Skip to main content
sharethis
ประภาส ปิ่นตบแต่ง” และ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” สอง นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรฯ อย่างตรงไปตรงมา ครั้งนี้ไม่ได้ปรามาสหรือดักคอ แต่วิเคราะห์กันจริงๆ ว่าพันธมิตรฯ ต้องเจอปัญหาอะไรบ้างในการเปลี่ยนจากขบวนการเคลื่อนไหวมาเป็นพรรคการเมือง

 

 

 

 

  
 
"พันธมิตรฯ เป็นการเมืองแบบชั่วคราว แต่เขาพยายามทำให้เป็นการเมืองแบบค้างคืน"
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ 

 

 

 

"ธรรมชาติของ movement กับพรรคมันมีปัญหา พรรคต้องเอาชนะการเลือกตั้ง อะไรก็ได้ ต้องประนีประนอม แตกหักไม่ได้ แต่ movement มันเป็นการเมืองแบบ radical แบบขาวดำ"

 

 

 

 

 
ประภาส ปิ่นตบแต่ง

 

 

000 
 
2 นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรฯ อย่างตรงไปตรงมา ครั้งนี้ไม่ได้ปรามาสหรือดักคอ แต่วิเคราะห์กันจริงๆ ว่า พันธมิตรฯ ต้องเจอปัญหาอะไรบ้างในการเปลี่ยนจากขบวนการเคลื่อนไหวมาเป็นพรรคการเมือง 
ศิโรตม์ใช้คำว่าพันธมิตรฯ เป็นการเมืองแบบชั่วคราว แต่พยายามจะทำให้เป็นการเมืองแบบค้างคืน เป็นถ้อยคำที่ทั้งถูกใจและถูกประเด็น
 
000
 
จาก movement เป็นพรรคไม่ง่าย 
ประภาส ปิ่นตบแต่ง: "ประเด็นเรื่องพรรคกับ movement ถก เถียงกันมายาวนานมาก มีประสบการณ์มีบทเรียนเยอะแยะ ที่ขบวนการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วผันตัวเองไปสู่พรรค พูดง่ายๆ การเมืองนอกสถาบัน การเมืองแบบเคลื่อนไหว สักระยะก็ก้าวไปสู่การเมืองในระบบ การเมืองแบบพรรคการเมืองกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งก็จะมีข้อถกเถียงเยอะว่า movement ควรจะก้าวไปสู่พรรคหรือไม่" อ.ประภาสบอกว่าที่จริงกรณีของพันธมิตรฯ ยังอาจจะต้องเถียงกันว่า พันธมิตรฯ เป็น movement หรือเปล่า 
"ขบวนการ ทางสังคมก้าวไปสู่พรรค มีประสบการณ์เยอะแยะไปหมด ย้อนไปตั้งแต่ขบวนการชาตินิยมที่เกิดขึ้นในอินเดีย ในโลกที่สาม แม้กระทั่งขบวนการนาซี พรรคนาซีก็มาจากการเคลื่อนไหวอย่างนี้ ขบวนการทางสังคมซึ่งใช้วิธีการเคลื่อนไหวประท้วงใหญ่โตแล้วผันตัวเองมาสู่ พรรคในภายหลัง แต่การเคลื่อนไหวนอกการเมืองปกติ ไม่ใช่จะเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป อย่างเช่นพรรคนาซี ไม่ได้เป็นความหวังว่าจะสร้างประชาธิปไตย" 
"ปัจจุบัน ในละตินอเมริกา ชัดที่สุดน่าจะเป็นโบลิเวีย ขบวนการโมราเลสซึ่งมาจากขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ต่อต้านการแปรรูป โมราเลสเป็นคนพื้นเมืองที่เชื่อมโยงกับคนรากหญ้าจริงๆ นโยบายที่แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ถูกผลักมาสู่นโยบายรัฐบาล แต่ขบวนการพวกนี้ก็เชื่อมโยงกับ movement อยู่ ถึงแม้จะไปเป็นประธานาธิบดี มันมีทั้งเชิงบวกเชิงลบ" 
"ขบวนการทางสังคมที่พันธมิตรฯ เรียกว่าการเมืองใหม่ movement ไปสู่การเมืองที่ลงหลักปักฐาน ก็จะมี 2-3 คำถาม คือ movement เกิด ขึ้นเนื่องจากมีความขัดแย้งในสังคม และการเมืองแบบพรรคการเมือง การเมืองแบบล็อบบี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มันก็เลยเกิดการเมืองแบบนอกปกติ" 
"ขบวนการทางสังคมถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบของ movement เมื่อ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีปัญหา มันต้องออกมาสร้างพลังจากข้างนอก ถ้าก้าวเข้าไปสู่ช่องทางแบบเก่าก็จะเจอปัญหาเก่าๆ คืออาศัยการรณรงค์เลือกตั้ง ก็มีคำถามว่าเอาเงินทอง เอาทรัพยากรมาจากไหน ถ้าไปเป็นตัวแทนแล้วก็ต้องกลับไปสู่ประนีประนอมทางการเมือง ถ้าเป็นพรรคการเมืองจะมาไล่ด่าคนแบบอันธพาลทางการเมืองอีกต่อไปไม่ได้แล้ว หรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่แตะเรื่องเชิงโครงสร้างในสังคม มันจะทำไม่ได้ เมื่อเป็นแบบนี้จึงลักลั่นกันมาก ระหว่างการเมืองในระบบกับการเมืองแบบ movement" 
"ที่เห็นตัวอย่างคือพรรคกรีนในเยอรมัน จาก movement ที่ กว้างขวาง พอก้าวไปสู่การตั้งพรรคการเมือง ช่วงแรกยังพอมีฐานที่กว้าง แต่ไปสู่การเมืองแบบเลือกตั้งแล้วมันต้องประนีประนอม เวลาเข้าไปเป็นรัฐมนตรีจะทำอะไรตามพรรคของตัวเองไม่ได้ จะเป็นปัญหาหนักเข้าไปอีกในเชิงของขบวนการที่มีโจทย์สูงมาก คือเปลี่ยนระบบ สร้างการเมืองใหม่ และวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงสร้างทางการเมืองที่มีอยู่ใช้ไม่ได้เลย ภาพมันใหญ่มาก แต่กลับผันตัวเองไปอยู่ภายใต้ระบบนั้น และบอกว่าถ้าชนะเลือกตั้งจะเข้าไปแก้ไขโครงสร้างทางสังคมทั้งหมด ตรรกะมันไปกันไม่ค่อยได้" 
"อีก ส่วนหนึ่งก็มีที่ใช้ทั้งการเคลื่อนไหวและใช้การเมืองในระบบ เช่นพวกผู้หญิงที่ผลักดันเรื่องสิทธิสตรี หรือขบวนการแรงงาน ไม่จำเป็นต้องแยกว่าการเมืองแบบขบวนการทางสังคมต้องทำงานนอกระบบการเมือง เท่านั้น ประท้วงกดดันเท่านั้น อย่างอเมริกาก็มี pro life ที่คัดค้านการทำแท้งเสรี pro choice ที่ หนุนทำแท้งเสรี มันก็มีลักษณะเป็นการเมืองกลุ่มผลประโยชน์เหมือนกัน แต่ออกมารณรงค์เป็นขบวนการทางสังคม เป็นเครือข่ายที่กว้างขวางมาก แต่จะทำได้ต่อเมื่อมีประเด็นเฉพาะ เช่น ประเด็นผู้หญิง แรงงาน" 
"คำถาม คือขบวนการที่พยายามสร้างตัวเองเป็นแบบกองทัพปฏิวัติประชาชนอย่างพันธมิตรฯ จะทำได้หรือ เพราะโจทย์มันสูงมาก ต้องการสร้างการเมืองใหม่ ต้องการหาอะไรที่เข้ามาแทนประชาธิปไตยแบบตัวแทน มันอาจจะไปไม่ได้ ถ้าเป็นขบวนการในลักษณะเป็นประเด็นเฉพาะ การเข้าไปสัมพันธ์กับการเมืองในระบบไม่มีคำถามมากนัก มันอาศัยการล็อบบี้ การผลักไปสู่นโยบายของรัฐ อย่างนี้ทำได้" 
 
