Skip to main content
sharethis


ทิพย์อักษร มันปาติ


สำนักข่าวประชาธรรม


 

ตัวอย่างอันน่าสะพรึงกลัวของสภาวะมลพิษที่ปกคลุมอยู่ทั่วพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมาบตาพุด จ.ระยอง จนต้องมีการเรียกร้องให้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาที่มุ่งหวังเพียงกำไรทางเศรษฐกิจเป็นหลักโดยไม่ให้ความใส่ใจกับแนวทางป้องกันควบคุมมลพิษอย่างจริงจังและชัดเจน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เป็นบทเรียนด้านมลพิษมาแล้ว เช่น เหมืองถ่านหินแม่เมาะ นิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน   จากเดิมที่ได้วางแผนกำหนดให้รองรับอุตสาหกรรมทางการเกษตร แต่ต่อมากลับกลายมีอุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ ที่ก่อมลพิษต่อคนงาน และชุมชนท้องถิ่นอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา


 


ที่ผ่านมา ชาวบ้านจำนวนมากในหลายพื้นที่ ต้องเป็นผู้ถูกกระทำมานับครั้งไม่ถ้วน ทิศทางการพัฒนาไม่เคยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีทางเลือกปลายเปิด หนทางชีวิตที่ชาวบ้านจะต้องเลือกเดินเป็นทางเลือกปลายปิด ที่ไม่ต่างอะไรกับการกาข้อสอบ ก ข ค โดยมีการกำหนดคำตอบที่ถูกต้องเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ ก็คงไม่ต้องพูดถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะคำที่บัญญัติขึ้นมาเป็นเพียงยาหอมระเหย


 


หนึ่งในแผนพัฒนาภาคใต้ ดันนิคมอุตสาหกรรม


 


พื้นที่บ้านทุ่งยาวน้อย หมู่ที่ 2, 3, 4 ต.ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ. ตรัง ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภท พลเมืองใช้ร่วมกัน ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 0224 เนื้อที่ 1,648 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา กำลังเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรม จ.ตรัง ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ จ.ตรัง เพื่อการบริหารงานระบบราชการจังหวัดแบบบูรณาการในประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การลงทุน รวมทั้งการพัฒนาการเกษตร และโอท็อปสู่สากล โครงการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรม จ.ตรัง และศูนย์บริการขนถ่ายสินค้าเพื่อการส่งออกท่าเทียบเรือกันตัง


 


สืบเนื่องจากข้อมูลการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า จ.ตรัง มีศักยภาพในการรองรับการขยายตัวจากการลงทุนในส่วนภูมิภาคในพื้นที่ภาคใต้ มีการ ขยายตัวของโครงการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2547 มีโรงงานทั้งหมด 629 โรงงาน มีการลงทุนสะสม 6,700 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2537 มีโรงงานเพียง 221 โรงงาน และมีเงินทุน 4,000 ล้านบาท จะเห็นว่ามีการเติบโตของจำนวนโรงงานร้อยละ 184.6 ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีเงินทุนเพิ่มขึ้นถึง 2,700 ล้านบาท รวมทั้งมีมูลค่าการนำสินค้าเข้าและส่งออก อาทิ ถ่านหิน ดีบุก เครื่องจักร ปูนซีเมนต์ ยิบซั่ม อาหารทะเลแปรรูป ไม้ยางพารา ขยายตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละปี


 


ดังนั้น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เล็งเห็นว่าการกำหนดพื้นที่สำหรับเป็นเขตอุตสาหกรรม จ.ตรัง เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตและแปรรูปสินค้า และการกำหนดพื้นที่สำหรับบริการลานเก็บ ขนถ่าย และบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออกที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีความสำคัญ เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้โรงงานอยู่รวมกลุ่ม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถกำกับดูแลในเรื่องความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นไปแบบยั่งยืน สอดคล้องกับมติรัฐมนตรีลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2545 ที่ให้ความเห็นชอบในหลักการ ส่งเสริมจูงใจให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาอยู่ในเขต/นิคมอุตสาหกรรม หรือพื้นที่ประเภทอุตสาหกรรมกฎหมายและผังเมืองรวม และเร่งรัดการจัดทำกฎหมายผังเมืองรวมให้ครอบคลุมภายใน 3 ปี  โดยคณะกรรมการกลั่นกรองแผนงานโครงการ สำนักงานปลัด สำนักงานนายกรัฐมนตรีจึงได้พิจารณาอนุมัติ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548


 


ด้วยเหตุนี้ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ตรัง จึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรม จ.ตรัง และศูนย์บริการขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออกขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. เพื่อจัดตั้งเขตอุตสาหกรรม จ.ตรัง และศูนย์บริการขนถ่ายสินค้าเพื่อการส่งออกท่าเทียบเรือกันตัง 2. เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม จ. ตรัง และกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝาย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (IMT-GT) 3. เพื่อรองรับการขยายตัวของการขนส่งสินค้าเข้าและออกบริเวณท่าเทียบเรือกันตัง 4. เพื่อการบริหารจัดการความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม 5. เพื่อเป็นการสร้างงาน กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น


