Skip to main content
sharethis

นายไพศาล พรหมยงค์ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ 'ประชาไท' เกี่ยวกับทิศทางการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การบริหารองค์กรศาสาอิสลาม พ.ศ. 2540 (หรือที่เรียกทั่วไปว่า พ.ร.บ.อิสลาม) ว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2550 สำนักจุฬาราชมนตรี ได้เชิญประธานและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 36 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือเรื่องนี้ ที่สำนักจุฬาราชมนตรี กรุงเทพมหานคร ส่วนในวันที่ 30 ม.ค.มีการประชุมของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งได้ข้อสรุปที่สอดรับกันว่า ให้นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี เชิญกรรมการกลางอิสลามกลางประจำจังหวัด ประธานจังหวัด นักวิชาการด้านศาสนาอิสลาม และนักกฎหมายมุสลิม มาหารือและตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. อิสลาม อีกครั้งหนึ่งในเร็ววันนี้ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลางเดือน ก.พ.


 


อย่างไรก็ตาม นายไพศาล มองว่า พ.ร.บ.อิสลาม พ.ศ. 2540 นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ จึงมาตั้งประเด็นกันที่ พ.ร.บ.นี้ไม่ดีหรือมีปัญหาที่ตัวบุคคล เพราะถ้าเป็นที่ตัวบุคคลก็แก้ที่ตัวบุคคล ส่วน พ.ร.บ.ไม่ดีตรงไหนต้องไปหารือกันในแต่ละจังหวัดและให้ส่งมาแก้ไข แต่จะไม่ใช่การร่างใหม่ หลังจากปรับแก้ก็คงมีการประชาพิจารณ์อีกครั้ง สำหรับกรรมาธิการยกร่างนั้นคาดว่าน่าจะตั้งได้ภายในช่วงปลายเดือน ก.พ.


 


นายไพศาล กล่าวอีกว่า การเสนอแก้ไข พ.ร.บ.อิสลามครั้งนี้มีลักษณะเห่อตามกระแสหลังจากมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อีกประเด็นคือการเห่อตามตรงนี้มาจากกลุ่มผู้สูญเสียโอกาสเลยพยายามทำร่างใหม่มาปรับโอกาส ทำให้กลุ่มเก่าๆหรือกลุ่มอื่นๆฮือฮาตาม ถึงเวลาจะกลายเป็นสิบร่าง ตอนนี้ปรากฏมาแล้ว 3-4 ร่าง เพราะใครก็ทำได้


 


" 3-4 ร่าง ร่างแรกมาจากที่คุณนิเดร์ วาบา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อยู่ทาง 3 จังหวัดภาคใต้เป็นกลุ่มที่ไม่มีอำนาจ เป็นกลุ่มเดียวกับพวกโต๊ะครู ครูสอนศาสนา อิหม่าม กลุ่มที่ 2 คือร่างจากกรรมการจังหวัดใน 3 จังหวัด กลุ่มนี้เป็นคนละกลุ่มกับคุณนิเดร์ คือเคยชนะคุณนิเดร์มาในการเลือกตั้ง และจะมีของกลุ่มจังหวัดนราธิวาส ในกลุ่มของหมอแว(แวมะหะดี แวดาโอ๊ะ)ก็ทำท่าจะร่างเหมือนกันเห็นว่ากำลังหาข้อมูลอยู่ ทางมหาดไทยก็มีทีท่าว่าจะทำเองด้วยโดยการเชิญนักวิชาการ ล่าสุดคือทางกลุ่มของจุฬาราชมนตรี จะเชิญระดับผู้นำศาสนาอิสลามแต่ละจังหวัด และนักวิชาการทั่วทั้งประเทศมาร่าง"


 


นายไพศาลกล่าวต่อไปว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องมาตั้งคำถามว่าเรื่องดังกล่าวจะเข้าไปสู่การพิจารณาหรือไม่ เพราะความรู้สึกของคนทั่วไปคิดว่า พ.รบ.อิสลาม พ.ศ.2540 ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีการปรับแก้บ้างในบางส่วนจากที่เห็นปัญหาเมื่อเวลาผ่านมา ซึ่งเป็นปัญหาที่ตัวบุคคลได้ดีก็ดี ไม่ดีก็โทษใครไม่ได้


 


"วันนี้มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างท่านจุฬาฯกับกลุ่มของคุณพิเชษฐ สถิรชวาล (เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย) โทษระบบไม่ได้เป็นเรื่องตัวบุคคล จะไปโทษใครในเมื่อคนที่เลือกก็เป็นตัวแทนของประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่เลือกมา เป็นเรื่องปกติที่กระแสการเมืองมันไป กระแสองค์กรก็ตามไปเพราะการเมืองมันแทรกไปทุกที่"


 


นายไพศาล เพิ่มเติมด้วยว่า แม้จะมีร่างๆต่างๆออกมามากมายเป็นกระแสในช่วงนี้ แต่ไม่คิดว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่มันมาจากความรู้สึกว่าต้องกลุ่มฉันทำ ซึ่งความจริงคิดว่าผลมันจะออกมาไม่ต่างกันเพราะความคิดไม่ต่างกัน เพียงแต่จะดึงอำนาจไปสู่ใครเท่านั้น ทั้งนี้ร่างแก้ไขพ.ร.บ.อิสลามแรกที่เสนอโดย นายนิเดร์ นั้นเห็นชัดว่าจะดึงอำนาจไปสู่นายนิเดร์ ที่ไม่มีอำนาจตอนนี้


 