พันธมิตรฯ อาจใฝ่ฝันว่าจะเป็นเหมือนละตินอเมริกา ที่สร้างขบวนการจนชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี 
ประภาส: "ผม ว่ามันต่างในแง่ที่ขบวนการพวกนั้นชูประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสังคม ตอนนี้พันธมิตรฯ ก็ประกาศว่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ของพรรค แต่ขบวนการพวกนั้นเขามีขบวนการรากหญ้ารองรับ แต่ถามว่าพันธมิตรกับขบวนการรากหญ้า-ก็ด่าอยู่ทุกวัน เป็นคนจนโง่งกอะไรต่างๆ" 
"การ ทำงานในเชิงไปเชื่อมต่อคนข้างล่าง อย่างอินเดียในรัฐเกรละ พรรคที่มาจากขบวนการทางสังคมพอชนะเลือกตั้งเขาไปเชื่อมต่อขบวนการรากหญ้า เชื่อมกับสภาองค์กรชุมชน ถามว่าพันธมิตรฯ มีแบบนี้หรือเปล่า ฐานทางสังคมของพันธมิตรฯ คือคนในเมืองคนชั้นกลาง ประเด็นความเป็นธรรมทางสังคมผมคิดว่ายังห่างไกลอุดมการณ์ของพันธมิตรฯ มากนัก มันเหมือนกับพูดโวหารไปเรื่อยๆ จับต้องไม่ค่อยได้" 
"อุดมการณ์พันธมิตรฯ ที่ชัดคืออุดมการณ์แบบขวา อนุรักษนิยม ซึ่งก็คือการชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในแง่นี้อย่าหวังว่าจะเป็น movement แบบ ในละตินอเมริกา ห่างไกลมาก เพราะฐานทางสังคมของพรรคพันธมิตรฯ ไม่ได้แตะคนข้างล่างเลย ในทางตรงกันข้ามด่าเขาอยู่ทุกวี่ทุกวัน มันจะเกิดขบวนการทางสังคมแบบนั้นแล้วไปเชื่อมต่อกับการเมืองในระบบ แบบที่มีประชาธิปไตยของคนข้างล่าง ยังมองไม่เห็น ขบวนการทางสังคมแบบละตินอเมริกาเติบโตแล้วก็มีผู้คนของตัวเองไปเป็นรัฐบาล เชื่อมโยงคนข้างล่าง พันธมิตรฯ ไม่มีประวัติศาสตร์แบบนั้น การพูดถึงความไม่เป็นธรรมทางสังคมเป็นการพูดไปเรื่อย อะไรที่ขายได้ก็หยิบมาพูด ไม่ได้มีความชัดเจนอะไรในเชิงอุดมการณ์รวมทั้งประสบการณ์ แน่นอนว่ามีภาคประชาชนส่วนหนึ่งแต่ว่ายังเบาบาง" 
"ธรรมชาติของ movement กับพรรคมันมีปัญหากันอยู่ตลอด คนที่ทำงานพรรคต้องเอาชนะการเลือกตั้งเสมอ อะไรก็ได้ ต้องประนีประนอม แตกหักไม่ได้ radical ไม่ได้ แต่ movement มันเป็นการเมืองแบบ radical แบบขาวดำ เอาไม่เอา ผมคิดว่าสุดท้ายจะมีปัญหาแน่ๆ อันนี้เป็นโจทย์ ใครก็ตามที่จะตั้งพรรคเขาต้องตอบคำถามให้ตัวเอง" 
 
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: "สิ่งที่เราพูดถึงพรรคที่จริงอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่คนทั้งหมดในพันธมิตรฯ เข้าใจด้วยซ้ำ อาจจะเป็นประเด็นที่พันธมิตรฯ สายเอ็นจีโอ พันธมิตรฯ สายนักวิชาการบางคนพยายามจะพูดมากกว่า แต่โดยภาพรวมแล้วคนที่ต้องการตั้งพรรคพันธมิตรฯ ที่เขาพูดกัน ไม่ใช่เรื่องการยกระดับขบวนการไปเป็นพรรค แม้กระทั่งการพูดว่าพันธมิตรฯ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ คนที่พูดก็เป็นสายพิภพ สุริยะใส ถามว่าคนอย่างคุณจำลองหรือคุณสนธิมีภาพของขบวนการเคลื่อนไหวแบบนี้หรือเปล่า ภาพที่เราเห็นคืออีกแบบหนึ่ง" 
"ถ้าเราดูวิธีการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา เป็นขบวนการในเชิงวิชาการหรือเปล่า ก็อาจจะต้องถูกตั้งคำถาม เช่น มีมวลชนที่แน่นอนจริงหรือเปล่า มีอุดมการณ์หลักๆ ที่เป็นแกนกลางจริงหรือเปล่า มีเป้าหมายมีความต้องการทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ที่ต้องการชัดเจนจริงหรือเปล่า สิ่งที่พันธมิตรฯ ทำมาในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาพูดง่ายๆ คือเป็นการสร้างการเมืองแบบที่สร้างศัตรูของพันธมิตรขึ้นมา แล้วเอาการมีอยู่ของศัตรูมาสร้างขบวนการมาสร้างความเคลื่อนไหว เช่นสมัยคุณทักษิณอยู่ก็พูดถึงระบอบทักษิณ หรือสมัยหลัง 19 ก.ย.ก็พูดว่าต้องร่วมกับคณะรัฐประหารเพื่อทำลายระบอบทักษิณต่อไป พอรัฐบาลคุณสมัครขึ้นมา รัฐบาลคุณสมชายขึ้นมาก็พูดว่าต้องโค่นล้มซากเดนของระบอบทักษิณต่อไป ฉะนั้นทันทีที่มีรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมา การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ มันแผ่วไปโดยปริยาย ในด้านหนึ่งอาจจะเพราะว่าสายสัมพันธ์หลายๆ กลุ่มของคนในพันธมิตรฯ กับพรรคประชาธิปัตย์ด้วย แต่ในด้านหนึ่งโดยธรรมชาติของขบวนการต่อสู้อย่างพันธมิตรฯ มันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีการสร้างศัตรู เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่มีศัตรูให้เห็นชัดเจน โอกาสที่ขบวนการนี้มันจะขยายตัวก็จะฝ่อลงไป" 
"ดัง นั้นถ้าถามว่าเป็นขบวนการในความหมายที่เคร่งครัดหรือเปล่า เราอาจจะพูดไม่ได้ว่าพันธมิตรฯ เป็นขบวนการ อาจจะพูดได้ว่าเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่บังเอิญมีความเห็นทางการเมืองเฉพาะ หน้าบางอย่างเหมือนๆ กัน ก็คือความไม่พอใจคุณทักษิณ ความไม่พอใจระบอบทักษิณ ซึ่งถึงที่สุดแล้วถ้าถอด code ออก มาให้เป็นประเด็นทางวิชาการ ก็ค่อนข้างคลุมเครือว่าหมายความว่าอะไร เช่น พันธมิตรฯ บอกว่าไม่พอใจระบอบทักษิณในแง่ของการเป็นทุนนิยมผูกขาด คนจำนวนมากก็รู้ว่าการผูกขาดของทุนนิยมไทยมันซับซ้อนมากกว่าการอยู่หรือไป ของคุณทักษิณ หรือถ้าพูดว่าพันธมิตรฯ มีเป้าหมายต่อต้านประชาธิปไตยแบบตัวแทน ก็อาจตั้งคำถามได้อีกว่าถ้าต่อต้านประชาธิปไตยแบบตัวแทนและต้องการสร้าง ประชาธิปไตยทางตรง สิ่งที่พันธมิตรฯ กำลังจะตั้งพรรคการเมือง ส่งผู้แทนลงสมคร มันก็คือการกลับไปเล่นในเกมประชาธิปไตยแบบตัวแทน ฉะนั้นถ้าถามว่าอุดมการณ์ของพันธมิตรฯ คืออะไร มันมีความลักลั่นมีความคลุมเครือ แม้กระทั่งพูดว่ามีมวลชนที่ชัดเจนหรือเปล่า ก็ต้องพูดกันในรายละเอียด" 
"ขบวนการ ในละตินอเมริกามีฐานทางสังคม เป็นขบวนการที่โตมาจากสภาพปัญหาทางสังคมที่ชัดเจน ขณะที่มวลชนของพันธมิตรฯ ไม่ได้มีลักษณะแบบนี้ มวลชนมารวมกันเพราะว่าความรู้สึกว่ามีศัตรูเหมือนกันคือคุณทักษิณ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ถ้าถามว่าพอหมดศัตรูแล้วคนเหล่านี้มีอะไรร่วมกันอยู่ ที่จะทำให้ขบวนการเดินไปข้างหน้าได้ คำตอบคือไม่มี พันธมิตรฯ ที่เป็นสายเอ็นจีโอหรือสายภาคประชาชนเก่าอาจจะพูดเรื่องความไม่เป็นธรรม แต่คนจำนวนมากที่อยู่ในองคาพยพของพันธมิตรก็คือคนที่เป็นส่วนของการรักษา ระบบความไม่เป็นธรรมเอาไว้ มีทหาร มีนายทุนเยอะแยะที่เข้าร่วมกับพันธมิตรฯ นักการเมืองจากการเมืองเก่า การเมืองใหม่ที่พันธมิตรฯ พูดจะ make sense ได้ยังไงในเมื่อองค์ประกอบของพันธมิตรฯ เป็นแบบนี้" 
"ความ ใฝ่ฝันของแกนนำพันธมิตรบางคน ที่จะสร้างการเมืองใหม่ประชาธิปไตยทางตรง จริงๆ แล้วอาจจะเป็นแค่โวหารที่ไม่มีความหมายในทางปฏิบัติ เพราะพื้นฐานของพันธมิตรฯ มาแบบหนึ่ง การเมืองของพันธมิตรฯ มาแบบหนึ่ง เงื่อนไขของสังคมไทยปัจจุบันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ต่อให้ผู้นำพันธมิตรฯ ทั้ง 5 คน เชื่อเรื่องการสร้างประชาธิปไตยทางตรงจริงๆ โจทย์ของสังคมไทยในปัจจุบันเป็นเรื่องแบบนี้อย่างที่พันธมิตรฯ คิดหรือเปล่า มีคนสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่คิดว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนเป็นปัญหาจนถึงขั้นต้อง เอาประชาธิปไตยทางตรงมาแทน สังคมไทยมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมมากจนจะต้องมีระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ไหม ถึงที่สุดแล้วต่อให้เราประเมินแบบเข้าข้างผู้นำพันธมิตรฯ จริงๆ ว่า คนเหล่านี้เชื่อเรื่องการเมืองใหม่ เชื่อเรื่องความไม่เป็นธรรมจริงๆ โดยสภาพของสังคมไทยในปัจจุบัน มันก็ไม่ได้มีภาววิสัยที่จะทำให้เกิดพรรคการเมืองแบบนี้ขึ้นมา ต่อให้เชื่อแบบนี้จริงๆ ผมก็คิดว่าโอกาสจะทำคงไม่สำเร็จ ในที่สุดมันจะกลายเป็นเรื่องของการใช้โวหารแบบนี้ เพื่อบอกว่าเราแตกต่างจากพรรคการเมืองที่มีอยู่ แต่ความจริงแล้วไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย" 
000
 
