Skip to main content
sharethis

 "ไม่ว่าใครมาทำ  ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นกับพวกเรา  ฉะนั้นแล้วการต่อสู้จึงต้องดำเนินต่อไป"  เป็นคำกล่าวอย่างหนักแน่นของชาวบ้านในจ.อุดรธานี  ในพื้นที่ที่จะมีโครงการทำเหมืองแร่โปแตซจากกลุ่มทุนต่างชาติ  ทันทีเมื่อทราบข่าวว่ากำลังมีการผลัดเปลี่ยนตัวละคร  กลุ่มผลประโยชน์จากบริษัทเอเชีย  แปซิกฟิก  โปแตช  คอร์ปอเรชั่น  จำกัด (เอพีพีซี)  กลายร่างไปเป็นบริษัทอิตาเลี่ยนไทย  ดีเวลลอปเมนต์  จำกัด  (มหาชน)  ที่จะเข้ามาสวาปามเอาทรัพยากรธรรมชาติของคนอุดรฯ  โดยซื้อหุ้นเอพีพีซีทั้งหมด 90% (อีก 10%เป็นหุ้นลมของรัฐบาล) คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท 


 


หากใครนึกไม่ออกว่าเป็นใครมาจากไหนก็ลองย้อนรำลึกไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิ  ที่มีข่าวเรื่องการคอร์รัปชั่นกันอย่างเกรียวกราวในช่วงที่ผ่านมา  หรือแม้กระทั่งเหมืองถ่านหินแม่เมาะจังหวัดลำปาง ที่ทุกวันนี้ก็ยังย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ได้ไม่หมดเสียที     บริษัทฯ นี้ก็ได้รับสัมปทานในการดำเนินการด้วยเช่นกัน  (แสดงว่ามีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลมิใช่เล่น)  โดยเข้ามาพร้อมกับการเดินหน้าล็อบบี้กับข้าราชการ  นักการเมืองท้องถิ่น  ตลอดจนพ่อค้า  นักธุรกิจภายในจังหวัด   ป่าวประกาศต่อสาธารณชน  อ้างตนว่าเป็นทุนสัญชาติไทย  แต่แล้วกลับพบว่าดันไปจัดตั้งบริษัทจดทะเบียนเป็น นอมินี ภายใต้ชื่อ "SMRT" ในต่างประเทศ 


 


ขณะที่ทุนต่างชาติแปลงร่าง  เปลี่ยนสัญชาติในการเข้ามาช่วงชิงทรัพยากรของคนท้องถิ่น   ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีก็ไม่หยุดนิ่งตั้งรับความเปลี่ยนแปลง    ยังคงเดินหน้าเพื่อต่อสู้กับทุนอยู่ต่อไป  ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้  ชาวบ้านในกลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ  ในพื้นที่  4 ตำบล ได้แก่ ต.ห้วยสามพาด และ ต.นาม่วง กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม   ต.หนองไผ่ และ  ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานีได้ร่วมมือกันพลิกผืนดินจำนวน 25 ไร่  ณ บ้านวังขอนกว้าง ต.ห้วยสามพาด  กิ่งอ.ประจักษ์ เป็น "นารวม"   ร่วมมือกันทำนา  และมีมติร่วมกันว่าผลผลิตที่ได้จากการทำนา  จะนำเข้ากลุ่มเพื่อเป็นกองทุนในการต่อสู้กับแผนประชาสัมพันธ์ของบริษัทใหม่ที่ทุ่มเทลงมาสร้างภาพ  ที่มีงบประมาณนับสิบล้านบาทต่อปี 


 


พอเริ่มเข้าหน้าฝนชาวบ้านทั้ง  4 ตำบล  22 หมู่บ้านต่างตระเตรียมพื้นที่นาของตนเอง  เช่น  ขนขี้วัว  ขี้ควายไปใส่ , ปั้นคันนาเพื่อกักเก็บน้ำ , ตรวจตราความพร้อมของไถ  คราด  เป็นต้น  ท้องทุ่งเริ่มครึกครื้นมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง  เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการผลิตกระสุนดินดำ  เพื่อเก็บไว้ใช้ต่อสู้กับนายทุนในปีถัดไปได้เริ่มขึ้นแล้ว  และปีนี้ก็ยังเหมือนเดิมกับการเพาะปลูก ทำการผลิตตามฤดูกาลจากท้องไร่ท้องนาอันอุดมสมบูรณ์สู่ยุ้งฉางที่รอการบรรจุ  เพื่อเก็บไว้สำหรับการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง  เหลือก็ขายไปบ้างได้เงินมาซื้อของใช้ภายในครอบครัว  และส่งเสียลูกเต้าเล่าเรียน  แต่จุดมุ่งหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ขาดเสียไม่ได้ก็คือเก็บไว้รอ "บุญกุ้มข้าวใหญ่" เพื่อจะนำข้าวมารวมกันแล้วนำไปขายเอาเงินมาต่อสู้กับบริษัท