 


โดยมีแผนงานการดำเนินโครงการตามลำดับ ในวงเงินงบประมาณบูรณาการ จำนวน 150 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548-2550 ดังนี้ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2548 ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรม และศูนย์บริการขนถ่ายสินค้าเพื่อการส่งออก งบประมาณ 1,820,000 ล้านบาท ระยะที่ 2 พ.ศ. 2548 รังวัดปักหลักเขตพื้นที่เขตอุตสาหกรรมและศูนย์บริการฯ งบประมาณ 180,000 บาท ระยะที่ 3 พ.ศ. 2549 ออกแบบก่อสร้างเขตอุตสาหกรรม และศูนย์บริการฯ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 5,000,000 บาท ระยะที่ 4 พ.ศ. 2550-2551 ดำเนินการก่อสร้าง งบประมาณ 143,000,000 บาท โดยมีพื้นที่จัดตั้งเขตอุตสาหกรรม 1,000 ไร่ และจัดตั้งศูนย์บริการขนถ่ายสินค้าเพื่อการสงออก 50 ไร่ ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้มีโรงงานที่ตั้งในเขตอุตสาหกรรม ไม่น้อยกว่า 50 โรงงาน รวมทั้งมีการจ้างงานและบริการในศูนย์บริการขนถ่ายสินค้าไม่น้อยกว่า 100 คน


 


อย่างไรก็ตาม นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวจะเข้ามาแก้ให้ประโยชน์อะไรกับคนในชุมชนนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบต้องออกมาชี้แจง และเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงโดยไม่มีการหมกเม็ด รวมทั้งในทุกกระบวนการของการศึกษาความเป็นไปได้ต้องให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามีร่วมด้วย


 


นายวีรชาติ ถิ่นนา สมาชิก อบต. ทุ่งค่าย ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า การมาแย่งชิงพื้นที่ชาวบ้านซึ่งแต่เดิมกรีดยาง ทำเกษตรยังเลี้ยงชีพอยู่แล้วนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงาน หรือความยากจนได้ เพราะโรงงานที่เกิดขึ้นไม่สามารถรองรับคนทั้งชุมชนได้ การกรีดยางของชาวบ้านเป็นวิถีชีวิตที่อยู่มานาน ใช้เวลาเพียงครึ่งวัน ส่วนช่วงเวลาที่เหลือชาวบ้านก็ได้พักผ่อน พบปะพูดคุยหรือทำอาชีพเสริมได้ แต่หากไปทำในโรงงานวิถีชีวิตแบบนี้ก็จะหายไปทำให้ความเป็นคุณค่าของชุมชนเลือนหายไป


 


ยืนหยัดนิคมเกษตรกรรมปลอดมลพิษ


 


แม้ว่าเป้าหมายของโครงการนิคมอุตสาหกรรม จ. ตรัง จะระบุไว้ว่า เป็นไปเพื่อรองรับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และการประมง แต่ที่ผ่านมา นิคมอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ ยังไม่เคยมีการรับประกันคุณภาพชีวิต และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนเลย


 


ดต.เทิดศักดิ์ พลประสิทธิ์ ตัวแทนกลุ่มรักษ์ถิ่นทุ่งค่าย กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนไม่เห็นด้วยกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ ต.ทุ่งค่าย เนื่องจากเกรงว่าโครงการดังกล่าวจะนำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาสู่ชุมชนดังเช่นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เช่น มลภาวะทางอากาศ มลพิษทางเสียง และมลพิษทางน้ำ


 


"คำกล่าวที่ว่าขอให้มองผลประส่วนใหญ่ของประเทศเป็นหลัก โดยคนส่วนน้อยเป็นผู้เสียสละนั้น ผมมีความสงสัยว่าชีวิตของคนส่วนน้อยไม่มีค่าหรืออย่างไร และมีความเป็นจริงแค่ไหนกับผลประโยชน์ที่จะได้ในระดับประเทศตามที่ชอบอ้าง เราไม่ต้องการพื้นที่สีม่วงที่เป็นเขตอุตสาหกรรม แต่อยากจะให้พื้นที่ตรงนี้เป็นนิคมเกษตรกรรมปลอดมลพิษมากกว่า" ดต. เทิดศักดิ์ กล่าว


 


ดต.เทิดศักดิ์ กล่าวต่อว่า การผลักดันให้พี่น้องประชาชนได้มีความอยู่ดีกินดีนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเอาอุตสาหกรรมมาอ้าง เพราะปัจจุบันชาวบ้านก็อยู่ดีมีสุขตามปรกติอยู่แล้ว มีรายได้จากการทำการเกษตร เช่น ปลูกพืชสวนครัว ปลูกถั่ว  ปลูกยางพารา เฉลี่ยวันละ 300-400 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่มากกว่าการเป็นแรงงานรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม มีรายได้วันละไม่เกิน 200 บาท


