Skip to main content
sharethis

ที่รัฐสภา มีการจัดสัมมนาเรื่อง "ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ....." ขึ้น โดยมีวิทยากรและผู้สนใจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก


 


"กฎหมายฉบับนี้ออกมาเมื่อไหร่ ก็คือการรัฐประหารเลย แล้วจะเพิ่มพูนอำนาจทางการเมืองที่จะมาจากอำนาจทางการเงิน"นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศกล่าว


 


"วันนี้เป็นวันแรกที่ประกาศศึก ผมไม่เคยเข้าไปร่วมสัมมนาไหนที่ด่าว่ากฎหมายหนักถึงขนาดนี้ หลายคนก็บอกว่าโยนทิ้งมันทั้งฉบับเลย เพราะมันไม่มีจุดแก้แล้ว ยังไงก็ตาม ผมไม่คิดว่าในทางยุทธศาสตร์เราจะเป็นเสียงส่วนน้อย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องอธิบายให้ประชาชน" นายไกรศักดิ์กล่าว


 


นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ หนึ่งในอนุกรรมาธิการติดตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า หลังจากมติ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาจนถูกคัดค้านอย่างหนัก จนถึงขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ข้อมูลกับอนุกรรมาธิการฯ ว่าน่าจะแล้วเสร็จในอีก 5 เดือนข้างหน้านี้


 


ทั้งนี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งนครสุวรรณภูมิ ซึ่งมีลักษณะคล้ายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมฉบับปรับปรุงใหม่ออกมาอีก ทั้งที่ทางการนิคมฯ เป็นผู้ว่าจ้างให้มีการศึกษาร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษเอง เพื่อเตรียมจะยกเลิก พ.ร.บ.การนิคมฯ ที่บังคับใช้อยู่ เนื่องจากไม่เอื้อต่อพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการของภาครัฐอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความสับสนกับความซ้ำซ้อนดังกล่าว


 


นายสัก กอแสงเรือง ส.ว.กทม. สรุปรวมปัญหาของร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษว่า ร่างฯ ฉบับนี้อ้างว่าต้องการตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่ถ้าดูเนื้อหาสาระ ไม่มีส่วนไหนไปตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เลย เพราะประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ และนี่คือร่างกฎหมายที่กระทบรัฐธรรมนูญมากที่สุด ใช้ข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญมากที่สุดฉบับหนึ่งเท่าที่เคยพบมา


 


นายสัก กล่าวในรายละเอียดบางส่วนของกฎหมายว่า กฎหมายนี้ตัดอำนาจท้องถิ่นหมด กลายเป็นอำนาจของผู้ว่าการเขตในการอนุญาต อนุมัติ บังคับใช้กฎหมายทั้งหลาย นอกจากนี้ยังยกเว้นให้เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ต้องจ่ายภาษีหลายประเภท อีกทั้งใครจะเข้าไปอยู่อาศัยหรือประกอบการใด ต้องขออนุญาตกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งที่เอางบประมาณแผ่นดินไปสร้างสาธารณูปโภคที่ดีที่สุดเพื่อดึงดูดนักลงทุน แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิใช้ นอกจากนี้ยังไม่มีการถ่วงดุล ตรวจสอบการใช้อำนาจหรือการใช้งบประมาณใดๆ และหากเขตเศรษฐกิจพิเศษมีปัญหากับท้องถิ่น ผู้ว่าเขตเศรษฐกิจก็เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดด้วย


 


แนะปีหน้าเลือกส.ว.น้ำดี มีชัยไปกว่าครึ่ง 


นอกจากนี้นายสักยังให้ข้อมูลด้วยว่า ขณะนี้ร่างฉบับที่2 ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาทำการแก้ไขนั้น ไม่ได้ปรับในหลักการสำคัญแต่อย่างใด แต่ปรับเฉพาะถ้อยคำที่ดูขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้คงผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างสะดวก ส่วนในระดับวุฒิสภานั้น มีหลายตัวอย่างที่แม้ส.ว.จะสู้ได้ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ในระดับกรรมาธิการร่วม โดยรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรก็ยังยืนยันตามที่ตนเองต้องการ เช่น ร่างพ.ร.บ.สถาบันการเงิน


 


"ผมเชื่อกว่ากฎหมายนี้จะไม่เข้าวุฒิสภาในสมัยนี้ เพราะสมัยหน้าดูจะปลอดโปร่งกว่า เราจะทำยังไงไม่ให้สภาสูงไปสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลได้ตามสะดวก ประชาชนคงต้องแสดงความคิดเห็นผ่านการเลือกตั้งส.ว.ครั้งหน้านี้แล้ว" นายสักกล่าว


 


