Skip to main content
sharethis


ศิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์


 


ขบวนการนักศึกษากับการทำงานรากหญ้าในสังคมไทย


รำลึกครบรอบ 50 วันแห่งการจากไป นันทโชติ  ชัยรัตน์และลูก
นักรบสามัญชนผู้สร้างความงดงามให้กับคนจนบนผืนแผ่นดิน


หากเอ่ยถึง นันทโชติ ชัยรัตน์ หรือ ปุ๋ย อดีตที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ซึ่งร่วมต่อสู้กับขบวนการชาวบ้านสมัชชาคนจนมาอย่างยาวนาน เป็นที่ปรึกษาหลักของชาวบ้านในการเจรจากับรัฐเรื่องระยะเวลาเปิดเขื่อนปากมูล เขาเสียชีวิตพร้อมลูกชายคนกลาง จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ขณะเดินทางกลับจากจังหวัดร้อยเอ็ด หลังจากไปช่วยชาวบ้านเจรจากรณีปัญหาเขื่อนราษีไศล เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 หลายคนในสังคมอาจจะไม่รู้จักเขา แต่ถ้าในกลุ่มของชาวบ้านพี่น้องปากมูน ที่ต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมในเรื่องผลกระทบของการพัฒนาประเทศจากการสร้างเขื่อน ไม่มีใครลืมเขาได้ เขารับใช้สมัชชาคนจนด้วยความซื่อสัตย์และด้วยความอดทน เขามีความมุ่งมั่นที่จะทำลายโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง ซึ่งนับได้ว่าคนอย่าง "ปุ๋ย" มีความกล้าหาญทางจริยธรรมเป็นหลัก เพื่อที่จะหนุนเสริมชาวบ้านให้มีหนทางในการต่อสู้ด้วยตนเอง


 


ปุ๋ย เป็นหนุ่มนครสวรรค์ เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเป็นเหมือนเช่นเพื่อนนักศึกษาคนอื่นๆ ด้วยการตั้งคำถามกับชีวิตและสังคม และเขาเลือกที่จะหาคำตอบโดยการเข้าทำกิจกรรมทางสังคมการเมือง และสนใจในปัญหาของผู้ใช้แรงงาน เขาเริ่มทำกิจกรรมนักศึกษาโดยสังกัดพรรคนักศึกษา ชื่อ พรรคสัจธรรม ช่วงนั้นกิจกรรมนักศึกษายังรุ่งเรืองพอสมควร มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อยครั้ง แต่ต่อมา ปุ๋ย ก็มารวมกลุ่มกับเพื่อนศึกษาปัญหาคนงานร่วมกัน ในนาม กลุ่มสวัสดิภาพแรงงาน ม.. (สภง.) ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญช่วงหนึ่งของขบวนการนักศึกษาได้เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษากลุ่มเดียวในยุคนั้นที่สนใจปัญหาคนงานที่เข้าร่วมประท้วงกับคนงาน ตราอูฐ พาร์การ์เมนท์ ไทรอัมพ์ ไทยพัตราภรณ์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เขาสนิทสนมกับพี่น้องสายแรงงานและได้สานสัมพันธ์กันมาตลอด นับได้ว่าเขาเป็นหนึ่งที่ได้เข้าร่วมสนับสนุนการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน และมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ได้ออกมารับใช้ผู้ใช้แรงงานอยู่ในปัจจุบัน


 


ทั้งนี้ พ่อสมเกียรติ พ้นภัย แกนนำชาวบ้านปากมูน ได้กล่าวถึงปุ๋ยในบทบาทการทำงานร่วมกับพี่น้องสมัชชาคนจนว่า "สำหรับในขบวนพี่น้อง การสูญเสียปุ๋ย ก็ไม่ต่างอะไรกับการเสียหัวหน้าครอบครัว เพราะที่ผ่านมาปุ๋ยทำทุกอย่าง ทุกเรื่อง ให้ทั้งเรื่องความคิด ให้ทั้งเหตุผล ทั้งการประสานงาน การติดต่อ การเจรจาต่อรอง เชื่อมต่อกับพันธมิตรอื่นๆ ให้เข้าใจซึ่งกันและกัน เขาทำได้ดีมาก เหมือนเป็นสื่อกลางคนในพื้นที่ กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกรณีปัญหากับกรณีปัญหา ชุมชนกับชุมชน ผู้ถูกกระทำกับผู้ถูกกระทำ เขาทำได้ดีมาก"


 


เฉกเช่น ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้ศึกษาการเมืองบนท้องถนน ก็ได้กล่าวถึง ปุ๋ย ในบทบาทของคนเล็กคนน้อยที่ทำงานในพื้นที่อย่างทุ่มเทชีวิตให้กับชาวบ้าน ว่า "เขาเป็นแบบอย่างของความทุ่มเท ความเสียสละ ความเอาจริงเอาจัง เป็นแบบอย่างของนักเคลื่อนไหวที่ลงไปคลุกกับชาวบ้าน เชื่อมร้อยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการสร้างสำนึกร่วม ทำให้ความเดือดร้อน ความทุกข์ความยากของคนทุกข์ที่เกิดขึ้นทุกหัวระแหงในสังคม ได้เกิดการแปรเปลี่ยนเป็นพลัง เกิดสำนึกร่วมด้วยการลุกขึ้นมาสู้ด้วยกัน เขาสามารถแสวงหาช่องทาง พื้นที่หรือกลไก ในการเชื่อมต่อกับระบบการเมืองปกติ การสร้างเวทีการเจรจาต่อรอง การเชื่อมโยงคนชั้นกลางในเมือง สถาบันวิชาการ ภาคการเมือง ฯลฯ เพื่อทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านมีพื้นที่ช่องทางการเจรจาต่อรองมากขึ้น และสิ่งสำคัญคือเขาได้ร่วมต่อสู้กับคนเล็กๆ ในสังคม เพื่อให้ตัวเองมีที่ทางในพื้นที่การเมือง มุ่งหมายที่จะร่วมสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ และสร้างการเมืองที่เห็นหัวคนจน"


