Skip to main content
sharethis


 


 


 






"...เราควรจะบอยคอร์ตการประชามตินี้ จะไปโหวต No ไม่ใช่เพื่อให้ รธน.ผ่านหรือไม่ผ่าน แต่เป็นการแสดงสปิริตที่จะบอกกับรัฐบาลนี้ว่าคุณไม่อาจจะ manipulate ประชาชนได้ง่ายๆ อีกต่อไป อย่างน้อยมีเสียงคนไม่มากก็น้อยที่บอกว่าคุณไม่ชอบธรรม แม้จะตระหนักว่าประชามตินี้มันแสนจะ absurd แต่เราแทบจะไม่มีทางเลือก"


 


 


หากเอ่ยนาม "คำ ผกา" ภาพของหญิงสาวร้อนแรงแต่แฝงความแสบสันต์คงผุดขึ้นมาในหัวของใครหลายคน ถ้าใครได้สัมผัสตัวตนของเธอผ่านหนังสืออย่าง "กระทู้ดอกทอง" ของเธอด้วยแล้ว คงจะยิ่งรับรู้ถึงความ "แสบ"แบบผู้หญิงนอกกรอบนอกแกนของเธอไปอีกชั้นหนึ่ง นี่ยังไม่นับรวมไปถึงภาพแฟชั่นของเธอบนปก GM ครั้งหนึ่งที่อาจสร้างความรู้สึกได้อีกหลายแบบ ไม่ว่าจะแบบตั้งคำถามหรือแบบเตลิดไปไหนต่อไหนก็ตาม


 


อย่างไรก็ตาม ตัวตนส่วนหนึ่งของ "คำ ผกา" ย่อมประทับภาพของความเป็นนักคิด นักเขียน ที่กล้าท้าทายขนบประเพณีของสังคมไทยอย่างมีเหตุผลแง่มุมอันลึกซึ้ง


 


ในภาวะเช่นนี้ที่สังคมกำลังถูกวางกรอบบนพื้นที่ "รัฐธรรมนูญ" ประชาไท จึงอดไม่ได้ที่จะต้องเดินทางไปสืบทราบความคิดอ่านของเธอทั้งในฐานะนักคิดนักเขียนที่กล้าจะมีบทสนทนาที่แตกต่างให้กับสังคมมาตลอดต่อสถานการณ์ที่กำลังแหลมคมอย่างยิ่งเมื่อใกล้วันลงประชามติ 19 สิงหาคม 2550 เข้าไปทุกขณะ


 


อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา บทสนทนาในบางเรื่องราวได้หายไปจากสังคมไทย บทสัมภาษณ์ "คำ ผกา" คงเป็นบทเริ่มต้นที่ดีในการนำบทสนทนาที่เคยหายไปเหล่านั้นกลับมาอีกครั้ง ในช่วงสำคัญที่จะต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ในเวลาอันใกล้และแทบไม่มีทางให้เดินมากนักดังตอนนี้


 


000


ในความเป็น "คำ ผกา" ใช้กรอบแบบไหนในการมองหรือวิเคราะห์การเมืองไทย


คิดว่ามันไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับ คำ ผกา แต่ในฐานะชาวบ้านคนหนึ่ง และในฐานะคนที่สนใจเรื่อง รัฐ และ ชาติ รวมไปถึงการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ที่ศูนย์กลางของชาติคือประชาชน เชื่อมั่นในการยืนยันสิทธิเสรีภาพของพลเมือง จึงตกใจกับการรัฐประหาร เห็นการเหวี่ยงกลับของอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งเราเคยเชื่อมาตลอดว่ามันกำลังจะอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ เราไม่เชื่อว่าเราจะได้มาเป็นประจักษ์พยานของการมีอยู่ของรัฐเผด็จการทหาร


           


สังคมไทยเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา กำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้และเราเห็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ชี้ให้เห็นว่าภาคประชาสังคมมันค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น มีชุดของคำศัพท์ทางการเมืองอย่างคำว่า "สิทธิพลเมือง" "สิทธิชุมชน" มีการรวมตัวของประชาชนในรูปของเครือข่ายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่เคยมีเสียง มีตัวตน ได้ค่อยๆ สร้างพื้นที่ และส่งเสียงของตัวเองผ่านสื่อหลากประเภท เราเห็นชาวบ้านออกมาต่อต้าน ตั้งคำถาม และแม้กระทั่งฟ้องร้องรัฐบาลในกรณีที่โครงการขนาดใหญ่ของรัฐไปทำความเดือดร้อนให้กับเขา ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นประเด็นที่รับรู้ได้สังคมในทุกระดับชั้น แม้การต่อสู้ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับล้มลุกคลุกคลาน แต่เราก็มีความหวังว่าหวังว่าอีกสัก 20-30 ปี หรือ 100 ปี ประชาชนจะเข้มแข็งขึ้น มั่นใจในศักยภาพของตัวเองมากขึ้น พึ่งพิงรัฐน้อยลง และรู้ว่าตัวเองนั้นอยู่เหนือรัฐ ไม่ใช่รู้สึกว่ารัฐอยู่เหนือเรา ราชการอยู่เหนือเรา อย่างที่เรารู้สึกกันอยู่ทุกวันนี้


 


แต่พอเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร มันเหมือนการตัดตอนกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองของสังคมทั้งหมดลงไปโดยสิ้นเชิง สิ่งที่น่าหัวเราะเยาะที่สุดคือความพยายามที่จะรื้อฟื้นเพลงปลุกใจเก่าแก่แสนล้าหลังมากรอกหูเราผ่านวิทยุ ผ่านโทรทัศน์ รวมไปถึงโฆษณาที่ชวนให้เราเชื่อว่าเรามีแผ่นดินนี้อยู่อย่างร่มเย็นเพราะบุญญาธิการของชนชั้นนำ เราเป็นหนี้บุญคุณชนชั้นนำ และหน้าที่ของเราในฐานะประชาชนคือยินยอมหมอบกราบ สำนึกในบุญคุณ และทำหน้าที่เป็นลูกที่ดี ไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่ก่อความวุ่นวาย เป็นลูกที่ว่านอนสอนง่าย ไม่ก่อความขัดแย้ง ต้องสมานฉันท์โดยไม่ตั้งคำถาม เพราะตั้งคำถามเมื่อไร มึงกลายเป็นตัวขัดขวางความเจริญไปในทันที และมึงจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย


 


รัฐประหารในครั้งนี้อาจเท่ากับเป็นการตัดตอน การเติบโตของขบวนการภาคประชาชนที่เริ่มมีบทบาทมากหลังใช้ รธน.ปี 40 แต่พูดกันว่า ร่าง รธน. 50 มีพื้นที่ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพมากขึ้น มองประเด็นนี้อย่างไร


มันตลกมากถ้าจะพูดว่า รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ และท่ามกลางการประกาศกฏอัยการศึกคือรัฐบาลที่รับประกันสิทธิเสรีภาพของพลเมือง และถ้าคุณเชื่อมั่นในเสรีภาพของพลเมือง เชื่อมั่นในวุฒิภาวะของพลเมือง คุณจะไม่ทำการรัฐประหารมาตั้งแต่ต้น


 


อีกประการหนึ่ง สิทธิเสรีภาพไม่อาจสร้างขึ้นหรือเป็นสิ่งที่ประทานลงมาจากคนกลุ่มหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ แต่มันคือประสบการณ์ร่วมกันของสังคมแต่ละสังคม รัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นกฏหมายที่เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย จำเพาะเจาะจง และยิ่งไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องศีลธรรมหรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจพอเพียง รัฐธรรมนูญแบบนี้ถึงที่สุดมันก็เป็นแค่ลายลักษณ์อักษรที่ฟังดู อ่านดูเหมือนจะดี แต่ปฏิบัติจริงไม่ได้ (เพราะตั้งใจไว้แล้วว่าไม่ให้ใช้ได้จริง) ไร้ความหมาย เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองไม่ได้เอื้อ หรือจะสร้างให้เกิดสิทธิเสรีภาพแบบนั้นได้จริง แล้วมันก็ทำให้เราต้องนึกถึงบทความเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วของ อาจารย์ นิธิ เรื่อง "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" ว่าท้ายที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษร มันไม่เคยตรงกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม


 


