Skip to main content
sharethis

โดย www.thaiclimate.org


 



Dr. Han Seung Soo


ทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ แห่งสหประชาชาติ


 


ท่ามกลางความตื่นตัว (หรือการโหนกระแส) เรื่องโลกร้อน มีเรื่องที่สังคมไทยควรเข้าใจลึกไปกว่าการรณรงค์ดับไฟ 15 นาที หรือหิ้วถุงผ้าและการตลาดสีเขียวอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อโลกร้อน เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในการถกเถียง ต่อรองใน ระดับนานาชาติที่จะส่งผลทางสังคม เศรษฐกิจของประเทศไทยในฐานะสมาชิกประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงมิได้


 


งานสัมมนาเรื่องการตั้งรับปัญหาโลกร้อนระดับภูมิภาคเอเชียที่จัดโดยเครือเนชั่นและกลุ่มพันธมิตรหนังสือพิมพ์จาก 14 ประเทศในเอเชีย ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นเวทีที่นักการทูต นักวิทยาศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์ด้านความมั่นคงจากหลากหลายประเทศมาพยายามสร้างความเข้าใจของสังคมต่อเรื่องโลกร้อนในมิติที่กว้างขวางอย่างชนิดเปิดหูเปิดตาผู้เข้าร่วมสัมมนาเกือบ 500 คน


 


ประการแรก ปาฐกถานำโดย ดอกเตอร์ ฮัน ซุงซู (Han Seung Soo) ทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ แห่งสหประชาชาติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ เขาเน้นย้ำ้ว่าโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว ดอกเตอร์ฮัน ประกาศว่าเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์มืออาชีพ ไม่เคยทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเลย แต่ยอมรับการแต่งตั้งจากเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติมาทำงานประสานเรื่องโลกร้อน ก็เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ สำหรับทูตพิเศษแห่งสหประชาชาติ  นักวิทยาศาสตร์แค่ทำหน้าที่บอกเราว่าปัญหากำลังทวีความรุนแรง แต่จะแก้อย่างไรนั้นเป็นเรื่องการเมือง และการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ


 


อย่างเช่นในเวทีการประชุมแก้ไขปัญหาโลกร้อนระดับโลกที่กำลังจะมีขึ้นที่ บาหลี อินโดนีเซียโดยสหประชาชาติเป็นเจ้าภาพ ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคมที่กำลังจะมาถึง ปัญหาหลักของการประชุมคือตกลงหามาตรการต่อไปในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์หลังจากข้อตกลงช่วงแรกของพิธีสารเกียวโตหมดอายุลงในปี 2555 การถกเถียงจะไปอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจที่หลายประเทศรวมถึงส่วนใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนาพยายามอ้างเรื่องโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ในการไม่ยอมมีข้อผูกมัดการจำกัดการปล่อยแก้สเรือนกระจก


 


ในที่สัมมนาระดับภูมิภาคเอเซีย เมื่อวันศุกร์ ศาสตราจารย์ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงจากอินเดีย บรามา เชลานี ผู้รับลูกต่อจากผู้แทนสหประชาชาติ พูดทันทีว่า ข้ออ้างในการไม่ยอมมีข้อผูกมัดการจำกัดการปล่อยแก้สเรือนกระจกโดยยกความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นข้ออ้างแบบมักง่ายของผู้นำที่จะไม่ยอมเปลี่ยนอะไรเลย เอาเข้าจริงความเติบโตทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องควบคู่ไปกับการปล่อยแก้สเรือนกระจกอย่างไม่มีขีดจำกัด


 


"เปรียบเทียบญี่ปุ่นกับอเมริกา เศรษฐกิจและความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศอยู่ในระดับเดียวกัน แต่การปล่อยแก้สคาร์บอนไดออกไซด์ของคนญี่ปุ่นเฉลี่ยต่อหัวตำ่กว่าคนอเมริกันเกือบครึ่ง"


 


แม้แต่ภายในประเทศสหรัฐเองก็มีอัตราการปล่อยแก้สคาร์บอนไดออกไซด์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการประสิทธิภาพการใช้พลังงานของรัฐบาลท้องถิ่นและจิตสำนึกของพลเมือง ยกตัวอย่างเช่น แคลิฟอร์เนีย ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับเจ็ดของโลก ก็คงอัตราการปล่อยแก้สคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับที่เคยปล่อยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ที่เหลือของประเทศปล่อยแก้สเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซนต์


 


