนวนกล้าไม้สำหรับการปลูกไร่ละไม่น้อยกว่า 200 ต้น


 


-การก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร ลักษณะเป็นฝายซึ่งสร้างในพื้นที่ต้นน้ำ ฝายกึ่งถาวรในพื้นที่เชิงเขา และเป็นฝายถาวรในพื้นที่ต่อเนื่องกับพื้นที่การเกษตร เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ต้นน้ำ


 


-การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ต้นน้ำ และในพื้นที่การเกษตรที่ลาดชัน เพื่อลดการสูญเสียหน้าดิน และรักษาความชื้นไว้ในพื้นดิน


 


การดำเนินการเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรในท้องถิ่น เช่น สถาบันการศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ฟื้นฟูป่าต้นน้ำต้องเร่งดำเนินการในลุ่มน้ำที่วิกฤตมีสภาพเสื่อมโทรม และถูกบุกรุกมาก เช่น ลุ่มน้ำปิง น่าน สาละวิน ป่าสัก ชี ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ในระยะ 4 ปี วางแผนการฟื้นฟู 1.154 ล้านไร่ ก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร 137,704 แห่ง และการปลูกหญ้าแฝก จำนวน 603 ล้านกล้า ในพื้นที่ฟื้นฟูป่าและพื้นที่ทำการเกษตรบริเวณต้นน้ำ สามารถอุ้มน้ำในพื้นที่ต้นน้ำได้ปีละ 462 ล้าน/ลบ.ม.


 


2.การจัดการพื้นที่กลางน้ำ


ประกอบด้วย 2 ยุทธศาสตร์ คือ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และการแก้ไขป้องกันน้ำท่วม


 


การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ


การพัฒนาแหล่งน้ำในระยะ 4 ปี(ปี 2549-2552) ให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอทั่วถึง โดยการพัฒนาระบบประปาให้ทั่วถึงและครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ การจัดหาน้ำให้พื้นที่ขาดแคลนเร่งด่วน และกิจกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งในการอุปโภคบริโภค ชุมชนขนาดใหญ่ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม ในด้านการเกษตร เน้นการพัฒนาในพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำซ้ำซาก โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดต่างๆ การปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อเป็นแหล่งน้ำของชุมชน และในพื้นที่ที่ไม่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน สนับสนุนการขุดสระน้ำในไร่นาของเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ให้มีแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรเป็นของตนเอง สำหรับโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ การผันน้ำทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ ให้มีการศึกษาเตรียมความพร้อมเพื่อการดำเนินการในอนาคตโดยมีการดำเนินการต่างๆ สรุปได้ดังนี้


 


-การปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง และแม่น้ำที่ตื้นเขินเพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุดในฤดูแล้ง และสามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพในฤดูน้ำหลาก โดยการขุดลอก และก่อสร้างอาคารควบคุมน้ำ เช่น ฝายยางหรือฝายคอนกรีตหรือประตูน้ำ ตามความเหมาะสม


 


-การก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ สระเก็บน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำที่มีปริมาณมากในฤดูน้ำหลากเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง


 


-การกระจายน้ำ ประกอบด้วย การก่อสร้างระบบเชื่อมโยงแหล่งน้ำที่มีปริมาณมากเกินความต้องการ ไปเก็บไว้ในแหล่งน้ำที่ยังมีศักยภาพในการเก็บกักได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งระบบการกระจายน้ำเพื่อส่งน้ำไปสู่พื้นที่ที่มีความต้องการใช้น้ำ


 


การแก้ไขป้องกันน้ำท่วม


สภาพการเกิดน้ำท่วมแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ต้นน้ำที่มีความลาดชันสูง และน้ำหลากล้นตลิ่งในระดับลุ่มน้ำสาขาและลุ่มน้ำหลักในที่ราบลุ่ม ซึ่งในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ใช้มาตรการป้องกันน้ำท่วมชุมชนและการบรรเทาความรุนแรงในพื้นที่การเกษตร และนอกจากโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนจะสามารถช่วยลดอุทกภัยได้ส่วนหนึ่ง ยังมีมาตรการอื่นที่ทำให้ความเสียหายลดลงได้ ดังนี้


