Skip to main content
sharethis

 



 


วันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2005 09:48น. 


เต็งกูอารีฟิน บินเต็งกูจิ : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


จากบทความ  "รำลึก 40 ปี วันเสียงปืนแตก"  ของ  วิชาญ ฤทธิธรรม  จึงได้รู้ว่าสถานการณ์ในภาคใต้ปัจจุบันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะรัฐยังไม่รู้คำตอบในหลายๆ ประเด็นของเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


โดยประเด็นที่รัฐยังไม่รู้คำตอบ ก็คือ


 


1.ไม่รู้ว่าใครคือผู้นำที่แท้จริงของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนปัตตานี (นอกเหนือจาก ดร.ฟาเดร์ เจ๊ะมาน และ สะแปอิง บาซอ)


 


2.รัฐไม่รู้ยุทธศาสตร์ในอนาคตของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน


 


3.ไม่อาจใช้สื่อของรัฐเองทำความเข้าใจกับสื่อในโลกมุสลิมได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะโดยบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ


 


4.ไม่อาจจะอธิบายให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าใจปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในเหตุการณ์ต่างๆ ได้ โดยเฉพาะกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร


 


5.ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ว่า เขาจะได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากน้อยเพียงใด โดยสะท้อนภาพจากกรณี 131 คนไทยที่อพยพข้ามฝั่งไปยังมาเลเซีย


 


หากเราย้อนไปพิจารณาบทความ "รำลึก 40 ปี วันเสียงปืนแตก" จะพบบางสิ่งบางอย่างที่รัฐทำในอดีต ไม่ได้แตกต่างจากวันนี้มากนัก


 


"เมื่อฝ่ายรัฐได้รื้อฟื้นกฎหมายคอมมิวนิสต์เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง ส่งผลให้ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย)  เป็นพรรคผิดกฎหมาย และเน้นการใช้กองกำลังกดดัน พคท. อย่างหนัก  การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมเปรียบเสมือนเครื่องเคียงของเผด็จการจึงเป็นตัวเร่งให้เกิดแรงต้านจากปัญญาชนหัวก้าวร้าว ประชาชนหัวก้าวหน้า และประชาชนผู้รักอิสรภาพและความเป็นธรรม "


 


"ธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการ พคท. กล่าวว่า เพราะรัฐบาลรู้ว่า พคท.ได้รับการหนุนช่วยจากต่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลไทยก็ร่วมมือกับสหรัฐเพื่อกำจัด พคท. รวมทั้งรัฐบาลถูกกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ จึงทำให้ชนชั้นปกครองเที่ยวจับคนที่เป็นภัยต่อระบบการปกครองและอำนาจของตน"


 


"ประชาชนหัวก้าวร้าวถูกปราบปรามอยู่ตลอด ทั้งจับ ฆ่าและถูกใส่ร้ายป้ายสี  เราถูกต้อนให้จนมุมทั้งที่เราต่อสู้กันด้วยสันติมาโดยตลอด แสดงว่าความเป็นธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้จากอำนาจรัฐ  เผด็จการ พคท.ก็เข้าใจว่าสถานการณ์เช่นนี้เราถูกกระทำอย่างหนัก"


 


(วิชาญ ฤทธิธรรม คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม. ราชภัฏสกลนคร บันทึกไว้ใน "รำลึก 40 ปี วันเสียงปืนแตก" หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม 2548 )


 


เห็นได้ชัดว่าในปัจจุบัน รัฐก็ได้นำพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  มาใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน ไม่แตกต่างกับปัญหาคอมมิวนิสต์ในอดีต ขณะที่คำพูดของผู้นำก็ดูถูกดูหมิ่นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น "โจรกระจอก" หรือ "พวกไม่มีศาสนา"


 


จากพฤติกรรมของผู้นำรัฐบาล ได้ถูกนำไปสร้างเป็นเงื่อนไขสะสมที่มีปัญหาต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือ


 


1.ปัญหาเจ้าหน้าที่ "สร้างภาพ"  หรือ "สร้างผลงาน" ให้รัฐมนตรีบางคนที่ไม่ค่อยมีผลงาน ด้วยการกดดันข่มขู่แกมบังคับให้ประชาชนเข้ารายงานตัว เพื่อเข้าอบรมในโครงการวิวัฒน์พลเมือง ซึ่งปรากฏอย่างต่อเนื่องใน จ.นราธิวาสและยะลา โดยหากใครไม่ร่วมมือก็ใช้อำนาจตาม  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จับตัวไปควบคุมและส่งเข้าอบรม ไม่เว้นแม้แต่ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. หรือผู้เจ็บป่วย


