Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้อเขียนนี้จะลองเขียนแบบไม่มีมนุษย์อยู่ในสำนึก แบบเดียวกับการเรียกปฏิบัติการต่อเนื่องตลอดเดือนที่ผ่านมาว่าการ “ขอคืนพื้นที่” แล้วตามมาด้วยการ “กระชับพื้นที่” ซึ่งมีผลเป็นพื้นที่ที่ได้รับคืนไปประจักษ์แก่สายตาทุกท่านไปทั่วทุกสื่อแล้ว

สัปดาห์ที่ผ่านมาทุกพื้นที่อณูอากาศรอบตัวเราเต็มไปด้วยมวลรวมของความสยดสยองในรูปแบบต่างๆ เริ่มตั้งแต่แต่การด่าทอ การประกาศว่ากูเกลียดใครแช่งใคร การยิง ทุบตี เลือดและความตาย การโยนความผิดใส่กัน ลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย เฉยชากับความตายของเขา เจ็บปวดได้เพียงภาพห้างสรรพสินค้าของเราไหม้ และมลพิษจากยางรถยนต์ ในขณะที่จำนวนความตายที่เคลื่อนไปข้างหน้าเป็นเพียงดั่งตัวเลขผ่านสายตา เราอยากมีชีวิตอยู่ในพื่นที่แบบที่รัฐพยายามจัดหามาคืนให้แบบนี้กันจริงๆ น่ะหรือ? ...เอ่อ...มันไม่ใช่ราชประสงค์หรอกที่ท่านนำมามอบให้เรา

ได้ยินมาว่าทั้งนักรัฐศาสตร์ นักกฏหมายต่างเศร้าใจที่วิชาชีพตัวเองดูจะหมดความสามารถในการอธิบายทั้งความชอบธรรมหรือการคลายปมของสิ่งที่เป็นไปนี้ ข้าพเจ้าจึงจะขอลองเพ่งพินิจมันในฐานะนักออกแบบดูสักหน

ว่ากันตามทฤษฎีแห่งมนุษย์และที่ว่าง คนหนึ่งหน่วยจะมีฟองอากาศรอบตัวขนาดระยะหนึ่งเรียกว่า private space คนแปลกหน้าจะเข้าใกล้ได้ก็ในระยะรู้สึกปลอดภัยขนาดประมาณร่มกางหรือขอบฟองอากาศนั้น ส่วนคนที่ไว้ใจเราจึงสามารถกอดกันได้

มันจึงน่าตลกมากที่ campaign ก่อนการฆ่าจำนวนมากมายบอกให้ผู้คนในเดือน-ปีแห่งการเกลียดชังมารักกันไว้เถิด ใครมันจะกอดกันลงถ้าไม่ไว้ใจกัน ไม่ต้องรักกันหรอก ขอเพียงรู้จักเคารพที่จะไม่รุกล้ำฟองอากาศส่วนตัวกันนั้นก็เพียงพอแล้ว

และในชีวิตประจำวัน เราแต่ละหน่วยฟองอากาศต่างลอยกันอยู่ใน public space บ้าง semi-public (กึ่งสาธารณะ) บ้าง ทุกคนมีสิทธิ์อันสมบูรณ์ที่จะเคลื่อนไปบนพื้นที่สาธารณะใดๆ พร้อมๆ กับปรับเปลี่ยนจากพฤติกรรมส่วนตัวไปเป็นสาธารณะ ด้วยการประนีประนอมซึ่งกันและกันในเสรีภาพส่วนบุคคลภายใต้เงื่อนไขของกาละเทศะ

มีตัวอย่างกิจกรรมทางสังคมมากมายที่คนเมืองและชนบทแลกเปลี่ยนกันใช้พื้นที่สาธารณะทางกายภาพ ทั้งที่เป็นประโยชน์ร่วมและทั้งที่เอาเปรียบไม่เป็นธรรมต่อชนบทซึ่งขอละไว้ในที่นี้

ประเด็นแรกคือความเป็นคนในพื้นที่กับการเป็นเจ้าของทางกายภาพของพื้นที่สาธาณะในพื้นที่นั้นๆ (public space) เป็นคนละเรื่องกัน ข้าพเจ้าเป็นคนท่าพระจันทร์เป็นเจ้าของตึกแถวริมน้ำเจ้าพระยา แต่แม่น้ำเจ้าพระยานั้นเป็นของคนมุกดาหารเท่าๆ กับที่เป็นของข้าพเจ้าเช่นกัน แม้ว่าชีวิตนี้เขาจะไม่มีโอกาสเห็นมันเลยก็ตาม คนเมืองซึ่งมีปัจจัยทางเศรษฐกิจในการเคลื่อนย้ายตัวเข้าใช้พื้นที่สาธารณะต่างๆ มักจะมีโอกาสใช้อำนาจนี้มากกว่าคนชนบท แต่นั่นไม่หมายความว่าเขามีสิทธิ์เป็นเจ้าของเมืองหลวงที่ใช้ประกอบกิจวัตรประจำวัน และมีชนบทเป็นเมืองขึ้นเพื่อใช้ในการเดินเล่นวันหยุดพักผ่อน เว้นแต่มันเป็นสำนึกที่ร่วมอุปโลกน์ขึ้นมาในใจตัวเองจนหลงเข้าใจผิด

