Skip to main content
sharethis

พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ แปลและเรียบเรียง


 



 




ผู้สนับสนุนกลุ่มเหมาอิสต์เดินขบวนและชุมนุมในกรุงกาฏมาณฑุ ประกาศถอนตัวจากรัฐบาลเฉพาะกาล และเรียกร้องให้ประเทศกลายเป็นสาธารณรัฐก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน
(AP Photo/Binod Joshi)


 



นายภาพุราม ภาทาไร (Baburam Bhattarai) ผู้นำอันดับสองของพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) ปราศรัยในกรุงกาฏมาณฑุวานนี้


(ที่มาของภาพ AFP/Prakash Mathema)


 


พรรคคอมมิวนิต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกลุ่มเหมาอิสต์ประกาศถอนตัวออกจากรัฐบาลเฉพาะกาลของเนปาลเมื่อวันอังคารนี้ (18 ก.ย.) และประกาศว่าจะขัดขวางการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ หลังจากที่พรรคการเมืองในสภาปฏิเสธข้อเสนอของกลุ่มเหมาอิสต์ที่เรียกร้องให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ทันที


 


 


เดินขบวนในเมืองหลวง หลังประกาศถอนตัวจากรัฐบาล


หลังจากที่กระบวนการสันติภาพในเนปาลดำเนินมาเป็นเวลากว่า 10 เดือน บัดนี้ ฝ่ายซ้ายจัดกล่าวว่าพวกเขาควรจัดประท้วงบนท้องถนน เพื่อกดดันกษัตริย์คเยนทราผู้ไม่เป็นที่นิยมให้ลาออกและทำให้ประเทศกลายเป็นสาธารณรัฐ


 


"พวกเราจะไม่ทำตามกฎหมายประกอบการเลือกตั้งและแผนการสำหรับการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนทั้งหลาย" ผู้นำกลุ่มเหมาอิสต์อันดับสอง นายภาพุราม ภาทาไร (Baburam Bhattarai) กล่าว


 


ภายใต้สัญญาสันติภาพที่กลุ่มเหมาอิสต์และพันธมิตรพรรครัฐบาล 7 พรรคลงนาม มีผลทำให้สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมานับทศวรรษยุติลง และคาดว่าอนาคตของสถาบันกษัตริย์ของเนปาลจะถูกตัดสินผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการเลือกสมาชิกสภาในเดือนพฤศจิกายนนี้


 


แต่กลุ่มเหมาอิสต์ยืนยันว่าฝ่ายนิยมสถาบันกษัตริย์มีแผนการที่จะแทรกแซงการเลือกตั้ง และกลุ่มเหมาอิสต์ต้องการให้กษัตริย์เนปาลลาออกทันที


 


ทั้งนี้วานนี้ (18 ก.ย.) มวลชนของกลุ่มเหมาอิสต์ประมาณ 5,000 คนได้เดินขบวนไปตามท้องถนนในกรุงกาฏมาณฑุ โดยนายภาทาไร ได้เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งดังกล่าวเสมือนเป็นการตัดสินอนาคตของระบอบกษัตริย์ เพราะจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


"การประท้วงของพวกเราจะเป็นไปอย่างสันติ แต่ถ้ามีใครพยายามสร้างความรุนแรงกับเรา เราจะตอบโต้ด้วยการกระทำแบบเดียวกัน" นายภาทาไรเตือน ในระหว่างการปราศรัยต่อหน้าฝูงชนที่โบกธงแดงไปมา


 


"พวกเราคิดว่ารัฐบาลกำลังเล่นละคร"


 


ภาทาไรกล่าวว่าถ้าไม่มีการประกาศให้เนปาลเป็นสาธารณรัฐก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งดังกล่าวก็จะเป็นเรื่องชวนขบขัน


 


 


ความล้มเหลวของการเจรจาที่บาลูทาวาร์


"พวกเราได้ถอนตัวออกจากรัฐบาลในบ่ายวันนี้ (18 ก.ย.) หลังจากล้มเหลวในการเจรจาให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ของเนปาลทันที และเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน" กรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) อาวุโส เทพ กุรุง (Dev Gurung) กล่าวกับเอเอฟพี


 


ทั้งนี้ การประกาศถอนตัวดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากการหารือของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเฉพาะกาล ที่บ้านบาลูวาทาร์ (Baluwataar) บ้านพักรับรองนายกรัฐมนตรีของทางการ


 


