Skip to main content
sharethis


ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี


คณะรัฐศาสตร์ มหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้



คำนิยามที่ดีทีสุดสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้สำหรับปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเพิ่งจะผ่านพ้นไปก็คือ ความไม่มั่นคงอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งๆ ที่มีความคาดหวังอย่างมากในช่วงต้นปีที่ผ่านมาหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า สถานการณ์น่าจะดีขึ้นจากการเปลี่ยนรัฐบาลและการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการจัดการปัญหาภาคใต้ แต่ดูเหมือนความเป็นจริงจะขัดแย้งกับความคาดหวัง นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนธันวาคม 2550 นับเวลาผ่านมาเกือบจะ 48 เดือน หรือ 204 สัปดาห์แห่งความรุนแรงมีเหตุการณ์การก่อความไม่สงบรวม 7,823 ครั้ง ความรุนแรงและการก่อความไม่สงบทำให้มีเหยื่อเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 2,786 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 4,476 ราย กล่าวโดยรวมเหยื่อของเหตุการณ์ ซึ่งประกอบด้วยผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันประมาณ 7, 262 ราย โดยทั่วไปแล้ว สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบสี่ปี (2547-2550) มีลักษณะโดยสรุปได้ดังนี้

1. ความไร้เสถียรภาพที่แน่นอนและแนวโน้มที่ความสูญเสียจะเพิ่มมากขึ้น


สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับแนวโน้มความรุนแรงในรอบสี่ปีก็คือ เมื่อเทียบเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้เป็นรายปี จะเห็นได้ว่า ในปี พ.ศ. 2547 มีเหตุการณ์ทั้งหมด 1,850 ครั้ง ปี พ.ศ. 2548 เกิดเหตุการณ์ 2,297 ครั้ง ปี พ.ศ. 2549 เกิดเหตุการณ์ 1,815 ครั้ง และในปี พ.ศ. 2550 เกิดเหตุการณ์ 1,861 ครั้ง ปีที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุดในรอบสี่ปีก็คือปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุด แต่ในปี พ.ศ.2550 เหตุการณ์กลับค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ.2549 แล้วปี 2550 อาจจะมีระดับความรุนแรงสูงกว่าด้วยซ้ำ


ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาที่ยอดรวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ในรอบสี่ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าจำนวนคนที่บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันในแต่ละปีกลับสูงขึ้นตามลำดับ ดังจะเห็นได้จากข้อมูล ในปี 2547 มีคนตายและบาดเจ็บรวมกัน 1,438 คน ปี พ.ศ. 2548 คนตายและบาดเจ็บรวม 1,643 คน ในปี พ.ศ. 2549 มีคนเจ็บและตายรวม 1,877 คน และในปี พ.ศ. 2550 มีคนเจ็บและตายสูงถึง 2,295 คน ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้จะสูงๆ ต่ำๆ สลับไปสลับมา แต่สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละปีก็มีผลทำให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับทุกปี ซึ่งดูเหมือนว่า ในอนาคตอันใกล้นี้จะยังไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งหรือชะลอความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ 




นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์เหตุการณ์เป็นรายเดือน แนวโน้มความรุนแรงโดยทั่วไปยังแสดงให้เห็นความไม่แน่นอนของสถานการณ์โดยเฉพาะในด้านผลกระทบที่มีต่อชีวิตของผู้คน สถานการณ์โดยทั่วไปหลังจากการรัฐประหารในเดือนกันยายนปี 2549 ระดับความสูญเสียลดลงเล็กน้อยในเดือนกันยายนและตุลาคม แต่หลังจากนั้นก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจนโดยตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในปี 2550 จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันไม่ต่ำกว่าเดือนละประมาณ 200 คน  จนกระทั่งมาถึงเดือนมิถุนายน 2550 เป็นจุดสูงสุดมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุดถึง 304 คน หลังจากเดือนนี้ก็มีแนวโน้มต่ำลงจนถึงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ในปลายปี พ.ศ. 2550 


