Skip to main content
sharethis

ในโอกาสการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 9 ประจำปี 2550 หัวข้อ "วัฒนธรรมและจริยธรรมทางการเมือง" ในการอภิปราย "วัฒนธรรมการเมือง จริยธรรม และการปกครอง" ในวันที่ 9 พ.ย. ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอเรื่อง "วัฒนธรรมแห่งศีลธรรมทางการเมืองไทย : ข้อสังเกตบางประการ"  ซึ่งเป็นข้อสังเกตสำหรับสังคมไทยที่น่าสนใจยิ่ง


 


0 0 0


 


รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ


คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


ขอเริ่มต้นโดยคำถามว่า อะไรคือปริศนาใจกลางของปัญหาศีลธรรมทางการเมืองไทย โดยหยิบมาจากสิ่งที่หมอประเวศ (วะสี) พูดที่ธรรมศาสตร์ว่า


 


"พระองค์ทรงตรัสเสมอว่าขอให้ซื่อสัตย์สุจริต พระองค์ทรงอยู่กับเรามานานถึง 60 ปี แต่สังคมไทยศีลธรรมก็ไม่ดีขึ้น เราจะหวังพึ่งใครไม่ได้ ประชาชนต้องช่วยกัน"


 


คำถามคือ ทำไม..ทำไม 30 ปี แล้วจึงเป็นเช่นนี้ ?


 


เพื่อตอบคำถามนี้ผมเรียงออกมาเป็น 6 ประเด็น มีความเชื่อมโยงกันมากบ้าง น้อยบ้าง


 


ประเด็นแรก มาจากการยกตัวอย่างรูปธรรมในชีวิตง่ายๆ  " วันหนึ่งในชีวิตของคุณตา พ. กับชะตากรรมทางศีลธรรมในชีวิตสมัยใหม่" หรือการทำให้คุณค่าทางศีลธรรมมีลักษณะสัมพัทธ์ยิ่งขึ้น


 


ประเด็นที่สอง ที่ทางอันลักลั่นของสถาบันพุทธศาสนา ค่านิยมทางศีลธรรมของพุทธถูกทำให้ออกจากพื้นที่สาธารณะและถูกทำให้ไม่เกี่ยวกับการเมือง


 


ประเด็นที่สาม วิวาทะเรื่องศีลธรรมทางการเมืองระหว่างผู้ที่เชื่อว่ามีสัจธรรมในทางการเมืองกับผู้ที่คิดว่าเป็นเรื่องของเสรีประชาธิปไตย


 


ประเด็นที่สี่ แบบจำลองสังคมปริซึมของไทย ลากไปสู่คำตอบของสังคมไทยว่า อะไรคือการจัดการศีลธรรมทางการเมือง


 


ประเด็นที่ห้า ธรรมราชา พระราชอำนาจนำทางศีลธรรมทางการเมืองในสังคมไทย


 


ประเด็นสุดท้าย การสร้างสถาบันศีลธรรมทางการเมือง


 


เริ่มต้นที่ประเด็นแรก "คุณตา พ." เป็นคนสมมติที่ดึงมาจากข้อเท็จจริงจำนวนหนึ่งของใครหลายๆ คน ตื่นเช้ามืดคุณตา พ. เข้าห้องพระ ในห้องพระของคุณตา พ. มีพระเครื่องและพระพุทธรูปนับร้อยองค์ แล้วก็สวดมนต์ไหว้พระ นี่เป็นสิ่งแรกที่คุณตา พ. กระทำตอนเช้า


 


"ทำธุระส่วนตัว กินข้าวเช้าเสร็จ ตกสายไปวัดริมคลองข้างบ้าน ไปเก็บดอกเบี้ยจากหลวงพ่อหลวงพี่ที่ยืมเงินแกไป เที่ยงกินข้าวกับก๊วนพระเครื่องและเครือข่ายปล่อยเงินกู้ บ่ายออกช็อปปิ้งตลาดนัดพระเครื่อง  เย็นปรึกษาลูกหลานเรื่องหัวคะแนนเลือกตั้ง ส.ว. ที่ติดต่อซื้อเสียง 400 - 500 บาทต่อหัว ถึงเรื่องจริงๆที่ว่าช่วงเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อหลายปีก่อนมีคนจะมาซื้อเสียง แกเลยปรึกษาลูกหลานจะขายดีหรือไม่ ลูกหลานบอกว่าราคาตกมาก ราคาตลาดสูงกว่านี้ 500 บาทถูกเกินไป คุณตา พ. เลยตัดสินใจว่างั้นลงคะแนนให้ ส.ว.หมายเลขเอ็นจีโอที่ลูกหลานเชียร์ ค่ำเข้าห้องพระสวดมนต์ นับชั่วโมง "


