Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2551 ประธานาธิบดีโจเซ่ รามอส-ฮอร์ตา (Jose Ramos-Horta) ผู้นำติมอร์ตะวันออก ได้เดินทางกลับประเทศ หลังจากถูกส่งไปรักษาตัวที่ออสเตรเลียเพราะถูกผู้ฝักใฝ่ฝ่ายทหารกบฏลอบยิงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551


 


การเดินทางกลับประเทศของประธานาธิบดีรามอส-ฮอร์ตา ได้รับความคุ้มครองกองกำลังรักษาความสงบขององค์การสหประชาชาติ (UN) และกองกำลังทหารต่างชาติซึ่งนำทีมโดยกองทัพออสเตรเลีย


 


อะตุล คาเร (Atul Khare) เลขาธิการสูงสุดของยูเอ็นที่รับผิดชอบภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยในติมอร์ตะวันออกได้แถลงข่าวเพื่อขอร้องให้ทุกฝ่ายในติมอร์ฯ ยุติความขัดแย้ง และหันมาร่วมมืิอกันพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น แต่คำร้องขอดังกล่าวจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นจริงหรือ ในเมื่อทุกวันนี้ การปะทะต่อสู้กันเองในกลุ่มชาวติมอร์ตะวันออกไม่ได้ลดน้อยลง ส่งผลให้ประชาชนต้องพลัดถิ่นที่อยู่, ว่างงาน, ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่เกิดจากการปะทะกันของขั้วอำนาจทางการเมืองอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง


 


เบื้องหลังอิสรภาพ "ความขัดแย้งยังคงอยู่"


ก่อนที่ทั่วโลกจะเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ "สหัสวรรษใหม่" ใน ค.ศ.2000 ประชาชนบนเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วมกันลงประชามติในวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ.1999 เพื่อกำหนดอนาคตร่วมกันว่า พวกเขาจะยังยินยอมอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอินโดนีเซียต่อไป หรือจะประกาศอิสรภาพให้ได้มาซึ่งสิทธิในการปกครองตนเอง


 


เมื่อสรุปผลการลงประชามติ ก็ตีความได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่บนเกาะติมอร์ ฝั่งตะวันออก ต้องการ "แยกตัว" ออกจากอินโดนีเซีย เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชและอธิปไตยของ "ประเทศติมอร์ตะวันออก" หรือ Timor-Leste


หลังจากที่ติมอร์ตะวันออกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมายาวนานหลายร้อยปี, ถูกอินโดนีเซียยึดครองต่ออีก 25 ปี และเป็นปีทีเต็มไปด้วยการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตจำนวนมาก


 


อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่การเมืองในโปรตุเกสกำลังระส่ำระสาย ชาวติมอร์ตะวันออกได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มการเมืองขึ้นมาบ้างแล้ว เพื่อเตรียมแนวทางที่จะนำไปสู่การปกครองตนเอง


 


กลุ่มการเมืองที่สำคัญของติมอร์ตะวันออก ได้แก่ พรรคแนวหน้าปฏิวัติเพื่อเอกราชติมอร์ตะวันออก หรือ เฟรททิลิน (Frente Revolucionária de Timor-Leste Independente) ซึ่งประกาศชัดเจนว่าเป็นผู้สนับสนุนแนวคิด "สังคมนิยม" และได้รับความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน


 


ส่วน "กลุ่มอะโพเดทติ" หรือ APODETI ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งมีความใกล้ชิดกันทั้งทางด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และพรมแดน ในขณะที่ "กลุ่มยูดีที" หรือ União Democrática Timorense: UDT ประกาศจุดยืนว่ากลุ่มของตนเป็นพันธมิตรกับโปรตุเกส สนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตย ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มยูดีที ได้แก่ พ่อค้า ปัญญาชน และกลุ่มที่มีการติดต่อกับผู้สำเร็จราชการจากโปรตุเกส ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น "ชนชั้นสูง" หรือ "ชนชั้นปกครอง" ในสมัยนั้น


 


ทุกกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยอ้างว่าต้องการ "ปลดปล่อย" ติมอร์ตะวันออก ล้วนมีนโยบายที่เอ่ยอ้างถึงประชาชน และในขณะเดียวกัน แต่ละฝ่ายก็มี "ประเทศหนุนหลัง" เป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างชัดเจน


 