ร่วมเพราะมีศัตรู 
ถ้าเรามองในมุมพันธมิตรฯ เขามีมวลชนจำนวนหนึ่งที่เหนียวแน่น มีจุดร่วมบางอย่างเช่นการต่อต้านคอรัปชั่น ซึ่งเขาคิดว่าจะเดินต่อไปได้ 
ประภาส: "ถ้า อยากจะตั้งก็คงได้ แต่ในแง่ตั้งพรรคการเมืองที่มีความหมายกับประชาธิปไตยจริงๆ ผมไม่ค่อยเชื่อ แกนนำหลายคนพูดชัดเจนว่าต้องการร่วมกับอำมาตยาธิปไตยสร้างสังคมไทย คำถามง่ายๆ คือถ้ามี commitment กับอำมาตยาธิปไตย เวลาลงไปหาเสียงกับประชาชน ประกาศว่าเลือกพันธมิตรฯ ถ้าชอบอำมาตยาธิปไตย หรือพรรคเราจะเชิดชูอำมาตยาธิปไตยสร้างสังคมไทย มันทำได้หรือเปล่า วิธีของพันธมิตรฯ ในการต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมา ด้านหนึ่งก็คือใช้ความเป็นประชาธิปไตย ใช้เงื่อนไขของการเมืองแบบมวลชน ไปผลักดันการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตย วิธีแบบนั้นทำได้ในเงื่อนไขไหน ก็คือเงื่อนไขที่พันธมิตรฯ ไม่ใช่พรรคการเมืองแต่เป็นขบวนการซึ่งอยากจะทำอะไรก็ได้ ถ้ามวลชนอยู่ในมือจริงๆ คือจุดแข็งของการเมืองแบบมวลชน คือถ้าถึงจุดหนึ่งที่มีมวลชนอยู่ในมือจริงๆ อยากทำอะไรมันทำได้" 
"แต่ ถ้าเข้ามาอยู่ในกรอบการเมืองที่เป็นทางการ มันมีข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น ต่อให้มีมวลชนอยู่ในมือจำนวนมาก ถ้าทำอะไรบางอย่างที่คนเขาวิจารณ์ว่าผิดก็ลำบาก ฉะนั้นในเงื่อนไขแบบนี้การเปลี่ยนสภาพของพันธมิตรฯ จากการเมืองแบบประท้วงมาเป็นการเมืองแบบรัฐสภา ผมคิดว่ามันจะนำพันธมิตรฯ ไปสู่ความจำกัดของระบบหลายๆ เรื่อง ซึ่งจะทำให้พันธมิตรฯ ขยับตัวได้ยาก เช่น ถ้าพันธมิตรฯ บอกว่าเราต้องการสร้างพรรคการเมืองใหม่เพื่อต่อต้านการเมืองเก่าหรือนักการ เมืองทั้งหมด ในแง่หนึ่งเท่ากับพันธมิตรฯ ประกาศตัวเป็นศัตรูกับพรรคการเมืองในสภาไปแล้ว สมมติผู้นำพันธมิตรฯ ที่มาจากเอ็นจีโอบอกว่าจะสร้างพรรคการเมืองที่เรียกร้องความเป็นธรรมทาง เศรษฐกิจ คนชั้นกลางหรือคนชั้นสูงที่สนับสนุนพันธมิตรฯ เขาไม่ได้คิดเรื่องพวกนี้ และไม่ว่าผู้นำจะพูดเรื่องประชาชน ประชาธิปไตยยังไงก็ตามแต่พันธมิตรฯ ไม่ได้มีพื้นฐานแบบนั้น 3-4 ปีที่ผ่านมาพันธมิตรฯ ไม่ได้พูดเรื่องพวกนี้อย่างซีเรียส คือในที่สุดแล้วขบวนการพันธมิตรฯ 3-4 ปีที่ผ่านมาก็คือการเกิดรัฐประหาร เกิดตุลาการภิวัตน์ การล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การเอาอำมาตยาธิปไตยมาเป็นแนวร่วม ซึ่งมันมีข้อจำกัดในตัวเอง เช่นการจะลงไปหาเสียงกับประชาชนจะพูดยังไงได้ว่าพี่น้องครับมาเลือกเราเถอะ เลือกเราแล้วอำมาตยาธิปไตยจะกลับมาเฟื่องฟู นี่คือความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับพันธมิตรฯ" 
 
เขารู้สึกว่าเขามีพลังอยู่ระดับหนึ่ง ถึงจะเป็นพลังฝ่ายขวา แต่ก็ต่อต้านคอรัปชั่น ซึ่งเขาปลุกมาแล้ว มันหยุดไม่ได้ เสียดายที่จะลง 
ประภาส: "ต้องยอมรับว่าเขามีมวลชน มีผู้คนซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อาจจะเรียกว่าจุดหมายเดียวกัน มีความเข้มแข็งและกว้างขวาง" 
"แต่ถ้าเราประเมินว่ามันจะไปได้มากน้อยแค่ไหน ในระยะยาวต้องดูในเชิงของ social base ใน แง่ฐานทางสังคม มันคืออะไร สิ่งที่เป็นประเด็นร่วมจากฐานของผู้คนที่เข้ามา มันจะสร้างความเหนียวแน่นมากน้อยแค่ไหน ผมว่าประเด็นเรื่องศีลธรรม ทุจริตคอรัปชั่น มันจะคล้ายๆ กับที่พรรคพลังธรรมเคยโตขึ้นมาไหม ช่วงนั้นเป็นเรื่องใหญ่อยู่ในสังคมไทย การตั้งพรรคการเมืองแบบเอาคนดีมาแข่งกันเพื่อบอกว่าจะสร้างการเมืองใหม่ เอาคนดีมาไล่น้ำเสีย มันมีข้อจำกัดในตัวมันเอง เอาเข้าจริงเราก็ทราบดี พันธมิตรฯ เองไปดูข้างหลังพันธมิตรฯ เครือข่ายที่เชื่อมโยง ผลประโยชน์ นักธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ เต็มไปหมด ฉะนั้นเวลาไปสู่การเมืองแบบพรรค ยิ่งถ้าเข้าไปร่วมตั้งรัฐบาล สิ่งพวกนี้จะกลายเป็นดาบสองคม สุดท้ายก็จะมาทำลายตัวเอง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคพลังธรรม มันก็จะ down ลงไปเรื่อยๆ เพราะไม่ได้สร้างฐานแบบ movement ที่มีประเด็นปัญหา" 
"ทั้ง โบลิเวียและเวเนซูเอลา เราพูดถึงแต่ว่าเขาประชานิยมแบบทักษิณ เอาเงินไปซื้อ แต่จริงๆ แล้วเขาไปเสริมอำนาจของคนชั้นล่าง ออกกฎหมายเรื่องสิทธิชุมชน 40-50 ฉบับ ถ่ายโอนอำนาจไปสู่คนข้างล่าง ถามว่าการออกแบบการเมืองที่เป็นอยู่ในสังคมไทยมันจะขยายฐานไปสู่ตรงนี้มาก น้อยแค่ไหน แม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ได้เข้าไปแตะมาก ฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้อะไรมันจะใหม่ ในระยะยาวเรายังมองไม่เห็น เราเห็นเพียงแต่ว่าเวลาเลือกตั้งก็คงต้องประนีประนอม ยิ่งถ้ามุ่งจะเป็นรัฐบาล การวิพากษ์วิจารณ์ การมีนโยบายซึ่งสุดโต่ง ไม่มีทางทำได้ มันจะกลายเป็นพรรคสังคมนิยมในอดีต ซึ่งก็จะมีผู้คนไม่เท่าไหร่ ถ้าถามว่ามันจะโตและเป็นทางออกของสังคม ผมว่านั่นใหญ่เกินไป สังคมคงจะไปฝากความหวังกับการสร้างการเมืองใหม่แบบนั้นไม่ได้ จะว่าไปแล้วเป็นการสร้างการเมืองใหม่แบบที่โคตรโบราณ โคตรเก่า มากกว่า มันลำบากเหมือนกันในระยะยาว" 
 
ถ้าไม่พูดเรื่องตั้งพรรค พันธมิตรฯ จะไปอย่างไรต่อ เพราะเหมือนเขาไม่มีทิศทางแล้ว 
ประภาส: "คง เป็นอย่างนั้น เพราะการเมืองแบบพันธมิตรฯ พลังอยู่ที่การสร้างศัตรู สร้างความเกลียดชัง มันไม่ได้สร้างมาจากมิติทางด้านบวกเลย นโยบาย ความเป็นธรรมทางสังคม คนที่พูดพูดตอนตี 5 พูดง่ายๆ คือไม่มีความสำคัญอะไรหรอกบนเวทีพันธมิตรฯ เมื่อมาถึงจุดนี้ศัตรูทางการเมืองไม่มี จะวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปัตย์ซึ่งประคับประคองกันมา แล้วสร้างให้เป็นศัตรูก็ยาก เมื่อเป็นแบบนี้มันก็ถึงจุดซึ่งเหมือนลงไม่ได้เหมือนกัน การตั้งพรรคก็อาจจะเป็นทางออกทางลงแบบหนึ่ง ในสถานการณ์ซึ่งไม่สามารถอาศัยการเมืองที่ระดมผู้คน ซึ่งไม่รู้จะระดมมาเพื่ออะไรในช่วงนี้" 
 
