Skip to main content
sharethis

วิทยากร  บุญเรือง


 


ในรอบสัปดาห์นี้ความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับแรงงาน ที่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามองก็คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินกองทุนประกันสังคมประกันสังคม


 


โดยเรื่องแรก สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้วยการลดการจ่ายเงินสมทบ ตามมาตรา 33 โดยส่วนของนายจ้างและลูกจ้างจะลดเงินสมทบ 1.5% เหลือเพียง 3.5% ต่อเดือน สำหรับรัฐบาลลดเงินสมทบเข้ากองทุน 0.5% เหลือเพียง 2.25% ซึ่งรัฐจะประหยัดงบประมาณรวม 3,800 ล้านบาท ช่วยลดต้นทุนการผลิตของนายจ้างกว่า 3 แสนราย คิดเป็นเงิน 11,600 ล้านบาท ส่วนลูกจ้าง 8.8 ล้านคนจะได้ลดรายจ่าย 11,600 ล้านบาท ซึ่งวิธีนี้จะทำให้นายจ้างคงการจ้างงานได้อย่างน้อย 6 หมื่นคน ส่วน สปส.คืนเงินเข้าระบบเศรษฐกิจสูงถึง 27,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้จะมีผลใช้บังคับประมาณต้นปี 2552 เป็นระยะเวลา 1 ปี เนื่องจากต้องมีการแก้ไขกฎกระทรวงก่อน


 


ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่โดนวิพากย์ วิจารณ์อย่างหนัก ก็คือแนวคิดที่จะนำเงินจากสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ประมาณ 1 แสนล้านบาทไปปล่อยกู้ให้ข้าราชการครูในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อแก้ไขปัญหานี้สินครู


 


ซึ่งเรื่องนี้ถูกแรงต้านอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะซีกแรงงาน และดูเหมือนว่าประเด็นนี้จะตกไป เมื่อ นายศรีเมือง เจริญศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ของแนวคิดนี้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดที่ตนได้หารือเบื้องต้นกับนางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เท่านั้น ยังไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าแหล่งเงินกู้มีอยู่หลายแห่ง ไม่จำเป็นจะต้องใช้แหล่งเงินจากประกันสังคมเพียงแห่งเดียว และปัจจุบันครูก็มีแหล่งเงินกู้อยู่หลายแห่งแล้ว เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู เป็นต้น แต่หากแหล่งเงินกู้ที่มียังไม่เพียงพอ ก็ต้องหาแนวทางอื่นมาช่วยเหลือ ทั้งนี้หากมีโอกาสหารือกับทุกฝ่าย และได้รับความเห็นชอบในการนำเงินประกันสังคมมาใช้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตามเมื่อมีผู้คัดค้านก็เป็นไปได้ที่จะยกเลิกการนำเงินประกันสังคมมาใช้หนี้ครู


 


 






 


แรงต้าน


 


ชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์ แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวถึงแนวคิดของนายศรีเมือง เจริญศิริ รมว.ศึกษาธิการ และนางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน ที่จะนำเงินกองทุนประกันสังคม 1 แสนล้านบาท มาให้ครูกู้ว่า ไม่เห็นด้วย และเชื่อว่าเมื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) บอร์ดฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างต้องคัดค้านแน่ เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินเพื่อสวัสดิการสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างไม่ใช่ข้าราชการ หากตนเป็นรัฐมนตรีจะไม่คิดอะไรที่ไม่มีข้อมูลชัดเจน ข้าราชการมีช่องทางใช้เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ ทำไมไม่เอาตรงนั้น การช่วยครูไม่ใช่ หน้าที่ของ สปส. แต่อาจมีบอร์ดบางคนทำเพื่อเอาใจฝ่ายการเมือง



น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการนำเงินไปหาเสียงสร้างภาพให้กับฝ่าย การเมือง ครูส่วนใหญ่เป็นหัวคะแนนของพรรค การเมือง และไม่ใช่ผู้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ขณะนี้สถานการณ์การเลิกจ้างคนงานทั่วประเทศ อยู่ในขั้นวิกฤติ ควรจะนำเงินไปช่วยมากกว่า เรื่องนี้เป็นการสร้างความแตกแยกระหว่างบรรดาลูกจ้างกับครู อย่าตัดสินใจโดยไม่ฟังเสียงผู้ประกันตน หากมีการดำเนินการจริงจะนำพวงหรีดไปวางไว้ที่หน้ากระทรวงแรงงาน และจะลงชื่อเพื่อขับไล่นางอุไรวรรณออกจากตำแหน่ง เข้าใจว่ารัฐบาลอยู่ในช่วงถังแตกต้องการเอาเงินประกันสังคมไปใช้เพื่อหาเสียง นายกรัฐมนตรีต้องลงมาดูแลและสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกจ้างแรงงาน



 


