Skip to main content
sharethis

วานนี้ (15 ก.ค.51) พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติตามมติผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรจัดการน้ำและการชลประทาน โดยเห็นชอบในหลักการโครงการผันน้ำน้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 76,760 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2556 โดยจะเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ แนวผันน้ำอื่นๆ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการผันน้ำ เพื่อเพิ่มต้นทุนของประเทศที่คณะกรรมการตั้งขึ้น โดยมีนายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ


พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า แนวผันน้ำน้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว เป็นการผันน้ำจากท้ายเขื่อนน้ำงึมในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าคลองผันน้ำความยาว 17 กิโลเมตร ผ่านอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำโขง มายังอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี และต่อไปยังหนองหาร กุมภวาปี ได้ปริมาณน้ำ 2,580 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน 3.2 ล้านไร่ แบ่งเป็นระยะที่ 1 การใช้น้ำในประเทศห้วยหลวง-หนองหาร-กุมภวาปี ระยะเวลา 4 ปี และระยะที่ 2 การใช้น้ำจากนอกประเทศ น้ำงึม-ท่อลอดน้ำโขง-ห้วยหลวง ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี


ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังทราบข่าวมติครม.ดังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน ได้ออกแถลงการณ์ทักท้วงการผลักดันโครงการผันน้ำงึมสู่อีสาน เนื่องจากการมีการเร่งรัด "โครงการผันน้ำน้ำงึม-น้ำโขง-ห้วยหลวง-หนองหานกุมภวาปี-ลำปาว-อุบลรัตน์-น้ำชี" เข้า ครม.แม้กำลังมีแรงกฎดันจากสถานการณ์ทางการเมืองอย่างมาก ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และไม่คำนึงถึงปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อุทกวิทยา ธรณีวิทยา รวมทั้งการแพร่กระจายของดินเค็มที่จะเกิดขึ้น


นอกจากนี้โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวพันข้ามประเทศระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวควรจึงควรที่จะต้องมีการพิจารณาให้รอบด้าน


"ไม่ใช่เซ็นแล้วไปโง่ทีหลัง แล้วก็ผลักภาระไปให้ประชาชนตามที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ" นายหาญณรงค์กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อภาระความรับผิดชอบที่จะตามมาจากโครงการผันน้ำซึ่งที่มีต้นทุนค่าน้ำและเกี่ยวพันธ์กับความสำพันธ์ระหว่างประเทศ


นายหาญณรงค์ ยังได้แสดงความหวั่นเกรงว่ามติ ครม.ในครั้งนี้จะเป็นความผิดพลาดที่ซ้ำซ้อนกับโครงการโขง-ชี-มูล ที่เคยล้มเหลวในอดีต ซึ่งทำให้มีการสร้างเขื่อนกว่า 13 โครงการในภาคอีสานเพื่อขยายพื้นที่การเพาะปลูก 4.2 ล้านไร่แต่ก็ไม่ประสบผลตามที่กล่าวอ้าง และเนื่องจากมีการเร่งรีบในการอนุมัติงบประมาณโดยไม่สนใจในข้อเรียกร้องของประชาชน เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจต่อการอนุมัติเร่งอนุมัติงบโครงการว่าอาจเป็นการหมกเม็ด เพื่อผลประโยชน์และความอยู่รอดของตัวเอง โดยโฆษณาว่าประชาชนจะได้น้ำไปใช้เพื่อการเกษตร


"ที่ผ่านมาก็อ้างถึงภาคประชน ภาคประชาชน แต่ไม่เคยคิดถึงจริงๆ" นายหาญณรงค์กล่าว


ทั้งนี้ นายหาญณรงค์ กล่าวว่า ในวันที่ 9 ส.ค.ที่จะถึงนี้ จะมีการลงพื้นที่ร่วมกับสมาคมวิศวกรรม เพื่อดูความคุ้มค่าในเชิงวิศวกรรมของโครงการผันน้ำนี้ พร้อมจัดเสวนาในพื้นที่เพื่อพูดคุยปัญหาในเรื่องนี้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net