 


จากวันหนึ่งในชีวิตทางศีลธรรมของคุณตา พ. เราพูดอะไรได้บ้าง..มันแตกเป็นเสี่ยง มันไม่เป็นเอกภาพ ขัดแย้ง สับสน ในแต่ละภาคส่วน ภาคศาสนา ภาครัฐ การเก็บดอกเบี้ย สะสมพระเครื่อง การเลือกตั้ง มันต่างก็กำกับด้วยตรรกะเฉพาะของมัน เช่น ตรรกะเรื่องจิตวิญญาณ อัตราดอกเบี้ย ของแท้ ของหายาก ราคาขายเสียงหรือจะเลือกคนดี โดยแต่ละตรรกกะก็มีความสมเหตุสมผล ในฐานะเป็นเรื่องที่แกบรรลุเป้าหมายเฉพาะในขอบเขตของแต่ละภาคส่วนนั้นๆ เช่น ไม่เอาบุญไปเอากำไร ไปเอาวัตถุนิยมคุ้มค่าคะแนนเสียงที่ให้


 


พูดง่ายๆว่า ชีวิตคุณตา พ. เป็นชีวิตทางศีลธรรมที่จำกัดหรือปลอดศีลธรรมถ้าเราพิจารณาไขว้ข้ามกันระหว่างภาคต่างๆ ของชีวิตแกจะเห็นความขัดแย้งและไม่คงเส้นคงวา


 


แต่ที่มันไม่ไขว้ไม่ข้าม ชีวิตของคุณตา พ. เป็นตัวอย่างของแบบฉบับชีวิตในสังคมสมัยใหม่ที่แยกส่วน แตกกระจายอยู่ต่างหากนอกเรื่องศีลธรรม หรือจำกัดศีลธรรมไว้เฉพาะภาคส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ได้เป็นและมีความหมายองค์รวมทางศีลธรรมดังชุมชนศาสนาเหมือนในอดีตต่อไป


 


พูดง่ายๆ คือ มันถูกทำให้เป็นเรื่องสัมพัทธ์ เป็นเรื่องในภาคส่วนไหนเวลาไหน เป็นการสูญเสียระบบชีวิตทางศีลธรรมที่เป็นองค์รวมที่อยู่ภายใต้การกำกับของระบบศีลธรรมที่ครอบคลุมทั้งชีวิต ซึ่งเป็นชะตากรรมร่วมของสังคมไทย เราไม่มีมันอีกแล้ว เราฝันกันอยู่


 


เรื่องที่ 2 สถาบันพุทธศาสนา คิดว่ามีปัญหาเรื่องที่ทางอันลักลั่น ไอเดียคือมันออกจากภาคสาธารณะและการเมือง ขออ้างอิงพระไพศาล วิสาโล ซึ่งเป็นพระที่ทำกิจกรรมทางสังคม เอ็นจีโอ ท่านมีบทความประชาธิปไตยกับความรุนแรงในพม่า ทางมติชนรายวันเมื่อ 21 ตุลาคม 2550


 


"การชุมนุมเรียกร้องโดยสันติของพระสงฆ์พม่าซึ่งถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากรัฐบาล จนมีคนล้มตายจำนวนมากได้กระตุ้นให้ผู้นำชาวพุทธทั่วโลกจากทุกนิกายไม่อาจนิ่งเฉยต่อไปได้ ต่างพากันมากล่าวประณามรัฐบาลพม่าเรียกร้องให้ยุติการกระทำอันโหดเหี้ยมดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า สนับสนุนการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์พม่า แต่ท่ามกลางเสียงคัดค้านอันกระหึ่มจากผู้นำชาวพุทธทั่วโลก น่าเสียใจอย่างยิ่งที่คณะสงฆ์ไทยกลับเงียบสนิท ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ มาจากพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเถระสมาคมเลย การฆ่านั้นเป็นการกระทำที่ผิดศีล ยิ่งฆ่าพระสงฆ์ที่ชุมนุมโดยสงบก็ยิ่งผิดทั้งนิติธรรมและศีลธรรม เมื่อผู้นำคณะสงฆ์ไทยนิ่งเฉยจะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำศีลธรรมได้อย่างไร หรือว่าพระสงฆ์ที่ถูกฆ่านั้นเป็นพม่า หากเป็นพระไทยอย่าว่าแต่ถูกฆ่าเลย เพียงแค่บางรูปถูกวิจารณ์ว่าเป็นภิกษุสันดานกาก็เดือดร้อนจนอยู่เฉยไม่ได้แล้ว"