ผู้ว่าฯ ออกโรงค้านเขตเศรษฐกิจไม่กระจายอำนาจจริง


นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเดินทางมาเป็นร่วมการประชุม กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับหลักการกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นได้ปกครองตนเองและให้คนในท้องถิ่นได้พัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง รวมทั้งมีการตรวจสอบ และมีธรรมาภิบาลด้วย แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วจะเห็นได้ว่า แนวทางของเขตเศรษฐกิจพิเศษแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญที่เน้นเรื่องการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารซึ่งควรจะได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่นโดยตรงก็กลับมาจากการแต่งตั้ง ไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมจากประชาชน


 


นักวิชาการชำแหละแผน 3 ขั้น "สัมปทานประเทศ"


"เมื่อวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่า พ.ร.บ.นี้เป็นเรื่องเศรษฐกิจแต่เพียงในนาม ที่จริงกฎหมายนี้เป็นเรื่องการปกครอง โดยใช้อำนาจรัฐริเริ่มจัดการโครงการทุกุรูปแบบในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นการสร้างอำนาจใหม่ เพื่อการสัมปทานประเทศไทย"นายเจริญ คัมภีรภาพ นักกฎหมายระหว่างประเทศ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าว


 


นายเจริญนำเสนอด้วยว่า ขั้นตอนในการสัมปทานประเทศมี 3 ขั้นตอน คือ 1.การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งรัฐบาลสามารถอ้างเหตุภาระผูกพันตามข้อตกลง ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ 2. การสร้าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้อำนาจแก่กลุ่มผู้บริหารที่เป็นกลุ่มบุคคลที่สั่งได้ เพราะคณะกรรมการที่มีอำนาจตัดสินใจทุกอย่างมากจากการแต่งตั้ง 3.หากกฎหมายนี้ผ่านออกมาบังคับใช้ ประชาชนจะไม่สามารถฟ้องร้องกับศาลปกครองกรณีการใช้อำนาจของคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ เพราะถือว่าไม่ได้ขัดกับกฎหมาย


 


"เขตเศรษฐกิจพิเศษในต่างประเทศ มีหลักต้องไม่ยกเว้นกฎหมายอื่น แต่ของเรายกเว้นกฎหมายอื่นทั้งหมด แม้กระทั่งที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควายของชาวบ้านก็มาอยู่ในเขตได้โดยออกกฤษฎีกา ไม่ต้องเข้าสภาเพื่อเพิกถอนความเป็นที่สาธารณะเหมือนที่ทำโดยปกติ" นายเจริญกล่าว


 


เสนอแก้เนื้อหาช่วงประชาพิจารณ์-ม.ค."49


ตัวแทนคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ วุฒิสภา กล่าวว่า จากการสอบถามข้อมูลจากคณะกรรมการกฤษฎีกาทำให้ทราบว่าขณะนี้ร่างพ.ร.บ.นี้อยู่ในวาระที่2 คือ การแก้เนื้อหา ซึ่งแต่เดิมนั้นกำหนดไว้ว่าเมื่อเสร็จวาระที่ 2 จะนำออกมาทำประชาพิจารณ์ แต่ตอนนี้เปลี่ยนกำหนดการทำประชาพิจารณ์เป็นหลังวาระที่ 3 ซึ่งเป็นวาระสุดท้าย คาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือน ม.ค.หรือต้น ก.พ.ปีหน้า


 


"ผมคิดว่าพ.ร.บ.นี้ออกมาแน่ แต่เราจะแก้ได้แค่ไน อยู่ที่ช่วงประชาพิจารณ์ และแรงกดดันทางการเมืองในขณะนั้น" ตัวแทนคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจกล่าว


 


เขาเสนอด้วยว่า หากมีการเสนอแก้ไขเนื้อหากฎหมายได้แล้ว ในส่วนของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.อีกครั้งก็ควรเปลี่ยนประธาน เนื่องจากขณะนี้ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่พิจารณาปรับแก้ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานศึกษาและยกร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย


 


ตัวแทนคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจระบุต่อไปว่า ควรให้มีคณะกรรมการอุทธรณ์ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย เพื่อเป็นช่องทางให้กับประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม


 


นอกจากนี้ตนยังอยู่ระหว่างรอให้สำนักงานกฎหมายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งทำการศึกษาและยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ส่งสำเนากฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาศึกษาโดยละเอียด แต่เท่าที่พิจารณาดูในต่างประเทศนั้น ไม่มีประเทศใดที่ให้อำนาจกับคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษกว้างขวางเท่าประเทศไทย ยกเว้นประเทศจอร์แดน แต่ประเทศนี้ปกครองในระบอบกษัตริย์


 