 


-การป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง เน้นที่ชุมชนเมืองที่เสียงภัยจากน้ำหลากล้นตลิ่งประกอบด้วย การก่อสร้างคันป้องกันตลิ่ง การก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และการผันน้ำเลี่ยงเมือง


 


-การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ การทำแก้มลิง การปรับปรุงการระบายน้ำ ในกรณีที่ลุ่มน้ำข้างเคียงมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จึงมีความเป็นไปได้ในการผันน้ำเพื่อลดอุทกภัย เช่น การผันน้ำจากลุ่มน้ำยมไปลุ่มน้ำน่าน การผันน้ำจากบริเวณลุ่มน้ำวังตอนล่างไปลุ่มน้ำปิง การก่อสร้างแก้มลิงในพื้นที่ลุ่มน้ำที่เกิดน้ำท่วม


 


-การจัดทำระบบเตือนภัยพื้นที่ต้นน้ำและการพยากรณ์ระดับน้ำ โดยจัดหาเครื่องมือและวางระบบ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลันสามารถติดตามและเตือนภัยได้ด้วยตนเอง สำหรับในพื้นที่กลางน้ำและท้ายน้ำจะมีการติดตั้งระบบโทรมาตรและการพยากรณ์เพื่อการเตือนภัย


 


3.แผนการดำเนินงานและการจัดการ


แผนงานโครงการที่กำหนดให้ดำเนินการปี 2549 มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที โดยจะต้องจัดซื้อจัดจ้าง และเริ่มงานได้ภายใน 31 ธันวาคม 2548 ส่วนงบฯแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค(ปรับปรุง ซ่อมแซม และก่อสร้างระบบประปา) ตั้งแต่ปี 2550-2551 รวม 11,200 ล้านบาท และงบประมาณการจัดการน้ำเสีย รวม 26,416 ล้านบาท ให้ใช้จากงบฯในส่วนที่เป็นภารกิจที่ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


 


และเพื่อเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและเป็นการกระจายรายได้สู่ประชาชนในพื้นที่ การดำเนินงานปลูกป่า การก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร และปลูกหญ้าแฝก ได้กำหนดให้ชุมชนในท้องถิ่นหรือราษฎร เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการในลักษณะการรับจ้างเหมาโดยวิธีตกลงราคา รายละไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งจะต้องขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม


 


4.ผลประโยชน์และผลสัมฤทธิ์จากการลงทุน


การดำเนินงานโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐสาขาทรัพยากรน้ำ ในระหว่างปี 2549-2552 คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์และผลสัมฤทธิ์จากการลงทุนในด้านต่างๆ ดังนี้


 


-ด้านการจัดการต้นน้ำ สามารถฟื้นฟูและปลูกป่าต้นน้ำได้เพิ่มขึ้น รวม 1.154 ล้านไร่ รวมทั้งสามารถชะลอความเร็วของน้ำป่าไหลหลาก ลดการกัดเซาะพังทลายของดินและเก็บความชุ่มชื้นโดยสามารถอุ้มน้ำได้รวมประมาณ 462 ล้าน ลบ.ม./ปี


 


-การจัดการกลางน้ำ สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นรวมประมาณ 2,848 ล้าน ลบ.ม.เพื่อเป็นน้ำต้นทุน การก่อสร้างระบบประปาเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทานประมาณ 3.24 ล้านไร่ สำหรับการบรรเทาอุทกภัย สามารถลดความสูญเสียพื้นที่ชุมชนเมืองได้ 22 ชุมชน และมีระบบพยากรณ์เตือนภัยน้ำท่วม 1,924 แห่ง


 


-การจัดการท้ายน้ำและชายฝั่ง สามารถส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดการน้ำเสียโดยการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนระดับเทศบาลและ อบต.รวม 629 แห่ง และระบบบำบัดน้ำเสียรวม 111 ระบบ รวมทั้งสามารถฟื้นฟูและปลูกป่าชายเลนได้เพิ่มขึ้นประมาณ 37,500 ไร่


 


-การบริหารจัดการ สามารถจัดตั้งองค์กร และเครือข่ายเอกชนและประชาชน รวมทั้งการพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถและส่งเสริมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net