"ร่างนี้มองก็รู้ว่ามันย้อนกลับไปอย่างน้อย 89 ปี มองจากทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่มองในที่ประชุม ถึงแม้ในสังคมมุสลิมจะมีความขัดแย้งกันแต่ในเรื่องแบบนี้คิดไม่ต่างกัน และไม่มีใครจะเอาแพ้ชนะกัน เพราะใช้ๆไปก็กลายเป็นของส่วนรวม เมื่อไปมองร่างจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำขึ้นหลังจาก ร่าง พ.ร.บ.อิสลามของคุณนิเดร์ กลับไม่ได้ต่างไปจากร่าง พ.ร.บ. พ.ศ. 2540 มากนัก อาจจะมองปัญหาเรื่องความเป็นมาของผู้นำศาสนาบ้าง แต่ร่างของคุณนิเดร์ ไม่ได้มีเชื้อ พ.ร.บ.เก่าเลย ผมดูก็รู้เลยว่ารัฐบาลไหนก็ไม่กล้าเอา เพราะการที่มองว่าร่างนี้จะแก้ปัญหาภาคใต้ อร่างนี้ออกตูมมา ข้าราชการมหาดไทยรุ่นเก่าๆเห็น ร้องอาเลย เพราะรู้ว่าอำนาจจะไปอยู่ตรงไหน จะมี 27 คนมีอำนาจสูงสุด เป็นสภาสูงจะปลดใคร ตั้งใครก็ได้


 


"ประเด็นที่ 2 กลุ่มคนนี้ 80 - 90 เปอร์เซ็นต์จะมาจากพื้นที่อื่นไม่ได้ นอกจากใน 3 จังหวัดภาคใต้ แล้วนอกจากกลุ่มคุณนิเดร์ซึ่งเสนอว่ามาจากกลุ่มนั้น กลุ่มนี้ ทั้งประเทศจึงไม่มีสิทธิ์เข้ามา คนใน 3 จังหวัดเองเห็นก็ขำและรู้ว่าคงไม่ผ่าน แต่ถ้านิ่งเฉยก็เหมือนกับยอมรับ แต่ละกลุ่มก็เลยออกมาทำร่างต่างๆ" นายไพศาล กล่าว


 


สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ทางจุฬาราชมนตรีคงจะให้แต่ละจังหวัดส่งข้อเสนอแนะมาก่อนแล้วให้กรรมาธิการยกร่างมาดูและปรับ หลังจากนั้นจึงส่งกลับไปประชาพิจารณ์ ส่วนตัวคิดว่าส่วนปรับแก้มีไม่น่าจะเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในส่วนที่มาที่ไปของตำแหน่งต่างๆเห็นว่าเหมาะสมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าบุคคลที่มาจะดีไม่ดีอยู่ที่ตัวบุคคล ซึ่งในสังคมศาสนาจะรู้กันอยู่แล้วว่าใครเป็นใคร ดังนั้นถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมศาสนาไปเลือกผู้นำแบบไม่ดีแสดงว่ายอมรับ เพราะรู้พฤติกรรมกันมาตลอด แสดงว่าสังคมมุสลิมต้องการแบบนี้จะล่มจมเสียหายสังคมมุสลิมก็ต้องรับผิดชอบเอง จะไปโทษ พ.ร.บ.ไม่ได้


 


สำหรับการประชุมทั้ง 2 วัน เนื้อหาคือการพูดถึงเรื่องวิธีการดำเนินการให้ทุกระดับ ทุกองค์กรมีส่วนร่วม ในการแก้ไข พ.ร.บ.อิสลาม โดยยังไม่ถกเรื่องของรายละเอียด ส่วนที่มาของคณะกรรมาธิการยกร่างนั้น น่าจะมาจากในส่วนของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และตัวแทนของจังหวัดส่งตัวแทนมาคัดเลือกอีกครั้ง คิดว่าไม่น่าจะเกิน 10 คน


 


"ผมอยากจะเรียนว่าไม่ควรจะตื่นตระหนก มันเป็นกระแสเห่อ สังคมมุสลิมทันสมัย สังคมขัดแย้งเราก็จะขัดแย้งกัน ให้มันดูฮือฮาเหมือนการเมือง พอเขาจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สังคมมุสลิมก็จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ด้วย เพื่อให้เห็นว่าเราทันสมัย เชื่อผมเถอะพอเสร็จแล้วไม่มีอะไรต้องแก้ไขมากนัก ที่สุดแล้วถ้ามันจำเป็นก็ทำได้ และต้องใช้เวลาพิจารณากันนานๆ แต่ไม่จำเป็นต้องปรับแก้กันในรัฐบาลแต่งตั้งที่บางคนว่าเร็วดี ไม่มีฝ่ายค้าน ซึ่งยิ่งทำให้เละ ถ้ามีค้านบ้าง มี ส.ว.บ้างอย่างน้อยคนอื่นที่ไม่ใช่มุสลิมหรือมุสลิมจะได้ช่วยกลั่นกรองจากมุมมองคนอื่นด้วย ไม่ใช่พอว่าดีในส่วนมุสลิม แต่กลับไปขัดแย้งในส่วนของสังคมทั่วไปก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในศาสนาในอนาคต อย่าลืมว่ายังมีกลุ่มภิกษุหรือชาวพุทธที่ค่อนข้างอนุรักษ์มีปฏิกริยามาตลอด ต้องเข้าใจกลุ่มเหล่านี้ด้วย " นายไพศาล กล่าวสรุป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net