ชาวบ้านเสนอคว่ำ ร่างพ.ร.บ.ฯ สถานเดียว


นายบัณฑูร กล่าวว่า จากการทำเวทีเรื่องนี้ในหลายจังหวัดพบว่า มีการเสนอทางออกที่น่าสนใจคือ ควรออกกฎหมายเฉพาะทีละพื้นที่ เพื่อให้รัฐสภาได้มีโอกาสพิจารณาอย่างรอบคอบในการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษทุกแห่ง ไม่ใช่ออกเป็นกฎหมายแม่บทฉบับเดียว แล้วประกาศเขตที่ไหนก็ได้โดยออกพ.ร.ก. ไม่ต้องผ่านสภา นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้ทำพ.ร.บ.ฉบับประชาชนคู่ขนานไปด้วย เช่น ชาวอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย อยากได้พ.ร.บ.เขตวัฒนธรรมประวัติศาสตร์พิเศษ


 


ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านหลายคนเสนอว่า ไม่เห็นด้วยที่ประชาชนต้องแบกภาระร่างกฎหมายแข่งกับรัฐบาล เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ใช่โจทก์ของชาวบ้านโดยตรง ไม่เหมือนกับพ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ชาวบ้านช่วยกันยกร่างกฎหมายได้เพราะเป็นปัญหาความเดือดร้อนที่พวกเขาเผชิญโดยตรง แต่เห็นควรที่จะสร้างเครือข่ายรวมพลังกันล้มกฎหมายฉบับนี้ไปเสียเลยมากกว่า


 


ชาวเกาะช้างสะท้อนบทเรียน "อพท."


ตัวแทนชาวบ้านจากเกาะช้าง จ.ตราด ได้นำเสนอบทเรียนจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษมากนัก มีการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมุ่งเน้นด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ซึ่งผลออกมาปรากฏว่า หลังจาก อพท.เข้าดูแลพื้นที่ในปี 2545 ได้ยึดเกาะง่ามและรื้อรีสอร์ตและสวนส้มโอของชาวบ้าน สร้างรีสอร์ตของตัวเองแทนที่ อีกทั้ง อพท. ยังติดต่อให้นักลงทุนที่เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเข้าร่วมโครงการต่างๆ ซึ่งมีกว่า 94 โครงการ โดยในจำนวนนี้มีการให้สัมปทานเกาะบริวารของเกาะช้าง 8 เกาะแก่เอกชน สร้างสนามกอล์ฟ 3 แห่ง


 


"แล้วชาวบ้านยากจนจะไปอยู่ที่ไหน" ตัวแทนจากเกาะช้างกล่าว


 


ขณะที่ชาวบ้านจากเกาะเสม็ด จ.ระยอง และเกาะลันตา จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่อันดับถัดไปที่ อพท.จะเข้าไปดูแลก็แสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกาะเสม็ดยังมีปัญหาอุทยานแห่งชาติประกาศทับที่ชาวบ้าน เป็นคดีฟ้องร้องกันมา 24 ปียังไม่จบสิ้น และเกาะลันตาชาวบ้านเหน็ดเหนื่อยจากการฟื้นฟูเกาะหลังประสบภัยสึนามิมามาก โดยแนวทาง อพท.ที่จะเข้ามาจะสวนทางกับสิ่งที่ชาวบ้านทำไว้อย่างสิ้นเชิง


 


ซ้ำเติมปัญหาแรงงานทาส


ขณะที่นายพนัส ทัศนียานนท์ ส.ว.ตาก แสดงความห่วงใยเรื่องแรงงานต่างด้าวโดยยกตัวอย่างที่ อ.แม่สอด จ.ตากว่า มีโรงงานในพื้นที่จำนวนมาก แต่เจ้าของเป็นไต้หวัน และใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก จนขณะนี้มีมากกว่าคนในพื้นที่แล้ว ทำให้คนในพื้นที่ทยอยอพยพออกไปที่อื่นกัน ส่วนคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวก็แย่มาก ไม่มีการดูแล แทบไม่ต่างจากแรงงานทาส


 


"นี่คือสภาพที่ผ่านมา 40 ปี ที่เราเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก ภายใต้วิธีคิดที่ไม่ต่างกัน ร่างพ.ร.บ.นี้จะทำให้ปัญหาเก่ารุนแรงขึ้น เพราะในการตัดสินใจต้องเอาเศรษฐกิจก่อน เรื่องอื่นเอาไว้แก้ปัญหาทีหลัง และโครงสร้างที่เชื่อว่าอำนาจบนสุดลงมาจะแก้ปัญหา จะยิ่งทำให้เกิดการแอบอ้างใช้อำนาจไปในทางที่ผิดอีกเยอะ" นายพนัสกล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net