ณรงค์ เพ็ชรประเสิรฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่ได้คัดค้าน เพราะถือเป็นการเกื้อกูลกัน แต่ถ้าจะดำเนินการจริงจะมีขั้นตอนและรายละเอียดมากอาจถึงขั้นต้องแก้ กฎหมาย หรือดำเนินการในลักษณะโครงการเงินฝากกับธนาคารเพื่อปล่อยกู้ แต่อยากถามว่าทำไมไม่คิดถึงเจ้าของเงิน ไม่ใส่ใจเรื่องสิทธิประโยชน์ความเดือดร้อนของลูกจ้างผู้ประกันตน ซึ่งเป็นผู้ที่ยากจนและได้รับความเดือดร้อนมากกว่าครูหลายเท่า ทั้งนี้ ตนเคยเสนอให้กระทรวงแรงงานให้นำเงินกองทุนประกันสังคมมาปล่อยให้คนงานกู้ จัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อคุณภาพชีวิตของคนงานแต่ไม่ทำ มาวันนี้จะทำเรื่องที่นอกเหนือหน้าที่ การทำแบบนี้ที่มองได้ คือหวังผลประโยชน์ทางการเมือง


 


 


 


 


ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับการจะแตะเงินประกันสังคม เพราะย้อนไปเมื่อปี พ.. 2548 รัฐบาลไทยรักไทยมีแผนการที่จะนำระบบประกันสังคมรวมเข้าไปอยู่ภายใต้การบริหารของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และจะรวมอีก 3 ระบบเกี่ยวกับสุขภาพเข้าไปด้วย ได้แก่ ระบบสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แผนการครั้งนั้นถูกคัดค้านอย่างหนักเช่นกัน ทำให้รัฐบาลต้องออกมาแก้ลำว่าจะไม่มีการยุบรวมเงินกองทุนของระบบประกันสุขภาพ แต่เป็นเพียงการยุบรวมในเชิงข้อมูลบริหารจัดการเพื่อป้องกันการซ้ำซ้อน


 


ทั้งนี้ส่วนใหญ่แรงต้านเกี่ยวกับการเข้าไปบริหารจัดการหรือปฏิรูประบบเงินกองทุนประกันสังคมมักจะเกิดขึ้นมาจากฐานความคิดที่ว่า ไม่ควรนำเงินสมทบของแรงงานไปร่วมอุดหนุนกับสวัสดิการอื่นๆ และ เป็นการนำเงินประกันสังคมไปใช้หาเสียงให้กับพรรคการเมือง นักการเมือง


 


แต่ทั้งนี้ผลเสียส่วนหนึ่งของการ ป้องกันไม่ให้มีการไปแตะกองทุนประกันสังคมก็คือ การก้าวไปสู่สวัสดิการครบวงจรแก่คนหมู่มาก โดยเฉพาะการสร้างสวัสดิการไปถึงแรงงานนอกระบบ เป็นไปได้ล่าช้า และดูเหมือนเป็นการกีดกันและสร้างระดับมาตรฐานสวัสดิการสังคมหลายระดับ คือ ข้าราชการมีระบบสวัสดิการแบบหนึ่ง, แรงงานในระบบมีสวัสดิการแบบหนึ่ง และแรงงานนอกระบบมีสวัสดิการแบบหนึ่ง ซึ่งแต่ละกลุ่มมีสวัสดิการที่มีคุณภาพลดหลั่นกันไป


 


นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดอยู่ในสังคมนี้ และได้สร้างอุปสรรคที่สำคัญที่สุดก็คือ ค่านิยมปกป้องผลประโยชน์แก่กลุ่มตนเอง เข้าวลีที่ว่า จ่ายมากย่อมได้สวัสดิการมาก ซึ่งผิดกับหลักการสร้างรัฐสวัสดิการ คือ การจ่ายตามอัตราก้าวหน้า เพื่อเฉลี่ยสวัสดิการให้กับคนที่หาเงินได้น้อยกว่า


 


ท้ายที่สุด ผู้เขียนเห็นว่าสวัสดิการต่างๆ ของกลุ่มคนในสังคมควรมีมาตรฐานเดียวกันไม่แบ่งแยกเป็นระดับชั้น ซึ่งรัฐจะต้องจัดระบบการนำเงินภาษีและเงินสมทบผู้ประกันตน รวมถึงการเก็บภาษีก้าวหน้า ภาษีฟุ่มเฟือย การตัดงบที่ไม่จำเป็น (งบอุดหนุนชนชั้นนำ, งบทางการทหาร) มาบริหารจัดการโดยให้ได้ประโยชน์กับคนทุกคนอย่างเสมอหน้า


 


มิใช่ ข้าราชการมีสวัสดิการที่ดีที่ครอบคลุมถึงครอบครัว, แรงงานชั้นกลางก็ได้รับสวัสดิการในระดับที่ดีลงมาหน่อย แต่แรงงานนอกระบบได้รับเพียงเศษสวัสดิการเพียงน้อยนิด อย่างในปัจจุบัน


 


 






 


อนึ่ง ล่าสุด (30 .. 51) สำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึงผลการดำเนินในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ว่า ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 19,028 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 3.44% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งได้ผลตอบแทนจำนวน 15,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.68% อย่างไรก็ตาม คาดว่าในอีก 3 เดือนที่เหลือน่าจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ในรอบปี 2551 จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนสูงถึง 2.3 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อน ซึ่งได้รับผลตอบแทน 21,109 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.95% ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2551 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวม 552,376 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ เงินฝากธนาคาร และหุ้นกู้เอกชน คิดเป็น 83% ลงทุน ในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ตราสารหนี้อื่นๆ หน่วยลงทุน และหุ้นสามัญ 95,155 ล้านบาท เพียง 17%


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net