 


พระไพศาลตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า "เป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ผู้นำคณะสงฆ์ไทยนิ่งเงียบต่อกรณีความรุนแรงในพม่าก็เพราะ  1) ท่านไม่ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองหรือความเป็นไปของโลกเลย 2) ท่านทั้งเกลียดทั้งกลัวการเมือง แต่การเมืองที่ท่านเข้าใจนั้นหมายถึงการต่อต้นรัฐบาล (หากสนับสนุนรัฐบาลก็หาใช่การเมืองไม่) ใครที่ต่อต้านรัฐบาลถือว่ายุ่งการเมืองซึ่งแปลว่าเป็นคนไม่ดี"


 


เหตุผลทั้ง 2 ประการแสดงตัวอย่างชัดเจนว่าองค์กรชาวพุทธจำนวนหนึ่ง ยื่นหนังสือถึงมหาเถระสมาคมเพื่อขอให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อบรรเทาความรุนแรงในพม่า ประโยคแรกที่ออกจากปากของพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งซึ่งปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของสมเด็จพระสังฆราชฯ ว่า


 


"พระพวกนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ไม่ใช่หรือ"


 


นี่มิใช่เป็นปัญหาของพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของไทยท่านนั้น หากยังเป็นข้อจำกัดของชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ก็ว่าได้ นี่เป็นข้อเท็จจริงของพระไพศาล ส่วนที่เลขานุการของพระสังฆราชพูดนั้นไม่ปรากฏในหนังสือพิมพ์แต่อยู่ในเว็บไซต์


 


"เราไม่อาจสรุปได้ว่า การเคลื่อนไหวของพระสงฆ์พม่าเป็นสิ่งที่ถูกทำนองคลองธรรมได้ เพราะเรามองศีลธรรมอย่างคับแคบ คือเห็นแค่ศีลธรรมระหว่างบุคคลต่อบุคคลซึ่งหนีไม่พ้นศีล 5 แต่ไม่สามารถมองเห็นว่าศีลธรรมยังหมายถึงข้อปฏิบัติที่บุคคลพึงมีต่อสังคม และสิ่งที่สังคม (หรือรัฐ) พึงปฏิบัติต่อบุคคล การที่บุคคลพยายามปกป้องเสรีภาพ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนซึ่งทำให้บ้านเมืองมีประชาธิปไตยก็เป็นศีลธรรมหนึ่ง ในทำนองเดียวกันรัฐก็มีพันธะทางศีลธรรมที่เคารพสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชนด้วย หน้าที่ของประชาชนไม่ใช่มีเพียงเสียภาษีให้รัฐหรือปกป้องประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำให้รัฐเที่ยงธรรม เคารพสิทธิเสรีภาพประชาชน การทำเช่นนั้นถือเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมอย่างหนึ่งของประชาชน ที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญหาใช่พฤติการคอมมิวนิสต์หรือเล่นการเมืองอย่างที่หลายคนเข้าใจไม่"


 


สรุปคือ พระไพศาลฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ชีวิตทางศีลธรรมของพุทธศาสนาในสังคมไทยเป็นเรื่องบุคคลเท่านั้นไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่เกี่ยวกับรัฐ ไม่เกี่ยวกับสาธารณะ


 


ข้อคิดเห็นต่อไป อยากตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องการถกกันทางศีลธรรมการเมือง ระหว่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นการเถียงกันเมื่อ พ.ศ.2539 เถียงกันในความหมายที่ต่างคนต่างพูดต่างกรรมต่างวาระ แต่มันตรงข้ามกันอย่างน่าตกใจยิ่ง


 