กล่าวในแง่ของระดับความถี่ของความรุนแรง นับตั้งแต่การรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 แนวโน้มเหตุการณ์ก็ลดลงเล็กน้อยเช่นกัน จากนั้นก็เริ่มสูงขึ้นอีก จนถึงเดือนสิงหาคม 2550 มีเหตุการณ์จำนวน 229 ครั้ง หลังจากเดือนสิงหาคม 2550 จำนวนครั้งของเหตุการณ์ความไม่สงบก็ลดลงอีกจนถึงเดือนพฤศจิกายนมีเหตุการณ์ 98 ครั้ง เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2549 มีเหตุการณ์สูงถึง 208 ครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน 2550 มีเหตุการณ์ 93 ครั้ง เหตุการณ์จึงค่อนข้างลดลงในปลายปีที่ผ่านมา


อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบความรุนแรงก่อนและหลังเดือนกันยายน 2549 แนวโน้มของเหตุการณ์จะสะท้อนให้เห็นสองแบบลักษณะ ในช่วงก่อนการรัฐประหาร ระดับของเหตุการณ์ในปี 2549 จะต่ำกว่า 200 เหตุการณ์ต่อเดือน และจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงสูงมากในเดือนสิงหาคมของปี 2549 เพราะมีการโจมตีก่อเหตุพร้อมกันหลายครั้งในช่วงเดือนดังกล่าว แต่หลังจากการรัฐประหารเหตุการณ์ความรุนแรงก็ลดลงเล็กน้อยในเดือนแรก หลังจากนั้นก็มีแนวโน้มสูงขึ้นในอีกระดับหนึ่งโดยเฉพาะในปี 2550 มีเหตุการณ์ความไม่สงบโดยเฉลี่ยเดือนละมากกว่า 200 ครั้ง จนถึงหลังเดือนสิงหาคมปี 2550 ก็มีแนวโน้มลดลงอีกในช่วงปลายปี 2550 ซึ่งอาจจะเป็นผลจากการปฏิบัติการของฝ่ายทหารที่เข้มข้นขึ้น แต่กล่าวได้ว่า สถานการณ์โดยทั่วไปยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากในระดับพื้นที่หลายแห่ง





ในรอบสี่ปี เมื่อเปรียบเทียบอำเภอทั้งหมดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มี 7 อำเภอที่มีอันดับความรุนแรงสูงสุด อำเภอที่มีความรุนแรงมากที่สุดอันดับหนึ่งคือ อำเภอเมืองจังหวัดยะลา (818 เหตุการณ์) รองลงมาคืออำเภอรามัน จังหวัดยะลา (492 ครั้ง) อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส (480 ครั้ง) อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา (431 ครั้ง) อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส (415 ครั้ง) อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส (และอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี (392 ครั้ง)






เมื่อพิจารณาจากระดับความถี่ของเหตุการณ์ในรอบ 7 วัน ตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมา เหตุการณ์เฉลี่ยในวงรอบทุกๆ 7 วันจะเกิดขึ้นประมาณสัปดาห์ละ 40-50 ครั้งซึ่งค่อนข้างสูง จนกระทั่งถึงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2550 ลดลงเหลือประมาณสัปดาห์ละ 20 กว่าครั้ง เหตุการณ์แม้จะลดลงระดับหนึ่งในช่วงหลัง แต่ก็ยังมีแนวโน้มความไม่แน่นอนอยู่ในระยะยาว




2. ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงและไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐ


ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือแย่ลง นอกจากจะอยู่ที่สถานการณ์ความไม่สงบและความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชนแล้ว ปัจจัยในด้านจิตวิทยาสังคมหรือความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อเหตุการณ์และบทบาทของรัฐในการจัดการปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็มีความสำคัญด้วย สิ่งที่จะต้องให้ความสนใจก็คือ ความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อการเมืองและระบบการเมืองที่มีอยู่ในการแก้ปัญหาความรุนแรง รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระหว่างการเลือกตั้งครั้งล่าสุดโดยเครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 7 ธันวาคม 2550 ซึ่งนับเป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อสถานการณ์ปัจจุบันครั้งล่าสุดจำนวน 3,038 คนจากห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้


