Skip to main content
sharethis


29 ก.ค.51 ชมรมพลังโดม ซึ่งก่อตั้งโดยศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2531 จัดงานเสวนา "ทางออกประเทศไทย" โดยเชิญอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3 คนร่วมเสวนา ได้แก่ ศ.เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม, รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร, ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 


เกริกเกียรติ กล่าวโดยแบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ ปัญหาความล้มเหลวของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย, สาเหตุของปัญหาดังกล่าว, และทางออก โดยปัญหาความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทยนั้น เขาตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นเวลา 16 ปี มีการใช้รัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ มีการรัฐประหาร 14 ครั้ง มีเหตุการณ์นองเลือด 3 ครั้ง


 


สาเหตุของปัญหามาจาก 5 ส่วนหลัก คือ 1) ทหาร ซึ่งมักเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยทำรัฐประหารอยู่เสมอ โดยอ้างถึงปัญหาการคอรัปชั่นของรัฐบาล 2) นักการเมือง หรือ นักเลือกตั้ง เป็นตัวก่อปัญหาที่สำคัญ ธาตุแท้ของนักการเมืองคือ แสวงหาอำนาจ แสวงหาความมั่งคั่ง และความอยู่รอดทางการเมือง และนักการเมืองในปัจจุบันยังแตกต่างกับนักการเมืองในอดีต เช่น ปรีดี พนมยงค์, จอมพลป.พิบูลสงคราม, นายควง อภัยวงศ์ ที่ทำงานการเมืองเพราะอุดมการณ์ แต่ในระบบการเลือกตั้งสมัยใหม่ นักการเมืองใช้วิธีการซื้อเสียงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมูลค่าที่ใช้ในการซื้อเสียง ส.ส. 1 คนนั้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากจะเป็นรัฐบาลต้องใช้เงินเป็นหมื่นล้าน ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักธุรกิจ จึงมีการลงทุนร่วมกันจนกลายเป็นระบบธุรกิจการเมือง


 


"นี่คือตัวแปรสำคัญที่สุด เมื่อก่อนอาจคือทหาร  แต่ตอนหลงทหารค่อนข้างดี ปัญหาอยู่ที่นักการเมือง" เกริกเกียรติกล่าว


 


เกริกเกียรติกล่าวต่อถึงปัจจัยส่วนที่ 3) คือ ประชาชน ซึ่งต้องพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการศึกษาให้ประชาชนกลายเป็นพลเมืองซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมือง และเลิกพึ่งระบบอุปถัมภ์ เพราะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพคือหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย 4) กลไกข้าราชการ ในอดีตการทำงานที่ตรงไปตรงมาของข้าราชการถือเป็นเสาหลักอันหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่านักการเมืองจะแย่เพียงใด แต่ปัจจุบันเสาหลักนี้ค่อยๆ หมดไป จนกระทั่งข้าราชการกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง 5) สื่อมวลชนและนักวิชาการ ปัจจุบันทั้งสองส่วนนี้ก็ยังเป็นส่วนที่ใช้ได้ แต่ก็ยังมีส่วนที่ "ซื้อได้" ทำอย่างไรให้ทั้งสื่อมวลชนและนักวิชาการทำงานได้อย่างอิสระ รับผิดชอบต่อสังคม และเข้มแข็งมากขึ้น


 


ในส่วนของทางออก เขากล่าวว่า บนพื้นฐานของประชาธิปไตยคนเห็นต่างกันได้ แต่ต้องไม่ใช้กำลัง เอาความจริงมาพูดกัน และเอากฎหมายเป็นตัวตั้ง รวมทั้งยอมรับการตัดสินของตุลาการ ซึ่งกระบนการยุติธรรมก็ต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมาและทันต่อสถานการณ์ ขณะที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายก็ต้องละมิจฉาทิฐิ มีสัมมาทิฐิ


 


นรนิติ กล่าวว่า ทางออกที่เราอยากเห็น ไม่ว่าจะเรื่องสันติวิธี หรือการที่ทุกฝ่ายสมประโยชน์ หรือมีคนบางส่วนต้องเสียสละ สิ่งเหล่านี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะปัญหาที่เป็นอยู่เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจทางการเมือง ซึ่งย่อมไม่อยากวางอำนาจที่มีเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางการเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมืองเสียก่อน