ดู พล.ต.จำลองก่อน แกลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ แล้วแพ้ลุ่ยแล้วก็เฮิร์ตไปเขียนลงหนังสือ "เราคิดอะไร" ว่า


 


"การเลือกตั้งครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า มีคนจำนวนมากที่มั่นคงแน่วแน่ไม่อ่อนไหว สั่นคลอนไปตามกระแสข่าวเล่าลือ คือ เชื่อความจริง ไม่เชื่อการโกหกพกลม คือเชื่อว่าการเมืองคือเรื่องของการเสียสละ ไม่ใช่เรื่องการแสวงหาอำนาจหรือผลประโยชน์ เชื่อว่าความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์ความขยันหมั่นเพียรเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ที่จะมาทำงานการเมือง ผมขอขอบพระคุณทุกท่านที่ยังมีความเชื่อเช่นนั้น"


 


ในวิธีคิด พล.ต.จำลอง การเมืองเป็นเรื่องของสัจธรรม ความจริง ยังมีความดี ความงาม จริงๆ


 


สำหรับ อาจารย์ชัยอนันต์ ตอนนั้นเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ


 


"ที่สำคัญการลงมติและการผลัดกันยอม ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันนั้นมีอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องธรรมดาของการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่จะต้องมีเสียงข้างมาก - ข้างน้อย หน้าที่ของประธานฯ คือ อย่าเอียงข้างใคร ให้ทุกคนได้แสดงเหตุผลอย่างเต็มที่...เพราะเราเชื่อว่าไม่มีใครตรัสรู้เรื่องการปฏิรูปการเมือง ไม่มีสัจธรรม ระบอบประชาธิปไตยไม่เชื่อว่ามีความจริงความถูกต้องอันเดียว จึงต้องระดมความคิดกัน พยายามลด ขจัดอัตตาว่าความคิดนี้ ข้อนี้ ร่างนี้เป็นของกู...ถ้าละ ลด เลิก ความเป็นตัวกูของกูได้ การพิจารณาก็จะไปได้ง่าย"


 


ทัศนต่างกันมาก พล.ต.จำลองบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องความจริง เป็นเรื่องสัจธรรม อาจารย์ชัยอนันต์ บอกไม่ใช่ มันสะท้อนนัยว่า ท่าทีทางศีลธรรมที่ พล.ต.จำลองยึดนั้นมีอะไรที่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์ ส่วนท่าทีของอาจารย์ชัยอนันต์ขอเรียกว่า คือ Dialogism คืออยากจะรู้อะไรจริงแท้ หรือเท็จ ต้องมาสานเสวนา


 


ถ้าเชื่อแบบ พล.ต.จำลอง ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหมาะคือ คนดีมีอำนาจเด็ดขาดก็ยิ่งดี ก็จะได้ใช้อำนาจเด็ดขาดนั้นไปทำดีไง ถ้าคิดว่านี่เป็นความคิดที่แปลกโปรดอ่านมติชนรายวันที่สัมภาษณ์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เรื่องกฎหมายพระราชบัญญัติความมั่นคงฯ ท่านบอกว่า


 


"ถ้าเกิดไม่ผ่าน พ.ร.บ.ความมั่นคง ถ้าเกิดรัฐบาลใหม่ที่มา นายกฯ ใหม่ที่มา เป็นคนมีศีลธรรมก็จะไม่มี พ.ร.บ.ฉบับนี้ "


 


ปัญหาไม่ใช่อำนาจสมบูรณ์ อำนาจสมบูรณ์ดี ถ้าอยู่ในมือคนดี แต่ถ้าคิดแบบอาจารย์ชัยอนันต์ อำนาจต้องกระจาย อำนาจต้องหลากหลาย ในระบบการเมือง ถ้าคิดแบบ พล.ต.จำลอง จะนำไปสู่เผด็จการโดยธรรม คืออำนาจต้องรวมศูนย์ตรงกลาง แต่ถ้าคิดแบบอาจารย์ชัยอนันต์คือ เสรีประชาธิปไตย


 