ประเด็นคำถามก็คือ ประชาชนมีความคาดหวังอย่างไรว่าการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ผู้ที่มองว่ารัฐบาลประชาธิปไตยทำให้แก้ปัญหาได้ดีกว่าเดิมมีอยู่ร้อยละ 36.5 ที่มองว่าไม่ทำให้ปัญหาดีกว่ากว่าเดิมมีอยู่ร้อยละ 19.7 ส่วนที่บอกว่าแย่กว่าเดิมนั้น มีอยู่ร้อยละ 3.2 อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าคิดก็คือมีผู้ตอบร้อยละ 39.9 ยังบอกว่ายังไม่แน่ใจว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงไปกว่าเดิม แสดงให้เห็นว่าโดยภาพรวมประชาชนในภาคใต้ยังไม่แน่ใจว่าพรรคการเมืองและการเลือกตั้งซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยสามารถจะแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคการเมืองและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมาจึงต้องทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนเชื่อว่าตนเองสามารถจะเสนอทางออกในการแก้ปัญหานี้ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญของชาติได้


นอกจากนี้ คำถามที่น่าสนใจสำหรับสถานการณ์ชายแดนใต้ก็คือ ความคิดเห็นต่อนโยบายปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมผู้ต้องสงสัยการก่อความไม่สงบซึ่งฝ่ายความมั่นคงให้เหตุผลว่ามีผลทำให้การก่อเหตุการก่อความไม่สงบลดลงในรอบสองสามเดือนที่ผ่านมา ในกรณีนี้ทีมวิจัยได้ถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่านโยบายดังกล่าวทำให้การก่อความไม่สงบลดลง คำตอบที่น่าคิดก็คือ สำหรับประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนส่วนมากประมาณร้อยละ 40 กลับไม่เห็นด้วย ผู้ตอบอีกร้อยละ 37.6 บอกว่าเห็นด้วย ส่วนอีกร้อยละ 22.6 บอกว่าไม่แน่ใจ จะเห็นได้ว่าประชาชนส่วนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เห็นด้วยว่ามาตรการดังกล่าวทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบลดลง


ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สำหรับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีมากกว่านั้น ใน 3 จังหวัดภาคใต้ผู้ที่ตอบว่าไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่านโยบายปิดล้อม ตรวจค้น ทำให้การก่อความไม่สงบลดลงมีจำนวนมากถึงร้อยละ 51.2 ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูงอย่างน่าจับตามอง ส่วนผู้ที่เห็นด้วยมีเพียงร้อยละ 25.9 ผู้ที่เห็นด้วยมีเพียงร้อยละ 22.9 เท่านั้น แสดงให้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วงว่านโยบายและมาตรการดังกล่าวของทหารในระยะหลังอาจจะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อภาวะจิตวิทยาสังคมของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะต้องสนใจว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนยอมรับมาตรการดังกล่าวมากกว่านี้ 



กล่าวโดยสรุป สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังสะท้อนให้เห็นความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา แนวโน้มความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการก็ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ต้องยอมรับว่า ถึงแม้สถานการณ์จะไม่ดีขึ้นแต่ความเข้มข้นของความรุนแรงโดยทั่วไปก็มีแบบแผนที่แน่นอน มีระดับคงที่อยู่พอสมควร ระดับของความรุนแรงจึงมีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่น่าระวังคือการขยายตัวของความสูญเสียในด้านชีวิตและความบาดเจ็บเสียหายของทั้งประชาชน ผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่ทางราชการ


ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งต้องแก้ให้ตกด้วยวิถีทางทางการเมืองและมีนโยบายความมั่นคงใหม่ที่สอดคล้องกับปัญหาใจกลางที่เกิดขึ้นจริงๆ  เราจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าการบริหารและการปกครองที่ดี (good governance) ซึ่งประกอบด้วยประชาธิปไตยและกระบวนการทางกฎหมาย การสร้างความยุติธรรมและการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการลดปัญหาความรุนแรงที่ท้าทายสังคมไทยอยู่ในขณะนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net