Skip to main content
sharethis


 




การเมือง


ประชุม ครม.ไม่มีวาระแต่งตั้ง พัลลภ


เมื่อเวลา 09.00 น.วานนี้ (18 พ.ย.) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง นายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะให้ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (รอง ผอ.รมน.) มารับตำแหน่งผู้ช่วย ผอ.รมน.ว่า ยังไม่ได้ดูในรายละเอียดกฎหมาย แต่ หากตำแหน่งดังกล่าวต้องเป็นข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ คงไม่สามารถเป็นได้ ทั้งนี้ ไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีมีดำริในเรื่องนี้อย่างไร เพราะยังไม่ได้พูดคุยกัน และการประชุม ครม.วันที่ 19 พ.ย.นี้ ก็ไม่มีวาระเกี่ยวกับกฎหมายและโครงสร้างของ กอ.รมน. เข้าใจว่ากฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


 


วันเดียวกัน ได้มีตัวแทนองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย ประมาณ 30 คน นำโดยนายมนัส โกศล ประธานองค์การฯ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ และ รมว.กลาโหม ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อตั้งกองทุนช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ


 


โครงสร้าง กอ.รมน.ใหม่จ่อเข้า ครม.


พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่าโครงสร้างใหม่ของ กอ.รมน.ที่จะเข้าสู่ที่ประชุม ครม. จะเน้นดูแลความมั่นคงของประชาชนเป็นหลัก แตกต่างจากในอดีตจะดูแลเฉพาะกำลังของทหาร หรือภัยจากการสู้รบโดยโครงสร้างใหม่จะมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ เป็นผอ.รมน. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. เป็นรอง ผอ. รมน. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสธ.ทบ. เป็นเลขาธิการ กอ.รมน. ในส่วนของงานทางด้านการเมือง กอ.รมน.ไม่มีความรับผิดชอบหลัก แต่หาก ครม.จะให้ เข้าไปปฏิบัติการ คงต้องมีการประเมินสถานการณ์ว่า เหตุการณ์ต่างๆต้องมีการพูดคุยกัน จากนั้นจึงต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย เช่น ครม.ต้องมีการประกาศพื้นที่ที่จะต้องเข้าไปดูแล โดยให้ ครม.อนุมัติแล้วสั่งการมา ที่ กอ.รมน.เข้าไปดูแล เมื่อถามว่า ภาระเร่งด่วนที่ กอ.รมน. ต้องทำในการดูแลความมั่นคง คือการโฟนอินของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ใช่หรือไม่ พ.อ.ธนาธิปตอบว่า เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ของการเมือง คงต้องให้การเมืองแก้ไขปัญหากันเอง ภาระเร่งด่วนของ กอ.รมน.คือการแก้ไขปัญหายาเสพติด



"พัลลภ" พบ "ทักษิณ" ไม่เกี่ยว จปร.7


พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ประธานรุ่น จปร.7 กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เพื่อนร่วมรุ่น จะไปรับตำแหน่ง ผช.ผอ.รมน. ว่า หาก พล.อ.พัลลภจะไปรับตำแหน่งดังกล่าวจริง ก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับ จปร.7 เพราะเท่าที่ได้สอบถาม เพื่อน จปร.7 ก็ไม่มีใครทราบเรื่องที่ พล.อ.พัลลภเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ รวมทั้งเรื่องที่ พล.อ.พัลลภรับปากกับ พ.ต.ท.ทักษิณว่าจะมาเป็นคนกลางเจรจากับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เพื่อนร่วมรุ่น จปร.7 ที่เป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ให้พาม็อบพันธมิตรฯออกมาจากทำเนียบฯ ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.พัลลภในเรื่องนี้หรือไม่ พล.ต.มนูญกฤตตอบว่า ยังไม่ได้พบหรือพูดคุยกับ พล.อ.พัลลภเลย แต่ จปร.7 จะมีการพบปะกันประจำทุกเดือน หากพบ พล.อ.พัลลภก็คงจะมีการสอบถามในเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดอย่างไรกับการที่ พล.อ.พัลลภบินไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ พล.ต.มนูญกฤตตอบว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวของ พล.อ.พัลลภ แต่คิดว่าน่าจะเป็นลบมากกว่าบวก เพราะหาก พล.อ.พัลลภสามารถทำให้ พ.ต.ท. ทักษิณหยุดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เป็นผลเสียต่อประเทศชาติ ก็จะถือว่าเป็นบวก แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องถือว่าเป็นลบ แต่อย่างไรก็ตาม พวกเรา จปร.7 ทุกคนยังรักกันดี คิดว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ จปร.7 เป็นเรื่องส่วนตัวของพล.อ.พัลลภ