แต่น่าเสียดายว่า เมื่อพรรคการเมืองแต่ละฝ่ายได้เข้าไปมีบทบาทในการบริหารประเทศจริงๆ สิ่งที่เป็นภารกิจแรกของพรรคเหล่านี้กลับเป็นเพียงการ "สะสางบัญชีแค้น" มากกว่า


 


รัฐบาลชุดแรกของติมอร์ตะวันออก มาจากการเลือกตั้งในปี 2001 ซึ่ง "ชานานา กุสเมา" อดีตผู้นำกองกำลัง-ของพรรคเฟรททิลินที่เคยเข้าป่าเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลอินโดนีเซียได้เป็นประธานาธิบดีคนแรก ในขณะที่พรรคเฟรททิลินก็ได้จำนวนที่นั่งในสภาสูงกว่าพรรคอื่นๆ "มารี อัลคาทิรี" (Mari Bim Amude Alkatiri) เลขาธิการพรรคเฟรททิลิน จึงได้ัรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรก และเริ่มต้นทำงานในปี 2002 โดยการรับรองขององค์การสหประชาชาติ


 


การประกาศอิสรภาพของติมอร์ตะวันออก ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของยูเอ็น ในฐานะที่เป็นองค์การประสานความร่วมมือและมีบทบาทสำคัญในการจัดการลงประชามติ ทั้งยังเป็นผู้วางรากฐานทางการเมืองและการทหารสมัยใหม่ให้แก่ "ประเทศติมอร์ตะวันออก" อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน


 


แต่ยังไม่ทันที่ยูเอ็นจะถอนกำลังออกไป ความขัดแย้งระลอกใหม่ในหมู่ชาวติมอร์ตะวันออกก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลชุดแรกบริหารงานไปได้เพียง 4 ปี


 


ในปี 2006 "อัลเฟรโด เรนาโด" (Alfredo Reinado) นายทหารระดับสูงนายหนึ่ง หลบหนีเข้าป่าพร้อมกับทหารอีก 600 นายซึ่งถูกสั่งปลดประจำการโดยนายกฯ อัลคาทิรี กรณีดังกล่าวนำไปสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลกำลังเหยียดเชื้อชาติ เพราะทหารส่วนใหญ่ที่ถูกปลดฯ มีเชื้อสายมาจากฝั่งติมอร์ตะวันตก


 


เมื่อเรนาโดและทหารอีก 600 นายหลบหนีเข้าป่าช่วงต้นปี 2006 พวกเขาก็ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า "ยืนอยู่คนละฝั่ง" กับรัฐบาลและพรรคเฟรททิลิน ด้วยเหตุนี้ การซุ่มโจมตีทหารฝ่ายรัฐบาลและการปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วนจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง


 


จากเหตุการณ์ลุกฮือของ "กองกำลังทหารกบฎ" ดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 25 ราย และจำนวนผู้พลัดถิ่นพุ่งสูงถึง 150,000 ราย รวมถึงการซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐในเวลาต่อมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นความขัดแย้งระดับประเทศที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนพากันวิตกกังวล


 


โดยประเด็นที่เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในติมอร์ตะวันออก แบ่งเป็น 3 เรื่อง คือ


 


1.การแบ่งขั้วอำนาจทางการเมืองไม่ลงตัว ส่งผลกระทบไปถึงประชาชน


ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองหลัก 3 พรรคใหญ่ สืบเนื่องมาจากสงครามกลางเมืองที่กินเวลาช่วงสั้นๆ ในปี 1975 ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็แย่งชิงความเป็นผู้นำ แม้ว่าเฟรททิลินจะต่อสู้จนได้รับชัยชนะ ทำให้อะโพเดทติและยูดีทีต้องหลบหนีไปยังฝั่งติมอร์ตะวันตก แต่สุดท้ายเฟรททิลินก็ต้องผิดหวังเมื่ออินโดนีเซียเป็นฝ่ายใช้กำลังบุกเข้ายึดครองและอยู่ยาวมาจนถึง 25 ปี


 


ช่วงที่อินโดนีเซียยึดครองติมอร์ตะวันออก มีการปราบปรามเฟรททิลินและกองกำลังฟาลินติลอย่างรุนแรง แต่สมาชิกกลุ่มอะโพเดทติและยูดีทีกลับได้รับการสนับสนุนจากอินโดนีเซีย ถึงขนาดได้รับเลือกให้เป็นผู้ปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถสร้างสมอำนาจและความนิยมจากประชาชนได้ในระดับหนึ่ง


