Skip to main content
sharethis

แปลและเรียบเรียงโดย


เปรมใจ  ใจกล้า


โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย


เรียบเรียงจาก


ILO GLOBAL REPORT Thai working hours 'too long'


 


ผลการศึกษาวิจัยล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ (ILO) พบว่า คนงานหนึ่งในห้าทั่วโลกหรือราว 600 ล้านคน ยังต้องทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้มีรายได้ในระดับพอเลี้ยงชีพ ทั้งๆ ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้กำหนดมาตรฐานสากลเรื่องชั่วโมงการทำงานมาเกือบจะร้อยปีแล้ว


ในประเทศไทยผลการสำรวจพบว่าแรงงานไทยร้อยละ 46.7 หรือเกือบครึ่งต้องทำงานเกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง  โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับสาม อันดับสองคือเกาหลี ร้อยละ 49.5  และสำหรับประเทศที่มีระยะเวลาการทำงานยาวนานสุด คือ เปรู โดยมีคนงานร้อยละ 50.9  ที่ต้องทำงานเกินมาตรฐานในระดับชั่วโมงทำงานการทำงานปกติ


นอกจากนี้สวัสดิการลาหยุดพักร้อนประจำปีตามกฎหมายของไทยถือว่าต่ำมากถ้าเปรียบเทียบในระดับเอเชีย  สามารถลาหยุดได้ปีละ 10 วันเท่านั้นหรืออาจจะน้อยกว่านี้  ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานตามกฎหมายของกัมพูชา  เวียดนาม และอินโดนีเซีย


"Working Time around the World: Trends in working hours, laws, and policies in a global comparative perspective" หรือ ชั่วโมงการทำงานทั่วโลก  แนวโน้มชั่วโมงการทำงาน  กฎหมาย รวมทั้งนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบในระดับสากล  งานวิจัยชิ้นนี้  ได้ศึกษาเรื่องชั่วโมงทำงานในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และพบว่าแรงงานทั่วโลกประมาณร้อยละ 22 หรือเท่ากับ 641.2 ล้านคน ต้องทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงในหนึ่งวัน  และได้ศึกษาถึงแนวโน้มนโยบายเรื่องชั่วโมงทำงานในประเทศกำลังพัฒนา  ซึ่งจากการสำรวจพบว่าชั่วโมงการทำงานในประเทศกำลังพัฒนานั้นมีความแตกต่างกันมาก  กล่าวคือ  แรงงานบางส่วนทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงมากเกินไป  ในขณะที่บางส่วนทำงานเพียงไม่กี่ชั่วโมง


 ระดับชั่วโมงทำงานโดยเฉลี่ยในภาคการผลิตทั่วโลก อยู่ระหว่าง 35 - 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย เป็นประเทศเดียวที่ชั่วโมงการทำงานภาคการผลิตเฉลี่ยเกิน 59 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเป็นประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ชั่วโมงการทำงานในภาคการผลิตยาวนานกว่าภาคบริการ


 ในภาคบริการบางประเภทลูกจ้างทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมง เช่น การขนส่ง  คลังสินค้า และการสื่อสาร (สัปดาห์ละ 50 ชั่วโมง)   อสังหาริมทรัพย์และบริการธุรกิจ (สัปดาห์ละ 50.7 ชั่วโมง)  บริการการเงิน (สัปดาห์ละ 52.9 ชั่วโมง)  บริการด้านสาธารณสุขและสังคม ( 53.4 ชั่วโมง)  คนที่อยู่ในภาคการจ้างงานนอกระบบส่วนใหญ่มักจะทำงานเกินมาตรฐานวันละหลายชั่วโมง


ผู้จ้างงานตนเองเกือบร้อยละ 57 ในไทย  ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  มีจำนวนเพียงหนึ่งในแปดเท่านั้นที่ได้ทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง ร้อยละ 80 ของผู้จ้างงานตนเองในไทยมีอายุเกิน 41 ปี  ส่วนในประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย  ปากีสถาน   และศรีลังกา  ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในช่วงราวๆ 30 ปีหรืออายุน้อยกว่านี้  นอกจากนี้ ยังมีแรงงานบางส่วนที่ทำงานวันละไม่กี่ชั่วโมงในประเทศกำลังพัฒนาอาจจะต้องทำงานต่ำกว่าทักษะความรู้ความสามารถ  ซึ่งส่งผลให้ยิ่งยากจนกว่าเดิม


ความพยายามที่จะลดชั่วโมงการทำงานในประเทศเหล่านี้  ยังไม่สำเร็จด้วยสาเหตุหลายประการ  รวมทั้งสาเหตุความจำเป็นของคนงานที่จะต้องทำงานชั่วโมงมากขึ้น  เพื่อให้ได้รายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพและฝ่ายนายจ้างเองมักจะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา (โอที) เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่ประสิทธิภาพในการผลิตต่ำโดยทั่วไปกฎหมายและนโยบายเรื่องชั่วโมงทำงาน  มีผลน้อยมากต่อชั่วโมงทำงานในทางปฏิบัติโดยเฉพาะเรื่องการกำหนดชั่วโมงทำงานสูงสุดต่อสัปดาห์   ค่าจ้างทำงานล่วงเวลาและการจ้างงานนอกระบบ


ชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมตามมาตรฐานสากลจะส่งผลดีต่อสุขภาพชีวิตของคนงานและครอบครัว  ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น  การลดชั่วโมงทำงานจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุและอาการเจ็บป่วยอันเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน  ซึ่งถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายของคนงาน  นายจ้าง และสังคมโดยรวม   การกำหนดชั่วโมงทำงานควรจะเน้นที่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและครอบครัว โดยปรับตามสถานการณ์และยืดหยุ่นได้ในแต่ละประเทศ  ควรจะให้สิทธิในการลาเพื่อครอบครัวโดยเฉพาะกรณีฉุกเฉินและส่งเสริมเรื่องการจ้างงานพาร์ทไทม์ที่มีคุณภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net