 


นายวีรชาติ ถิ่นนา สมาชิก อบต. ทุ่งค่ายกล่าวว่า จุดยืนของชาวทุ่งค่ายที่ไม่เอานิคมอุตสาหกรรมนั้นก็เพราะต้องการรักษาวัฒนธรรม และประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่นเอาไว้ และแม้ว่าทางจังหวัดจะได้ชี้แจงว่า ขณะนี้กำลังอยู่ขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมา ทางจังหวัดเปิดโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาความเป็นไปได้โครงการน้อยมาก ดังนั้นเราจึงต้องการเรียกร้องตรงนี้


 


ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับเชิญให้เข้ามีส่วนร่วมในเวทีต่างๆ ที่ทางจังหวัดได้จัดขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นผู้นำ ซึ่งไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นของชาวบ้านอย่างแท้จริง นอกจากนี้ข้อมูลผลการศึกษาบางอย่างมีความบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และยังขาดความสมบูรณ์ครบถ้วน เช่น พื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ไม่สามารถทำการเกษตรหรือเพาะปลูกได้ แต่ในความเป็นจริงพื้นที่ดังกล่าวได้มีประชาชนเข้าไปพัฒนาปลูกพืชส่วนใหญ่คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชน เกือบเต็มพื้นที่ ส่วนที่เหลือคือพื้นที่ ประมาณ 400 ไร่ ที่อยู่ในความดูแลของ อบต. ทุ่งค่าย ซึ่งยังไม่มีการใช้ประโยชน์


 


"ผมอยากให้ชุมชนเป็นนิคมเกษตรกรรม โดยมีประชาชนในพื้นที่เป็นเข้ามาบริหารจัดการร่วมกัน รักษาสิ่งแวดล้อม มีความพอเพียงแบบยั่งยืน และรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่นเอาไว้" นายวีรชาติ กล่าว


 


นายกิจ หลีกภัย นายก อบจ. ตรัง กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่ชาวบ้านเป็นกังวลคือ ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงของโครงการนิคมอุตสาหกรรม ว่าจะทำอะไรบ้าง และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนมีอะไรบ้าง เพราะขณะนี้ยังเป็นเพียงขั้นตอนการศึกษา แต่โดยปกติชาวบ้านก็ไม่เห็นด้วยกับการที่จะเอามลภาวะไปให้ชุมชนอยู่แล้ว ซึ่งเราก็คำนึงถึงตรงนี้ด้วย ซึ่งภายใน 2 ปีนี้ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะต้องใช้เวลาศึกษาอีกยาว รวมทั้งหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องเข้ามาวิจัยเรื่องความเหมาะสมว่าควรหรือไม่อย่างไร


 


"หากชาวบ้านยืนยันว่าไม่ต้องการให้สร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในพื้นที่ ต. ทุ่งค่าย เราก็พร้อมที่จะไม่ไปทำความเดือดร้อนให้คนในชุมชน แต่ในขณะเดียวกันนี้ สิ่งที่คนในชุมชนพูดบางเรื่องเขาก็ยังไม่ทราบข้อมูล เช่น ความกังวลว่าต้นยางพาราของชุมชนจะถูกตัด แต่เราเห็นว่าต้นยางพารานั้นเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมที่เราไปปลูกเสริมด้วยซ้ำไป ซึ่งโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมยังอยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลเท่านั้น" นายกิจกล่าว


 


หากวันนี้ ชาวทุ่งค่ายเลือกได้ สิ่งที่พวกเขาเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันคือ ชุมชนต้องการการพัฒนาที่พวกเขามีสิทธิในการร่วมกำหนดชะตากรรมที่ความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต วันนี้ คนทุ่งค่ายกำลังยืนหยัดเรียกร้องสิทธิของชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีสิทธิร่วมเลือก หรือกำหนดรูปแบบความกินดีอยู่ดี ในแบบชุมชนเอง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะไม่มีใครหน้าไหนมาริฉกฉวย แอบอ้างเอาสิทธิของชุมชน ไปเป็นสิทธิของตนซึ่งๆ หน้า แบบไร้ยางอาย "เราไม่ได้ห้ามการพัฒนา แต่กำลังถามว่า พัฒนาไปแล้วใครได้ใครเสียกันแน่"


 


แม้เสียงของคนทุ่งค่ายจะบอกดังๆ  ฟังชัดๆ ว่าไม่ต้องการนิคมอุตสาหกรรม  แต่ก็มิได้หมายความว่าการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมจะยุติได้โดยง่าย  เพราะความพยายามในการผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมนั้นจะเป็นหนึ่งในแผนของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจในภาคใต้  ถ้าชาวทุ่งค่ายไม่เอา  ภาคธุรกิจที่มองเห็นแต่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจนได้   พลังของคนท้องถิ่นจึงมีความสำคัญยิ่ง.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net