Skip to main content
sharethis

 


เนื่องในโอกาสวันประกาศวันหยุดเขื่อนโลกในวันที่ 14 มี.ค.จากคำประกาศคิวริทิบา ประเทศบราซิลว่าด้วยการยืนหยัดการมีสิทธิความเป็นมนุษย์และวิถีชีวิตของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน พ.ศ.2540 เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจน ร่วมกับตัวแทนนักสิ่งแวดล้อมจากองค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษา เยาวชน นักวิชาการ และพันธมิตรต่างๆ ซึ่งได้เข้าร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลกในประเทศไทย ณ บริเวณเขื่อนปากมูน ออกคำประกาศเจตนารมณ์หยุดการสร้างเขื่อนและแก้ไขปัญหาเขื่อนที่สร้างไปแล้ว


 


คำแถลงระบุข้อเรียกร้องให้ ยุติการสร้างเขื่อนที่อยู่ในแผนของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนโป่งขุนเพชร เขื่อนรับร่อ เขื่อนท่าแซะ เขื่อนคลองกลาย เขื่อนแม่ขาน และเขื่อนลำโดมใหญ่ รวมทั้งเขื่อนที่ไม่อยู่ในข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจน เช่น เขื่อนในลุ่มน้ำโขง ทุกเขื่อน เขื่อนในลุ่มน้ำสาละวิน เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนห้วยสะโหมง เขื่อนในลุ่มน้ำปราจีนบุรี


 


ส่วนเขื่อนปากมูนต้องเปิดเขื่อนอย่างถาวร เพื่อให้ระบบนิเวศกับมาเหมือนเดิม เพื่อให้ระบบนิเวศของแม่น้ำมูนกลับมาเหมือนดั่งเดิม และยุติการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน ซึ่งได้เพียงน้อยนิด โดยการเอาไฟฟ้าจากแหล่งอื่น ที่มีกำลังสำรองอยู่มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์มาใช้แทน


 


นอกจากนี้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบและจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียโอกาสกับเขื่อนที่กำลังก่อสร้าง และที่สร้างไปแล้วอย่างเป็นธรรมที่สุด และมีการดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสียหายจากเขื่อนที่สร้างไปแล้ว แม้ว่าการดำเนินการนี้จะนำไปสู่การทุบเขื่อนทิ้งก็ตาม


 


ต้องทำให้สิทธิในแผ่นดินของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ได้รับการคุ้มครองด้วยการจัดให้มีแผ่นดิน ที่ซึ่งพวกเขาสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้เหมือนเดิมได้ อีกทั้ง ให้ยุติการสร้างเขื่อนที่มีผลกระทบต่อชุมชน และแหล่งป่าไม้ธรรมชาติ เช่น ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมทั้งแหล่งมรดกโลกและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ


 


พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและประเทศเพื่อนบ้านยกเลิกการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสายหลักระหว่างประเทศ เช่น แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน รวมถึงโครงการผันน้ำข้ามประเทศด้วย โดยเด็ดขาด


 


ในวันหยุดเขื่อนโลกเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจนประกาศว่าจะหยุดเขื่อนต่อไปให้ได้มากขึ้น-เพื่อปกป้องแม่น้ำและชีวิต พร้อมขอคารวะดวงวิญญาณของคุณวนิดา ตันติวทยาพิทักษ์ และคุณนันทโชติ ชัยรัตน์ รวมทั้งผู้ที่ที่ได้ลาลับโลกนี้ไปจากการต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมจากการสร้างเขื่อน


 


 "สำหรับพวกเรา สิ่งสำคัญสูงสุดก็คือ การปกป้องแม่น้ำ แผ่นดิน และผืนป่า ที่เปรียบเสมือนมรดกของบรรพบุรุษที่สืบทอดมายังพวกเราและต้องสืบทอดต่อไปยังลูกหลานของเรา ในอนาคตไม่ให้ถูก ทำลายจากการสร้างเขื่อน และการต่อสู้เพื่อยืนหยัดสิทธิความเป็นมนุษย์และวิถีชีวิตของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนควบ คู่กันกับการ ต่อสู้เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง" คำประกาศระบุ


 


 



 


คำประกาศวันหยุดเขื่อน


 


เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจน


 


๑๔ มีนาคม ๒๕๕๒


 


พวกเรากลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อน ที่มาจากตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในนามของสมัชชาคนจน ตัวแทนนักสิ่งแวดล้อมจากองค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษา เยาวชน นักวิชาการ และพันธมิตรต่างๆ ซึ่งได้เข้าร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลกในประเทศไทย ณ บริเวณเขื่อนปากมูน ขึ้นขอประกาศว่า เรามีเจตนารมณ์ที่จะหยุดการสร้างเขื่อนและแก้ไขปัญหากับเขื่อนที่สร้างไปแล้ว