คำถามคือสถาบันใดทำหน้าที่เผยแพร่กำกับศีลธรรมทางศีลธรรมในสังคมไทย ถ้าพระพุทธศาสนาไม่ได้ทำตรงนี้ คำตอบอาจจะต้องไปดูแบบระบบ "จำลองปริซึมสังคมไทย" เจ้าของความคิดคือศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ต้นกำเนิดอมาตยาธิปไตย "Fred Warren Riggs" เขียนหนังสือ "Thailand : The Modernization of a Bureaucratic Polity" ค.ศ. 1966


 


ที่เราพูดกันแหลกรานในปีที่ผ่านมาว่าอมาตยาธิปไตยนั้นมาจากคนนี้เอง สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับแกไม่ได้รู้ถอยหลัง ที่แกคิดเรื่องอมาตยาธิปไตยนั้นคิดจากแบบจำลองสังคมปริซึม เป็นกรอบทฤษีที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์ที่ค้นพบในเมืองไทย ถือเป็นแกนกลางความเข้าใจโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะบรรดาประเทศที่ถูกกดดันอยู่ตรงกลางระหว่างธรรมเนียมประเพณีของตัวเองกับสิ่งที่นำเข้าจากเมืองนอก


 


แบบจำลองปริซึมเป็นกรอบที่มาของบทวิเคราะห์ที่สรุปออกมาว่า การเมืองการปกครองไทยเป็นระบอบอมาตยาธิปไตยหรือรัฐราชการ อยากโฟกัสที่แบบตัวปริซึม มันป็นความปริ เมื่อแสงอาทิตย์สีขาวผ่านเข้าไปในปริซึมจะออกมาเป็นแถบ 7 สี


 


บุคลิกลักษณะคือ Fred มองว่าโลกมีสังคมเกษตรกรกับอุตสาหกร เป็น 2 ชนิดที่อยู่ตรงข้ามกัน ประเทศไทยคือจุดที่ 2 วิถีชีวิตที่แตกต่างกันสิ้นเชิงนั้นมาตั้งประจันกัน ส่งแรงกดดันต่อกัน สังคมปริซึมคือกลุ่มการเมืองซับซ้อนที่เผชิญกับแรงกดดันต่างกันระหว่างโลกภายนอกที่ผลักดันกับโลกภายในที่ขัดขืน และจากการพยายามดิ้นรนรอมชอมค่านิยมที่เข้ากันไม่ได้ แรงกดดันที่ขัดแย้งกันนั้นอยู่ด้วยกัน


 


คือถ้าเราเปรียบว่าเป็นแสงแดดสีขาวสะท้อนเข้าไปในปริซึมกลายเป็นหลากสี  สิ่งที่เราเห็นจากอุปลักษณ์อันนี้คือ แรงกระตุ้นต่างขั้วมาอยู่ด้วยกันในตัวเดียวในดุลยภาพที่ไม่เสถียร ตึงเครียดตลอดเวลา การประจันหน้าของแรงกระตุ้น 2 ขั้วนี้ไม่นำไปสู่การสังเคราะห์หรือรอมชอม ไม่ใช่ขั้นตอนเปลี่ยนผ่านจากสังคมประเพณีไปสู่สังคมทันสมัย มันเป็นอยู่ของมันแบบนี้เลย มันเป็นทางแพร่งที่ยืนนานสำหรับคนที่ติดกับดัก หรือติดอยู่ในปริซึมออกไม่ได้ ถอยกลับไปเป็นแสงสีขาวหรือสังคมแบบประเพณีเดิมก็ไม่ได้ เดินหน้าเป็นสังคมอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ อยู่ระหว่างโลก 2 โลกที่ต่างกัน เป็นกับดักที่มีพลวัตร ตรรกะและความขัดแย้งเฉพาะตัวของมันเอง


 


แสงสีขาวก็เหมือนสังคมเกษตร สังคมประเพณี ไม่มีการแบ่งแยกหน้าที่ซับซ้อน ถ้าเป็นสังคมอุตสาหกรรมก็เป็นแถบรุ้งหลากสี ประเทศไทยอยู่ตรงกลางเหมือนอยู่ในปริซึม ลักษณะสังคมอุตสหกรรมหน้าที่หลักๆแตกกระจายกัน ถ้าพูดกันแบบตรงไปตรงมาคือ ทหารต้องไปรบไม่มีหน้าที่ตั้ง คมช.ปกครองหรือมีหน้าที่มาร่างรัฐธรรมนูญ


 


