Skip to main content
sharethis

จากการที่ระหว่างวัน11 -12 พฤศจิกายน  2550  ทางคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้(กป.อพช.ใต้) และโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ ดับบ้านดับเมือง (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แผนพัฒนาภาคใต้กับการติดตามตรวจสอบโครงการโดยภาคประชาชน วันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2550    ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้นครศรีธรรมราช  อ.เมือง  จ.นครศรีธรรมราช  โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน  ตัวแทนพื้นที่ต่างๆในภาคใต้  ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ  ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการโครงการพัฒนาของรัฐ  เช่น กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก  จากโครงการโรงไฟฟ้าประจวบคีรีขันธ์  เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า บริเวณอ่าวคลองสนบ้านย่าหมี  โครงการเขื่อนกันคลื่นบริเวณอ่าวคลองสน โครงการท่าเทียบเรือปากบารา จังหวัดสตูล โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำรู่ใหญ่และบ่อพักน้ำดิบของกรมชลประทาน  โครงการโรงฟ้าจะนะ  โครงการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง    โครงการเขื่อนลำแก่ง  โครงการสร้างสนามบิน คอเขา น้ำเค็ม ทับตะวัน พังงา  โครงการก่อสร้างเขื่อนลาไม  โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองลำแซง-ลำขัน โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา  และโครงการขุดลอกทะเลสาบ


 


นายบรรจง  นะแส  เลขาธิการ  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)  กล่าวเปิดเวทีว่าว่าระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา มีกรณีโรงไฟฟ้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกรณีการก่อสร้างโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้า อำเภอจะนะ พื้นที่ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดน  การพัฒนาพื้นที่ฝั่งอันดามันหลังเหตุการณ์สึนามิ เกิดปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ระหว่างชุมชนดั้งเดิมกับนายทุนที่เข้ามาบุกรุกครอบทับสิทธิ์ชาวบ้าน ออกหมายจับกับคนในพื้นที่เดิม การกีดกันคนดั้งเดิมออกไป ทำให้คนต้องลุกขึ้นมาสู้ ถึงเวลาที่จะต้องนำประสบการณ์และบทเรียนที่มี อยากเสนอไว้ 5 ประเด็นดังนี้


 



  • คนรุ่นแรกๆ ที่เราสร้างบ้าน เราคือคนกำหนดการทำกินเอง ทำถนน สร้างวัด ศาสนาสถาน เป็นการกำหนดการพัฒนาโดยชุมชน สร้างมัสยิดกันเองโดยร่วมกันบริจาค

  • ยุคที่สอง เป็นยุคการตื่นตากับการพัฒนา มีถนนตัดสงขลา- จะนะ มีถนน ไฟฟ้า ขบวนการพัฒนาเริ่มเข้าและส่งผลต่อความสะดวกสบาย อยู่ดีในระดับหนึ่งในการทำมาหากินของชุมชน

  • ยุคที่สาม ยุคการรุกรานของการพัฒนา แม่น้ำถูกทำลายโดยโรงงานอุตสาหกรรม ภายในสองปีทำนาไม่ได้ คนเริ่มรู้สึกว่าถูกรุกราน การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด จ่ายค่าเสียหายแล้วจบ ไม่สามารถทำกินได้

  • ยุคสี่ เป็นยุคการรุกสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองจากการหมักหมมของปัญหา ทำให้หลายชุมชนทนไม่ได้ แม่เมาะไม่ได้พึ่งเกิด แต่ไม่มีใครกล้าทำอะไร ต่อมาชุมชนเริ่มทนไม่ได้ และชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ มีการปะทะกับอำนาจรัฐ มีผู้นำที่สู้และเสียชีวิต

  • เหตุการณ์ที่เป็นผลกระทบของการพัฒนา กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทุกภาค เหนือ อิสาน กลาง ใต้ พบปรากฎการณ์การพัฒนาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ชุมชนเริ่มตระหนักว่า ถ้าปล่อยไว้เป็นอันตรายต่อลูกหลาน เกิดขบวนการหนุนช่วยซึ่งกันและกัน ขบวนการประชาชนเติบโตขึ้น หลายกรณีชุมชนเสียเปรียบเพราะชาวบ้านไม่มีใครช่วย

 


ทางคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) คิดว่า น่าจะใช้เวลาเหล่านี้ให้พี่น้องเกิดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งชาวบ้าน ข้าราชการ นักศึกษา นักวิชาการที่อยู่ฝ่ายชาวบ้าน และคาดหวังไม่ได้กับรัฐบาลที่กำลังจะมีขึ้น


 


การพัฒนาที่กำลังจะเกิด ถูกกำหนดโดยไม่ได้ตอบสนองประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ แต่ตอบสนองกับคนและนายทุนไม่กี่ตระกูล ทิศทางการพัฒนาชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมในการวางแผน แล้วจะเอาอย่างไร  เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อนำประสบการณ์จากกลุ่มคนที่ถูกกระทำจากโครงการพัฒนาของรัฐมาแลกเปลี่ยน เป็นเวทีคนทุกข์ที่ผ่านกระบวนการต่อสู้มาทั้งสำเร็จและล้มเหลว ความคาดหวัง คือ เครือข่ายน่าจะได้ผนึกกำลังช่วยเหลือกันและกัน นำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต


 


จากนั้นได้มีการนำเสนอภาพรวมวิเคราะห์เชื่อมโยงแผนพัฒนาภาคใต้ โดยศยามล ไกยูรวงศ์ จากโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยาและกรรมการกป.อพช.ใต้  กล่าวว่า แผนการพัฒนาภาคใต้เน้นหนักไปที่ภาคบริการ เหมืองแร่ ภาคการค้า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีหลายพื้นที่มีการระเบิดหิน


 


ข้อมูลสภาพัฒน์ฯ มองเศรษฐกิจที่เด่นในภาคใต้ คือ ภาคเกษตร ได้แก่ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน  นอกจากนั้น ได้แก่ด้านการท่องเที่ยว บริการ อุตสาหกรรม ที่โยงไปสู่การพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ เป็นแนวทางการพัฒนาที่มีมานานแล้วและไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวทาง แต่มีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล  ทิศทางการพัฒนาภาคใต้เป็นไปในแนวทางใหญ่ๆดังนี้


 


คือการพัฒนาพื้นที่การท่องเที่ยว โดยเฉพาะในฝั่งอันดามัน  การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมฮาลาลเพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลที่ได้มาตรฐานสากลพื้นที่สามจังหวัด อ.จะนะ ทุ่งค่าย จ.ตรัง  อุตสาหกรรมบางสะพาน  โครงการพัฒนาชายฝั่งภาคใต้  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม  ท่าเทียบเรือ  โรงไฟฟ้า และเขื่อนเพื่อรองรับอุตสาหกรรม   สนามบินนานาชาติ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวระดับโลก  ยุทธศาสตร์การพัฒนาปาล์มน้ำมัน ยางพารา


 


นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ จากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือก ได้พูดถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งเปรียบกับระเบิดเวลาของภาคใต้ว่า ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาโดยตลอด  แต่ระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนเนื่องจากเกิดกระแสการคัดค้านโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นมากขึ้น ทำให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ยากขึ้น  ประกอบกับปัญหาน้ำมันแพง ก๊าซธรรมชาติราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นจังหวะที่ทำให้เกิดการหยิกยกเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง   โดยเฉพาะนายปิยสวัสดิ์  อัมระนันท์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน มีความพยายามจะผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคตโดยอ้างว่าพลังงานกำลังจะหมด ไฟฟ้าไม่พอใช้ ทั้งที่ในความเป็นระยะ 10 ปีนี้ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่


 


พื้นที่เป้าหมายที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  ได้แก่ พื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช  แผนการผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หนึ่งมีการจัดตั้งคระกรรมการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาจำนวน 6 ชุด  สองมีการอนุมัติงบประมาณดำเนินการ 3 ปีจำนวน 1,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และจัดสรรเป็นงบประชาสัมพันธ์ 3 ปีจำนวน 600 ล้านบาท   ปัญหาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือใช้ข้ออ้างว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อน จะได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก ทั่วโลกหันกลับมาใช้นิวเคลียร์ แต่ในความเป็นจริงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำให้เกิดภัยของกัมมันตภาพรังสี ต้องใช้พลังในการจัดการมาก  ต้นทุนการสร้างสูงกว่าที่คาดไม่รวมต้นทุนกากนิวเคลียร์ แร่ยูเรเนียมจะราคาสูงขึ้น  ปัจจุบันในยุโรปไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มที่สร้างใหม่มักอยู่ในเอเซีย บริษัทนิวเคลียร์หนีตายมาจากยุโรป  รัฐน่าจะให้การสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกมากกว่าการใช้นิวเคลียร์


