Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


 







มุมคิดจากนักเรียนน้อย เป็นผลงานภาคปฏิบัติในชั้นเรียนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ส่งมาให้ประชาไทพิจารณานำเผยแพร่ เยาวชนที่สนใจสามารถส่งผลงานมาได้ที่ netcord@prachati.com


 


 


กมลชนก สุขใส


คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


มีฉากหนึ่งใน The Cider House Rules ภาพยนตร์ในปี 1999 ที่ดูเหมือนจะไม่มีความหมายอะไรในสายตาผู้เขียน จนกระทั่งเรื่องดำเนินมาถึงตอนจบ ฉากนี้ก็เดินกลับมาสะกิดใจเข้าอย่างจัง


 


นั่นคือตอนที่นางพยาบาลแห่งสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า St.Clouds มอบฟิล์มเอ็กซเรย์ให้กับโฮเมอร์ แล้วบอกเขาว่ามันคือ "หัวใจของเขา" ทว่าโฮเมอร์ก็ได้รู้ในที่สุดว่า หัวใจในฟิล์มเอ็กซเรย์แผ่นนั้น ไม่ใช่หัวใจของเขา แต่เป็น "หัวใจของหมอลาร์ช" หมอประจำ St.Clouds ต่างหาก


 


สาเหตุที่ฉากนี้เดินกลับมาสะกิดใจผู้เขียน ก็เพราะมันอธิบายประเด็นบางอย่างของเรื่องได้เป็นอย่างดี


 


ท่านผู้ชมที่นั่งอยู่ตรงหน้าจอแล้ว "มอง" หนังเรื่องนี้ "ผ่านหัวใจของตัวเอง" อาจจะคิดคล้ายๆ กันว่า บรรดาพ่อแม่ที่พากันมาทำแท้งหรือคลอดเด็กทิ้งไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้ ช่างทำได้ลงคอเสียเหลือเกิน


 


เช่นเดียวกับโฮเมอร์ เวลส์ ที่ตัดสินด้วย "หัวใจของตัวเอง" ว่าผู้ใหญ่ควรจะมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ และที่เขาไม่ยอมทำแท้งให้ใคร ก็เพราะหัวใจของเขารวมทั้ง "กฎหมาย" บอกว่ามันผิด


 


ทว่า เมื่อโฮเมอร์ก้าวออกไปจาก St.Clouds เพื่อเผชิญโลกภายนอก เขาก็ได้เปลี่ยนผ่านจากเด็กวัยรุ่นในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่มีคนคอยดูแล แนะนำ รวมถึงกำหนดบทบาทให้ มาเป็นผู้ใหญ่ในโลกกว้าง ที่ต้องเผชิญสิ่งต่างๆ และกำหนดบทบาทให้ตัวเอง


 


เขาเลือกสัมผัสวิถีชีวิตของผู้ใหญ่ ภายใต้บทบาทของคนเก็บแอปเปิ้ล เขาเจอกับคุณโรส และ โรส โรส สองพ่อลูกซึ่งเป็นคนเก็บแอปเปิ้ลเช่นเดียวกัน โฮเมอร์ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพวกเขา รับรู้ความเป็นไปตลอดจนปัญหาและความยุ่งยากใจทั้งหลายร่วมกัน


 


ปมปัญหาใหญ่ที่โฮเมอร์ได้ร่วมรับรู้ไปกับสองพ่อลูก คือเหตุการณ์ที่โรส โรส ตั้งท้องกับคุณโรส พ่อของเธอเอง จนในที่สุด โฮเมอร์ก็ยอมอาสาทำแท้งให้กับโรส โรส


 


ผู้เขียนคิดว่า การที่โฮเมอร์ได้ร่วมสัมผัสความเป็นไปของสองพ่อลูก ส่งผลให้โฮเมอร์สามารถยืนมองพวกเขาผ่านจุดที่ใกล้กับหัวใจของพวกเขามาก และนั่นอาจทำให้โฮเมอร์รับรู้แล้วว่า เขาไม่อาจ "ยืนอยู่ที่หัวใจของตัวเอง" แล้ว "เข้าใจ" คนอื่นได้ ดังที่หมอลาร์ชเคยบอกเขาไว้ว่า "ถ้าเขาหวังให้ผู้คนเหล่านั้นรับผิดชอบเด็กที่เกิดมา เขาก็ควรให้สิทธิพวกเขาตัดสินใจว่าจะ"มี" เด็กหรือไม่ ด้วยตัวเอง"


 


ส่วนตัวหมอลาร์ชเอง ที่เขาปลอมฟิล์มเอ็กซเรย์หัวใจของฟัสซี่ซึ่งเป็นโรคหัวใจให้กลายเป็นของโฮเมอร์ เพื่อที่โฮเมอร์จะได้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร ก็เพราะหัวใจของหมอลาร์ชบอกว่า โฮเมอร์ไม่ควรจาก St.Clouds ไปไหน แต่เมื่อโฮเมอร์ตัดสินใจก้าวจากไป หมอลาร์ชอาจจะได้เข้าใจเช่นกันว่า หัวใจของโฮเมอร์ต้องการใช้ชีวิตของโฮเมอร์เอง


 


เช่นเดียวกับคนใน Cider House ที่ต้องการกำหนด "กฎเกณฑ์" ของพวกเขาขึ้นมาเอง มากกว่าจะให้คนที่ "ยืนอยู่ในที่ของตัวเอง" มากำหนดมันแทนคนที่ "ยืนอยู่ใน Cider House"


 


เพราะคนที่ "ยืนอยู่ในที่ของตัวเอง" จะเข้าใจคนอื่นได้สักแค่ไหนกันเชียว


 


ผู้เขียนจึงเฝ้าเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า อย่ามองคนอื่น "ที่หัวใจของเรา" แต่ให้มองเขาตรง "ที่ๆ เป็นหัวใจของเขา" จริงๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net