กำลังมองว่า รธน. ณ ในตอนนี้แท้จริงแล้วอาจจะยังไม่สำคัญ


มองว่า รธน.ที่เขียนโดย ส.ส.ร.(สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) เพียงไม่กี่คน มันไม่มีความสำคัญ แต่ รธน.ปี 40 อย่างน้อยมันผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนและมีการพัฒนาต่อได้ แม้ว่าจะมีอะไรงี่เง่า เช่นต้องจบปริญญาตรีเท่านั้นถึงจะเป็น ส.ส.ได้ แต่กระบวนการมันเปิดโอกาสให้การเมืองภาคประชาชนค่อยๆ มีตัวตนได้ ซึ่งตรงนี้ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ รธน.จริงๆ ไม่ใช่เปลี่ยนจากข้างบนแต่เป็นการผลักดันจากกลุ่มหลายกลุ่มในเมืองไทยที่หลากหลาย ที่คิดว่ามันต้องเป็นการต่อรองผลประโยชน์ ของหลายกลุ่ม หลายเครือข่าย แล้วมันก็จะเกิดการผลลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาของ รธน. ถ้าสังคมเราได้โอกาสอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์กับฉบับวัฒนธรรมมันจะจูนมาหากันได้ เริ่มมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกัน


 


แสดงว่ามองตัวของ รธน. ก็คือตัวพื้นที่ต่อรอง


ใช่ค่ะ ดังนั้น มันจึงไม่ควรละเอียดแบบนี้ ควรจะเป็นกรอบกว้างๆ และสิ่งที่สำคัญคือการให้สิทธิ เสรีภาพแก่พลเมืองจริงๆ และเปิดโอกาสให้เขาเข้าไปปะทะสังสรรค์ มีการต่อรองกับผลประโยชน์ของกันและกัน มันเป็นการผลักดันกฎหมายลูกต่างๆ ออกมา


 


หมายความว่า ร่าง รธน. ปี 50 นี้ไม่เปิดโอกาสตรงนี้ใช่ไหม


ถ้อยคำเหมือนจะเปิด แต่เขาจะปิดกั้นการเรียนรู้ของสังคม เช่นให้เข้าชื่อได้สองหมื่นชื่อ จากฉบับที่แล้วต้องใช้ถึงห้าหมื่นชื่อ แต่ในบรรยากาศการเมือง การกล่อมเกลาทางสังคมที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดต่อไป มีการสร้างบรรยากาศความกลัว ความหวาดระแวง มีกลไกทางอำนาจที่ทำให้เรายอมเซ็นเซอร์ตัวเอง บรรยากาศแบบนี้อย่าว่าแต่สองหมื่นชื่อเลย แค่ห้าร้อยชื่อก็จะรวบรวมมาไม่ได้ เพราะปฏิบัติการทางการเมืองของคนกลุ่มน้อยจะถูกลดทอนความชอบธรรมอย่างต่อเนื่อง


 


มองการให้มีการลงประชามติว่าอย่างไร


มันก็แค่ให้ออกไปลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับ ฉันคิดว่ามันเป็นกลหลอกลวง เป็น trickของรัฐบาลเผด็จการที่จะสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง ซึ่งจริงๆ แล้วคุณไม่มีสิทธิ์ สิ่งที่สำคัญคือ คุณควรจะรีบออกไป ไม่ควรมานั่งเขียน รธน.อะไร ควรจะดึงเอา รธน.ที่มีอยู่แล้วและถ้าคุณจริงใจ ก็ควรจัดการเลือกตั้งแล้วที่เหลือก็เป็นกระบวนการหลังการเลือกตั้ง หรือถ้าคุณซื่อสัตย์กับตนเองพอ ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ไปเลย ไม่ต้องมาเสียเงิน เสียเวลาทำประชามติ แต่นี่มันเหมือนหลอกเอาเสียงประชามติมาฟอกตัวเองให้ขาว แล้วถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านแล้วเมืองไทยมัน fuck up คุณก็บอกว่า เฮ้ยนี่มันเป็นมติของประชาชน พวกมึงเลือกกันเอง กูเปิดโอกาสให้โหวตแล้ว ช่วยไม่ได้


 