 


นอกจากนี้ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวายอิ พูดถึงปุ๋ย ในฐานะเพื่อนนักศึกษาที่ร่วมกันผลักดันให้สังคมเกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียม "เขาเป็นนักศึกษาไม่กี่คนที่ไม่หนีจากที่ชุมนุมเดือนพฤษภาคม เมื่อทหารได้ปราบปรามประชาชนแล้ว ประเด็นนี้สำคัญ เพราะนักกิจกรรมทั้งหมดมีมติออกจากที่ชุมนุม ขณะที่ปุ๋ยเป็นหนึ่งในเพื่อนของพวกเราอีกหลายคน ซึ่งได้อยู่ในที่ชุมนุมตลอดเวลาทั้งบนถนนราชดำเนินหรือลาน สวป. จนเมื่อการชุมนุมจบลงด้วยชัยชนะของประชาชน ความรู้สึกของเพื่อนที่มีต่อการเสียชีวิตของปุ๋ย ไม่ได้เป็นเพราะปุ๋ยเป็นลูกของประชาชน นักรบของประชาชน แต่เพราะปุ๋ยเป็นเพื่อนของพวกเรา มีประสบการณ์บางแบบร่วมกันมาเกือบสองทศวรรษ เป็นหนึ่งในคนรุ่นราวคราวเดียวกันจำนวนน้อยที่มีชีวิตอย่างเสียสละ เตือนให้เห็นว่า อุดมคติ มีอยู่จริง"


 


เพื่อรำลึกถึงการจากไปในวาระครบรอบ 50 วัน ของ ปุ๋ย มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จึงได้จัดพื้นที่ทางปัญญา เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันคุย ในหัวข้อ "ขบวนการนักศึกษากับการทำงานรากหญ้าในสังคมไทย" ขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2551 เวลา 13.30-16.30 น. ณ ป๋วยเสวนาคาร อาคารพุทธมามกะชั้น 2 โรงเรียนวัดปทุมคงคา (เยาวราช) ถนนทรงวาด สัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดได้ที่ 083-224-9867 / www.semsikkha.org    


 


ซึ่ง สมบูรณ์ จึงเปรมปรีดิ์ ผู้จัดการมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ได้บอกถึงจุดมุ่งหมายหลักของการจัดงานว่า "เราต้องการให้คนรุ่นใหม่ในสังคมเห็นถึง อุดมคติที่มีอยู่จริงในสังคมปัจจุบัน เห็นได้จากเจตนารมณ์ที่กล้าหาญและการเสียสละอุทิศตนในการทำงานของคนเล็กคนน้อยอย่าง ปุ๋ย นันทโชติ ชัยรัตน์ ที่ได้ทำงานรับใช้คนยากคนจนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ นอกจากเห็นพี่น้องในพื้นที่ได้รับความยุติธรรม จากโครงการพัฒนาประเทศที่เอารัดเอาเปรียบการใช้ชีวิตของพวกเขาอยู่"


 


สมบูรณ์ ยังบอกถึงรายละเอียดงานอีกว่า "การจัดเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุยในครั้งนี้ เรามีวิทยากรที่เป็นเพื่อนและทำงานร่วมกับปุ๋ยมาตลอด มาร่วมพูดคุยคือ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, บัณฑิต แป้นวิเศษ, เจษฏา โชติกิจภิวาทย์, ศรายุธ ตั้งประเสริฐ และมีภาคภูมิ เตมะศิริ จากคมชัดลึก มาร่วมดำเนินรายการ นอกจากนี้เราจะได้รับฟังเพลงจากนักร้องวง โฮม และบทกวีจาก วสันต์ สิทธิเขตต์ อีกด้วย"


 


เราจะเห็นได้ว่า ปุ๋ย เป็นสามัญชนคนหนึ่ง ที่ทำให้สังคมเห็นว่า ชีวิตเล็กๆ ก็มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ได้ เขาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการต่อสู้ของผู้ทุกข์ยาก การทำงานอย่างเสียสละของปุ๋ยที่ผ่านมา จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คิดได้ว่า "แม้ชีวิตจะสั้น แต่การอุทิศตนนั้นยืนยาว" ถึงแม้ว่า ปุ๋ย จะไม่ได้ถือกำเนิดมาจากลุ่มแม่มูน แต่เขาเลือกที่จะพิทักษ์รักษาแม่มูนด้วยหัวใจและชีวิต นี่เป็นความงามที่ปุ๋ยได้สร้างให้กับแผ่นดินอย่างยิ่งใหญ่และงดงาม


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net