 


2. การไม่ยอมรับวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิม โดยเฉพาะการไม่ยอมรับการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามที่ผู้หญิงต้องคลุมผ้าฮิญาบ ซึ่งเกิดขึ้นจริงในบางหน่วยงานและบางพื้นที่


 


3.ปัญหาการลี้ภัยของชาวบ้าน 130 คน (เดิม 131 คน) ไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่า ชาวบ้านเหล่านั้นจะมี "ความมั่นใจในความปลอดภัย" มากยิ่งขึ้น จึงยังไม่ปรากฏว่า พวกเขาต้องการจะเดินทางกลับประเทศไทยตามที่กระทรวงการต่างประเทศกล่าวอ้าง


 


4. ปัญหาการตายหมู่ของชาวบ้านหมู่บ้านกะทอง ต.บองอ  อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่ยังเป็นปริศนาคลางแคลงใจต่อชาวบ้าน ชาวมลายูมุสลิม และโลกมุสลิม เมื่อมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย และให้ข่าวกับสื่อมาเลเซียว่า เหตุการณ์ฆ่าหมู่ที่บ้านกะทองมิได้เกิดจากฝีมือของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนตามที่เจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาแต่ประการใด


 


5. ปัญหาการตายของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ทหารที่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ ซึ่งทางตำรวจได้ออกหมายจับชาวบ้าน 40 กว่าคน และจับกุมตัวชาวบ้านดังกล่าวไป 12 คน แต่ในขณะเดียวกันทางราชการก็ยังให้คำตอบไม่ได้ว่า ใครคือคนร้ายที่กราดยิงชาวบ้านเสียชีวิตและบาดเจ็บในร้านน้ำชาในหมู่บ้าน


 


สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่า "การตายของเจ้าหน้าที่ทหารหาคำตอบง่ายกว่าการตายของชาวมลายูมุสลิม"


 


6.ปัญหาการสลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้ประชาชนเสียชีวิตมากถึง 85 ศพ ปรากฏว่าเป็นการสลายการชุมนุมในภาคใต้ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด เพราะถ้าจะเปรียบเทียบกับการประท้วงที่ปัตตานีเมื่อปี พ.ศ. 2518 ซึ่งใช้เวลาถึง 45 วัน ก็มีผู้เสียชีวิตเพียง 14-15 คนเท่านั้น


 


กรณีที่ตากใบยังคงเป็นภาพที่ตรึงใจชาวมลายูมุสลิมไปอีกนาน ในขณะที่ทีวีของประเทศเพื่อนบ้านได้ใช้ภาพการทารุณกรรมต่อผู้ชุมนุมประท้วงดังกล่าว เป็นไตเติ้ลข่าวประจำวัน และรัฐก็ยังไม่ยอมประนีประนอมกับชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส จำนวน 57 คน ด้วยการถอนฟ้องตามที่เคยรับปากไว้


 


7.ปัญหาการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบในมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี ได้เสริมสร้างตำนานแห่งมัสยิดแห่งนี้ให้โดดเด่นขึ้นไปอีก และสร้างความรู้สึกชิงชังต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ยากจะลบเลือนไปจากหัวใจชาวมลายูมุสลิม


 


ในด้านนามธรรม ประชาชนยังคงมีความหวาดระแวงเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ขณะที่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่อย่างแท้จริง


 


ส่วนในด้านรูปธรรม สภาพของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถืออาวุธตรวจค้นชาวบ้านทั้งในเคหสถานและสถานที่สาธารณะ รถยานเกราะที่วิ่งเพ่นพ่านไปตามถนนในหมู่บ้านและทางหลวง ได้สร้างความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับเจ้าหน้าที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


ดังนั้นตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แม้สถานการณ์จะสร้างวีรบุรุษจนข้าราชการหลายท่านได้ดิบได้ดีไปแล้ว แต่หากจะมองโดยรวม ปัญหาภาคใต้ยังไม่ได้มีการแก้ไขอย่างตรงเป้า และยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง


 


สิ่งที่ดูเหมือนเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นภาพลวงตามที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่พยายามสร้างขึ้นมาในช่วงที่ภาพพจน์ของรัฐบาลกำลังตกต่ำเท่านั้น ส่วนปัญหาที่แท้จริงยังมีอยู่และพร้อมที่จะเริ่มต้นขึ้นอีกได้ เมื่อถึงสภาวะเหมาะสม


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net