Skip to main content
sharethis

ทิพย์อักษร มันปาติ
สำนักข่าวประชาธรรม


ปัญหาการปฏิรูปที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม สะท้อนภาพออกมาอีกครั้งเมื่อเหตุเกิดความรุนแรงสลายม็อบที่ จ.สุราษฎร์ธานี กรณีกลุ่มประชาชนกว่า 40,000 คน จากหลายจังหวัดภาคใต้ รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางมาชุมนุมและยึดครองพื้นที่สวนปาล์มของ บริษัท ทักษิณปาล์ม จำกัด ท้องที่ ม.3 และ ม.12 .ท่าขนอน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 66 แปลง เนื้อที่ 1,632 ไร่ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2550 จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2550 ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมจึงทยอยกลับภูมิลำเนาเดิม พร้อมกับความหวังที่จะได้ที่ดินแตกสลาย



แม้ว่าการชุมนุมบุกเข้ายึดที่ดินสวนปาล์มของนายทุนของชาวบ้านในครั้งนี้ จะมีความไม่ชอบมาพากลอยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ที่แกนนำกลุ่มได้รับจากการเรียกเก็บค่าสมัครจากชาวบ้านก่อนเข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มองค์การพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรภาคใต้ ค่าบำรุงสมาชิกรายเดือน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหากชาวบ้านได้รับที่ดินทำกินแล้ว ราวแปลงละ 5,000-8,000 บาท เมื่อสาวไส้ถึงการดำเนินงานของกลุ่มองค์การพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรภาคใต้ ว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงเช่นนี้ การชุมนุมของชาวบ้านที่ต้องการมีที่ดินทำกินครั้งนี้ จึงสรุปได้ไม่ยากนักว่า ถูกใช้เป็นฉากบังหน้าให้กับคนบางกลุ่ม ใช้สถานการณ์ปัญหาที่มีอยู่เดิมแสวงหาประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเอง แบบไร้ซึ่งจริยธรรม


อย่างไรก็ตาม เมื่อมองอย่างเชื่อมโยง สถานการณ์การบุกยึดที่ดินนายทุนที่มีชาวบ้านเข้ามาร่วมมากมายนั้น แน่นอนว่า เป้าหมายของการโคจรมาร่วมชุมนุมคือ ความหวังว่าจะมีที่ดินทำกิน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนของความไม่คืบหน้าของเดินหน้าการปฎิรูปที่ดินของรัฐ เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมา ประชาชนยื่นข้อเสนอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมมาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว แต่กลับยังไม่มีกลไกการดำเนินการปฏิบัติเพื่อให้การแก้ไขปัญหาบรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นจริงเป็นจังสักที


นอกจากนี้ กระบวนการจัดการทรัพยากรที่มีรัฐเป็นผู้รวบอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการมาโดยตลอด เช่น กฎหมายอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็มีผลทำให้เกิดการเวนคืนที่ดิน ชาวบ้านถูกย้ายออกจากป่า บางส่วนต้องอยู่อย่างไม่มีทางเลือก หรือบางส่วนจำต้องละทิ้งอยู่เดิมไปแสวงหาที่ใหม่ แต่สุดท้ายก็ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดินในความดูแลของรัฐ


ไม่เพียงเท่านั้น ทิศทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งส่งเสริมรายได้ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา รวมทั้งโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ประกอบกับการไม่มีกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้อย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดินอย่างแท้จริง ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ที่ดินกระจุกตัว เป็นกระบวนการทำให้ที่ดินของชาวบ้านถูกเปลี่ยนมือไปสู่กลุ่มทุนธุรกิจมากขึ้น และตกทอดเป็นมรดกจากรุ่นสู่รุ่น ในขณะที่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะประชาชนในภาคการเกษตรที่เกษตรกรกลับต้องดิ้นรนหนักขึ้น ไม่มีแม้แต่ปัจจัยพื้นฐานทางการผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับตนเอง และนี่คือกระบวนการเบียดขับชาวบ้านออกจากชุมชนท้องถิ่น ให้กลายเป็นแรงงานเคลื่อนที่


ปฏิรูปที่ดิน สงครามทางชนชั้น


นายโยคิน คำวงศ์ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาโครงสร้างทางอำนาจ เป็นการต่อสู้ทางชนชั้น แต่ที่ผ่านมา ที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตกลับตกไปอยู่ในมือกลุ่มทุน นักการเมือง และข้าราชการ ที่ทำการสมคบกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.กระบี่ และ จ.สุราษฎร์ธานี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนมองว่า มีฝ่ายปฏิบัติการหน้าที่ราชการไปเข้าข้างกลุ่มทุน แล้วสร้างแกนนำกลุ่มหนึ่งขึ้นมาหลอกลวงชาวบ้าน โดยมีกระบวนการหนุนอยู่เบื้องหลัง