สถานการณ์ ปัจจุบันมันเหมือนเขาอารมณ์ค้าง เขาปลุกอะไรเต็มไปหมดแต่ได้ประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล ได้นายกอภิสิทธิ์กับเนวิน มันไม่ได้เป็นการเมืองใสสะอาดอย่างที่เขาปลุกกันมา 
ศิโรตม์: "ถ้าการตั้งพรรคเกิดจากปัจจัยแบบนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ต้องรับผิดชอบเองในการปลุกระดมมาจนถึงจุดที่ประชาชนมีความรู้สึกว่าต้องมี อะไรบางอย่างออกไป ซึ่งความเป็นจริงมันขยับมากกว่านี้ไม่ได้ เอาเข้าจริงแล้วประเด็นเดียวที่จะทำให้พันธมิตรฯ มีอนาคต ก็คือการเล่นบทองครักษ์พิทักษ์มรดกต่างๆ ของการรัฐประหาร 19 ก.ย. และ คมช. เช่น การพิทักษ์ตุลาการภิวัตน์ รัฐธรรมนูญ 2550 คำสั่งศาลเรื่องการยุบพรรค เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าจะทำให้พันธมิตรฯ มีบทบาทในอนาคตต่อไปได้ แต่บทบาทแบบนี้ถูกมองจากฝ่ายประชาธิปไตยมากขึ้นว่าพันธมิตรฯ ไม่ใช่พลังประชาธิปไตย และถึงที่สุดแล้วคนที่เป็นกลางหรือคนที่ไม่ได้เป็นฝ่ายโปรทักษิณ ก็คงจะไม่ค่อยสบายใจกับการเล่นการเมืองแบบพันธมิตรฯ" 
"อย่าง ช่วงนี้คำขวัญที่ว่าหยุดทำร้ายประเทศไทย บางคนมองว่าวิจารณ์เสื้อแดง แต่พวกพันธมิตรฯ ก็รู้สึกว่าเป็นการวิจารณ์พันธมิตรฯ ด้วย เหตุผลก็คือการเมืองแบบพันธมิตรฯ มันทำงานบนการสร้างความเกลียดชัง ซึ่งในที่สุดแล้วมันทำลายระบบการเมืองทั้งหมดลงไป ฉะนั้นมีโอกาสที่คนเป็นกลางจำนวนมากจะไม่เอาด้วยกับพันธมิตรฯ การที่พันธมิตรฯ จะมีบทบาทในอนาคตได้มันโยงกับหลายเรื่อง เช่นการทำตัวเป็นองครักษ์พิทักษ์มรดก คมช.ซึ่งในที่สุดแล้วเมื่อกระบวนการทางการเมืองมันคลี่คลายถึงจุดที่คุณ ทักษิณไม่ใช่ประเด็นปัญหาแล้ว พันธมิตรฯ จะมีข้อจำกัดมากขึ้นด้วย เช่น เขาจะห้ามแก้รัฐธรรมนูญหมดเลยก็ถูกตั้งคำถามว่าในที่สุดแล้วเขาทำเพื่อ ประชาธิปไตยหรือเพื่อให้ตัวเองยังมีบทบาท" 
 
ประภาส: "พลัง พันธมิตรฯ คือพลังของการตรวจสอบทุจริตคอรัปชั่น เสื้อแดงเป็นเรื่องของการพิทักษ์ประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นสิ่งซึ่งสร้างพลังด้วยกันทั้ง 2 ส่วน พลังที่พันธมิตรฯ มีอยู่เป็นพลังของการตรวจสอบกำกับ ทำหน้าที่เป็นองค์กรทางสังคมที่ตรวจสอบนโยบายรัฐ อันนี้น่าจะเป็นมิติเชิงบวกที่ควรจะรักษาต่อไป ซึ่งสังคมจะได้ประโยชน์ แต่ผมคิดว่าการตั้งพรรคไม่ได้มาตอบโจทย์หรือมาเสริมส่วนที่เป็นจุดแข็งของ เขา" 
 
ศิโรตม์: "คนจำนวนหนึ่งชอบเปรียบเทียบพันธมิตรฯ กับการตั้งพรรคพลังธรรม แต่อาจจะผิดก็ได้ เพราะตอนที่พลังธรรมขึ้นมา ผู้นำพลังธรรมทุกคนสดมาก คุณจำลองอาจจะสดน้อยที่สุด แต่ก็ถือว่าภาพค่อนข้าง clean ไม่มี ศัตรูทางการเมืองอย่างชัดเจน คนที่เป็นองค์ประกอบพรรคพลังธรรมตอนนั้นอย่างคุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ คุณธำรงค์ แสงสุริยะจันทร์ หรือกระทั่งคุณสุดารัตน์ตอนนั้นก็ไม่มีต้นทุนลบติดตัว แต่พันธมิตรฯ แค่จุดเริ่มต้นก็ต่างจากพลังธรรมพอสมควร คือผู้นำพันธมิตรฯ ทุกคนพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง ตั้งแต่ข้อกล่าวหาเรื่องการทำลายประชาธิปไตย การสนับสนุนรัฐประหาร แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างปิดสนามบิน โอเคในแง่มวลชนพันธมิตรฯ อาจจะมีมากกว่าพลังธรรม แต่ต้นทุนทางสังคมอาจจะต่ำกว่าพลังธรรมในตอนนั้นด้วยซ้ำไป พูดง่ายๆ เราจะชูคุณสนธิเป็นผู้นำทางการเมืองแบบศีลธรรมหรือ พันธมิตรฯ กล้าชูหรือเปล่าว่าคุณสนธิ ลิ้มทองกุล คือผู้นำขบวนการทางการเมืองที่มีศีลธรรมเป็นหลัก พลังธรรมตอนเริ่มต้นไม่มีศัตรูไม่มีคนเกลียด แต่พันธมิตรฯ มีคนเกลียด อย่างต่ำก็คือครึ่งประเทศ"
ประภาส: "ผมคิดว่าการสร้างพรรคการเมืองมันระดมคนจากความเกลียดชังไม่ได้ สิ่งแรกที่พรรคพันธมิตรฯ ต้องทำคือเลิกจิกหัวผู้คนด่าแบบสาดเสียเทเสีย ต้องเลิกเป็นอันธพาลทางการเมือง ซึ่งผมไม่ค่อยแน่ใจว่าธรรมชาติของผู้คนเหล่านี้จะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่นักการเมืองพรรคการเมืองที่โตมาได้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะมาก ถูกด่าเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี เราไม่เคยเห็นเขาตอบโต้ ออกมาสวนทันที ทักษะแบบนั้นมันเป็นทักษะการเมืองอีกแบบหนึ่ง เป็นทักษะการเมืองแบบพรรค ประนีประนอมตั้งแต่ระดับชาวบ้านถึงผลประโยชน์" 
000
 