แต่ทั้ง คมช. และ ส.ส.ร. ก็พยายามออกมายกข้อดีของร่าง รธน.ตัวนี้


นั่นก็เพราะเขามาสู้ประเด็นนี้ไม่ได้ไง ประเด็นว่าเขาไม่มีความชอบธรรม ตั้งแต่มีการตั้ง ส.ส.ร.แล้ว อยู่ๆ ก็มาร่าง รธน.ที่ตนเองว่าโคตรดี จะเอาแต่คนดีๆ ไว้ ชั่วเอาออกไป แล้วก็หลอกให้คนคิดว่าให้โอกาสมาลงประชามติ แต่ดินคิดว่ามันเป็นการเรียกค่าไถ่มากกว่า เพราะบอกว่าถ้าไม่รับก็อาจไม่มีการเลือกตั้งก็จำเป็นจะต้องรับ ซึ่งที่ว่านี้เป็น trick ที่สกปรกมาก เหมือนกับว่า การเอาการเลือกตั้งเป็นตัวประกันเรียกค่าไถ่คนทั้งประเทศ ทำให้คนรู้สึกว่า เฮ้ย รับๆ ไปเถอะ ถ้าไม่รับเราจะไม่ได้เลือกตั้งเสียทีนะ การเมืองไทยจะติดหล่ม เศรษฐกิจก็จะชะงัก ไปทำมาค้าขายกับใครไม่ได้


 


อย่างนี้แล้วจะไปลงประชามติหรือไม่


ไปค่ะ แม้ว่าหลายคนบอกว่าเราควรจะบอยคอร์ตการประชามตินี้ แต่จะไปโหวต No ไม่ใช่เพื่อให้ รธน.ผ่านหรือไม่ผ่าน แต่เป็นการแสดงสปิริตที่จะบอกกับรัฐบาลนี้ว่าคุณไม่อาจจะ manipulate ประชาชนได้ง่ายๆ อีกต่อไป อย่างน้อยมีเสียงคนไม่มากก็น้อยที่บอกว่าคุณไม่ชอบธรรม แม้จะตระหนักว่าประชามตินี้มันแสนจะ absurd แต่เราแทบจะไม่มีทางเลือก


 


แล้วคาดการณ์หรือไม่ว่า หลังจากประชามติแล้วสังคมไทยจะเป็นในลักษณะไหน จากเดิมที่มอ


งว่าค่อยๆ โตขึ้นและมีพื้นที่การต่อรองมากขึ้นแล้ว


คิดว่าจะมีกระบวนการที่ทำให้เราโง่ลง เชื่องลง และสุดท้ายก็กลับเป็นเด็กทารกที่ช่วยตัวเองไม่ได้ เป็นทารกที่ถูกเลี้ยงให้เติบโตขึ้นมาด้วยยากล่อมประสาทแบบ สามัคคี สมานฉันท์ พอเพียง รักชาติ พลีชีพเพื่อชาติ ปกป้องชาติจากศัตรูและผู้ไม่หวังดี เชื่อมั่นในศีลธรรมตื้นๆ เห็นสีแค่สองสีในโลกนี้คือขาวกับดำ


 


แต่ขบวนการเกิดรัฐประหารครั้งนี้ เงื่อนไขค่อนข้างต่างจากครั้งอื่น เพราะคล้ายกับประชาชนส่วนหนึ่งเรียกร้องให้เกิดขึ้นเอง


การที่ประชาชนออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบรัฐบาลทักษิณ การแฉโพยความชั่วร้ายของทักษิณที่ได้รับการตอบรับเป็นอันดีจากสังคมไม่ได้แปลว่า "เราต้องการรัฐประหาร" ถ้าความทรงจำเราไม่สั้นเกินไป เราคงพอจำได้ถึงกระบวนการฉวยใช้พลังของประชาชนที่ออกมาด่าทักษิณในการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารของคนกลุ่มหนึ่ง เราในฐานะของคนที่ด่าทักษิณมาตลอดก็ต้องยอมรับว่าเราเองมีส่วนช่วยให้การรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ไม่ตั้งใจ แต่ตอนนั้นเราหวังว่านี่จะเป็นบทเรียนของสังคมในการตรวจสอบนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของเรา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นกระบวนการสร้างตัวละครที่ชื่อทักษิณขึ้นมาให้เป็นฝ่ายอธรรมโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถวิเคราะห์ทักษิณในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์หนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย กลายเป็นว่าเราเห็นแต่ภาพผู้ร้ายหน้าเหลี่ยมที่กำลังจะเขมือบเมืองไทยทั้งเมือง


 


คล้ายกับว่าการเมืองไทยต้องสร้างศัตรูขึ้นมาก่อน แล้วหลังจากนั้นก็สร้างความชอบธรรมด้วยการจัดการศัตรูด้วยศีลธรรมใช่ไหม