แต่ในสังคมแบบปริซึมมันไม่หลอมรวมและไม่แตกออก มันขัดแย้งกัน ระบอบการเมืองในสังคมแบบเดิมคือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในสังคมแบบใหม่คือประชาธิปไตย ในสังคมแบบปริซึมคือระบบราชการอมาตยาธิปไตย สถาบันหลักในสังคมแบบเดิมคือสถาบันกษัตริย์ สถาบันหลักในสังคมแบบใหม่คือรัฐบาล รัฐสภา สถาบันหลักในสังคมแบบปริซึมคือระบบราชการ ค่านิยมหลักในสังคมแบบเดิมคือศาสนา ในสังคมแบบใหม่คือค่านิยมทางโลก ในสังคมปริซึมแบบไทย Fred ไม่ได้พูด แต่ส่วนตัวคิดว่า ค่านิยมหลักมาจากธรรมราชา


 


เราจะเข้าใจเรื่องธรรมราชาอย่างไร ?


 


อยากยกกรณี Saint Jack"s จาก Sherry Levin เจ้าของ  Saint Jack"s ที่ออกแผ่นพับโฆษณา ปลายปี 2545 หรือกรณีโฆษณาของร้านอาหารและบาร์ Saint Jack"s ในเมืองฟิลาเดเฟีย มลรัฐเพนซิวาเนีย สหรัฐ นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปตกแต่งอย่างไม่เหมาะสมและตีพิมพ์เป็นแผ่นพับลงหนังสือพิมพ์ Philadelphia City Paper


 


แน่นอน คนไทยก็โกรธแค้น เดือดร้อน มีการโวยวายฟ้องร้องกัน นำไปสู่บทสนทนาข้ามวัฒนธรรมทางโทรศัพท์ว่าด้วยธรรมราชาระหว่างนาย Howard Allman บรรณาธิการบริหาร Philadelphia City Paper กับ คุณบุญสม วัฒนปราณี รองกงสุลใหญ่ไทยประจำนิวยอร์กในขณะนั้น สนทนากันประเด็น ธรรมราชา : "He is our god ... He is like God to us"


 


Allman ถามทางโทรศัพท์ ว่า "พระราชามีอารมณ์ขันหรือไม่ "


 


คำตอบของคุณบุญสม คือ


 


"พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าของเรา พระองค์ย่อมทรงพระสรวลได้ แต่เราหัวเราะไม่ออก..."


 


"พวกเราประชาชนไทยทั้งปวงรักพระเจ้าอยู่หัวของเรามากๆ พระองค์ทรงเหมือนพระผู้เป็นเจ้าสำหรับเรา...ฉันรู้ว่าคุณทำตลกล้อเลียนประธานธิบดีหรือพระราชินีอลิซาเบ็ธได้ แต่อย่ามาทำกับในหลวงของฉัน"


 


เราจะเข้าใจสิ่งที่เธอพูดเกี่ยวกับธรรมราชา พระองค์ is our god ... He is like God to us ได้อย่างไร อาจจะเป็นความเปรียบในบริบทฝรั่งอาจเกินเลยไปหน่อย แต่ฟังแล้ว เช็กแล้ว ลองคิดดูว่าจะเข้าใจเรื่องนี้ทางวิชาการได้อย่างไร ?


 


ประเด็นแรกที่คิดได้คือ เอกลักษณ์ของประชาชาตินิยม ขณะที่ประเด็นของนาย Allman อยู่ที่พระราชอารมณ์ขันส่วนพระองค์ แต่สำหรับคุณบุญสมอยู่ตรงสถานะอันพิเศษสำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในจิตใจพสกนิกรชาวไทย ถึงขั้นที่ทรงเป็นส่วนหนึ่งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเอกลักษณ์ (Identity) ของความเป็นชาติ ความเป็นไทยในจินตนากรรมความรู้สึกเข้าใจตัวเองของคนไทยอย่างแบ่งแยกไม่ได้ คนๆ หนึ่งกลายเป็น God ได้ เมื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในจินตลักษณ์ ในใจของคนอื่น


 


เมื่อสถานะดังกล่าวถูกกระทบระคายเคืองจากโฆษณา Saint Jack"s คนไทยที่ถือเอกลักษณ์ประชาชาตินิยมทั้งปวงจึงย่อมหัวเราะไม่ออกและโกรธเอามากๆ ทีเดียว ดังที่คุณบุญสมเป็นตัวแทนสะท้อนออกมา