ประเด็นที่สองคือสิทธิ์ในการแสดงออกในที่สาธารณะ ซึ่งรวมความไปตั้งแต่การแสดงความคิดเห็นไปจนถึงการเรียกร้องทางการเมือง หรือการมีปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) นั้น ทุกคนต่างมีได้เท่าเทียมกัน แสดงออกได้ทั้งบนพื้นที่ทางนามธรรมเช่นวิทยุ หนังสือพิมพ์ทั้งหลาย หรือบนพื้นที่ทางกายภาพด้วยการทำกิจกรรมร่วมกันของคน

ชาวกรุงเทพฯ ไม่มีเอกสิทธิในการถือครองพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพว่าเป็นของตัว ไม่มีสิทธิ์เป็นผู้ตัดสินแต่กลุ่มเดียวว่ากาละเทศะใดคนในประเทศจึงจะมีสิทธิในพื้นที่สาธารณะแห่งมหานครนี้ และไม่มีสิทธิ์ที่จะ discriminate การแสดงความเห็นทางการเมืองของเพื่อนร่วมชาติ รัฐมีหน้าที่เป็นกรรมการจัดสรรทรัพยากร แต่น่าเศร้าที่กรณีนี้กรรมการเลือกฟังเจ้าถิ่นที่กร่างว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ มิใช่ฟังเจ้าของประเทศ

หลังความตายอันเหนื่อยหนักยาวนาน พื้นที่แบบไหนกันแน่ที่รัฐอภิสิทธิ์ขอคืน?
แน่นอนสิ่งที่ผู้ชุมนุมเข้ามาเรียกร้องในเบื้องต้นคือพื้นที่ทางการเมืองที่แลดูเป็นนามธรรมไม่มีรูปร่างทางกายภาพใดๆ จนกระทั่งสิทธิในการเรียกร้องพื้นที่สาธารณะแปรมาเป็นการเข้ายึดครองพื้นที่แหล่งการค้า-บันเทิงของคนเมืองหลวง ภาพสะท้อนของเสียงก่นด่าจากเพื่อนเมืองหลวง การหายไปของพื้นที่ทางกายภาพที่บ้างก็ถึงกับเหมาเอาว่าเป็นแหล่งหากินของตัว สะท้อนกลับมาให้เห็นพื้นที่ทางนามธรรมอีกชิ้น นั่นคือพื้นที่ในจิตใจอันคับแคบที่มีอคติครอบครองมากน้อยตามแต่จริต คนกรุงเป็นห่วงเพียงการเดินทางทำมาหากินของตัว มองข้ามเนื้อหาสาระและสาเหตุที่คนเรือนหมื่นพยายามสื่อสารกับคุณ และขาดสำนึกในสิทธิแห่งปริมณฑลสาธารณะของคนชนบท และสุดท้าย... ความผิดในฐานกีดขวางการจราจรกับก่อการร้ายนั้นห่างไกลกันคนละความหมายในสังคมอารยะที่มีตรรกะและความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (ข้าพเจ้าขอละประเด็นผู้ก่อการร้ายจริง-ปลอมไปให้ผู้อื่น เพราะไม่ใช่เนื้อหาที่ผู้ออกแบบอย่างข้าพเจ้าอยากจะเข้าถึง และนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนเม.ย. ภายหลังพฤติกรรมรังเกียจคนเสื้อแดงอันมีมาแต่ก่อนหรือเริ่มต้นชุมนุมเมื่อต้นเดือน มี.ค.)

ดูราวกับว่าสำหรับสังคมไทยแล้ว ฟองอากาศของบางคน บางกลุ่มนั้นมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะขยายพื้นที่พองออกอย่างยะโสไปเบียดขับ public space ที่ใช้ร่วมกันในนามของผู้ยึดกุมอำนาจ ผู้จัดสรรทรัพยากร ไปจนถึงในนามของศีลธรรมผู้ปราบอธรรม