 


นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยน "เบื้องหลัง เบื้องลึก ทิศทางแผนพัฒนาภาคใต้ โดย นายสุพจ  จริงจิต นักข่าวอิสระและผู้ทำการศึกษาแผนพัฒนา-ภาคใต้  กล่าวว่า แผนพัฒนาประเทศผูกติดกับมหาอำนาจของญี่ปุ่น ไจก้าศึกษา ชายฝั่งทะเลตะวันออก ญี่ปุ่นใช้เรื่องการโยกเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์เข้ามา มันเป็นการผูกโยงกับอุตสาหกรรมต่างประเทศ ไม่ได้ผูกโยงเฉพาะในประเทศไทย และไม่ใช่ญี่ปุ่นอย่างเดียว


 


ภาคใต้ไจก้าได้ศึกษาและตั้งข้อสังเกตว่า ญี่ปุ่นเน้นเรื่องการขนส่งน้ำมัน จากการศึกษาในมาเลเซียพบว่ามีการเน้นตลอดคือ การสร้างท่อน้ำมันที่จะเชื่อมจากเคดะมาออกอ่าวไทย ปัตตานี แต่ไทยขอสงวนมาตลอด


ต่อมา พ.ศ. 2540 ญี่ปุ่นสนับสนุนเงินทุน อนุญาตให้สร้างท่อน้ำมันจากเมืองยาง เคดาห์ มาถึงเมืองไทย และได้ข้อสรุปไม่นานว่า รัฐบาลตัดสินใจใหม่ว่า จะสร้างไปออกทางกลันตันแทน (ไทยจบ) แต่ก็มีโอกาสตกลงกันได้อยู่ ฉะนั้นแผนพัฒนาใต้หลีกไม่พ้นการเชื่อมโยงกับโลก ชาวบ้านจึงต้องทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวเศรษฐกิจระหว่างโลกด้วย


 


ในขณะที่พื้นที่มาบตาพุดเต็มแล้ว พื้นที่เซาเทรินซีบอร์ดจะไปอยู่ไหน แผนเดิมเดิมคือบริเวณอำเภอขนอม  จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ติดปัญหาการขนส่งและไม่เหมาะกับการลงทุนขนาดใหญ่ มีกระแสชัดว่า อาจจะไปลงที่บริเวณสงขลาเชื่อมกับสตูล ฉะนั้น มติ คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ว่าจะไม่มีปิโตรเคมีที่อำเภอจะนะ อาจจะมีการยกเลิกถ้าทิศทางเซาเทรินซีบอร์ดจะไปอยู่จะนะ มีการล๊อบบี้เรื่องการสร้างท่อน้ำมันจากจังหวัดสตูลไปออกอ่าวไทย สงขลา แต่เนื่องจากต้องผ่านป่าชายเลนที่สตูล ทำให้ยังคงมีปัญหาอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าโครงการจะหยุด ถ้าท่อน้ำมันเกิด การเกิดปิโตรเคมีมันจะง่าย อยากให้มองเรื่องการมีผลประโยชน์ข้ามชาติมาเกี่ยวข้องด้วย


 


แผนภาคใต้มี แผนเซาเทรินซีบอร์ดและแผนร่วมมือ 3 ฝ่าย คือเขตเศรษฐกิจปินัง - สงขลา อินโดนีเซีย ความร่วมมือพื้นที่ 5 เหลี่ยมเศรษฐกิจ และต่อมาเพิ่มมาเป็น 7 ประเทศได้แก่ ไทย พม่า บังลาเทศ มาเลเซีย ศรีลังกา ภูฐาน เนปาล โดยกำหนดให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว มีการสร้างสนามบินพังงาจังหวัดเดียว 2 สนามบินเพื่อรองรับการท่องเที่ยวระดับสูงประเภทเช่าเหมาลำมาลง


           