 


ตัวอย่างแนวคิดต่อไปมาจาก Benedict Anderson ซึ่งพูดถึงธรรมราชาว่า เหมือนดังคณะสังฆาธิการ ในบทความเกี่ยวกับ 6 ตุลา ที่ชื่อ "Withdrawal Symptoms : Socail and Cultural Aspect of the October 6 Coup" ปี 2520


 


มีข้อความตอนหนึ่งในบทความที่พูดถึงธรรมราชาโดยโยงกับคณะสังฆาธิการ


 


"แทบจะกล่าวได้ว่าภายใต้การปกครองของสฤษดิ์ ได้เกิดการสับเปลี่ยนบทบาทไปจากธรรมเนียมประเพณีที่เคยมีมาอย่างแปลกประหลาด กล่าวคือ ท่านจอมพลหันไปเล่นบทบาทเจ้าบ้านผ่านเมือง อาทิ ลงโทษคดีอาญา เก็บภาษีอากร จัดวางกำลังกองทัพ และเป็นตั้วเฮียทางการเมืองโดยทั่วไป ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินทรงแสดงบทคณะสังฆาธิการ ทรงอำนวยความศักดิ์สิทธิแก่อำนาจราชการและทรงเป็นแบบอย่างอันยิ่งยวดแห่งการประพฤติธรรมโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ฉะนั้นเราจึงไม่น่าแปลกใจที่ในบางด้านสถาบันกษัตริย์ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้นในระหว่างที่ระบบเผด็จการก่อตั้งมั่นคง"


 


สุดท้าย เลือกประเด็นของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ไอเดียเรื่องปรมุขทางศีลธรรม ในบทความ "อุดมการณ์" เมื่อปี 2527 พูดถึงพระผู้เป็นเจ้าที่ให้เข้าใจวิธีคิดของคุณบุญส่ง


 


"ปมเงื่อนสำคัญอยู่ที่ความสำคัญระหว่างปรมุขและบริวาร the Subject and subject หรือกล่าวอีกแง่หนึ่งคือสิ่งศักด์สิทธิ์กับผู้มีจิตศรัทธา


 


"กล่าวโดยทั่วไปอุดมการณ์หมายถึงภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับเงื่อนไขการดำรงอยู่ที่เจ้าตัวจินตนาการขึ้นมา เพื่อจะให้ยึดถือกันอย่างแน่นแฟ้นว่าจินตนาการนั้นเป็นเรื่องจริงหรือตรงกับความเป็นจริง โครงสร้างของอุดมการณ์แต่ละชุดจึงต้องประกอบด้วยอำนาจอะไรสักอย่างที่อยู่เหนือความเป็นจริง (ข้อเท็จจริงเบื้องหน้ายังต้องขึ้นต่อ) เป็นนามธรรมครอบคลุมทุกอณูชีวิตและเรืองฤทธิ์เรืองเดชอย่างไม่มีขอบเขต omni-present and omni-potent อันนี้แหล่ะที่หลุยส์ อัลตุสแซร์เรีกว่า the Subject และผมขอเรียกตามใจชอบไปก่อนว่าปรมุข


 


"ในหลายๆศาสนา ปรมุขก็คือพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในศาสาฮินดูมีจินตภาพที่คล้ายกันเรียกว่าปราตมันหรือวิญญาณสากล ขณะที่คริสต์ศาสนามีความเชื่อว่าพระเจ้าทรงสถิตย์อยู่ในมนุษย์แต่ละคน ปราตมันของฮินดูก็แบ่งส่วนมาเป็นวิญญาณของปัจเจกบุคคลทุกผู้ทุกนามส่วนศักดิ์สิทธิ์นั้นเรียกว่าอาตมัน..."