 


เมื่อสถานการณ์พลิกกลับ ติมอร์ตะวันออกได้รับอิสรภาพ เฟรททิลินได้รับเลือกมาเป็นรัฐบาลด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย แต่การดำเนินงานในยุคแรกๆ ของรัฐบาลกลับไม่ได้คำนึงถึงการพัฒนาประเทศเท่าไหร่นัก การสั่งปลดทหารรวดเดียว 600 นาย โดยนายกฯ อัลคาทิรี เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามที่จะ "กำจัด" ผู้ที่ไม่ใช่พวกพ้องของตนออกไป โดยเฉพาะ "ทหารกบฎ" ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มอะโพเดทติ


 


ในทางกลับกัน คู่แข่งทางการเมืองเหล่านั้นก็ตั้งข้อกล่าวหากลับไปยังนายกฯ อัลคาทิรีเช่นกันว่า เขาเป็นผู้ตั้งทีมนักฆ่าเพื่อลอบสังหารผู้ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของพรรคเฟรททิลิน และข้อกล่าวหานี้ก็นำไปสู่การกดดันให้อัลคาทิรีลาออกจากตำแหน่งในเดือนมิถุนายน 2006 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งใหม่


 


เมื่อ "โจเซ่ รามอส-ฮอร์ตา" ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2007 และมีการเลือกตั้งรัฐบาลตามมาในเดือนมิถุนายน "มารีิ อัลคาทิรี" ได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง เพราะเขาอยู่ในลำดับ 2 ของบัญชีรายชื่อพรรคเฟรททิลิน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเฟรททิลินมีที่นั่งในสภาสูงสุดเช่นเคย นั่นคือ 21 ที่นั่ง แต่พรรค CNRT (National Congress for Timorese Reconstruction) ซึ่ง "ชานานา กุสเมา" เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ก็ได้ไปถึง 18 ที่นั่ง นับเป็นการแข่งขันที่สูสี และการตั้งพรรคซีเอ็นอาร์ทีของกุสเมา ถือเป็นการประกาศ "ตัดขาด" จากเฟรททิลินอย่างเป็นทางการ


 


ในการเลือกตั้งปี 2007 เมื่อพรรคซีเอ็นอาร์ทีรวมกับพรรคอื่นๆ เช่น พรรคเดโมแครต (Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคของปัญญาชนรุ่นใหม่ที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ จนกระทั่งมีที่นั่งถึง 37 ที่จาก 65 ที่ในสภา ทำให้ตั้งรัฐบาลได้ และประธานาธิบดี "โจเซ่ รามอส ฮอร์ตา" ออกมาประกาศว่า จะให้ "ชานานา กุสเมา" เป็นนายกฯ พรรคเฟรททิลินจึงออกมาคัดค้านและกล่าวว่า จะให้พรรคซึ่งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 จัดตั้งรัฐบาล เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง


 


พรรคเฟรททิลินและผู้สนับสนุนพรรคเฟรททิลินจึงใช้รูปแบบการต่อต้าน "อารยะขัดขืน" (Civil Disobedience) แต่เมื่อมีการเดินขบวนประท้วงในเมืองบาวกาว (ฺBaucau) ซึ่งเป็นแหล่งผู้สนับสนุนพรรคเฟรททิลิน ผู้ชุมนุมประท้วงขว้างปาหินใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงนำไปสู่การปะทะใช้กำลัง และจำนวนผู้พลัดถิ่นเนื่องจากถูกกลุ่มผู้สนับสนุนเฟรททิลินเผาบ้านเรือนก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


 


ขณะเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์ลอบยิงประธานาธิบดีรามอส ฮอร์ตา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยผู้ลอบยิงคือสมาชิกกลุ่มทหารกบฎซึ่งไม่พอใจที่รัฐบาลเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อกลุ่มทหาร ซึ่งต้องการใช้มาตรการปราบปรามขั้นรุนแรง หลังจากที่พยายามเจรจาต่อรองมาโดยตลอด และเรนาโดซึ่งเป็นผู้นำทหารกบฎก็ถูกจับตายในเวลาต่อจากนั้นไม่นาน


 