ที่มา: http://www.thairath.co.th


 


นายกฯยัน ไม่ยุบสภา-ไม่ลาออก


นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชน(พปช.) ระบุ ส.ส.ระบบสัดส่วน ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคมีสิทธิที่จะลาออกหากเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะวินิจฉัยให้ยุบพรรค เพื่อรักษาสัดส่วน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเอาไว้ตามเดิม



"เป็นเรื่องการบริหารจัดการภายใน ก็มี ส.ส.พูดกันว่า หากมีการยุบพรรคจะถูกตัดสิทธิ ก็มีสิทธิที่จะลาออกได้" นายสมชาย กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะระบุว่าส่วนตัวจะลาออกก่อนการตัดสินคดียุบพรรคหรือไม่ โดยระบุว่า "อย่าเพิ่งพูดอะไรตอนนี้"ส่วนกรณีที่มีข่าวการเตรียมบุคคลสำรองไว้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนั้น นายสมชาย กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องนี้ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน


 


สำหรับการลาออกของ ส.ส.ระบบสัดส่วนที่เป็นกรรมการบริหารพรรค หากลาออกแล้วก็จะมีการเลื่อนลำดับขั้นของผู้ที่ได้รับคะแนนในลำดับถัดไปขึ้นมาเป็น ส.ส.แทน โดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่


 


นายกฯ ยันไม่ยุบสภา-ไม่ลาออก


ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง รักษาการโฆษกพรรคพลังประชาชน ได้แถลงภายหลังการประชุมว่าวันนี้ถือเป็นการประชุมนัดพิเศษ โดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้นัดเข้าร่วมประชุมเพื่อพบปะกับ ส.ส.ในพรรคทำให้ต้องเลื่อนประชุมแต่ละภาคโดยนายกรัฐมนตรี ได้เล่าให้ฟังเรื่องต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาท่าทีนายกฯอาจดูไม่เข้มแข็ง แต่จริงๆแล้วมีความมุ่งมั่นอย่างมากในการทำงาน โดยช่วงหลังนายกรัฐมนตรีได้เดินทางเข้าร่วมประชุมสภาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับให้รัฐมนตรี.และส.ส.เข้าร่วมประชุมให้พร้อมเพรียงเพื่อไม่ให้มีปัญหาองค์ประชุม


 


ร.ท.กุเทพ กล่าวอีกว่านายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่าแม้สถานการณ์การเมืองไม่ปกติแต่รัฐบาล ถือว่าได้ทำงานผลักดันนโยบายไปสู่ประชาชนและแก้ไขไปหลายเรื่อง แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์กดดันก็ตาม โดยภารกิจเร่งด่วน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศว่าจะต้องทำงานให้เข้าตาประชาชนให้มากที่สุดเพื่อพิสูจน์ อำนาจรัฐที่ประชาชนมอบให้จะการทำงานให้นานที่สุด ถือเป็นยุทธศาสตร์ ที่รัฐบาลจะรักษาเสียงข้างมากในสภาในการทำงานต่อไป


 


"ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่า การยุบสภา หรือเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆจะยังไม่เกิดขึ้น หากไม่มีทางการเลือกจริง ๆ การยุบสภาจะเป็นมาตรการสุดท้ายซึ่งการยืนยันของดังกล่าวทำให้ ส.ส.ในพรรคมีความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม หากจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในตัวนายกรัฐมนตรี ทางพรรคก็พร้อมที่จะมีบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งแทน"ร.ท.กุเทพย้ำ


 


สำหรับการรองรับวิกฤติการณ์การเมืองในคดียุบพรรคนั้น ขอยืนยันเรามีสติ ไม่หวั่นไหว โดยจะมีการขอร้องให้กรรมการบริหารพรรค ที่เป็น ส.ส.สัดส่วน อยู่ในข่ายในการตัดสินคดียุบพรรค ให้เสียสละให้ลาออกเพื่อให้เลื่อนบุคคลขึ้นเป็น ส.ส.สัดส่วน และเชื่อว่าในที่สุด คงเป็นไปตามวิเคราะห์ ซึ่งเราไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร เพียงเตรียมพร้อมรับสถานการณ์คดียุบพรรค ส่วนจะลาออกเมื่อไหร่ จะต้องติดตามสถานการณ์ รอดูจังหวะเวลาต่อไปเพราะคดียุบพรรค ยังมีเวลาอีกพอสมควร


 


ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า สำหรับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. 3 นั้น ที่ประชุมได้พูดคุยกันอย่างหลากหลาย โดยเสียงส่วนใหญ่ได้แสดงความเห็นและเสนอว่าไม่อยากเติมเชื้อไฟเพราะเป็นช่วงที่ประชาชนมีความสุขใจในรอบหลายปี มีสิ่งดีๆ ทำให้ข่าวการเมืองหายไป ดังนั้น จากนี้ไปจังหวะก้าวทางการเมือง ควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เพราะในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีตัวขับเคลื่อน ก็ไม่ควรเติมเชื้อไฟหรือเงื่อนไขซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รับฟังและเห็นด้วย เพราะไม่ต้องการสร้างความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งในการเป็นรัฐบาลต้องคำนึงถึงพรรคร่วมรัฐบาล จึงให้วิปรัฐบาลไปหารือ


 


ที่มา: http://www.posttoday.com


 


 






เศรษฐกิจ


ประกันภัยอ่วมปีหน้าโตแค่5%


นายสุจินต์ หวั่งหลี นายกสมาคมประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า ในปีหน้าธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเฉพาะเบี้ยประกันรับรวมคงเติบโตได้ประมาณ 4-5% เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2552 ที่คาดว่าจะเติบโต 3-4% เท่านั้น จึงส่งผลให้เบี้ยประกันภัยขนาดใหญ่อย่างเบี้ยประกันรถยนต์ ที่คาดว่าจะลดลงตามยอดขายรถ ทำให้เบี้ยประกันภัยไม่เติบโต ขณะที่การประกันภัยส่วนบุคคล เช่น ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นประกันภัยรายย่อย ก็จะมียอด ลดลงตามกำลังซื้อที่ลดลง รวมถึงเบี้ยประกันขนส่งทางทะเลที่ลดลงตามยอดส่งสินค้าออกด้วย


 


"การบริโภคประกันภัยลดลง ในทุกตลาด ซึ่งบริษัทประกันภัย จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง


นายสุจินต์ กล่าวว่า ทางสมาคมประกันวินาศภัยพยายามที่จะหาแนวทางในการสนับสนุนให้ธุรกิจ ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ทำประกันภัยสินค้าและวัตถุดิบกับบริษัทประกันภัยในประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล จะทำให้ประกันภัยมีรายได้มากขึ้นแล้วสามารถนำเงินไปเพิ่มการลงทุนในประเทศได้มากขึ้น ได้เสนอแนวคิดดังกล่าวให้กับ รมว.คลังแล้ว


 


สำหรับปี 2551 ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก คาดว่าเบี้ยประกันจะมีอัตราการเติบโตอยู่ประมาณ 5-6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ที่กระทบมากในปีนี้พอร์ตการลงทุน เพราะตลาดทุนที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้มูลค่าเงินลงทุนลดลง ซึ่งแต่ละบริษัทจะต้องดูแลและบริหารพอร์ตอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่น่าห่วงมากนัก เพราะเป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น


 


แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้รายได้จากเบี้ยประกัน ภัยและการลงทุนของบริษัทประกัน ภัยลดลงอย่างมาก ทาง คปภ.ได้ จับตาดูเรื่องเบี้ยค้างรับของบริษัทประกันภัยไม่ให้เกิน 60 วันอย่าง เข้มงวด จากเดิมที่มีการผ่อนผัน เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทประกันภัยมีสภาพคล่องเพียงพอจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ประชาชน


 


ที่มา: โพสต์ทูเดย์


 


รัฐบาลเล็งค้ำประกันสินเชื่อ ต่อลมหายใจภาคเกษตร-อุตฯ


รัฐบาลเล็งออกมาตรการค้ำประกันสินเชื่อให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อนำไปต่อลมหายใจสู้กับสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินตัดสินใจปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ห่วงอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวที่ซบเซาลงอย่างมากทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ส่วนตลาดหุ้นไม่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือ เพราะนักลงทุนไทยเข้าไปซื้อสุทธิเท่ากับที่นักลงทุนต่างชาติเทขาย ทำให้ภาพรวมไม่มีปัญหา


 


นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเชิญคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจร่วมหารือเป็นครั้งแรกว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจไทยและรับฟังความคืบหน้าในการดำเนิน 6 มาตรการรองรับปัญหาวิกฤตการเงินโลกของรัฐบาล เพื่อพิจารณาว่ายังมีข้อติดขัดหรือปัญหาในส่วนใด


 


ส่วนในเรื่องของสินเชื่อ นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่ามี 3 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอาจมีปัญหาด้านสินเชื่ออย่างหนัก ได้แก่ โรงแรม การขนส่ง และอาหาร เนื่องจากยอดนักท่องเที่ยวลดลงจากปีก่อนหน้านี้มาก รวมทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อสำหรับการตัดเย็บผ้าโหลยังได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ


 


นายโอฬารกล่าวว่า ได้ขอให้ที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าไทย และบุคคลที่ดูแลสถาบันการเงินเอกชน หารือกับธนาคารพาณิชย์ว่าจะมีแนวทางใดที่เข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลดูแลระบบสินเชื่อให้คล่องตัวขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมที่มีปัญหาและสินเชื่อเพื่อการเกษตร โดยรัฐบาลอาจเข้าไปให้หลักประกันหรือค้ำประกันด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น


 


ส่วนความคืบหน้าเรื่องตลาดหุ้น รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้รับทราบข้อมูลจากนายก้องเกียรติ โอภาสวงการ นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ หนึ่งในที่ปรึกษาว่าจากนี้จนถึงสิ้นปีเชื่อว่าไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะนักลงทุนไทยได้เข้าไปซื้อหุ้นเท่ากับที่ต่างชาติขายออกไป ซึ่งเชื่อว่ามาตรการที่ออกมามีผลสำเร็จแล้วร้อยละ 60-70 จะเห็นได้จากการซื้อขายในแต่ละวันที่ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ตกต่ำไปตามตลาดโลกมากนัก แสดงให้เห็นว่านักลงทุนไทยสามารถแยกตลาดหุ้นไทยออกจากตลาดโลกได้บ้างแล้ว ขณะที่ที่ปรึกษาหลายคนแสดงความเห็นว่าควรผลักดันให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นฮับด้านการขนส่งในภูมิภาค การสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาลงทุนในไทย การพัฒนาระบบน้ำ คุณภาพการศึกษา และการผลักดันให้จีนเป็นแหล่งเงินสำคัญของโลก


 


สำหรับคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมกับนายโอฬารได้รับการแต่งตั้งจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ทั้งหมด 17 คน ประกอบด้วย นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย นายพนัส สิมะเสถียร อดีตปลัดกระทรวงการคลัง นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)


 


นายชัยวัฒน์ พิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม อดีตอัยการสูงสุด นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายบุญยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ นายศิริ การเจริญดี อดีตรองผู้ว่า ธปท. นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย


 


นายสำราญ ภูอนันตานนท์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพิษณุ เหรียญมหาสาร รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ศจ.สมพร อิศวิลานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และนางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


 


ที่มา: โลกวันนี้


 


ญี่ปุ่นทรุดฉุดไทยวูบ


ส่งออกไทยไปญี่ปุ่นวูบ 50% รับผลกระทบเศรษฐกิจคู่ขาเข้าสู่ภาวะถดถอย ยักษ์เอเชียฝากคำหวานลงทุนไทยต่อ  นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่น ขยายตัวในอัตราที่ลดลงครึ่งหนึ่ง จากเดิมโต 12-14% จะเหลือเพียง 6-7% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวมอยู่ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ


 


ทั้งนี้ สินค้าที่จะได้รับผลกระทบก่อน จะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสินค้าอาหารจะยังส่งออกได้ดี คาดว่าอยู่ที่ระดับ 7 แสนล้านบาท แต่เป็นมูลค่าที่ลดลง ตามแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยเชื่อว่าญี่ปุ่นจะใช้เวลา 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับสู่ภาวะปกติ นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นไม่น่าจะลดลง โดยเฉพาะอาหารและสิ่งทอ ด้านการลงทุนญี่ปุ่นยังสนใจไทย แต่การจ้างงานแบบจ้างผลิตต่อ มีแนวโน้มจะไม่ต่อสัญญาในบางอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์


 


นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อุตสาห กรรมของญี่ปุ่นที่ลงทุนอยู่ในไทยยังไม่มีปัญหาการลดจ้างงาน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ หากปลดออกจะกระทบการผลิต โดยมากใช้วิธีลดชั่วโมงทำงาน หรือลดวันทำงาน


 


นายอูชิโร นิวา ประธานคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ของญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัว 0% หรืออาจติดลบ เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาลดลง


 


สำหรับการลงทุน ญี่ปุ่นยังสนใจมาลงทุนในไทยเป็นอันดับแรก เนื่องจากภาคเศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง และไทยมีบทบาทสำคัญในอาเซียน ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทยนั้น นักลงทุนญี่ปุ่นก็จับตามองติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจ


 


ที่มา: http://www.posttoday.com


 