 


ปีนี้ถือเป็นปีพิเศษกว่าทุกปี คือชาวบ้านในพื้นที่ได้มีปณิธานแน่วแน่ร่วมกันอยู่  2  ประเด็น  คือ  1. จะร่วมกันทำนารวมเพื่อเป็นทุนกลาง  นอกเหนือจากการสมทบข้าวเปลือกจากชาวบ้านแล้วให้มีจำนวนทวีคูณเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ทราบข่าวมาว่าบริษัทใหม่มีเงินเยอะมาก  ฉะนั้นจึงต้องมีกองทุนให้มากเพิ่มขึ้นด้วยเพื่อจะเอามาต่อสู้ได้อย่างเต็มกำลัง  2.  จะพลิกฟื้นแผ่นดินด้วยเกษตรอินทรีย์  ไร้ปุ๋ยเคมี  ไม่มีเหมืองแร่  ซึ่งเป็นการปักธงแสดงออกถึงความพร้อมสู้ระยะยาวทั้งภายนอกและภายในพื้นที่


 


นารวมยังถือว่าเป็นการต่อสู้กับ "ระบอบทุนนิยม" อีกอย่างหนึ่ง  ที่ทำให้ผู้คนมีความเชื่อมั่น  หลงใหลในการจับจ่ายใช้สอยจากเงินที่ตนเองหามาได้หรือที่ใครต่อใครเรียกว่า "ลัทธิบูชาเงิน"หรือ "บริโภคนิยม" ครอบงำให้คนเรามีความเป็นปัจเจก  ไม่ให้เกิดการรวมกลุ่ม  ไม่ต้องสนใจเรื่องของชุมชน  เรื่องของสังคม  เรื่องของคนอื่น  คิดเพียงว่าจะบำรุงบำเรอตนเอง  ครอบครัวอย่างไรดี  ให้เท่าทันกระแสโลกาภิวัตน์  และเชื่อในความล้ำสมัยของเทคโนโลยีที่ไม่มีหัวจิตหัวใจ   เหมืองแร่โปแตชก็คือสัญลักษณ์ของระบอบทุนนิยมอย่างหนึ่ง 


 


หากเปรียบกับการทำนาคือก็รีบทำให้เสร็จ  ว่าจ้างเครื่องจักร  แรงงาน  อัดปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงลงไปเพื่อให้ได้ผลผลิตมากๆ จะได้ขายได้ราคาดี  เอาเงินมาใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภคต่อไป  ไม่สนใจว่าจะต้องไปรวมข้าวรวมกลุ่มกันทำไม  ตลอดจนฮีต  คลอง  ประเพณี  ที่มีการยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา


 


แต่ละคนที่มาร่วมทำนารวม  ต่างก็มีที่ไร่ที่นาของตนเองที่ใช้ทำมาหากินกันเป็นประจำอยู่แล้ว นารวมก็คือพื้นที่กลางการรวมกลุ่มร่วมกันเพาะปลูก  ร่วมกันเก็บเกี่ยว  ร่วมกันดูแลรักษา ขอแรงช่วยกันทำโดยไม่ได้มีการว่าจ้าง  หากแต่เกิดจากความตั้งใจจริงของแต่ละคนโดยนำเครื่องไม้เครื่องมือมาร่วมกันทำ ห่อข้าวห่อปลามากินร่วมกัน  ข้าวทุกเมล็ดที่เกิดจากหยาดเหงื่อที่ได้ก็เป็นของทุกคนที่ได้ร่วมกันมีส่วนร่วม  มีหลักปฏิบัติตามธรรมเนียม  ประเพณีของชุมชน  เช่น  พิธีการเลี้ยงผีปู่ ตา , การปักกกแฮก , การลงแขกเกี่ยวข้าว , พิธีการปลงข้าว  เป็นต้น  จึงเรียกได้ว่า "ข้าวมีชีวิต  ชีวิตพึ่งพาข้าว"  และแน่นอนพื้นที่นาต้องปราศจากปุ๋ยเคมีหรือสารพิษทั้งมวล    


 