 


พวกเรา มีเจตนารมณ์ที่จะให้หยุดการสร้างเขื่อนร่วมกัน


 


เขื่อนเป็นการลงทุนมหาศาลที่ขาดเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะงบประมาณในการก่อสร้างมักสูงกว่าที่ขออนุมัติ บวกกับผลประโยชน์ของเขื่อนที่ไม่เคยเป็นไปตามที่ระบุเมื่อตอนอนุมัติโครงการ การสร้างเขื่อนทุกเขื่อน นักสร้างเขื่อนจะอ้างเหตุผลให้มากเข้าไว้ก็เพียงเพื่อโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น ขณะที่หลังจากเขื่อนถูกสร้างเสร็จไม่มีน้ำตามที่กล่าวอ้าง คลองชลประทานจึงเป็นคลองส่งลม ไม่มีน้ำให้ทำนาหรอก และเขื่อนก็ไม่จำเป็นในการสร้างเพื่อผลิตไฟฟ้า เนื่องจากมีเพียงไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ได้ไฟฟ้าจากเขื่อน อ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ของเขื่อนที่นักสร้างเขื่อนเคยสัญญาว่าจะเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ได้กลาย เป็นแหล่งเก็บน้ำมากกว่าจะมีปลาเพื่อการประมง และซ้ำร้ายได้ทำลายการประมงแบบดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง


 


เขื่อนได้ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม เขื่อนทุกเขื่อนได้นำความทุกข์ยากมาสู่เราจากการที่ต้องอพยพจากเขื่อน ที่ผ่านมานักสร้างเขื่อนสัญญากับเราว่า การอพยพจะทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นหรืออย่างน้อยเท่าเดิม แต่จนถึงวันนี้ในทุกที่ที่มีการอพยพเพราะเขื่อน กลับปรากฏว่าชีวิตเรามีแต่เลวลง


 


การสร้างเขื่อนยังเท่ากับเป็นการปล้นสะดมสังคม เพราะเขื่อนได้ทำลายป่าไม้ สัตว์ป่า พรรณพืช พันธุ์ปลา ฯลฯ ตั้งแต่หุบเขาที่กลายเป็นอ่างเก็บน้ำไปจนถึงท้องทะเลที่เป็นรากฐานการดำรงชีวิตของคนส่วนใหญ่ เขื่อนยังได้สร้างความทุกข์ยากให้กับผู้ที่อยู่ท้ายเขื่อนจากภัยเขื่อนพังและอุทกภัยที่เพิ่มมากขึ้นในฤดูฝน และการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งจนต้องแย่งชิงน้ำกัน


 


เขื่อนคือรากเหง้าของความคิดพัฒนาแบบล้าหลัง และส่วนใหญ่การสร้างเขื่อนมาจากรัฐบาลเผด็จการ เขื่อนทุกเขื่อนที่สร้างในประเทศไทยล้วนแล้วแต่ดำเนินการในยุคที่เผด็จการครองเมือง โดยไม่เคารพการมีสิทธิความเป็นมนุษย์และวิถีชีวิตของเรา พี่น้องของเราจำนวนมากต้องสังเวยชีวิต เลือดเนื้อ และอิสรภาพมาโดยตลอดตั้งแต่เขื่อนแห่งแรกของประเทศ จนถึงเขื่อนล่าสุดคือเขื่อนปากมูล และโครงการโขง ชี มูน ในภาคอีสานและภาคอื่นๆ ของไทย


 


เขื่อนคือธุรกิจที่อ้างเหตุผลส่วนรวมบังหน้า และนโยบายของพรรคการเมือง ที่ประชาชนตามไม่ทัน ทุกครั้งที่จะสร้างเขื่อน นักสร้างเขื่อนและนักการเมือง มักจะอ้างเสมอว่าเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวม แต่แท้ที่จริงแล้วการสร้างเขื่อนคือความร่วมมือกันของรัฐบาลต่างชาติ องค์กรระหว่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติ นักการเมืองและนักธุรกิจในระดับประเทศและท้องถิ่น ผู้บริหารระดับสูงและวิศวกรในหน่วยงานสร้างเขื่อน นักวิชาการและบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นมือปืนรับจ้าง วิเคราะห์สิ่งแวดล้อม ตลอดไปจนถึงบรรดาอำนาจท้องถิ่นในชนบทที่หวังเก็งกำไรค่าชดเชยที่ดิน


 


ด้วยเหตุดังนี้ เราจึงต้องหยุดเขื่อนและเรียกร้องให้รับผิดชอบเขื่อนที่สร้างไปแล้ว


 