 


ผมคิดว่าสิ่งที่ทำหน้าที่แทนพุทธศาสนาในแง่ศีลธรรมการเมืองในสังคมไทย คือธรรมราชาหรือพระราชอำนาจนำทางศีลธรรม พูดในภาษาอังกฤษคือมี Royal Hegemony over Thai public morality แสดงบทบาท


-          cross over and hegemonizes the fragmented Thai moral life


-          makes whole what is flagmentary


-          makes coherent what is incoherent


-          harmonizes what is conflictual


-          re-establishes moral order where there has been moral disorientation, confusion, chaos


 


เรื่อการสร้างสถาบันศีลธรรมทางการเมือง ถ้าข้อเด่นจุดแข็งแห่งศีลธรรมการเมืองไทยคือพระราชอำนาจนำทางศีลธรรมการเมืองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้อด้อยจุดอ่อนทางวัฒนธรรมดังกล่าวก็คือยังขาดการสร้างสถาบันอันเข้มแข็งที่จะทรงไว้และทำให้มีผลจริงซึ่งศีลธรรมการเมืองในระบบรัฐธรรมนูญไทย


 


โดยที่พระราชอำนาจนำแห่งธรรมราชาเป็นของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทรงมี Hegemony เหนือ Thai Public moral life แต่พระองค์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้ทรงมีพระราชอำนาจนำโดยที่พระองค์ไม่ได้มีอำนาจอธิปไตยเหมือนกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทรงใช้อำนาจนั้นได้ แต่ต้องมีคนลงนามสนองพระบรมราชโองการทุกครั้ง


 


เรามีวาทกรรมทางศีลธรรมซึ่งมีพลังเด็ดขาดแต่ไม่มีอำนาจเด็ดขาดที่กำราบ เพราะพระองค์ทรงอยู่ใต้กระบวนการ และพระองค์ทรงเข้าใจตรงนี้ดี นึกถึงพระราชดำรัสต่อคณะตุลาการเมื่อ 25 เมษายน ปีที่แล้ว จึงทำให้ผู้นำการเมืองฝ่ายต่างๆ มักอ้างพระองค์เพื่อให้ความชอบธรรมแก่การใช้อำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ของตน


 


เรื่องการสร้างสถาบันศีลธรรมทางการเมือง อยากจะนึกถึงงานของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์และคณะขุนนางเจ้านายในยุโรปกราบบังคมทูลถวายความเห็นต่อรัชกาลที่ 5 ตามที่ทรงปรึกษาไปเสนอให้


 


"จัดการบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีของเก่าให้เป็นประเพณีฤา คอนสติติวชั่นใหม่ตามทางชาวยุโรป"  พ.ศ. 2428


 


มี 2 ประเด็นที่น่าสนใจ


 


ผลดีของประเพณีคอนสติติวชั่นใหม่


 


CIVIC NATIONALISM ชาตินิยมพลเมืองหรือจิตใจของเจ้าของชาติ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์และคณะเขียนว่า


 


"ให้ราษฎรมีความคิดรู้สึกตัวว่าการกดขี่แลอยุติธรรมต่างๆ ไม่มีอีกต่อไปแล้ว จึ่งจะมีความรักต่อบ้านเมือง จนเห็นชัดว่า กรุงสยามนั้นเป็นเมืองของราษฎร แลจะต้องบำรุงรักษาเพื่อให้ได้ความสุขความเจริญ ความยุติธรรมเป็นโสดเสมอทั่วหน้ากันหมด...แลเมื่อราษฎรรักชาติบ้านเมืองยิ่งดังนี้แล้ว ก็นับได้ว่าเป็นทหารอันใหญ่ซึ่งจะป้องกันได้จริง ยิ่งกว่าคิดจัดสะสมขึ้นเป็นคราวๆ เป็นพวกหนึ่งต่างหาก"


 


INSTITUTIONALIZATION การสร้างสถาบันการเมือง


 


"คอนสติติวชั่นว่าเป็นเหมือนดั่งเครื่องจักรที่เมื่อเวลาติดไฟเข้าแล้ว ก็อาจสามารถที่จะเดินไปได้เอง ไม่ต้องไปช่วยหมุนจักรโน้น จักรนี้ที่จะให้เดินสะดวกขึ้นอีก"


 


คิดว่าเมื่อเวลาติดไฟเข้าแล้ว ก็อาจสามารถที่จะเดินไปได้เอง ไม่ต้องไปช่วยหมุนจักรโน้น จักรนี้ นี่แหล่ะครับที่เราไม่มี!


 


 


 


...........................................................................


หมายเหตุ : การเน้นสี เป็นการเน้นโดย "ประชาไท" เพื่อการช่วยอ่าน ไม่เกี่ยวกับผู้นำเสนอแต่อย่างใด 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net