คนชั้นกลางของใคร 
ที่ แกนนำพูดก็น่าจะจริงว่าเขาสามารถระดมคนชั้นกลางจำนวนมาก เป็นไปได้ที่จะได้เงินบริจาคนับร้อยล้าน มันมีคนชั้นกลางที่ถูกปลุกขึ้นมาจริง เขาพยายามรวบรวมคนเหล่านี้แต่จะทำอะไรต่อค่อยว่ากัน 
ศิโรตม์: "การประเมินแบบนี้มีสมมติฐานว่าทุกพรรคการเมืองไม่สนใจคนชั้นกลางเลย และคนชั้นกลางไม่มีช่องทางเลยนอกจากเข้าสู่พันธมิตรฯ ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เหตุผลที่ทำให้คนชั้นกลางสนับสนุนพันธมิตรฯ ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา คือเขารู้สึกว่าใช้กระบวนการทางการเมืองที่เป็นทางการไล่คุณทักษิณไม่ได้ เพราะฉะนั้นพันธมิตรฯ กลายเป็นเครื่องมือที่จำเป็น นั่นคือการสร้างมวลชนบนท้องถนนขึ้นมาเพื่อไล่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ในทันทีที่พันธมิตรฯ ประกาศจะเป็นพรรคการเมือง สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการประกาศเป็นศัตรูกับคนจำนวนหนึ่ง คือแนวร่วมของพันธมิตรฯ ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาด้วย เวลาลงเลือกตั้งพันธมิตรฯ ต้องแข่งกับประชาธิปัตย์ ต้องแข่งกับอีกหลายๆ คนที่เคยสนับสนุนพันธมิตรฯ ในแง่โวหารเราจะปราศรัยยังไงก็ได้ว่ามีคนดู ASTV 1 ล้านคน มีคนอ่านผู้จัดการกี่แสนคน เราจะหาเงินได้เดือนละร้อยล้าน แล้วคนกลุ่มอื่นเขาไม่คิดจะเอาคนชั้นกลางเป็นพวกหรือ" 
"สองคือมันมีเหตุอะไรที่ทำให้คนชั้นกลางเขาหนุนพันธมิตรฯ สมมติคุณจำลอง คุณสนธิไปลงสมัครเขต 6 แข่งกับคุณอภิสิทธิ์ คนจะเลือกคุณอภิสิทธิ์หรือคุณจำลอง ไม่ว่าพันธมิตรฯ จะประเมินยังไง แต่มันไม่ง่ายถ้าจะบอกว่าคนชั้นกลางหนุนพันธมิตรฯ ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้วทำให้พันธมิตรฯ มีฐานทางการเมืองมากขึ้นในอนาคต" 
"ถ้าประเมินเข้าข้างตัวเองว่า 3 ปีที่ผ่านมามีฐานทางการเมืองจากคนชั้นกลาง แต่มันไม่มีเหตุผลทางโครงสร้างอะไรเลยที่บอกว่าคนชั้นกลางเขาสนับสนุนคุณต่อไป 3 ปีที่ผ่านคนชั้นกลางเขาสนับสนุนพันธมิตรฯ ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่พิเศษมากๆ คือการมีระบอบทักษิณอยู่และการใช้การเมืองแบบทางการล้มคุณทักษิณไม่สำเร็จ สองเงื่อนไขนี้มันจบลงไปแล้ว ไม่มีเหตุผลทางโครงสร้างที่คนชั้นกลางต้องสนับสนุนพันธมิตรฯ ต่อ ถ้าเลือกระหว่างพันธมิตรฯ กับอภิสิทธิ์ หรือพรรคประชาธิปัตย์ ผมว่าคนชั้นกลางจำนวนมากคงจะเลือกคุณอภิสิทธิ์มากกว่าคุณสนธิ ลิ้มทองกุล" 
"สิ่ง ที่พันธมิตรฯ ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกก็คือเมื่อเทียบกับการตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ ในอดีตพรรคการเมืองใหม่หลายๆ พรรคทำให้คนบางพื้นที่รู้สึกว่ามีความหวัง เช่น พล.อ.ชวลิตตั้งพรรคความหวังใหม่ หรือคุณจำลองตั้งพรรคพลังธรรม แต่ในกรณีพันธมิตรฯ ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องของการทำให้คนมีความหวัง แต่ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นการเมืองแห่งความเกลียดชัง และอีกด้านหนึ่งก็คือพันธมิตรฯ ทำให้เกิดบรรยากาศการเมืองที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเป็นยังไงต่อไปในอนาคต" 
"ประชาธิปไตย ไม่ว่าโลกตะวันตกหรือสังคมไทยมันทำงานได้ก็คือ ทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าเป็นการเมืองที่มีเสถียรภาพได้ เป็นการเมืองที่มีอนาคตได้ รู้ว่าพรุ่งนี้การเมืองจะเป็นยังไง รู้ว่าพรรคแบบไหนจะได้เข้าไปสู่การเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองจะเป็นยังไง แต่การเมืองแบบพันธมิตรฯ ไม่ได้ทำงานบนกติกาแบบนี้ ทำงานบนการสร้างความไม่มีเสถียรภาพ ทำงานบนความรู้สึกหวาดกลัว ทำงานบนความไม่ไว้วางใจระหว่างคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ และใช้เครือขายของอีกกลุ่มมาล้มอีกกลุ่มตลอดเวลา ถึงที่สุดแล้วปัญหาของพันธมิตรฯ อาจจะไม่ใช่เรื่องทักษะการทำงานทางการเมือง แต่เป็นเรื่องตัวตนของพันธมิตรฯ เอง อัตลักษณ์ของการเมืองแบบพันธมิตรฯ เอง ที่มันอยู่อย่างนี้มาตลอดตั้งแต่ต้นและไม่มีทางแก้ได้ ถ้ากลับไปถามว่ามีอนาคตไหม ผมคิดว่าไม่มีอนาคต และไม่มีคิดว่าแม้แต่การสนับสนุนของคนชั้นกลางจะทำให้พันธมิตรฯ เดินต่อไปข้างหน้าด้วยซ้ำ ไม่มีความจำเป็นอะไรที่คนชั้นกลางจะต้องหนุนพันธมิตรฯ ในระยะยาวถ้าไม่มีศัตรูคือคุณทักษิณอีกต่อไป 
 
ประภาส: "ภาคประชาชนที่อยู่ในพันธมิตรฯ คงคิดว่าตอนนี้มวลชนตื่นแล้ว หน้าที่คือไปช้อนเอามวลชนที่ตื่นแล้วเข้ามา ซึ่งก็จะเป็นสิ่งดีนะสำหรับการเมือง แต่มันจะเกิดขึ้นได้ต้องสร้างกลไกต่างๆ รองรับ ซึ่งยังไม่ค่อยเห็นว่าจะเกิดขึ้นได้ยังไง ประเด็นที่จะทำให้คนเหล่านี้สานกันได้ระยะยาวคืออะไร ประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่แกนนำพันธมิตรฯ โยนลงมา ผมก็ยังนึกไม่ค่อยออก พูดกันถึงกระทั่งว่าคนจนอยู่กับปัญหาปากท้อง คิดถึงเรื่องอุดมการณ์ไม่ได้ คิดถึงรัฐสวัสดิการไม่ได้ อย่าไปหวังให้คนจนสร้างรัฐสวัสดิการ-มีแกนนำพันธมิตรฯ พูด ต้องเป็นเรื่องของคนชั้นกลางเพราะคนชั้นกลางมีเวลา มีท้องที่อิ่มแล้ว ฉะนั้นจะจินตนาการสังคมที่ดีงามได้ ผมไม่ค่อยเห็นว่าตรรกะแบบนี้จะไปได้มากน้อยแค่ไหน คนชั้นกลางเหล่านี้พอมาถึงสิ่งที่จะเกี่ยวข้องกับตัวเอง ประเด็นความไม่ยุติธรรมทางสังคม เรื่องภาษีที่ดิน เอาเข้าจริงคนที่ขวางประเด็นพวกนี้กลายเป็นคนชั้นกลาง นักธุรกิจต่างๆ ที่พันธมิตรฯ เข้าไปสัมพันธ์เต็มไปหมด ฉะนั้นมันไม่ง่ายที่จะมาสานมาช้อนมวลชนแล้วทำให้เกิดอุดมการณ์ร่วมที่พัน ธมิตรฯ อยากจะเห็น และชูมากเลยในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันไม่ง่ายแต่ก็ต้องให้กำลังใจ เพราะผมก็อยากเห็นคนชั้นกลางที่ตื่นตัวและมองเห็นความไม่เป็นธรรมทางสังคม อย่างที่แกนนำพันธมิตรฯ อยากให้เกิด"พรรคชาตินิยมใหม่ 
 
พัน ธมิตรฯ ปลุกคนชั้นกลางที่อนุรักษนิยม ยกเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต่อต้านโลกาภิวัตน์ แล้วเขาพยายามเชื่อมคนพวกนี้ไปต่อสู้ความไม่เป็นธรรม ให้เห็นใจคนชั้นล่าง 
ประภาส: "อันนั้นคือโจทย์ของพันธมิตรฯ ที่เขาพยายามจะสร้าง แต่ผมว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายหรอก คนชั้นกลางหรือคนชั้นล่าง คนไหนๆ ก็งกเหมือนกันทั้งนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่มากระทบกับผลประโยชน์ของเขา" 
 
ศิโรตม์: "พวกพันธมิตรฯ จำนวนหนึ่งเพ้อฝันว่าการที่คนหลายๆ ชนชั้นมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯ ปิดสนามบินด้วยกัน บุกช่อง 11 ด้วยกัน จะเรียนรู้และเห็นใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการประเมินที่ค่อนข้างเลื่อนลอยมาก ในแง่รัฐศาสตร์ในแง่วิชาการ ต้องดูว่ามีปัจจัยอะไรทางโครงสร้างที่จะทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ มันไม่ใช่แค่คนจนมาชุมนุมกับคนรวย เพราะฉะนั้นคนรวยจะเข้าใจคนจน อันนั้นมันร่วมกันได้เพราะมันไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ในแง่ของการสร้างพรรคการเมือง ทำให้พรรคเป็นพรรคของคนส่วนใหญ่อย่างที่พันธมิตรฯ พูด เป็นพรรคของคนจนคนด้อยโอกาส มันต้องนำไปสู่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของคนจำนวนมาก ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของพันธมิตรฯ กลุ่มทุนหลายๆ กลุ่ม นายธนาคารหลายกลุ่ม คนที่เป็นพ่อค้าท้องถิ่นหลายกลุ่ม พันธมิตรฯ จะขัดแย้งทางผลประโยชน์กับกลุ่ม ซึ่งในที่สุดแล้วจะเป็นคนกุมกลไกของพันธมิตรฯ ได้ยังไง เพราะฉะนั้น การคิดเรื่องจะเปลี่ยนคนชั้นกลางที่ชุมนุมให้เข้าใจคนจน ผมคิดว่าทำได้ 10 เปอร์เซ็นต์ก็ปาฏิหาริย์มากๆ เพราะในที่สุดแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าพันธมิตรฯ มาจากฐานทางชนชั้นที่แตกต่างกัน มาจากฐานผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ถ้าไม่มีศัตรูร่วมกัน คือพูดง่ายๆ ใครจะอยากควักกระเป๋าสตางค์ตัวเองให้คนจน" 
 
ประภาส: "ถ้าจะโตก็โตแบบพรรคนาซี ที่ชูคนจน แต่ใช้ประเด็นอนุรักษนิยมฝ่ายขวา มันจะออกไปแนวนั้นมากกว่า" 
ตรง นี้ไม่ใช่ว่าพันธมิตรฯ เป็นนาซี "ผมเปรียบเทียบว่าถ้าจะโตมันจะโตแบบนั้น มันมีอุดมการณ์แบบชาตินิยม สถาบันนิยม คนที่สานกันได้จะเป็นอุดมการณ์แบบนั้น เหมือนพรรคนาซีที่หยิบประเด็นชาตินิยมขึ้นมา แต่อย่าไปหวังว่าจะเกิดแบบพรรคในละตินอเมริกา ที่ชูประเด็นความเป็นธรรมทางสังคม มันไม่มีทางเกิดได้ สิ่งที่ร่วมกันได้ก็คือเรื่องชาตินิยม สถาบันนิยม มันจะโตไปแบบนี้ มันก็เคยมีตัวอย่างพรรคชาตินิยมในอินเดีย หลังการปลดปล่อยจากอังกฤษก็จะโตได้พักหนึ่ง ประเด็นสำคัญอยู่ที่อย่าไปดัดจริต พูดเป็นโวหาร เรื่องความไม่เป็นธรรมทางสังคมต่างๆ ถ้าจะสร้างพรรคให้โตก็ต้องยอมรับว่าอุดมการณ์ หรือ social base ของพรรคพันธมิตรฯ มันคือเรื่องชาตินิยม" 
 