พวกเรา ที่รวมกัน ณ ที่เขื่อนปากมูนในวันนี้ก็เพราะว่าวันที่ ๑๔ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันประกาศวันหยุดเขื่อน ที่ร่วมกันทั่วโลก จาก คำประกาศคิวริทิบา ประเทศบราซิลว่าด้วยการยืนหยัดการมีสิทธิความเป็นมนุษย์และวิถีชีวิตของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน พ.ศ.2540 และเพื่อให้เป็นจริงในทางปฏิบัติเราขอเรียกร้องดังนี้


 


๑.   ยุติการสร้างเขื่อนที่อยู่ในแผนของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนโป่งขุนเพชร เขื่อนรับร่อ เขื่อนท่าแซะ เขื่อนคลองกลาย เขื่อนแม่ขาน และเขื่อนลำโดมใหญ่ รวมทั้งเขื่อนที่ไม่อยู่ในข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจน เช่น เขื่อนในลุ่มน้ำโขง ทุกเขื่อน เขื่อนในลุ่มน้ำสาละวิน เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนห้วยสะโหมง เขื่อนในลุ่มน้ำปราจีนบุรี


 


๒.   รัฐบาลต้องรับผิดชอบและจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียโอกาสกับเขื่อนที่กำลังก่อสร้าง และที่สร้างไปแล้วอย่างเป็นธรรมที่สุด


 


๓.   ต้องเปิดเขื่อนปากมูนอย่างถาวร เพื่อให้ระบบนิเวศกับมาเหมือนเดิม เพื่อให้ระบบนเวศของแม่น้ำมูนกลับมาเหมือนดั่งเดิม และยุติการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน ซึ่งได้เพียงน้อยนิด โดยการเอาไฟฟ้าจากแหล่งอื่น ที่มีกำลังสำรองอยู่มากกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์มาใช้แทน


 


๔.   มีการดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสียหายจากเขื่อนที่สร้างไปแล้ว แม้ว่าการดำเนินการนี้จะนำไปสู่การทุบเขื่อนทิ้งก็ตาม


 


๕.  สิทธิในแผ่นดินของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ได้รับการคุ้มครองด้วยการจัดให้มีแผ่นดิน ที่ซึ่งพวกเขาสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้เหมือนเดิมได้


 


๖.   ให้ยุติการสร้างเขื่อนที่มีผลกระทบต่อชุมชน และแหล่งป่าไม้ธรรมชาติ เช่น ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมทั้งแหล่งมรดกโลกและพื่นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ


 


๗.  ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและประเทศเพื่อนบ้านยกเลิกการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสายหลักระหว่างประเทศ เช่น แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน รวมถึงโครงการผันน้ำข้ามประเทศด้วย โดยเด็ดขาด


 


สำหรับพวกเรา สิ่งสำคัญสูงสุดก็คือ การปกป้องแม่น้ำ แผ่นดิน และผืนป่า ที่เปรียบเสมือนมรดกของบรรพบุรุษที่สืบทอดมายังพวกเราและต้องสืบทอดต่อไปยังลูกหลานของเรา ในอนาคตไม่ให้ถูก ทำลายจากการสร้างเขื่อน และการต่อสู้เพื่อยืนหยัดสิทธิความเป็นมนุษย์และวิถีชีวิตของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนควบ คู่กันกับการ ต่อสู้เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง


 


เราเชื่อมั่นว่า พลังของเราจะหยุดเขื่อนที่มีแต่นำหายนะมาสู่เรา พี่น้องของเรา และสังคมของเราได้มากขึ้น ในอดีตเราสามารถหยุดเขื่อนน้ำโจน เขื่อนแก่งกรุง เขื่อนสายบุรี และเขื่อนเหวนรก เขื่อนคลองกลาย และเขื่อนรับร่อ ได้แล้ว และในวันหยุดเขื่อนโลกวันนี้ เราขอประกาศว่าจะหยุดเขื่อนต่อไปให้ได้มากขึ้น-เพื่อปกป้องแม่น้ำและชีวิต ขอคารวะดวงวิญญาณของคุณวนิดา ตันติวทยาพิทักษ์ และคุณนันทโชติ ชัยรัตน์ รวมทั้งพ่อแม่พี่น้องที่ได้ลาลับโลกนี้ไปจากการต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเป็นจากการสร้างเขื่อน


 


ขอแสดงความนับถือ


 


เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจน


 


เขื่อนปากมูน        จังหวัดอุบลราชธานี


เขื่อนหัวนา          จังหวัดศรีสะเกษ


เขื่อนราศีไศล      จังหวัดศรีสะเกษ


เขื่อนสิรินทร        จังหวัดอุบลราธานี


เขื่อนโป่งขุนเพชรจังหวัดชัยภูมิ


เขื่อนบ้านกุ่ม        จังหวัดอุบลราชธานี


เขื่อนในแม่น้ำชี และแม่น้ำมูน ในโครงการโขง ชี มูน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net