"ประเทศแถบเราในเอเซียก็สามารถจัดการให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างฉลาด ควบคู่ไปกับการพยายามแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนได้," ศาสตราจารย์จากอินเดียกล่าว


 


นอกจากนี้ศาสตราจารย์เชลานียังชี้ว่า สภาวะโลกร้อนอาจนำมาซึ่งปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศชนิดใหม่ คือปัญหาที่จะตามมาจากสภาพอากาศแปรปรวน สภาวะแห้งแล้ง นำ้ท่วม ภัยพิบัติ และภาวะการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากผลผลิตไม่ได้ตามฤดูกาล ซึ่งอาจจะนำไปสู่การอพยพของผู้คนจำนวนมหาศาล เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ผู้นำประเทศ และภูมิภาคควรเริ่มขบคิดและวางแผนรับมืออย่างไม่ประมาท


 


ในประเด็นการวางแผนตั้งรับผลกระทบนี้ นักวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ทำงานศึกษาด้านโลกร้อนของไทยและภูมิภาคเตือนอย่างสอดคล้องกันว่า ท่ามกลางความตื่นตัวต่อปัญหาโลกร้อน สังคมควรตื่นตัวแต่ต้องไม่ตื่นตูม และการรับมือโลกร้อนแบบผิดๆ อาจส่งผลร้ายกว่าไม่มีการรับมือเลย


 


โลกร้อนไม่ใช่สิ่งที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในวันสองวัน แต่เป็นเรื่องของสภาพอากาศระยะยาว ดังนั้นการวางแผนรับมือจะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล และที่สำคัญคือไม่คำนึงถึงแต่ปัญหาระยะยาวโดยลืมปัญหาเฉพาะหน้าอื่นๆ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ แห่งศูนย์ START (Global Change System for Analysis, Research and Training) ที่ตั้งอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทาลัย ยกตัวอย่างเช่น แบบจำลองทางสภาวะอากาศคาดการณ์ว่าโลกร้อนอาจส่งผลให้นำ้ทะเลขึ้นสูงโดยเฉี่ย 30 เซ็นติเมตร เมื่อสิ้นสุดศตวรรษ แต่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ กำลังเจอสภาพแผ่นดินทรุดเกือบ 3 เซ็นติเมตร ทุกปี การเตรียมรับมือการท่วมของนำ้ทะเลในตอนนี้อาจไม่เร่งด่วนเท่าการแก้ปัญหาแผ่นดินทรุด ในทางตรงกันข้ามหากแก้ไขแผ่นดินทรุดในวันนี้อาจจะมีผลบรรเทาผลกระทบของภาวะนำ้ทะเลขึ้นสูงในอนาคต


 


ประเด็นสุดท้ายแต่อาจจะสำคัญที่สุดคือ โลกร้อนในมิติความยุติธรรมทางสังคม ที่ ดร.หลุยส์ เลอเบล นักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลียที่ทำงานวิจัยและอยู่ในเมืองไทยและภูมิภาคมาเกือบ 20 ปี เรียกร้องให้สังคมใส่ใจ การรับมือกับโลกร้อนในระดับนโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคนยากจน คนที่อยู่ในชนบท อาจส่งผลร้ายต่อคนเหล่านี้ทั้งๆที่ เป็นกลุ่มคนที่มีส่วนในการผลิตและบริโภคที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด แต่จะได้รับผลร้ายทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนโยบายรับมือของภาครัฐมากที่สุด


 


"เมื่อเกิดภาวะนำ้ท่วม เราคงพอจำได้ว่าใครต้องเปียก และใครได้อยู่ในที่แห้ง คนกรุงเทพฯอยู่หลังกำแพงป้องกันนำ้ ในขณะที่ไร่นาถูกทำให้เป็นพื้นที่รองรับนำ้ หรือนโยบายพลังงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเขื่อนถูกเอามาปัดฝุ่นในนามของการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เราคงนึกออกว่าใครจะเดือดร้อน" ดร. หลุยส์กล่าว


 


แม้การเตรียมตัวรับมือโลกร้อนอย่างจริงจังในประเทศแถบเอเซียจะยังมีน้อย แต่ประเด็นความยุติธรรมทางสังคมของการกระจายความเสี่ยงจากภัย และการออกนโยบายแก้ไขปัญหา ควรได้รับการพูดคุย ถกเถียงอย่างโปร่งใสในสังคม เพื่อวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียต่อทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม


 


*ติดตามความเคลื่อนไหว ทำความเข้าใจโลกร้อนในมุมที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย โดยทีมนักข่าวที่เกาะติดประเด็น ที่  www.thaiclimate.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net