 


นรนิติ กล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยที่เกิดขึ้น ทุกคนคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่หากย้อนมองประวัติศาสตร์สังคมไทยเคยผ่านความแตกแยกอย่างรุนแรงมาแล้ว เช่น กบฏบวรเดชที่เกิดสงครามกลางเมือง กรณี 14 ตุลา 6 ตุลา ก็เกิดความวุ่นวาย เสียเลือดเนื้อ จนต้องมีการแก้ปัญหาทางการเมือง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬอีก ก็ต้องมีการแก้ปัญหาทางการเมืองอีก


 


นรนิติ กล่าวถึงทางออกของปัญหาว่า ทางออกที่ชัดเจนนั้นไม่ง่ายเพราะเป็นเรื่องของอำนาจ แต่ทั้งหมดต้องมีกติกา การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่ผ่านมา ถ้าดูจากรัฐธรรมนูญจะเห็นว่าในอดีตมักพูดถึงอำนาจของผู้ปกครอง แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนวิธีมองมามุ่งเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน


 


"ดังนั้น เรื่องทางออก ถ้าเป็นเรื่องถูก ผิด ต้องให้ตุลาการรับไป แต่ถ้าเป็นเรื่องแพ้ ชนะทางการเมือง ทางออกที่จะให้ผู้มีอำนาจทำ เราก็ทำได้แค่บอกเขา แต่เขาไม่เดินหรอก" นรนิติกล่าว


 


ชาญวิทย์นำเสนอเป็นเรื่องเล่าผ่านกรณีปราสาทเขาพระวิหารว่า เมื่อปี 2505 ไทยแพ้คดีเขาพระวิหารของศาลโลกด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 และเขายังเป็นนักศึกษาที่มีความรู้สึกชาตินิยมรุนแรง เดินขบวนประท้วงโดยไม่เคยศึกษาทางวิชาการอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะนั้นก็ให้การสนับสนุนการประท้วงของประชาชนทั่วประเทศ แต่สุดท้ายจอมพลสฤษดิ์ต้องแถลงยอมรับคำตัดสินของศาลโลกเพราะไทยต้องอยู่ในสังคมโลก นอกจากนี้ชาญวิทย์ยังมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ความเป็นเอกราช และเชื่อในสิ่งที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กล่าวไว้ว่าชนชาติไทยมีคุณธรรม 3 อย่างเป็นอุปนิสัยประจำชาติ คือ ความรักอิสระ ความมีขันติธรรม และความฉลาดในการประสานประโยชน์ มีการประนีประนอมกัน


 


ชาญวิทย์กล่าวว่า มาถึงวันนี้ปี 2551 ดูเหมือนเรื่องปราสาทเขาพระวิหารที่ผ่านไปครึ่งศตวรรษกลับเป็นประเด็นขึ้นมา และแทนที่จะเป็นประเด็นการจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันในทางการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม กลับกลายเป็นการเมืองเรื่องอธิปไตยร้อนแรงหมุนกลับไปสู่อดีต ที่ร้ายไปกว่านั้นคือปัญหาระหว่างไทยกับไทยด้วยกันที่เป็น "ระบอบ พธม." ที่มุ่งโค่นรัฐบาลสมัคร และล้มระบอบทักษิณ เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างก๊กไทยเหลือง ก๊กไทยแดง โดยมีก๊กไทยเขียว ก๊กไทยฟ้า ก๊กไทยขาว ก๊กไทยบน ก๊กไทยกลาง ก๊กไทยล่าง เฝ้ามองดูด้วยใจระทึก


 


ในส่วนตัวเขาหลังจากศึกษาประวัติศาสตร์ในหลายๆ ด้าน การศึกษาโบราณคดี การกลับไปอ่านคำพิพากษาศาลโลก ได้เลิกเชื่อว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทยไปแล้ว สนธิสัญญา แผนที่ ที่ทำกันไว้กับฝรั่งเศสตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ทำให้เราต้องยอมให้ปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนดินแดนกันในสมัยนั้น ไม่ใช่การเสียค่าโง่หรือไม่รู้แผนที่อย่างที่กล่าวกัน


 