ใช่ เรื่องศีลธรรม และเจาะจงด้วยว่าเป็นเรื่องคอร์รัปชั่น และไคลแม็กซ์ของมันคือเรื่อง "สมบัติของชาติ" สิ่งที่อ่อนไหวที่สุดในวิธีคิดแบบไทยคือเมื่อไหร่ที่มึงเอาสมบัติของชาติไปขายมึงต้องตาย แล้วทักษิณก็โนเรื่องนี้เรื่องขายสมบัติของชาติ ทั้งๆ ที่ประเด็นที่แหลมคมกว่านี้คือประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชน มันขายไม่ได้กับโลกทัศน์ชาตินิยมแบบไทย เราอินกับคำว่าสมบัติของชาติโดยที่เราไม่เห็นรู้เลยว่า ชาติคืออะไร แล้วสมบัติของชาติที่ว่าเราเคยเห็น เคยได้เป็นเจ้าของร่วมกันจริงหรือเปล่า แล้วคนอย่างพวกเราเป็นส่วนหนึ่งของ "ชาติ" ที่เขาพูดๆ กันหรือไม่


 


มันอันตรายหรือไม่กับการยกเอาศีลธรรมขึ้นมาเพื่อควบคุม กำกับ จัดการสังคมเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้


ไม่ได้มองว่าอันตรายหรือไม่อันตราย เพราะจริงๆ แล้ว ศีลธรรมมันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่คนใช้กันมาตลอดไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน แต่สนใจว่าพวกเราเข้มแข็งพอที่จะตั้งคำถามกับศีลธรรมที่ว่าหรือไม่ เพราะดูเหมือนเราจะถูกกล่อมให้ลอยละล่องอยู่กับศีลธรรมที่จำลองมาจากละครหลังข่าว และวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ในชีวิตแบบคนที่เติบโตมากับรายการเรียลลิตี้โชว์เสียแล้ว


 


ไม่จำเป็นใช่ไหมที่จะต้องเอา ศีลธรรม จริยธรรม ไปบรรจุชื่อใน กฎหมาย


ก็อย่างที่บอก มันเป็นอะไรที่น่าขบขัน


 


แล้วมองว่าความพอเพียงมันใช้ได้กับสังคมยุคปัจจุบันได้หรือเปล่า


สังคมไหนก็ใช้ไม่ได้ คุณจะรู้จักพอเมื่อคุณหมดลมหายใจเท่านั้นแหละ มันเป็นคำพูดหลอกเด็ก คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงแบบที่เรารู้จักกันสมัยก่อน แบบผู้ใหญ่วิบูลย์ มันคือรูปแบบการจัดการเศรษฐกิจในครัวเรือนแบบหนึ่ง การทำการเกษตรแบบหนึ่งที่โดยกระบวนการของมันมุ่งขจัดความละโมบที่ระบอบทุนนิยมสอนให้เราเป็น มันหมายถึงการทำมาหากินที่กอรปไปด้วยเมตตาธรรม มันไม่ใช่มึงมีสิบบาทก็ให้พอกับเงินสิบบาท มึงมีโตยาต้ามึงก็พอเพียงกับโตโยต้า มึงมีเฟอรารี่มึงก็พอเพียงกับเฟอรารี่ของมึง มึงมีพันล้านมึงก็อยู่พอเพียงแบบพันล้านไม่ใช่ โคตรจะไม่ใช่ แต่พอเพียงแบบที่พูดกันดาษๆ ทุกวันนี้คือ มึงจนก็อยู่อย่างจนอย่ามาสะเออะอยากได้ อยากมี อยากเสพเหมือนกูคนรวย คนมันมีบุญไม่เท่ากัน อย่าดิ้นรนเรียกร้องเลย อย่ามาม็อบ ไปทำบุญไว้เถอะ เผื่อชาติหน้าจะเกิดมารวยกับเขาบ้าง


 


ในฐานะที่คุณเคยอยู่ประเทศญี่ปุ่นพอจะอธิบายเกี่ยวกับ รธน.ของญี่ปุ่นมาเปรียบเทียบได้หรือไม่