โดยผู้หารือประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรีกิริยา ปราสาท กัวราลา (Girija Prasad Koirala) แห่งพรรคคองเกรสเนปาล, เลขาธิการทั่วไปพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (รวมมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์) (CPN-UML) นายมาดาฟ คุมาร์ (Madhav Kumar), ประธานพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกลุ่มเหมาอิสต์ นายประจันดา (Prachanda) และประธานพรรคคองเกรสเนปาล (ประชาธิปไตย) นายเชอร์ บาหาเดอร์ ดือบา (Sher Bahadur Deuba) โดยมีนายประกาศ (Prakash) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เอกภาพ) เป็นตัวกลางในการหารือ โดยเป็นหารือใน 22 ข้อเรียกร้องของกลุ่มเหมาอิสต์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือต้องการให้รัฐบาลเฉพาะกาลประกาศให้เนปาลเป็นสาธารณรัฐ


 


 


โครงการรณรงค์ "ทั่วประเทศ" ให้เนปาลเป็นสาธารณรัฐ


โดยการเจรจาขณะนี้ แม้ว่าฝ่ายเหมาอิสต์จะประกาศถอนตัวออกจากรัฐบาลชั่วคราว แต่ยังคงมีความหวังว่าพวกเขาจะเปลี่ยนใจ เพราะการลาออกนี้ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ และกลุ่มเหมาอิสต์ก็ยังไม่ออกจากพันธมิตร 8 พรรคการเมือง (the Eight Party Alliance - EPA) โดยนายประกาศ ซึ่งเป็นตัวกลางของการหารือ ยังคงมีความหวังหากวันพรุ่งนี้พันธมิตร 8 พรรคการเมืองจะเรียกประชุม


 


นอกจากการประท้วงในเมืองหลวงแล้ว ยังมีรายงานว่ากลุ่มเหมาอิสต์ได้จัดการเดินขบวนประท้วงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยสถานีวิทยุคันติปูร์รายงานว่าผู้สนับสนุนกลุ่มเหมาอิสต์จัดการชุมนุมเงียบในเมืองจิตวัน (Chitwan) และนักรบของเหมาอิสต์ในเขตชากิจกอ (Shakitkhor) ก็จัดประท้วงเช่นกัน


 


นอกจากนี้กลุ่มเหมาอิสต์ ยังมีโครงการรณรงค์ให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ ทั้งในรูปแบบเคาะประตูบ้านในวันที่ 19-22 ก.ย. นี้ และในวันที่ 22-29 ก.ย.จะมีการชุมนุมมวลชนในเทศบาลต่างๆ


 


การรณรงค์ในวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งจะมีการเลือกตั้งตัวแทนผู้สมัครสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มเหมาอิสต์ รณรงค์ในวันที่ 29 ก.ย. -2 ต.ค. ซึ่งจะมีการเปิดเผยชื่อของคนที่ถูกคณะกรรมการรายามาจิ (Rayamajhi Commission) ฟ้องร้อง ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวเป็นคณะทำงานสืบสวนข้อเท็จจริงการสลายการประท้วงต่อต้านกษัตริย์คยาเนนทราในเดือนเมษายนปีที่แล้ว


 


และกลุ่มเหมาอิสต์ จะประกาศหยุดงานทั่วประเทศในระหว่างวันที่ 4-6 ต.ค. นี้ด้วย


 


 


นักวิเคราะห์คาดเหมาอิสต์ออกจากรัฐบาล เหตุหวั่นเลือกตั้งคะแนนน้อย


นักวิเคราะห์กล่าวว่าการที่เหมาอิสต์ออกมาเคลื่อนไหวเป็นเพราะพวกเขาคาดว่าจะไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาสูงมากนัก โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้นำเหมาอิสต์ "ประจันดา" (Prachanda) เรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปในเดือนเมษายนปีหน้า


 


"พวกเหมาอิสต์เชื่อว่าอำนาจของพวกเขากำลังถูกทำให้ลดลง" ศ.ลักค์ ราช ภาราล (Lak Raj Baral) อาจารย์ทางรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยตรีภูยัน (Tribhuyan) กล่าว


 


แม้ว่าอดีตกบฎจะยุติการต่อสู้ด้วยการใช้อาวุธ และให้นักรบและอาวุธอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ แต่หลังการถอนตัวจากรัฐบาลเฉพาะกาล คาดว่าจะมีการประท้วงของกลุ่มเหมาอิสต์ตามมา


 


ทั้งนี้ พลพรรคเหมาอิสต์ได้บ่นเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นในค่ายมาหลายเดือนแล้ว นี่เป็นสิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความยากลำบากในการที่พวกเขาต้องเปลี่ยนจากนักรบที่แข็งกร้าวมาสู่การเป็นพรรคการเมืองกระแสหลัก