ชาญวิทย์กล่าวอีกว่า ในวัยของขิงแก่ได้เลิกเชื่อสิ่งที่เคยเชื่อเกี่ยวกับสังคมไทยแล้วเช่นกัน ในด้านการเมืองดูเหมือนถึงจุดตีบตัน เพราะตั้งแต่ปี 2475 แทนที่จะได้ระบอบรัฐธรรมนูญ ได้นิติรัฐ กลับได้สถิติการแทรกแซงของทหารในการเมืองซึ่งได้กลายเป็นเรื่องปกติไปเสียยิ่งกว่าการมีกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ เช่น การเลือกตั้ง


 


"ผมเชื่อว่าการัฐประหาร 19 กันยา 2549 นั้นมิใช่ครั้งสุดท้าย รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งผมเรียกว่า ฉบับของอำมาตยาเสนาธิปไตยนั้นก็จะมีทั้งส่วนที่จะต้องแก้ไขแน่ๆ หรือไม่ก็มีใหม่ฉบับที่ 19 หรือ 20 นี่เป็นระเบิดเวลาทางการเมืองที่ถูกวางเอาไว้"


 


ชาญวิทย์กล่าวว่า ในด้านเศรษฐกิจไทยพัฒนาจนมาเป็นทุนนิยมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา จนเกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนเมืองกับคนชนบท กว้างที่สุดในอาเซียนก็ว่าได้ นี่ทำให้นโยบายประชานิยมที่ไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานได้ แต่ก็ได้รับคะแนนและโดนใจก๊กไทยล่าง ทำให้พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดไม่สามารถชนะใจคนส่วนใหญ่ได้ นับเป็นระเบิดเวลาลูกที่สอง


 


ในแง่ของสังคม ขณะนี้กลายเป็นสังคมที่เงินคือพระเจ้าทั้งในทุกระดับ ทุกวงการ โดยจะเห็นข่าวของโลภะ โมหะ โทสะ จากสื่อทุกวันจนคนชินและชาไปแล้ว ส่วนทางออกอยู่ที่ไหนคงต้องตอบเช่นเดิมว่าไม่รู้


 


"ในวัยของขิงแก่ ผมค่อนข้างมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งเป็นอภิสิทธิ์ของคนแก่ สังคมไทยที่ผมรู้จักและคุ้นเคยกำลังหมดไปทุกวันๆ ผมคงจะได้เห็นอะไรที่ไม่อยากเห็น และคงจะไม่ได้เห็นอะไรที่เคยได้เห็นมาชั่วชีวิต ที่สิ่งเคยเชื่อว่าสยามเมืองยิ้ม และคุณสมบัติตามที่กรมพระยาดำรงฯ ว่า ผมว่าสิ่งเหล่านั้นกำลังมลายหายไป เรากำลังเอาเรื่องชาติ เรื่องความรัก มาพิฆาตฆ่าฟันกัน ขาดวิหิงสา ขันติธรรม ขาดสติ และขาด "เกี๊ยะเซี๊ยะ" หรือสมานฉันท์"


 


"สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในไม่กี่ปีนี้ที่คนไทยแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า ประกอบกับ "ปรากฏการณ์สนธิ" ทั้งสนธิ ลิ้ม (ทองกุล) และสนธิ บัง (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน) ที่ในภาคหนึ่งจบลงด้วยการรัฐประหาร 19 กันยาฯ รัฐธรรมนูญ 50 และกำลังเดินต่อในภาคสองเพื่อการโค่นสมัครและทักษิณ ซึ่งก้าวเลยจุดประสานประโยชน์แล้วนั้น ผมคิดว่าเรากำลังถูกสึนามิทางการเมืองก่อตัวพร้อมจะถล่มให้พินาศ เราอาจมีจลาจล เป็นอนาธิปไตย มีสงครามกลางเมือง"  ชาญวิทย์กล่าวและว่า การที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างปราสาทเขาพระวิหาร และปราสาทพนมรุ้ง กลายเป็นเรื่องการเมืองเพื่อโค่นล้มกันอาจเป็นสัญญาณของกลียุคที่อาจจะเป็นบ่อเกิดของเสรีภาพ และสันติภาพของสยามประเทศไทยใหม่ สายธารแห่งประวัติศาสตร์เท่านั้นที่จะตอบได้


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net