การพลิกฟื้นผืนแผ่นดิน  ก็คือการนำเอาภูมิปัญญา  หรือวิถีการผลิต  การเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินดั้งเดิมที่ปู่ ย่า ตา ยาย  ได้สั่งสมองค์ความรู้แล้วถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง  แต่พอมาถึงยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงกลับถูกเลือนหายไปตามกระแสทุน  ทำให้ปุ๋ยเคมี  ยาฆ่าแมลง  เครื่องจักรกล  รวมทั้งการว่าจ้างแรงงานเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน  นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายจำนวนมาก  ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจับจ่ายทั้งใน และนอกระบบ  พื้นที่นาที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับถูกทำลายไปอย่างเฉียบพลันจากปุ๋ยหรือสารเคมีเหล่านั้น   เพียงไม่กี่ปีหลังการใช้  ซึ่งก็ไม่ต่างกันกับยาเสพติดที่เสพจนเลิกไม่ได้  และมันน่าแปลกมากเมื่อพบว่าหน่วยงานของรัฐที่คอยพร่ำบอกถึงโทษ  พิษภัยของยาเสพติดจำพวกนี้ที่เกษตรกรใช้  แต่กลับกลายเป็นว่าหน่วยงานของรัฐ  ข้าราชการ  นักการเมืองทั้งหลายแหล่  ได้เป็นผู้นำมาจำหน่ายให้เกษตรกรใช้กันอย่างเมามันพร้อมกับโปรโมชั่นสนับสนุนโดย  หากใครไม่มีเงินก็ยินดีให้กู้ก่อนแล้วค่อยผ่อนจ่ายทีหลัง  ทำให้เกิด "วัฏจักรหนี้" อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นตามมา  


 


ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนได้ทำให้ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นระบบนายจ้างกับลูกจ้าง  ซึ่งเดิมนั้นจะเป็นเครือญาติทำร่วมกัน  หรือการขอแรงกันและกันภายในชุมชน  แต่ทุกวันนี้แม้แต่คนในครอบครัวเดียวกันก็ยังต้องมีการจ่ายค่าแรงด้วยซ้ำไปในบางครั้ง


 


เกษตรอินทรีย์ มักเรียกกันให้สวยหรู  แต่มีรากฐานมาจากการเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินแบบดั้งเดิม  โดยอาศัยทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว เช่น ขี้วัว  ขี้ควาย  ใบไม้ เศษหญ้า มาทำเป็นปุ๋ย  การขอแรงผลัดเปลี่ยนช่วยกันทำ  แบ่งปันผลผลิตที่ได้  เป็นต้น  ซึ่งจะนำมาสู่ความพอเพียงสอดคล้องกับแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ปราศจากหนี้สิน มีกินมีใช้อย่างไม่ต้องคิดกังวล  ทั้งนี้คนรุ่นก่อนได้ถือปฏิบัติ  เป็นแนวทาง  สั่งสมเป็นองค์ความรู้มาแล้ว  เพียงแต่คนรุ่นหลังจะหยิบใช้มันได้อย่างไร 


 


การต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช  มิใช่เพียงการต่อสู้กับนายทุนหน้าเลือด  โดยใช้วิธีการชุมนุมเรียกร้อง  การยื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  หรือวิธีการอื่นใดก็ตาม หากแต่มันต้องต่อสู้กับกระแสการไหลบ่าอันเชี่ยวกราดของการพัฒนา ต่อสู้กับความเชื่อ  ความคิดภายในตัวของตนเองด้วย


 


"นารวม"  ที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ ช่วยกันผลักดันขึ้นมาจึงถือเป็นต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ไม่ต่างจากการปักธงเขียวในการต่อสู้รัฐธรรมนูญ    เป็นการดึงเอาความคิด  ความเชื่อที่เดิมมีอยู่แล้วแต่ถูกทำลายลงไป  ไม่ว่าจะด้วยระบบการศึกษา  แนวนโยบายของรัฐ  หรือแม้แต่การมอมเมาของสื่อต่างๆ เองด้วย ให้ฟื้นกลับคืนมาอย่างมีความเชื่อมั่น  เมื่อถึงวันนั้นก็เชื่อได้อย่างสนิทใจว่าเหมืองโปแตชที่จะขุดเอาทรัพยากรใต้ผืนดินอุดร หรือภาคพื้นใต้ดินอีสานเพื่อนำไปผลิตปุ๋ยเคมี  ก็จะไม่มีความจำเป็นกับชุมชน และเกษตรกรทั้งมวลที่ดำเนินวิถีการเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินแบบดั้งเดิม.


 


 


เดชา คำเป้าเมือง


สำนักข่าวประชาธรรม


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net