Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (1 พ.ย.2549)  สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แจกคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่จะแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันที่ 3 พ.ย. โดยนโยบายของคณะรัฐมนตรีแบ่งออกเป็น 5 ด้าน คือ 1.นโยบายการปฏิรูปการเมือง การปกครอง และการบริหาร 2.นโยบายเศรษฐกิจ 3.นโยบายสังคม 4.นโยบายการต่างประเทศ และ 5.นโยบายการรักษาความมั่นคงของรัฐ

 

นโยบายการปฏิรูปการเมือง การปกครองและการบริหาร มุ่งสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวร โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญทุกระดับเสริมสร้างมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบทั้งในภาคการเมืองและภาคราชการ ส่งเสริมองค์กรอิสระและประชาชนในการตรวจสอบทุจริตป้องกันการกระทำที่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน

 

โดยการจัดทำ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม จัดทำแผนแม่บทพัฒนาการเมือง เสริมสร้างระบบคุณธรรม จริยธรรมทางการเมือง โดยจัดตั้งสภาพัฒนาการเมือง เป็นองค์กรหลักในการจัดทำและดำเนินการแผนแม่บทพัฒนาการเมือง จัดทำแผนแม่บทใช้ทรัพยากรสื่อสารของชาติ และการใช้เครื่องมือสื่อสารของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่งเสริมเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อสารมวลชน ส่งเสริมบทบาทองค์กรเอกชนและภาคประชาชน ให้มีบทบาทคู่กับองค์กรภาคราชการมุ่งเน้นการบริหารทรัพยากรบุคคล และการจัดตั้งองค์กรภาครัฐให้สอดคล้องกับทิศทางการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และสนับสนุนการกระจายอำนาจอย่างต่อเนื่องตามครรลองประชาธิปไตย

 

นโยบายเศรษฐกิจ รัฐบาลจะยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้หลักคุณธรรมกำกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบตลาดเสรี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานราก ระบบตลาด โดยส่งเสริมให้เกิดความแข็งแกร่งด้านเกษตรกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาการเกษตร ตามแนวทฤษฎีใหม่ เป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรรายย่อย ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพผลผลิตโดยอาศัยเทคโนโลยี ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ พัฒนาคุณภาพการตลาดในระดับภูมิภาค ระดับชาติและระดับการส่งออก เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคแรงงาน ภาคเอกชน และภาครัฐให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาคุณภาพและฝีมือแรงงานในระดับต่าง ๆ เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคเศรษฐกิจฐานราก ดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลผู้ไม่พร้อมและผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ โดยจัดสวัสดิการสงเคราะห์และบริหารทางสังคมที่จำเป็นอย่างทั่วถึง

 

สำหรับการพัฒนาระบบตลาด รัฐบาลจะให้กลไกตลาดดำเนินไปอย่างเต็มที่ภายใต้หลักคุณธรรมและการสร้างความเป็นธรรมในภาคเศรษฐกิจ ขจัดการดำเนินการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม จะส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยอาศัยพันธมิตรระหว่างเอกชนและรัฐ ด้านการส่งออกจะส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าและบริหารโดยมีภาคเอกชนเป็นกลไกขับเคลื่อน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพให้มีมาตรฐานความปลอดภัย ส่งเสริมประสิทธิภาพและการประหยัดการใช้พลังงานสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ สร้างความสมดุลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สานต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี ปรับปรุงกฎระเบียบการค้าให้มีความทันสมัย สร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจโดยมุ่งสนับสนุนการออม การส่งเสริมจิตสำนึกในการประหยัดเพื่อลดหนี้ ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และวางรากฐานการทำงานอย่างเป็นระบบ

 

นโยบายด้านสังคม มุ่งส่งเสริมความรัก ความสามัคคี ความสมานฉันท์ของคนในชาติ เพื่อร่วมมือกับกอบกู้และฟื้นฟูประเทศ โดยสรุปบทเรียนจากปัญหาความแตกแยกร้าวฉาน และความล้มเหลวในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในอดีต จัดทำแผนปฏิรูปสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุขและสมานฉันท์บนพื้นฐานคุณธรรมร่วมกับภาคประชาชน ธุรกิจ ประชาสังคม ภาควิชาการสื่อสารมวลชนและสถานศาสนา เร่งรัดการปฏิรูปการศึกษาโดยยึดคุณธรรมนำความรู้ พัฒนาสุขภาวะของประชาสังคมให้ครอบคลุมทั้งมิติทางการ จิต สังคม และปัญญา ส่งเสริมการกีฬาพื้นฐานและกีฬามวลชน สร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีสันติสุข ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพของหน่วยงานและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

 

นโยบายด้านการต่างประเทศ มุ่งส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ เสริมสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นของประชาคมระหว่างประเทศ ดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับนานาประเทศ สานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศบนพื้นฐานของคุณธรรม ความโปร่งใส ดำเนินบทบาทเชิงรุกในกรอบบทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อสนับสนุนความปรองดองและความมั่นคงในชาติ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในภาคใต้ ส่งเสริมให้เกิดมิตรภาพและความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างภูมิภาค ส่งเสริมความแข็งแกร่งของอาเซียน ดำเนินบทบาทสร้างสรรค์ในกรอบสหประชาชาติและกรอบพหุภาคีอื่น โดยคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ

 

นโยบายการรักษาความมั่นคงของรัฐ ส่งเสริมการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐภาคเอกชนภาคสังคมและภาควิชาการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนของสภาพแวดล้อม ด้านความมั่นคง รักษาผลประโยชน์ของชาติ สามารถยุติความขัดแย้งได้รวดเร็ว มีระบบการข่าวที่มีประสิทธิภาพ มีขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการทหาร รวมทั้งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อการพึ่งตนเองทางทหาร และนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถเพื่อความต่อเนื่องในการรบ มีระบบกำลังสำรอง การระดมสรรพกำลัง และการส่งกำลังบำรุงที่เหมาะสมกับสถานการณ์ภัยคุกคาม สนับสนุนภารกิจเพื่อสันติภาพและปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรมภายใต้กรอบของสหประชาชาติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net