ศิโรตม์: "แกนของพันธมิตรฯ คือชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อุดมการณ์เหล่านี้ไม่สามารถสร้างพลังทางการเมืองได้ ถ้าไม่มีศัตรูที่จะทำลายชาติอยู่ พูดง่ายๆ เราจะสร้างพรรคการเมืองบนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยังไง พันธมิตรฯ จะบอกว่าเลือกพันธมิตรฯ แล้วพุทธศาสนาจะเป็นศาสนาประจำชาติหรือ พูดอย่างนั้นก็ไม่ได้ ในที่สุดแล้วพันธมิตรฯ อาจจะไม่ถึงขนาดพรรคนาซี แต่การทำงานทางการเมืองในลักษณะนี้พยายามจะ manipulate ยั่ว ยุหรือกระตุ้นให้คนจนไม่พอใจในระบบที่เป็นอยู่ แล้วอธิบายว่าระบบที่เป็นอยู่มีปัญหา ทางออกเดียวที่จะแก้ปัญหาคือต้องเปลี่ยนระบบนี้ โดยหันมาสนับสนุนพรรคการเมืองของเรา แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาของคนจน เป็นการใช้ความไม่พอใจของคนจนต่อสังคมเป็นเครื่องมือ หรือสร้างฐานทางการเมืองของพรรคมากกว่า พรรคนาซีก็พูดถึงคนเยอรมันที่ยากจนเพราะถูกคนยิวเอารัดเอาเปรียบ เยอรมันไม่เจริญเพราะถูกมหาอำนาจเอาเปรียบตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้คนงานมีชีวิตที่ลำบาก คนจำนวนหนึ่งก็รู้สึกว่าเขาพูดถึงชีวิตของเราที่ลำบากจริงๆ นะ ก็มาสนับสนุนพรรคนาซี" 
"สิ่ง หนึ่งที่ประเทศโลกที่ 3 มีเหมือนกันหมดคือ เอาเรื่องความยากจน คนที่ถูกเศรษฐกิจกระแสหลักเบียดออกไป และระบบการเมืองที่เป็นทางการช่วยเขาไม่ได้ ก็มีพรรคการเมืองที่พยายามใช้วิธีแบบนี้สร้างความนิยมให้ตัวเอง พรรคอัมโนตอนขึ้นมาใหม่ๆ ก็ใช้วิธีแบบนี้ การระดมแรงสนับสนุนจากคนมลายู ในที่สุดแล้วจะเป็นปัญหาของพรรคการเมืองในโลกที่ 3 คือมันมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่ใหญ่จริง ซึ่งแก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น คนที่อยากจะมีอำนาจผ่านการเลือกตั้ง คือใช้ความไม่พอใจทางเศรษฐกิจเป็นโวหารสร้างความสนับสนุนทางการเมืองให้ตัว เอง กลไกแบบนี้มีข้อจำกัดคือ มันทำงานบนการสร้างความคาดหวังที่เลื่อนลอยให้คน ในที่สุดแล้วมันอยู่ได้ไม่ยั่งยืน ทุกคนก็จะวิจารณ์ว่านี่คือการหักหลังประชาชน ไม่ได้ทำอย่างที่ตัวเองพูดไว้" 
"ผม คิดว่าในกรณีที่ดีที่สุดที่พันธมิตรฯ จะทำได้คือ อาจจะได้ปาร์ตี้ลิสต์มาจำนวนหนึ่ง คงไม่ถึงขนาด 80 ที่นั่งที่คุณสุริยะใสพูด อันนี้อาจจะเข้าข้างตัวเองเกินไปหน่อย เหมือนกับไม่มีพรรคอื่นอยู่ในประเทศไทย อาจจะได้ 10-20 ที่นั่ง แต่ในที่สุดแล้วก็จะเจอปัญหาแบบนี้ คือความคาดหวังที่คนกลุ่มต่างๆ เทคะแนนให้พันธมิตรฯ มาจากการที่พันธมิตรฯ พูดในเรื่องที่เขาไม่พอใจในชีวิตประจำวัน พอพันธมิตรฯ มีอำนาจก็ไม่สามารถจะแก้ได้ เพราะพื้นฐานของพันธมิตรฯ ไม่ใช่การเมืองแบบปฏิวัติ แต่เป็นการเมืองแบบอนุรักษนิยม เป็นการเมืองแบบปฏิกิริยาที่ใช้ยุทธวิธีแบบปฏิวัติ คือใช้การเมืองมวลชนมาเป็นเครื่องมือ แต่พอไปทำงานการเมืองจริงๆ แล้วไปพูดเรื่องปฏิวัติสังคม การเปลี่ยนสังคมขนานใหญ่ ซึ่งมันขัดกับตัวตนพันธมิตรฯ มาตั้งแต่ต้น ก็จะเป็นอย่างที่บอกว่าไม่สุดต่อไปเรื่อยๆ" 
 
พันธมิตรฯ เชื่อว่าเขาปลุกคนชั้นกลางที่เกลียดการคอรัปชั่น อยากเห็นการเมืองที่ใสสะอาด จึงคิดว่าเป็นฐานที่จะตั้งพรรคได้ 
ศิโรตม์: "ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่คนชั้นกลางจะตื่นตัวทางการเมือง อย่างอเมริกาก็มีคนชั้นกลางเยอะแยะที่ไม่รู้เรื่องการเมือง แล้วอยู่ดีๆ ตื่นตัวทางการเมือง ความตื่นตัวทางการเมืองแบบนี้มันมาจากฐานความเข้าใจทางการเมือง หรือมุมมองทางการเมืองที่ถูกบิดเบือนตั้งแต่ต้น ฉะนั้นความตื่นตัวแบบนี้พูดแรงๆ ก็คือไม่ได้มีความหมายอะไรเลย เพราะมันนำไปสู่การคิดว่าระบบการเมืองที่เป็นอยู่เลวหมด นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทุกคนเลวหมด สถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเลวหมด ต้องแก้ด้วยการเอาอำนาจที่ไม่อยู่ในการเลือกตั้งเข้ามา ผมไม่คิดว่านี่จะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอะไร ในทางกลับกันนี่เป็นเรื่องน่าเศร้าด้วยซ้ำไป ว่าเรากำลังพูดถึงคนชั้นกลางซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีการศึกษาที่ดี แต่ความเข้าใจทางการเมืองกลับคิดเหมือนคนที่มาจากศตวรรษที่ 18 คืออำนาจทุกอย่างที่มาจากการเลือกตั้งเป็นอำนาจที่ไว้ใจไม่ได้ อำนาจที่ไว้ใจได้ต้องเป็นอำนาจที่มาจากเบื้องบนเท่านั้น พูดในอีกแง่หนึ่งอาจถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมของคนชั้นกลางด้วยซ้ำ ผ่านบทเรียนทางการเมืองมาเยอะแยะแล้ว ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมาตั้งเยอะแล้ว แต่ความเข้าใจทางการเมืองไม่ได้เติบโตขึ้นเลย"
 
คนเหล่านี้ไม่ว่าสถานการณ์ลงเอยอย่างไรก็อารมณ์ค้างอยู่ดี 
ศิโรตม์: "เพราะฉะนั้นจึงต้องอยู่กับการอารมณ์ค้างไปเรื่อยๆ เพราะมัน built เป็นเรื่องที่ไม่ make sense มาตั้งแต่ต้น คือ built ว่าทุกคนบนโลกนี้เลวไปหมด มันก็ต้องค้างต่อไป นี่คือปัญหาที่สร้างกันขึ้นมาเอง" 
 
เช่นพันธมิตรฯ บางส่วนไม่มีวันพอใจจนกว่าจะได้นายกฯ พระราชทาน 
ศิโรตม์: "ต่อ ให้ได้เขาก็จะไม่พอใจ เพราะนายกฯ พระราชทานก็จะไม่มีทางทำทุกอย่างที่เขาต้องการได้ เช่น นายกฯ พระราชทานจะบอกว่าไม่เอาโลกาภิวัตน์ได้เหรอ มันทำได้ที่ไหน ก็หลัง 19 ก.ย. องคมนตรีมาเป็นนายกฯ ก็ไม่พอใจองคมนตรีกันอีก" 
 
