Skip to main content
sharethis

นายวิฑูรย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงเรียกร้องความจริงใจจากบริษัทในเครือสหวิริยา กรณีระบุว่าอุตสาหกรรมเหล็กไม่ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของทะเล ระบุถ้าบริษัทมีความจริงใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมจริง ก็ควรที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างจากโครงการเดิมที่ส่งกระทบต่อชาวบ้าน อ.บางสะพานมาอย่างยาวนานด้วย 

 
ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงแสดงความเห็นต่อกรณีที่นายสมศักดิ์ ศิวะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด บริษัทในเครือสหวิริยา ให้สัมภาษณ์กรณีพบฉลามวาฬ บริเวณบ้านหนองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่าการที่มีอุตสาหกรรมเหล็กอยู่ในพื้นที่ไม่ส่งกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของทะเล และในกรณีที่จะมีโครงการก่อสร้างท่าเรือส่วนขยายรวมทั้งโครงการโรงถลุงเหล็กในอนาคตนั้น เชื่อมั่นว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อทะเลบางสะพานแน่นอน และบริษัทบริษัทฯก็มีแนวคิดที่จะจัดตั้ง “เครือข่ายเฝ้าระวังและช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก”

ประธานกลุมอนุรักษ์ กล่าวว่า การที่บริษัทออกมากล่าวอ้างถึงการอยู่ร่วมของอุตสาหกรรมกับสิ่งแวดล้อมว่าไม่ส่งกระทบต่อกันนั้น  ถ้าบริษัทมีความจริงใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมจริงก็ควรที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างโครงการเดิมที่ส่งกระทบต่อ อ.บางสะพานมาอย่างยาวนานด้วย เพราะชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการสร้างถนนขวางทางน้ำของบริษัทซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะน้ำกักขังท่วมในตัวอ.บางสะพานเพราะไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน  และปัญหาจากการก่อสร้างโครงการทับพื้นที่ป่าคุ้มครอง ซึ่งตอนนี้ได้มีคำสั่งจากกรมที่ดินให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์อยู่จำนวนหลายแปลง

นายวิฑูรย์กล่าวต่อไปว่าการที่บริษัทออกมากล่าวอ้างถึงโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ดูแลสิ่งแวดล้อมนั้นก็เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่จะต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป แต่ที่สำคัญคือพฤติกรรมของบริษัทเพราะที่ผ่านมาไม่สามารถสร้างความไว้วางใจต่อชุมชนโดยรอบได้ เนื่องจากการก่อสร้างโครงการเก่าและแผนการก่อสร้างโครงการใหม่นั้น ผังของโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำหลายด้าน

ทั้งนี้ พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณป่าพรุแม่รำพึงได้มีการจากศึกษาสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ว่าเป็นป่าพรุที่มีความหลากหลายจนมีความสำคัญในระดับชาติหรือนานาชาติ  แต่ในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฉบับล่าสุดของบริษัทสหวิริยากลับกล่าวอ้างว่าป่าพรุแม่รำพึงแห่งนี้เป็นเพียง “ป่าบึงน้ำจืด” ที่ไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังจะขึ้นทะเบียนให้ป่าพรุแม่รำพึงให้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ
 
นายวิฑูรย์ระบุว่าพื้นที่นี้เป็นแหล่งผลิตแพลงตอนขนาดใหญ่ของอ่าวแม่รำพึงที่มีสมบูรณ์สูงมากจนทำให้บริเวณแหลมแม่รำพึงเป็นแหล่งวางไข่ของปลาทูที่มีการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ โดยห้ามจับสัตน้ำตลอดทั้งปี ซึ่งส่งผลให้มีปลาฉลามวาฬเข้ามาหากินสัตว์น้ำขนาดเล็กใกล้บริเวณชายฝั่งในหลายวันที่ผ่านมา
 
“ความเชื่อมั่นด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทต่อชาวบ้านในพื้นที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างง่ายๆ ว่าทำไมไม่มีบ้านไหนในอ.บางสะพานรองน้ำฝนกิน แต่กลายเป็นต้องซื้อน้ำไว้สำหรับการอุปโภค-บริโภคกันทุกบ้าน จนมีบริษัทผลิตน้ำเกิดขึ้นหลายสิบรายในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา และโครงการในอนาคตก็เป็นการผลิตเหล็กต้นน้ำ ซึ่งต้องมีการใช้แร่เหล็กและถ่านหินจำนวนมากเป็นเชื้อเพลิงในการเผาผลาญในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตคนละอย่างกับโครงการที่มีอยู่เดิม โดยจะทำให้เกิดปล่องควันจำนวนกว่า ๕๐ ปล่อง เกิดขึ้น บริษัทไม่เคยทำให้ประเด็นเหล่านี้ได้รับความกระจ่างแต่อย่างใด แต่กลับมาสรุปความว่าอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ดีและอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ”
 
ด้านนายนิพนธ์ พุ่มพวง ชาวประมงใน ต.แม่รำพึง กล่าวว่า  จากการประกอบอาชีพประมงมาอย่างยาวนานโดยออกทะเลหากินในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจ.ประจวบฯ พบว่ามีปลาฉลามวาฬและปลาโลมาเข้ามาหากินอยู่ในพื้นที่เป็นประจำอยู่แล้ว

 นายนิพนธ์ตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกของบริษัทสหวิริยา ก็ส่งผลกระทบต่อการวางอวนกุ้งแชบ้วยของชาวประมง เนื่องจากกระแสน้ำได้เปลี่ยนทิศทาง จนทำให้อาชีพวางอวนกุ้งหายไป และพบว่าบริเวณหน้าท่าเรือฯมีประมาณของโคลนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการของกรมชลประทานในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นทีบางสะพานโดยการขุดคลองระบายน้ำขึ้นมาใหม่ โดยมีการระบายน้ำลงบริเวณชายหาดบ้านดอนสำราญ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่คิดว่าเป็นการแก้ไขไม่ถูกจุดและจะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน เนื่องจากจะเป็นการผันน้ำออกจากบริเวณป่าพรุแม่รำพึงซึ่งเป็นแหล่งรองรับน้ำของอ.บางสะพาน ทำให้ป่าเสื่อมโทรมลง และไม่พัดพาแหล่งอาหารของลูกปลาลงสู่ทะเลซึ่งที่ผ่านมามีกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นชาวบ้านในพื้นที่เข้ายื่นหนังสือคัดค้านไม่ให้ป่าพรุแม่รำพึงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ ซึ่งชาวบ้านต่างทราบว่าคนเหล่านี้คือผู้ที่ออกมาสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมเหล็กในพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net