"ผมมองว่าโดยตัวชาวบ้านที่เข้าไปตรวจสอบ เขาอาจจะไม่รู้จริงๆ ว่า พื้นที่ที่เข้าไปบุกรุกตรวจสอบ เป็นพื้นที่ดินมีเจ้าของ มีเอกสารสิทธิ์ แต่ประเด็นหลักคือ เมื่อชาวบ้านสงสัยว่าเป็นที่ดินที่มีเจ้าของก็ไม่ผิดที่จะเข้าไปตรวจสอบ แต่ที่ผ่านมา ประชาชนก็เคยเสนอให้มีการตรวจสอบอย่างมีส่วนร่วม ตั้งแต่การตรวจสอบที่ดินร่วมกับคณะกรรมการที่จะตัดสินให้คนที่จะได้มาซึ่งที่ดิน แต่รัฐไม่เคยเอื้อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมทำงานอย่างจริงจัง" นายโยคิน กล่าว


นายโยคิน กล่าวเพิ่มเติมว่า บางครั้งก็ไปโทษชาวบ้านไม่ได้ เพราะบางทีชาวบ้านก็มีข้อจำกัดที่จะรู้ว่ากลุ่มไหนเป็นคนที่ดีกลุ่มไหนไม่ดี แต่วันนี้ชาวบ้านก็คงจะรู้แล้วว่า รัฐได้ใช้ความรุนแรงอีกเป็นครั้งที่ 3 แล้วในการจัดการปัญหาม็อบที่ดิน จ.สุราษฎร์ธานี แม้ว่าสถานการณ์การเคลื่อนไหวเรื่องที่ดินที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ จะแตกต่างกับครั้งนี้ก็ตาม


"กลไกในการทำงานร่วมเพื่อให้การปฏิรูปแก้ไขปัญหาที่ดินโดยภาพรวมของประเทศบรรลุผลสำเร็จลงได้นั้น ต้องทำให้ชาวบ้านรู้ว่าการต่อสู้เรื่องที่ดินเป็นปัญหาระดับชาติ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องชนชั้น ส่วนแนวทางการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้เป็นจริงได้ ต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย และการเมืองควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ ภาคประชาชนต้องผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่ เพื่อผลักดันการกำหนดทิศทางทั้งในเชิงกฎหมาย และนโยบายต่อไป นอกจากนี้ชาวบ้านเองก็ต้องรู้ว่า จำเป็นจะต้องพึ่งตนเองก่อนเป็นลำดับแรกด้วย ซึ่งตรงนี้จะเป็นการทำงานเชิงความคิด" นายโยคิน กล่าว


ปฏิรูปที่ดิน สร้างความมั่นคงทางอาหาร


ปัญหาที่ดินกระจุกตัวอยู่ในวงจรอำนาจของคนส่วนน้อยไม่กี่หยิบมือของประเทศ และกลุ่มทุนธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเดินหน้าไปพร้อมๆ กับทิศทางการพัฒนาประเทศ เช่น การส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยวของรัฐ เปลี่ยนที่นาร้าง ที่นาข้าวที่ให้ผลผลิตไม่คุ้มทุน ที่ไร่ที่ปลูกพืชทางการเกษตรได้ผลผลิตราคาไม่คุ้มค่า หรือแม้กระทั่ง ที่ป่าเสื่อมโทรม หรือที่ดินรกร้างว่างเปล่า หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โดยมีเป้าหมาย เน้นการส่งออก เพื่อรายได้เงินตราเข้าประเทศเป็นหลัก แต่ในระยะยาวประเทศไทยอาจต้องซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านกิน


ส่วนอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลก็ยังแลหลังมาส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสังคมที่อยู่ดี กินดี มีสุข บนปัจจัยพื้นฐานทางการผลิตอย่างจำกัดจำเขี่ยสำหรับประชาชนรากหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ตราบใดที่ไม่มีการปฏิรูปที่ดิน ให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ชีวิตประชาชนตัวเล็กๆ ก็จำต้องดิ้นรนหนักขึ้น และคงไม่ต้องมาถามถึงความมั่นคงทางอาหาร และความอยู่ดี มีสุข ของประชาสังคมว่าจะมีหรือไม่


นายบรรจง นะแส กล่าวว่า ปัจจัยทางการผลิตของเศรษฐกิจพอเพียง คือที่ดิน แต่คนส่วนใหญ่ซึ่งมีเกิน 50 ล้านคนในประเทศไทยบางคนไม่มีที่ดินทำกินแม้แต่ไร่เดียว ในขณะที่นักการเมืองมีที่ดินเป็นหมื่นๆ ไร่ แต่คนที่เดือดร้อนอีกกว่า 50 ล้านคน ที่ไม่มีปัจจัยการผลิต เช่น ที่นา ที่ดิน ส่วนใหญ่ถูกครอบครองอย่างไร้ขีดจำกัด ดังนั้น สังคมนี้ต้องมีการจำกัดการถือครองที่ดิน ต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ก็ควรจะมีที่นาของตนเอง หากเกษตรกรเป็นเพียงลูกจ้างในที่นาซึ่งไม่ใช่ของตนอีกต่อไป ความยั่งยืนจะมีได้อย่างไร