ประภาส: "มันสะท้อนการแก้ปัญหาประชาธิปไตยที่ทำแบบขาวดำ สุดโต่ง มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ การจรรโลงประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่จะไปเสกเอาไม่ได้ มันต้องร่วมกันสร้าง โดยเฉพาะจากคนข้างล่าง จากประสบการณ์ปัญหาประชาธิปไตย ถ้าเราพูดอุดมการณ์อย่างพวกละตินอเมริกา ซึ่งก็จะเกิดคล้ายๆ กัน แต่ว่าที่เราไม่เคยหยิบมาพิจารณาเลยคือ เขาออกจากปัญหาประชาธิปไตยตัวแทน" 
"ประสบการณ์จาก movement มาสู่การเป็นประธานาธิบดี สิ่งที่เขาทำ เขาไม่ได้สร้างประธานาธิบดีที่ดีที่บริสุทธิ์ คนมีศีลธรรม แต่ประธานาธิบดีโดย movement มัน ไปถ่ายอำนาจจากระบบตัวแทนสู่คนข้างล่าง ให้ผู้คนเข้ามาตัดสินใจทางการเมือง สารพัด ตั้งแต่ระดับชาติถึงท้องถิ่น ประชาธิปไตยทางตรงที่พูดกัน มันเป็นขบวนการที่ค่อยๆ สร้าง ค่อยๆ แก้ โอนอำนาจสู่ระดับท้องถิ่น กฎหมายลูก บ้านเราออกแบบไว้เยอะแยะแต่ไม่มีใครสนใจ เรื่องช่องทางการมีส่วนร่วม การขยายอำนาจไปสู่คนข้างล่าง เรามุ่งแต่สร้างแต่คนดี ปัญหาในเชิงโครงสร้างก็นิยามว่าจะต้องแก้ด้วยการเอาคนดีเข้ามา เอาพรรคที่ดีเข้ามาแทน แต่มันต้องพูดถึงเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ตอนนี้มันก็จะถูกลดทอนเหลือข้อถกเถียงกันอยู่แค่พรรคนี้จะดีกว่า ถามว่ามันเป็นทางออกให้ประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน มันก็ติดอยู่ในเพดาน ภาษาหมอประเวศก็คือไก่ในเข่ง อยู่ในกะลาอยู่ในเพดาน ซึ่งก็เห็นกันว่ามีข้อจำกัดเต็มไปหมด บทเรียนแบบนี้ก็ไม่เคยสรุปกัน ก็ยังย่ำเดินและลดทอนทุกอย่าง แล้วไปนิยามว่าทั้งหมดนี้จะเป็นการเมืองภาคประชาชนที่แท้จริง กับพรรคการเมืองที่ดี ผู้คนเข้ามาอยู่ตรงนี้แล้วปัญหาประชาธิปไตยจะจบ ซึ่งผมว่ามันง่ายเกินไป แต่แน่นอนผู้คนส่วนหนึ่งก็เห็นเป็นช่องทางที่จะตรวจสอบกันไปว่าดีไม่ดี ผมว่าพรรคพันธมิตรฯ ก็จะเป็นบทเรียนให้เห็นถึงข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกก็ได้ แต่ผมคิดว่าเราพูดทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจว่ามันจะมีจำกัดอะไรบ้าง เราเห็นข้อจำกัดแต่เราไม่ได้บอกว่าดีไม่ดี" 
 
คือให้เขาตั้งพรรคแล้วเขาจะได้เรียนรู้ 
ประภาส: "และสังคมไทยก็จะได้เรียนรู้ แต่จากประสบการณ์พฤษภาทมิฬ หัวใจสำคัญคือการเมืองภาคประชาชน โอนอำนาจไปสู่คนข้างล่าง ถามว่าพรรคพันธมิตรฯ กับเครือข่ายภาคประชาชนสืบทอดตรงนี้มากน้อยแค่ไหน" 
 
ศิโรตม์: "ยกตัวอย่างง่ายๆ หลังพฤษภา ทุกคนพูดกันว่าต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด พรรคพันธมิตรฯ บอกว่าต้องการเป็นพรรคที่สร้างประชาธิปไตย กล้าประกาศไหมว่าจะให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เขาคงไม่กล้าทำ เพราะถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ พวกเสื้อแดงจะเข้ามา ในที่สุดก็จะกลับมาสู่โจทย์เดิมของพันธมิตรฯ 2 ปีคือพันธมิตรฯ ไม่เชื่อเรื่องประชาชน พันธมิตรฯ เชื่อว่าประชาชนถูกหลอกได้ ถูกนักการเมืองใช้ได้ เพราะฉะนั้นแนวทางของพันธมิตรฯ คือการจำกัดนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นตัวตนของพันธมิตรฯ คือปฏิเสธหลักการประชาธิปไตย คืออำนาจต้องมาจากการเลือกตั้ง มาจากการตรวจสอบของประชาชน การเมืองที่มาจากการตรวจสอบไปอยู่นอกเวทีที่คนตรวจสอบไม่ได้ นี่คือการทำลายประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าพันธมิตรฯ จะคิดเรื่องประชาธิปไตยจะเกลียดระบอบทักษิณยังไงก็ตามแต่ แต่ทั้งหมดไม่ได้แปลว่าพันธมิตรฯ จะเท่ากับขบวนการเพื่อประชาธิปไตยในตัวเอง ไม่เกี่ยวกัน การเกลียดทักษิณไม่เท่ากับคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มันคนละเรื่อง"คลุมเครืออันตราย 
 
พันธมิตรฯ ต้องใช้อุดมการณ์ชาตินิยม จะไปชูอุดมการณ์ความเป็นธรรมคงไม่ได้ใช่ไหม ไม่ชูชาติ สถาบัน ก็ไม่มีทางไปได้เลย 
ศิโรตม์: "ยกเว้นจะทำเรื่องอื่นๆ เช่น ปกป้อง คมช. ปกป้องรัฐธรรมนูญ"
 
ประภาส: "พันธมิตรฯ เขาก็พยายามดึงภาคประชาชนมาร่วม พยายามให้มีส่วนนี้อยู่ ถ้าดูจากช่วงที่เคลื่อนไหว คำถามคือเขาเอาจริงเอาจังแค่ไหน มันเป็นแค่โวหารหรืออะไรก็ได้ เหมือนกับทั้งหมดเป็นแค่เครื่องมือ แม้แต่อุดมการณ์ จุดหมาย ก็เป็นแค่เครื่องมือ พูดให้ดูดีก็พูดไปเรื่อยๆ แต่อุดมการณ์ที่แท้จริงก็คือชาตินิยม ผู้คนที่เข้ามา ความรับรู้ของผู้คน ก็จะเป็นเรื่องนี้ สิ่งที่ดึงอารมณ์ของผู้คนเข้ามาได้ฐานอยู่ที่เรื่องชาตินิยม อนุรักษนิยม สถาบันนิยม เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นแบบนี้ถามว่ามันจะขยายไปโดยง่ายได้ยังไง ประวัติศาสตร์การต่อสู้ก็คงจะตอบได้ด้วยตัวมันเอง จะเปลี่ยนชั่วข้ามคืนได้ยังไง อยู่ดีๆ จะให้คนชั้นกลางไปเห็นใจคนจน แค่มาชุมนุมด้วยกันแล้วเห็นใจ เห็นคนจนแล้วน้ำตาไหล มันไม่ใช่ มันเป็นอารมณ์แบบว่าเรามาสู้ร่วมกัน มีศัตรูคือทักษิณร่วมกัน เรามาทุกข์ยากตากฝน ภายใต้เต็นท์เดียวกัน มันเป็นอารมณ์แบบนั้นมากกว่า เอามันให้ไปให้ได้ มันไม่ใช่ว่าเออ-เรามาเรียนรู้ โห คนจนนี่จนเหลือเกิน ถึงวันนี้ผมก็ยังสรุปว่ามันไม่ใช่เป็นเรื่องหลัก ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชนที่สนใจประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม 
 
พิภพ สุริยะใส อาจจะพูดเรื่องนี้ แต่คนที่มาไม่ได้มาด้วยเรื่องนี้ 
ประภาส: "เขาไม่ได้อยากฟังเรื่องพวกนี้หรอก เขาไม่เคยฟังด้วย ถึงพูดกันตี 1-ตี 5 มันจะพลิกกลับมาง่ายๆ คงยาก"
 
ศิโรตม์: "พันธมิตรฯ ใช้มวลชน ใช้ประชาชนฝ่ายคนยากจนเป็นผู้ปฏิบัติงานของอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมมากกว่า คือเอาคนพวกนี้ไปเพื่อทำให้อุดมการณ์อนุรักษนิยมมันดูมีประชาชนเข้ามา เกี่ยวข้อง มีมวลชนหลายฝ่ายมาเกี่ยวข้อง แต่ตัวขบวนการไม่ใช่" 
 