คิดว่าถ้าจะเอาเรื่องรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นมาเทียบกับของเมืองไทย มันเทียบเท่ากันเลยไม่ได้ เพราะญี่ปุ่นเป็นระบอบการปกครองที่การเมืองท้องถิ่นสำคัญกว่าส่วนกลาง เพราะมีแค่ 4 กระทรวงหลักๆ ที่ดูแลส่วนกลาง แต่อย่างอื่นขึ้นอยู่กับการปกครองส่วนท้องถิ่นหมด


 


แสดงว่าประเทศญี่ปุ่นมีการกระจายอำนาจค่อนข้างสูง


ไม่ใช่แค่การกระจายอำนาจสูง แต่ที่นั่นมีการกระจายอำนาจไปเรียบร้อยแล้ว


 


ก่อนจะลงประชามติกันในวันอาทิตย์นี้ อยากให้พูดสื่ออะไรง่ายๆ ให้ชาวบ้านต่อการรับหรือไม่รับการรับร่าง รธน.


ถ้าคุณคิดว่าที่มาของมันไม่ชอบธรรม ก็ไม่ต้องดูเนื้อหาต่อแล้ว ดูแค่ที่มาของมันก็พอ เราไปเพื่อสปิริตที่จะบอกว่าเราไม่เอาเผด็จการและเราจะไม่ยอมให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย แต่ถ้า รธน.ฉบับนี้ผ่าน ก็อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ กระแสการคัดค้านอาจจะนำไปสู่อะไรที่รุนแรงไปเลย คือถ้าผ่านการต่อสู้ก็อาจจะชัดเจนขึ้น แต่ถ้าไม่ผ่านก็ต้องยื้อกันไปอีก แต่ลึกๆ ก็แอบคิดว่า ผ่านก็อาจจะดีเพราะสมมติว่าถ้าไม่ผ่าน แล้วยื้อก็ต้องเล่นเกมหลอกเราไปอีกหลายยก


 


สภาพสังคมไทยพูดถึงการประนีประนอมอย่างนี้มานานแล้วใช่ไหม


ใช่ และเราก็อยู่ในวาทกรรมที่บอกว่าเราต้องสามัคคีกัน อย่าสร้างความแตกแยก


 


มีกระแสว่าชาวบ้านบางส่วนยังรักทักษิณอยู่ และจะไปโหวตไม่รับร่าง รธน.50 ถ้าเราไปโหวตไม่รับด้วย เขาจะไม่คิดว่าคุณรักทักษิณหรือ


มันจะไร้เดียงสาขนาดนั้นเลยหรือและคำถามต่อไปคือ รักทักษิณแล้วไง? ชาวบ้านที่รักทักษิณเขาก็รู้ว่าเขามีผลประโยชน์ที่จะเข้าไปต่อรองกับรัฐบาลแบบนั้นได้ ในยุคก่อนคนไปเลือก ส.ส. แล้วไม่รู้ว่า ส.ส.ไปทำอะไรให้ตัวเองในเชิงนโยบาย ก็จะเกิดคำถามว่าเลือกตั้งทำไม แต่หลังรธน. ปี 40 ชาวบ้านจะรู้ว่าเลือกตั้งทำไม และเขาก็จะเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล ซึ่งมันเป็นการเริ่มต้นที่ดี กระบวนการที่เรียนรู้จากรัฐบาลทักษิณ จริงๆ แล้วทำให้เราเข้มแข็งขึ้นและเป็นบทเรียนทางการเมืองที่เราต้องผ่าน


 


หมายความว่า ถ้าชาวบ้านยังรักทักษิณอยู่ แล้วออกมาลงประชามติ อย่างนี้ คมช. ก็น่าจะรู้ตัวว่าสิ่งที่ต่อสู้อยู่ไม่มีประโยชน์


ก็ไม่แน่ อาจจะมีการเซ็นเซอร์มากขึ้น เราอาจจะอยู่ในบรรยากาศของความกลัวไปโดยอัตโนมัติ


 


เหมือนกับว่า ประชาธิปไตยแต่เดิมนั้นมันเป็นเรื่องของชนชั้นกลาง แต่คนระดับล่างเพิ่งได้เข้ามาสัมผัสกับประชาธิปไตย ในช่วงหลังใช้ รธน.40 หรือไม่