สภาพัฒน์ลุย ดันโรงเหล็ก เข้าครม.วันนี้


นายวิกรม วัชระคุปต์ ผอ.สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะนำผลศึกษาแนวทางการลงทุนโครงการอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ หรือ โรงถลุงเหล็กให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันนี้


 


ทั้งนี้ มีข้อสังเกตจะกำหนดให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานกลางประสานงานให้เกิดการลงทุน หลังเสนอ ครม.พิจารณาแล้ว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สถาบันเหล็กฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม จะหารือเพื่อตั้งคณะกรรมการมาพิจารณา


 


นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า ได้ชี้แจงการลงทุนเหล็กให้สมาพันธ์องค์กรเศรษฐกิจญี่ปุ่นทราบแล้ว-


 


ที่มา: โพสต์ทูเดย์


 






คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม


 


เล็งชงครม.จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่ 8 แสนคน


วานนี้ (18 พ.ย.) นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ที่มีนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพร้อมด้วยผู้แทนจากฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 33 หน่วยงานได้ข้อสรุปจะมีการเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ ใน 10 ประเภทกิจการ อาทิ กิจการประมง กิจการต่อเนื่องประมง กรรมกร เลี้ยงสัตว์ โดยให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาอนุญาตเท่าที่จำเป็นเท่านั้น


 


 


ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนในครั้งนี้ประมาณ 800,000 คน และจะนำข้อสรุปในวันนี้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้


 


 


"การเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ในครั้งนี้ จะไม่สวนทางกับสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะมีคนตกงานมากนับล้านคน เพราะเป็นการทำเพื่อจดทะเบียนให้กับแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่แล้วในขณะนี้ ให้ถูกกฎหมาย ไม่ได้ต้องการให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น โดยจะทำร่วมกับการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว เพื่อนำแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายเข้ามาแทนที่แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายด้วยวิธีเอาน้ำดีไล่น้ำเสีย" นางอุไรวรรณ กล่าว


 


 


ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าว อยู่ในระบบการผ่อนผันทั้งสิ้น 501,570 คน ขณะที่มีแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2548 มีจำนวน 75,234 คน แบ่งเป็นแรงงานสัญชาติลาว 41,378 คน แรงงานกัมพูชา 33,856 คน  ขณะที่แรงงานพม่าล่าสุดอยู่ในระหว่างการกำหนดสถานที่พิสูจน์สัญชาติตามแนวชายแดนไทย -พม่า จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เมืองท่าขี้เหล็ก ตรงข้ามอำเภอ แม่สายจังหวัดเชียงราย เมืองเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเกาะสอง ตรงข้ามอำเภอเมือง จังหวัดระนอง


 


 


ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์


 


 






วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


คนมีทุกข์ชอบดูโทรทัศน์ คนสบายใจชอบคุยและอ่านหนังสือพิมพ์


การศึกษาพบว่าคนที่มีทุกข์ใจจะชอบดูโทรทัศน์มากกว่าคนสบายใจ ชักทำให้เกิดความสงสัยกันขึ้นมาว่า เหตุใดละครเรื่องเศร้าในทีวี จึงทำให้บรรดาแฟนน้ำหูน้ำตาไหลได้


 


คณะนักวิจัยได้ศึกษาโดยการสรุปผลการวิเคราะห์ นิสัยทางสังคมของชาวอเมริกัน เรือน 30,000 คนพบว่า ผู้ที่สบายใจจะชอบพูดคุย อ่านหนังสือพิมพ์ และหาความสุขทางกามารมณ์มากกว่า โดยไม่ค่อยอยากดูทีวีเท่าไรนัก


 


โดยได้ตัวเลขว่าผู้ที่ไม่สบายใจจะติดอยู่ หน้าจอมากกว่าผู้ที่สบายใจกว่าถึงร้อย-ละ 30 ผลการศึกษาครั้งใหม่นั้น นับว่าขัดกับผลการศึกษาหนก่อน ซึ่งส่อว่าการชมโทรทัศน์ เป็นความสุขในรอบวันของบุคคลบ่อยๆ


 


นักวิจัยจอห์น โรบินสัน มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ออกความเห็นว่า "ข้อมูลที่ขัดกันส่อว่า ทีวีอาจจะเพียงแต่ให้ความสุขได้ในระยะสั้น แต่อาจจะก่อให้เกิดความละเหี่ยในระยะยาว" เพราะผู้ชมโทรทัศน์มักจะพูดว่า โดยทั่วไปแล้ว ทีวีทำให้เสียเวลาและไม่ค่อยน่าพอใจเท่าใดนัก แต่ละครที่ดูเมื่อคืนมันก็ไม่เลว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net