หัวค่ำพูดถึงสถาบัน ดึกๆ พูดถึงภาคประชาชน ถ้าอย่างนี้เราจะบอกว่าอุดมการณ์หลักของพรรคพันธมิตรฯ มันคืออะไร คือ conservative หรือเปล่า 
ศิโรตม์: "ถ้าพูดว่าเป็น conservative มันก็ลำบาก เวลาพูดถึงพรรคการเมืองในตะวันตกแบบ conservative มัน จะชัดเจน อย่างเขาเชื่อว่าคนผิวขาวสูงส่งกว่าคนสีผิวอื่นทั้งหมดในโลก ศาสนาคริสต์ดีกว่าศาสนาอื่น ซึ่งพันธมิตรฯ ก็ไม่กล้าพูดถึงขนาดนั้น คือการเมืองแบบพันธมิตรฯ ผมว่ามันเป็นไปด้วยความคลุมเครือตลอดเวลา ในที่สุดแล้วพรรคการเมืองต้องมีฐานของตัวเองที่ชัดเจน แต่พันธมิตรฯ ไม่ได้มีฐานแบบนี้ อุดมการณ์พันธมิตรฯ ไม่มีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้น พูดเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แล้วมาพูดถึงความไม่เป็นธรรมทางสังคม ที่สุดแล้วผมว่าพันธมิตรฯ ก็ไม่ได้ซีเรียสเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์จริงๆ ด้วยซ้ำ ตัวอย่างง่ายๆ เรื่องศาสนา สมัยไล่คุณทักษิณ พันธมิตรฯ พูดเรื่องสังฆราช 2 พระองค์ แต่พอคุณทักษิณลงไปแล้วสังฆราช 2 พระองค์ก็มีอยู่ พันธมิตรฯ ไม่เห็นทำอะไรอีกเลย เรื่องเขาพระวิหารก็ไม่เห็นพันธมิตรฯ ทำอะไรอีกเลย ถ้าพันธมิตรฯ ซีเรียสเรื่องชาติ ศาสนา พันธมิตรฯ จะดุและคลุ้มคลั่งกว่าที่ผ่านมา" 
"เพราะ ฉะนั้นในแง่อุดมการณ์ผมว่ามันหลวมมาก และยิ่งอันตรายเพราะทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับผู้นำ เราไม่มีทางรู้ว่าผู้นำซึ่งจริงๆ อาจจะแค่ 2 คน เขาต้องการจะผลักอะไร คือถ้ามันมีอุดมการณ์เป็นกอบเป็นกำ เราจะพอเห็น line ว่า เป็นขบวนการแบบนี้นะ ถ้าเป็นชาตินิยมก็จะต่อต้านโลกาภิวัตน์ทุกรูปแบบ ธุรกิจใหญ่ๆ เป็นของคนไทย แต่พอคลุมเครือทุกอย่างเป็นเรื่องการเมืองแบบโวหาร อย่างที่คุณไพโรจน์ พลเพชร บอกว่าเป็นขบวนการที่อยู่แบบหาเช้ากินค่ำ คือใช้สถานการณ์พูดเรื่องใหม่ไปเรื่อย ดังนั้นในแง่อุดมการณ์จะบอกว่าเป็นอนุรักษนิยมคงไม่ได้ อย่างในอังกฤษหรืออเมริกา พรรคอนุรักษนิยมมันมีความชัดเจนว่าเอาอย่างนี้ ไม่เอาอย่างนี้ แต่นี่มันเหมือนมีหลายหัว แล้วแต่ละหัวก็เดินไปทางนั้นทีทางนี้ที" 
 
ประภาส: "เป็นลักษณะที่อุดมการณ์ไม่ใช่เป้าหมายแต่เป็นเครื่องมือ ลื่นไหลไป อะไรที่ขายได้พูดหมด ตั้งแต่การเมืองใหม่ ขบวนการทางสังคม ปกป้องสถาบัน ทุกเฉดของอุดมการณ์ ตั้งแต่ซ้ายสุดจนขวาสุด มันจับต้องยาก ซึ่งอันนี้อันตรายต่อการเคลื่อนไหว ความเป็นกลุ่มก้อนในระยะยาว ทำให้ผู้คนที่เข้ามาบอกลำบากว่าตัวเองอยู่ตรงไหน เวลามันมี movement ในลักษณะการเมืองเครือข่าย มันรวมคนหลากหลาย แต่มันมีอะไรร่วมกัน พออะไรร่วมบางอย่าง ที่เหลือก็ขัดกันแล้ว"
 
ศิโรตม์: "มันเป็นการเมืองชั่วคราวไม่ใช่การเมืองแบบค้างคืน พันธมิตรฯ เป็นการเมืองแบบชั่วคราว แต่เขาพยายามทำให้เป็นการเมืองแบบค้างคืน" 
 
ก็ตลกที่ลงมติกันด้วยเสียงโห่และปรบมือ 2 นาทีแล้วตั้งพรรค ไม่เห็นคนค้านเลย 
ศิโรตม์: "ในที่สุดแล้วพันธมิตรฯ ก็นำไปสู่วงจรเก่าๆ เช่นการเป็นพรรคของผู้นำ นี่คือปัญหาของพันธมิตรฯ ด้วยว่ามันเป็นพรรคที่ขึ้นกับตัวบุคคลมากๆ คาดเดาอะไรไม่ได้"
 
ประภาส: "หัวใจหลักของ movement ในทัศนะผมคือ radical มันเคลื่อนไหวสุดโต่ง ไม่มี movement ที่ไหนมันประนีประนอม ถ้าประนีประนอมมัน movement ไม่ได้ การเมืองแบบพรรคมันคนละสไตล์ ผู้นำแบบพรรคกับแบบ movement มันก็ต่างกัน ซึ่งผมไม่คิดว่าผู้นำพันธมิตรฯ จะมีทักษะแบบนั้น" 
 
มวลชนหลักของเขาคือชาตินิยม สถาบันนิยม ก็ต้องเดินแนวทางนี้ 
ศิโรตม์: "ก็คือต้องหาศัตรูของชาติ ศัตรูของสถาบัน เดินไปในลักษณะที่สร้างความรู้สึกว่าชาติไม่มั่นคง สถาบันไม่มั่นคง เป็นสิ่งที่พันธมิตรฯ ต้องสร้างตลอดเวลา ซึ่งผมไม่รู้ว่าการเดินแบบนี้เป็นผลดีต่อชาติหรือต่อสถาบันหรือเปล่า" 
 
พันธมิตรฯ เปลี่ยนท่าทีบางอย่างหลังสนธิถูกยิง เหมือนเป็นจุดให้เริ่มสร้างพรรคหรือเปล่า 
ประภาส: "พันธมิตรฯ กับเสื้อแดง สิ่งที่เป็นปัญหาคือสุดโต่งทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมันไปไม่ได้แล้วในสังคมไทย ปรากฏการณ์สนธิถูกลอบสังหารอาจจะเป็นไปได้หรือเปล่าว่าพันธมิตรฯ เองก็คิดว่าการเคลื่อนไหวแบบนี้ล่อแหลม ไปลำบาก สังคมกำกับไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบสุดโต่ง ฉะนั้น การตั้งพรรคถ้ามองในแง่นี้อาจเป็นไปได้ว่ากลับไปสู่การประนีประนอม การเมืองในระบบพรรคการเมือง เราจะเห็นว่าการตั้งพรรคก็อยู่ในกระแสประนีประนอม ผมอาจจะมองในแง่ดีว่าเป็นการคลี่คลายความสุดโต่ง ซึ่งมันไปไม่ได้ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา"
 
ศิโรตม์: "ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ขบวนการที่มีลักษณะสุดโต่งมากๆ ทุกครั้งที่พยายามกลับมาเล่นในระบบ มันมีต้นทุนบางอย่างที่จะเกิดขึ้นกับผู้นำขบวนการด้วย เช่น การถูกคนในขบวนการโจมตีว่าทรยศอุดมการณ์ หรือการที่มวลชนบางส่วนแตกตัวไปตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมา ถ้าพันธมิตรฯ คิดได้อย่างนั้นจริงๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องดี แต่ต้องยอมรับด้วยว่าถ้าเปลี่ยนจากสุดโต่งมาเป็นแนวทางประนีประนอม ขบวนการพันธมิตรฯ หรือพลังพันธมิตรฯ ก็จะเสื่อมลงด้วย คนที่สุดโต่งก็จะรู้สึกว่าเอ๊ะ-ทำไมผู้นำเราเปลี่ยนไป" 
 
การเมือง หลังสงกรานต์คนจำยอมรับสภาพ ทั้งที่ไม่ได้ชื่นชอบรัฐบาลประชาธิปัตย์ มันเหมือนการเมืองไม่ได้พัฒนาไปไหน เป็นเรื่องดีหรือเปล่าที่พันธมิตรฯ ไม่ยอมรับ เพราะจะผลักให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 
ศิโรตม์: "ถ้า พันธมิตรฯ เป็นพรรคหรือเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะปฏิวัติหรือต้องการปฏิรูปสังคมก็น่าจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเรามองอีกแบบหนึ่งว่าพันธมิตรฯ มีความเป็นอนุรักษนิยมมาก การที่รู้สึกแบบนี้ก็เป็นปัญหาของพันธมิตรฯ เอง อย่างที่เราพูดกันว่ามันสร้างขบวนการบนภาพลวงตาหลายๆ เรื่อง โลกที่ทุกคนเป็นคนดีหมด ผู้นำที่ไม่มีผลประโยชน์อะไรเลย นี่คือปัญหาที่พันธมิตรฯ ต้องแก้กันเองต่อไป พันธมิตรฯ ไม่ใช่ขบวนการปฏิวัติตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว และจะมาตั้งเป้าว่าได้ประชาธิปัตย์ซึ่งหน่อมแน้มเกินไปรับไม่ได้ ผมคิดว่าพันธมิตรฯ สับสน สถานการณ์การเมือง 3 ปีที่ผ่านมามันไม่ใช่สถานการณ์ปฏิวัติ มันเป็นสถานการณ์ที่อาศัยความไม่พอใจของคนที่มีต่อคุณทักษิณไปดึงทุกอย่าง ให้มันถอยหลัง เพราะฉะนั้นการได้ประชาธิปัตย์สำหรับผมคิดว่าก็น่าจะดีที่สุดแล้วด้วยซ้ำ เพราะโดยตัวพันธมิตรฯ เองไม่ใช่พลังที่ทำให้คุณทักษิณออก หรือคุณสมัคร คุณสมชายออก คุณทักษิณออกเพราะถูกรัฐประหาร คุณสมัครออกเพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่ง คุณสมชายก็โดนแบบเดียวกัน ถ้าเข้าใจตัวเองและธรรมชาติว่าแบบนี้คือตัวเองเป็นกองหน้า แล้วให้กองหลังมาปิดเกมก็น่าจะพอใจ ถ้าเป็นผม แต่พันธมิตรฯ อาจจะสับสนว่าตัวเองทำให้ทุกอย่างชนะและเป็นคนเดินเกมทุกอย่าง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด”

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net