 


 


สหประชาชาติวิงวอนเหมาอิสต์ทำตามสัญญาสันติภาพ


ขณะที่สหประชาชาติได้เตือนให้กลุ่มเหมาอิสต์อดทนต่อข้อตกลงที่ได้ลงนามเมื่อปีที่แล้ว


 


"คณะผู้แทนของสหประชาชาติในเนปาล เรียกร้องให้ผู้นำเหมาอิสต์ทำตามข้อตกลงที่ให้รักษากองกำลังของเหมาอิสต์ไว้แต่ในที่ตั้ง ห้ามมิให้เคลื่อนย้ายเข้ามาเดินขบวนทางการเมือง" นายกีรัน ดวเยอร์ (Kieran Dwyer) โฆษกของคณะผู้แทนของสหประชาชาติในเนปาล (The United Nations Mission in Nepal - UNMIN) กล่าว


 


"พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค (หมายถึง 7 พรรคการเมืองในสภาและพรรคคอมมิวนิสต์ (เหมาอิสต์) หรืออดีตกบฎเหมาอิสต์) และประชาคมนานาชาติควรจับตามองเรื่องนี้อย่างกระตือรือร้นเพื่อให้เรื่องนี้คลี่คลายไปในทางที่ดี ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามกำหนดเวลา สงบ และมีความยุติธรรม" เขากล่าว


 


นักการเมืองจากพรรคการเมืองในสภาต่างท้อแท้ต่อการตัดสินใจของกลุ่มเหมาอิสต์ โดยพรรคการเมืองในสภาทั้ง 7 ส่วนใหญ่ต้องการให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์เนปาลที่สืบทอดมากว่า 238 ปี แต่ก็ต้องการให้ที่มาของกระบวนการนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการเลือกตั้ง


 


"พวกเราหวังว่ากลุ่มเหมาอิสต์จะทบทวนการตัดสินใจอันนี้ ซึ่งมันอาจทำให้การเตรียมการเลือกตั้งล้มเหลว" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายราม ชารัน มาหัด (Ram Sharan Mahat) กล่าว


 


ขณะที่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (รวมมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์) (the Communist Party of Nepal [Unified Marxist-Leninist]) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองอันดับสองของเนปาล ได้วิจารณ์การถอนตัวจากรัฐบาลเฉพาะกาลของกลุ่มเหมาอิสต์ ซึ่งยังคงมีชื่ออยู่ในบัญชีองค์กร "ก่อการร้าย" ของสหรัฐอเมริกา


 


โดยผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ (รวมมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์) นายมาทาฟ คุมาร์ (Madhav Kumar) กล่าวว่า "ประตูสำหรับการเจรจายังคงเปิดเสมอ และเราหวังจะทำลายความแตกต่างด้วยการพูดคุยกันให้มากยิ่งๆ ขึ้น"


 


ขณะที่อาจารย์บาราล ยังกล่าวอีกว่าการเคลื่อนไหวของเหมาอิสต์ดังกล่าวนับเป็น "โชคไม่ดีของพัฒนาการทางการเมือง" ของประเทศที่ยากจนแห่งนี้ ซึ่งค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นมาอย่างช้าๆ หลังสงครามกลางเมืองที่ยาวนานนับสิบปี


 


ทั้งนี้ กษัตริย์คยาเนนทรา (King Gyanendra) ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2544 กลังจากที่เจ้าชายดิเพนทราซึ่งอยู่อาการมึนเมา ได้กราดยิงสมาชิกในราชวงศ์ชาห์ รวมทั้งกษัตริย์พิเรนเทพ และเจ้าชายดิเพนทราก็ได้ยิงพระองค์เองด้วย


 


ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2548 กษัตริย์คยาเนนทราได้ยึดอำนาจมาจากรัฐบาล และทำการปกครองเอง แต่ก็ถูกประชาชนประท้วงให้พระองค์ลงจากอำนาจ และโดดเดี่ยวพระองค์หลังจากที่พรรคการเมืองทั้ง 7 และกลุ่มเหมาอิสต์ทำสัญญาสันติภาพ


 


ทั้งนี้ พระราชอำนาจของกษัตริย์คยาเนนทรา และตำแหน่งประมุขของประเทศ ขณะนี้ก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว


 


………………………………..


แปลและเรียบเรียงจาก


Maoists quit government in blow to Nepal peace pact by Subel Bhandari


Maoists Quit Nepal Government, Political Crisis in the Country September 18, 2007


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net