"ประเทศที่จะยั่งยืนได้ คนส่วนใหญ่ต้องลืมตาอ้าปากได้ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะต้องลดลง ปัจจัยการผลิตต้องอยู่ในมือคนส่วนใหญ่ ถ้าหากว่าทำตรงนี้สำเร็จ เราจะไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าตราบใดที่เรามีแต่ จีดีพี สูงมีคนรวยเพียง 10% แต่คนส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่ ปัญหาความยากจน โจร ความเสื่อมโทรมทางสังคมก็ยังมีอยู่" นายบรรจง กล่าว


ปฏิรูปที่ดิน รัฐต้องปฏิรูปตัวเอง


แม้ว่าที่ผ่านมา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จะมีข้อเสนอทางนโยบายให้รัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินของประเทศทั้งระบบ แต่ทุกวันนี้กลไกการทำงานให้การปฏิรูปที่ดินบังเกิดผลเป็นรูปธรรม ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร


ดังจะเห็นได้จากข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความล้มเหลว อันเกิดจากนโยบายของรัฐในการจัดการที่ดินหลายรัฐบาลที่ผ่านมา คือ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายป่าไม้ที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ และกลุ่มปัญหาที่ดินผู้ประสบภัยสึนามิภาคใต้ เคยยื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2549 ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเร่งดำเนินการให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ตามหลักการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน


ทั้งนี้มีข้อเสนอที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ปัญหากรณีนำที่ดินของรัฐนำไปให้เอกชนสัมปทานเช่าที่ เช่น กรณีสวนปาล์ม และเหมืองแร่ ให้รัฐแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบสถานะของที่ดินว่าสัญญาเช่าเหล่านี้ชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ หรือ รัฐเสียประโยชน์ หรือหมดสัญญา หรือ ทำสัญญาเกินจริง หรือบุกรุกพื้นที่เกินสัญญาหรือไม่ เพื่อทำการยกเลิกสัญญาเช่าเหล่านั้น และนำที่ดินเหล่านี้มาจัดสรรให้กับชาวบ้าน กรณีที่ดินเอกชน ให้รัฐตรวจสอบสถานะของที่ดินว่า ออกเอกสารสิทธิ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือทิ้งร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์เกินกฎหมายกำหนดหรือไม่ หากออกเอกสารสิทธิ์มิชอบหรือทิ้งร้างว่างเปล่า ให้รัฐทำการเพิกถอนหรือเวนคืน แล้วนำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เป็นต้น


นายวราวุธ วุฒิ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและกฎหมายการแก้ไขปัญหาที่ดิน จ.สุราษฎร์ธานี เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคใต้ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาประชาชนจะพยายามดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนกระบวนการ หรือกลไกราชการแล้วก็ตาม แต่แท้จริงแล้ว ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้การปฏิรูปที่ดินไม่ขยับเขยื้อนก็คือ การผูกขาดการจัดกระบวนการโดยประชาชนไม่ได้รับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากรัฐ สถานการณ์จึงมีความวุ่นวายขึ้นทุกขณะ พร้อมกับการบีบบังคับปราบปรามก็รุนแรงขึ้นด้วย แต่ประชาชนก็ไม่ได้ยอม เพราะกลไกความยุติธรรมทั้งหลายไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้


ข้อเสนอประชาชนที่ถูกแขวน


แม้ว่าการชุมนุมของประชาชนเข้าบุกรุกที่ดินสวนปาล์มนายทุน ที่ จ.สุราษฎร์ธานี จะถูกตั้งข้อครหาว่า มีเบื้องหลังที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม โดยเฉพาะตัวแกนนำ และชาวบ้านบางส่วนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ส่วนที่เหลือเป็นชาวบ้านที่ถูกหลอกมาเป็นเครื่องมือให้คนบางกลุ่มแสวงประโยชน์เข้าตัวเอง


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้จบลงเพียงแค่ชาวบ้านถูกหลอกและสลายตัวกลับบ้านแบบมือเปล่า เพราะปัญหาหลักเรื่องคนจนไร้ที่ดินทำกิน และการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินอย่างไม่ชอบธรรมในพื้นที่ภาคใต้ และในทุกภูมิภาคของประเทศไทยก็ยังเกิดขึ้นอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ประเทศพัฒนาไปตามด้วยทิศทางที่ยั่งยืน โดยประชาชนมีปัจจัยพื้นฐานเพื่อสร้างความอยู่ดี มีสุข แบบพอเพียง การจัดการปัญหาแบบผูกขาดโดยรัฐจึงไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมคือ การแก้ไขปัญหาที่ดินใหม่ทั้งระบบ ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินเพื่อคนทั้งประเทศอย่างทั่วถึง เป็นธรรม เท่าเทียม และยั่งยืน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net