จริง แล้วคนชั้นกลางถูกทำให้เชื่อมาตลอดว่าปัญหาของประชาธิปไตยคือการซื้อเสียงของคนชั้นล่าง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ นี่เป็นปัญหาทางวิธีคิดของคนชั้นกลางที่ฝันที่จะมีนักการเมืองที่ดี เข้ามาบริหารบ้านเมือง แล้ววัดความดี เลวกันแบบละครหลังข่าว มีผู้ร้าย มีพระเอก ไม่ยอมรับความจริงที่ว่าการเมืองมันเป็นเรื่องการต่อรองเรื่องผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม โดยส่วนตัวเห็นว่า การซื้อเสียงเป็นอุปสรรคของประชาธิปไตยก็ผิดแล้ว เพราะมองว่ากระบวนการซื้อเสียงคือกระบวนการที่เราเข้าไปต่อรองกับตัวแทนของตนได้โดยตรงด้วยซ้ำไป


 


มองว่าการซื้อเสียงไม่ผิดหรือ


อย่าไปมองว่าผิดหรือถูก เพราะถ้ามองว่า ผิด ถูก ดี เลว เราต้องไปขอเทวดามาปกครองเราทุกที เพราะดันไปเชื่อเทวดานั้นปลอดสารพิษ ถูก สะอาด ดีงาม แต่การซื้อเสียงมันเป็นกระบวนการต่อรองทางการเมืองภายใต้เงื่อนไขของสังคมแบบหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วเราต้องคิดว่า ถ้าเราเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยในประชาชน สักวันหนึ่งเราจะผ่านเงื่อนไขตรงนี้ไปได้


 


คือเชื่อว่าวันหนึ่งมันจะหายไปเอง


มันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเลย เช่น 30 บาท ก็คือการพัฒนาการของการซื้อเสียงแล้ว คุณจะต้องทำบางอย่างให้กลายเป็นนโยบาย แล้วถ้ามีช่องโหว่ตรงที่อื่นๆ มันก็จะมีการต่อรอง กันไปอีกเรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่าต้องมีการเสริมอำนาจให้กับประชาชน และการเสริมอำนาจที่สำคัญ คือ คุณต้องสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคมด้วย


 


คิดว่าหลังจากมีการลงประชามติแล้ว ชาวบ้านประชาชนจะมีการเคลื่อนไหว หรือปรับตัวอย่างไรบ้าง


ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเคลื่อนกันไปแบบไหน แต่เท่าที่ดู ถ้าเกิดว่ารัฐบาลรัฐประหารทำสำเร็จก็เท่ากับว่าตัดมือตัดเท้าของประชาชนออกหมด ก็จะเหลืออีกกลุ่มหนึ่งที่จะต้องลุกขึ้นมา และจะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ตีนถีบ ปากกัดไปกับเฉพาะเรื่องปัญหาปากท้อง เพราะฉะนั้น การเมืองกระบวนการประชาชนก็จะหดไปเหลือที่ตัวผู้นำไม่กี่คนที่ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่


 


 


 






"คำ ผกา" เป็น 1 ในนามปากกาของ ลักขณา ปันวิชัย ในขณะที่นามปากกาอื่นๆ ก็เป็นที่รู้จักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ฮิมิโตะ ณ เกียวโต หรือ ปันคำ ณ ปันนา


 


"คำ ผกา" จบการศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เกียวโต


"คำ ผกา" โดดเด่นในวรรณกรรมที่มีเนื้อหาค่อนข้างเปิดเผยในมุมมองหนึ่งอีกด้านของผู้หญิง และภาษาที่มีสีสันเพียงชื่อ "ดอกทอง" ของเธอก็ทำให้นึกเตลิดถึงเรื่องราวได้มากมาย ในขณะที่หลายครั้งบทสัมภาษณ์ของเธอกลับทิ่มแทงไปที่หน้ากากสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมา

สำหรับผลงานที่ผ่านมาได้แก่ กระทู้ดอกทอง จดหมายจากเกียวโต จดหมายจากสันคะยอม ยำใหญ่ใส่ความรัก รักไม่เคยชิน ผลงานแปลคือ เซี่ยงไฮ้เบบี้ ผลงานเขียนร่วม อิสตรี-อีโรติก Open House October ริมฝีปาก เรียกฉันว่า...ผู้หญิงพิเศษ และล่าสุดหลังเหนื่อยล้าทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทราบมาว่าเธอกำลังมีหนังสือทำอาหารมาให้ชิมบนแผงหนังสือในอีกไม่นานนี้


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net