ด้วยภาพลักษณ์ที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายของนักการเมือง ทำให้เวทีการเมืองและการบริหารประเทศของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องถูกใจประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกเท่าไหร่นัก


 


2.ความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ภาษา แนวคิด และวิถีชีวิต เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา


ในทางประวัติศาสตร์ ชาวติมอร์ตะวันออกมีความแตกต่างกันอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เพราะมีทั้งผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมือง ใช้ภาษา "แต้ตุน" (Tetum) ในการสื่อสาร หรือผู้สืบเชื้อสายโปรตุเกส หรือเติบโตมาในยุคที่โปรตุเกสกำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟู ได้เรียนรู้ภาษาโปรตุเกสและซึมซับวัฒนธรรมตะวันตกมา ในขณะที่คนรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตในยุคอินโดนีเซียยึดครอง ถนัดใช้ภาษาบาฮาซาในการสื่อสาร และมีวิถีชีวิตใกล้เคียงชาวอินโดนีเซียมากที่สุด


 


ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา แนวคิด และวิถีชีวิต เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาติมอร์ตะวันออกไม่คืบหน้าเท่าที่ควร นอกเหนือจากการกำหนดภาษาราชการแล้ว การตัดสินใจว่าจะใช้ภาษาอะไรในการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาก็เป็นเรื่องที่ยังหาข้อยุติไม่ได้เช่นกัน เพราะหลายฝ่ายเห็นว่า นอกจากภาษาแต้ตุน, ภาษาโปรตุเกส และภาษาบาฮาซาแล้ว ควรจะเพิ่มภาษาอังกฤษลงไปด้วยอีกหนึ่งตัวเลือก เพื่อการติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติจะได้เกิดประโยชน์สูงสุด ในยุคที่ทหารออสเตรเลียและกองกำลังนานาชาติประจำการอยู่ (แทบจะ) ถาวรเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 


 


3.การพึ่งพิงเงินทุนและความช่วยเหลือด้านต่างๆ จากต่างชาติ ทำให้ประเทศขาดเสถียรภาพ


ปัจจุบัน ชาวติมอร์ตะวันออกส่วนใหญ่ยังคงไร้การศึกษา ไม่มีงานทำ และเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคเบื้องต้น ทั้งที่นโยบายของรัฐบาลรามอส ฮอร์ตา ประกาศว่าจะมุ่งเ้น้นด้านเศรษฐกิจ มีการกำหนดนโยบายการลงทุนด้านอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ โดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติจากฝั่งทะเลติมอร์ซึ่งมีทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (หนึ่งในนั้นก็มีบริษัทของอินโดนีเซียด้วย) แต่เงินทุนต่างชาติที่ได้รับมานั้น ไม่สามารถกระจายออกไปได้อย่างทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาก็ล้มเหลวอย่างมากเรื่องการกระจายรายได้ เนื่องจากไม่สามารถใช้เงินที่มีอยู่สร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ให้แก่ประชาชน เพราะขาดแคลนเทคโนโลยีและบุคลากรที่ชำนาญการ


 


นอกจากนี้ การพึ่งพากองกำลังต่างชาติ ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการรักษาความสงบหลังเกิดเหตุลอบยิงประธานาธิบดีรามอส ฮอร์ตา เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้การเมืองภายในประเทศยิ่งร้อนระอุยิ่งกว่าเดิม เพราะในขณะที่เฟรททิลินได้รับความสนับสนุนจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ภาพลักษณ์ของนักต่อรองและผู้สนับสนุนประชาธิปไตยของ "ชานานา กุสเมา" และ "โจเซ่ รามอส ฮอร์ตา" กลับเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติมากกว่า


 


 


ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด แม้อิสรภาพจะเปรียบได้กับ "ชัยชนะ" สำหรับชาวติมอร์ตะวันออก หลังจากที่พวกเขาถูกยึดครองมาเนิ่นนาน แต่การได้มาซึ่งเอกราชและอธิปไตย ยังไม่อาจนับว่าเป็น "หลักชัย" ของการยุติปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง และความอดอยากยากแค้นของประชาชนชาวติมอร์ฯ ได้ เพราะความเป็นจริงที่โหดร้ายได้ทำลายความหวังว่า "ติมอร์ตะวันออกจะดีขึ้น" และเป็นสิ่งที่ทำให้ความรุนแรงในสังคมกลับมาใหม่อีกครั้ง  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net