Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวประชาธรรม รายงานว่า วานนี้ (29 ต.ค.) นายบุญจันทร์ จันหม้อ หัวหน้าจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อน 90.75 MHz ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เผยว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันประชุมประจำเดือนของคณะกรรมการและอาสาสมัครผู้ดำเนินรายการของจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนและชมรมกะเหรี่ยงสัมพันธ์ ขณะทำการประชุมปรากฏว่ามี ร.ต.ชวลิตร ศิริทรัพย์ เจ้าของวิทยุชุมชนฮอด เรดิโอ ซึ่งเป็นวิทยุชุมชนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เข้ามาแจ้งในที่ประชุมว่า ต่อไปนี้ชาวบ้านจะจัดรายการวิทยุชุมชนเป็นภาษากะเหรี่ยงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะ กอ.รมน.ไม่อนุญาต จะอนุญาตเฉพาะภาษากลางและภาษาคำเมืองเท่านั้น หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกปิดสถานี


 


นายบุญจันทร์ กล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจแก่ชาวบ้านอย่างมาก เพราะการสั่งห้ามพูดภาษากะเหรี่ยงออกอากาศรายการวิทยุเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิในการสื่อสารของประชาชน อีกทั้งคำสั่งดังกล่าวก็ปรากฏว่าไม่มีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นชาวบ้านก็ยุติการจัดรายการออกอากาศเป็นภาษากะเหรี่ยงเป็นการชั่วคราว พร้อมกันนั้นได้ประสานไปยังอำเภอฮอดถึงกรณีคำสั่งดังกล่าวก็ได้รับคำตอบว่าทาง กอ.รมน.มีคำสั่งดังกล่าวจริงโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง


 


หัวหน้าจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อน กล่าวอีกว่า ตนเชื่อว่าเหตุผลในการสั่งห้ามวิทยุชุมชนออกอากาศเป็นภาษากะเหรี่ยงนั้นมีเหตุผลทางการเมืองเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เพราะหลังจากการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย.2549 พบว่าการดำเนินการวิทยุชุมชนทหารเข้ามามีบทบาทมากและล้วนอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง นอกจากนี้หลังจากการรัฐประหารไม่นานนักมีการประชุมของสมาคมนักหนังสือพิมพ์และวิทยุ จ.เชียงใหม่ ที่มีการประชุมกันแค่ 10 กว่าสถานี แต่กลับมีการไปลงสัตยาบันกันว่าไม่ให้วิทยุใช้ภาษาที่ขัดต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงภาษากะเหรี่ยงด้วย ขณะที่สถานีวิทยุต่างๆใน จ.เชียงใหม่ มีจำนวนรวมกว่า 200 สถานี


 


"การห้ามครั้งนี้ส่งผลต่อความรู้สึกและจิตใจของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะที่ตั้งของสถานีวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนเป็นชุมชนกะเหรี่ยงโผล่ง ชาวบ้านใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่เขาเคยฟังภาษากะเหรี่ยงออกอากาศด้วยความภาคภูมิใจ เพลงกะเหรี่ยงยุคเก่าที่กำลังเลือนหายไปก็มีวิทยุชุมชนมาช่วยเผยแพร่ไว้ แต่เมื่อมีมาตรการอย่างนี้ออกมาในอนาคตสิ่งเหล่านี้อาจหายไปได้ และที่สำคัญผังรายการวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนมีรายการที่ใช้ภาษากะเหรี่ยงแค่ 2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้นเองและเนื้อหารายการก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย ซึ่งกรณีนี้ชาวบ้านเสียใจมาก" นายบุญจันทร์ กล่าว


 


นายบุญจันทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กรณีที่เกิดขึ้นตนจะทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ให้มีการยกเว้น เพราะเงื่อนไปการยุติใช้ภาษาถิ่นออกอากาศนั้นมีการระบุว่าหากจะใช้ภาษาถิ่นออกอากาศต่อไปได้ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน ดังนั้นช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้จะมีการยื่นหนังสือร้องเรียนดังกล่าวไปยังผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ และหากผู้ว่าฯ ไม่อนุญาตก็จะมีการหาช่องทางเรียกร้องต่อไป


 


ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธ์ รองคณะบดีคณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า มาตรการสั่งห้ามดังกล่าวตนไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะหาก กอ.รมน.อ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงเพราะมองว่าการใช้ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาไทยจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ กอ.รมน.ต้องมองภาษาอื่นมากกว่านั่นคือภาษาที่ไม่ได้ใช้ในประเทศไทย เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษารัสเซีย เป็นต้น แต่ภาษาของวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนเป็นภาษากะเหรี่ยงโผล่ง ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่มีการใช้มานานนับร้อยปี และหากรัฐกลัวว่าข้อความที่สื่อสารออกอากาศจะเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ รัฐก็สามารถหาคนที่จะถอดความหมายให้เข้าใจได้โดยไม่จำเป็นต้องห้ามการออกอากาศ เพราะจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน


 


"น่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้เพราะการแก้ปัญหาโดยการลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนนั้นไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย มีแต่จะทำให้สังคมมองว่าทหารนั้นมีลักษณะเผด็จการที่มุ่งแต่ใช้อำนาจ" ดร.จิรพร กล่าว


 


รองคณะบดีคณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ทางออกต่อมาตรการที่เกิดขึ้นนั้นตนเห็นว่าในความเป็นวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนนั้นกรณีดังกล่าวเป็นโอกาสที่จะรณรงค์ให้คนในท้องถิ่นเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพ กล่าวคือให้ดำเนินการตามที่ กอ.รมน.กำหนดแต่ต้องใช้โอกาสนี้ทำความเข้าใจกับชุมชนถึงเหตุผลที่ไม่สามารถออกอากาศเป็นภาษาถิ่นได้เพราะภาครัฐหวั่นเกรงเรื่องความมั่นคงซึ่งชุมชนจะเห็นเองว่ามาตรการนี้ไร้ความชอบธรรม ไม่เป็นเหตุเป็นผล


 


นอกจากนี้ ในระดับนโยบายตนเห็นว่าภาคส่วนต่างๆที่รับผิดชอบเรื่องสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิชาการ องค์กรที่รณรงค์เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพสื่อต้องหารือกันเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐให้พิจารณาทบทวนมาตรการนี้เพราะเป็นมาตรการที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก และยังขัดแย้งกับการเดินไปสู่สังคมประชาธิปไตยด้วย


 


นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการดังกล่าวของ กอ.รมน.ที่ออกมานั้น ปัจจุบันมีสถานีวิทยุชุมชนที่ใช้ภาษาท้องถิ่น รวมทั้งภาษาอังกฤษถูกสั่งปิดและถูกยึดเครื่องส่งไปแล้วหลายจุด อาทิ  สถานีที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ สถานีเจ็ดยอด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สถานี อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ฯลฯ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net