นายสุพจยังย้ำว่าโครงการโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียถือเป็นโครงการ "หัวหอก"ซึ่งจะตามมาด้วยโครงสร้างพื้นฐานและท่าเรือที่กำลังจะเกิดขึ้นท่าเทียบเรือแห่งใหม่ของจังหวัดสงขลาเชื่อมกับท่าเทียบเรือปากบารา จังหวัดสตูล ซึ่งจะเป็นท่าเรือยุทธศาสตร์ระดับประเทศ   หลังจากนี้จะมีการสร้างเขื่อนมากมายในหลายพื้นที่เพื่อเตรียมรองรับอุตสาหกรรม


 


เวลานี้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ลงในพื้นที่เป็นเรื่องเดียวกันหมด คือ วิธีคิดการพัฒนาประเทศเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม  การท่องเที่ยว ผู้ได้ประโยชน์คือกลุ่มทุนกลุ่มเดียวกันเพียงเปลี่ยนโฉมหน้า


 


นายปิยโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าว ASTV ภาคใต้ กล่าวว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 10 ฉบับที่ผ่านมามีความ "พิกล พิการ" มีการกำหนดแผนและในทางปฏิบัติจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แผนพัฒนาเปลี่ยนแปลงพลิกผันและเคลื่อนตัวตลอดตามเงื่อนไขของกลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองเป็นหลัก


 


ยุทธศาสตร์ใหญ่การขนส่ง และพลังงาน เหล่านี้เคยเกิดที่ปานามา อเมริกาเข้าไปครอบครองพื้นที่ กำหนดยุทธศาสตร์และมีอำนาจเหนือ ตอนนี้จีน และญี่ปุ่นก็รุมกันอยู่ตรงนี้ เมื่อมองเฉพาะภาคใต้เป็นแหลมที่ยื่น  ขนส่งสินค้าต้องผ่านช่องแคบมะละกาเป็นยุทธศาสตร์หลัก แต่มีปัญหามันแออัด ทำให้พร้อมจะขอลงทุนในพื้นที่ใหม่ สิงคโปร์คือเงาของตะวันตก ภาคใต้จึงตอบสนองเรื่องนี้ และเกิดโครงข่ายถนนขึ้น ตั้งแต่กรุงเทพฯมาถึงใต้ เราจะเห็นมีสะพานเศรษฐกิจที่เชื่อมมากมาย ราชบุรี-ประจวบ เป็นสะพานเศรษฐกิจโดยธรรมชาติ คือถ้ามี ถนน ท่อก๊าช ท่อน้ำมัน และเส้นทางรถไฟ ฉะนั้นจากราชบุรี มันเชื่อม eastern seaboard เพราะมาบตาพุด ระยอง มันแออัดมากแล้ว


 


แผนพัฒนาภาคใต้ที่เกิดขึ้นถูกคลุมด้วยมิติของโลกทุนนิยมและทุนข้ามชาติทั้งโครงการด้านโลจิสติกส์และแลนด์บริดทำขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบทุน        


 


ปัจจุบันมิติปัญหาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตัวเร่งโครงการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้มากยิ่งขึ้น สงขลามีการกำหนดผังเมืองใหม่ให้ภาคใต้ตอนล่างเป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว ได้แก่โรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียและโรงไฟฟ้าจะนะ


 


เบื้องหลังการวางแผนพัฒนาในภาคใต้ได้แก่ กลุ่มธุรกิจ กลุ่มทุนในประเทศ  กลุ่มทุนข้ามชาติ  โดยมีกลุ่มทุนเป็นตัวกำหนดและกลุ่มการเมืองที่มีผลประโยชน์ ทำหน้าที่เป็น "นายหน้า" กว้านซื้อที่ให้กับนายทุน  จากนั้นผลักดันสู่ระบบกลไกรัฐ ผลักดันเป็นนโยบาย  ดังนั้นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ คือกลุ่มทุน นักการเมืองและข้าราชการนั้นเอง


 


ดังนั้นกระบวนการพิทักษ์สิทธิของชุมชนต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่าย  เพราะเราสู้กับระบบทุนข้ามชาติ ที่เข้ามากำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศและต้องรื้อกระบวนการคิดเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาใหม่ มิเช่นนั้นชุมชน ถ้าเรายังเดินตามกระบวนการคิดของรัฐ นายทุน เราจะถูกกำหนดชะตากรรมและถูกครอบงำด้วยระบบวงจรเช่นนี้ตลอดไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net