ในสังคมประชาธิปไตยที่มีความเท่าเทียมเป็นกติกา  แม้คุณจะมีสิทธิ์ในทางส่วนตัวกล่าวหาคนสักคนว่าเป็นอธรรม ตราบใดที่ยังไม่มีการพิสูจน์ให้แน่ชัดคุณไม่มีแม้แต่สิทธิ์เข้าไปทำลายฟองอากาศของเขา ไม่ต้องพูดถึงการฆ่าแบบสัปดาห์ที่ผ่านมาเลย สิ่งที่คุณทำได้คือปล่อยให้เขาอยู่ในฟองอากาศที่คุณคิดว่าเขาโง่งมนั้นต่อไป แล้วรณรงค์ศีลธรรมแบบของคุณต่อไปสิ เชื่อในพลังธรรมะของคุณให้มากสิ ว่าคุณรวมฟองอากาศได้ใหญ่กว่าฟองอธรรมที่จะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องฆ่าเขาเลย (ในระดับprivate space ) และ “ไม่มีแม้แต่สิทธิ์จะไปขอพื้นที่ของเขาคืน” เพราะมันเป็นของเขา เท่าๆ กับที่เป็นของคุณ (ในระดับpublic space)

เว้นแต่ว่าในทางศีลธรรมแบบไทยๆ แล้ว อย่าว่าแต่พื้นที่สาธารณะเลย... ไม่มีแม้แต่พื้นที่ private space ของผู้ถูกข้อกล่าวหาอธรรม? ทางเดียวคือต้องกำจัดทิ้ง? อย่าบอกเราเรื่องการฆ่า...แต่จงทำให้หายไปจากพื้นที่ของเราเถิด...เราจะหลับตาแล้วสวดภาวนาเพื่อที่จะไม่เห็น...แล้วจะช่วยเก็บกวาดบ้านให้สวยดังเดิมนะจ๊ะ และจะไม่มีเรื่องราวให้พูดถึงอีกต่อไป (หนึ่งวันหลังการฆ่า ทีวีไทยอยู่ในโหมดนี้เกือบทั้งสิ้น)

นี่ไม่ใช่ยุคที่ศีลธรรมเสื่อมโทรม แต่สามัญสำนึกตะหากที่ถูกมายาแห่งคุณธรรมที่สวมไว้บดบัง ข้าพเจ้านั่งมองการรุกล้ำฟองอากาศส่วนตัว นับแต่การยิงฟองอากาศคนอื่นด้วยการระบุชื่อผู้คิดต่างออกอากาศตามทีวีและหนังสือพิมพ์ อีเมลและข้อความข่มขู่ถูกส่งไปเป็นรายบุคคล และสุดท้ายด้วยการเจาะกระสุนเข้าไป จนวิญญาณแห่งฟองอากาศหนึ่งหน่วยนั้นแตกดับไปทีละอัน

ไม่ว่าใครจะเป็นคนลงมือทำในขั้นตอนสุดท้ายของการประหารนี้ก็ตาม พื้นที่ถูกส่งกลับคืนไปสู่คนเมือง...เมื่อทีละหน่วยเล็กๆนั้นดับลง...ทีละจุดๆ

มันเป็นสิ่งที่รายงานทางทีวีเรียกว่ามีความ “คืบหน้า” ไปมากแล้ว เหมือนเรามองแผนที่ทางอากาศ เมื่อมนุษย์หายไป...พื้นที่ที่ขยายใหญ่ขึ้นก็เป็นความคืบหน้าสมดังชื่อปฏิบัติการ

จะต้องใช้ความไร้เดียงสาอย่างมาก หากยังเข้าใจว่าปฏิบัติการณ์นี้เพียงต้องการ public space ของเมืองคืนเหมือนชื่ออันอ่อนโยนเบาบางของมัน มันเป็นการชวนเล่นเกมเก้าอี้ดนตรีที่มีอาวุธพร้อมฆ่าตะหาก เพียงแต่เกรงว่าคำว่า สลายการชุมนุมนั้นจะระคายเคืองความเห็นชอบจากชนชั้นกลางเมืองหลวงผู้ทรงคุณธรรมเท่านั้นเอง รัฐยึดเอา public space ที่เป็นของใช้ร่วมกันคืนไปรวมถึงสิทธิ์ใน public sphere  รัฐรุกราน private space ของบุคคลทั้งด้วยข้อกล่าวหาเหมารวมคนชุมนุมบนถนนเป็นผู้ก่อการร้ายและการล้มเจ้า ปล่อยให้ขบวนการข่มขู่ และศาลเตี้ยกระจายไปทั่วอินเทอร์เนตและอีเมล สุดท้ายที่รัฐเอาคืนไปด้วยคือชีวิต เราสมควรเรียกมันว่าเป็นพื้นที่แบบใดกันดีเล่า?  Living space? ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการณ์หรือไม่?

คุณมีไม่ได้แม้แต่พื้นที่ที่จะมีชีวิต โดยมีรัฐเป็นผู้ตัดสิน หากบางอย่างนั้นมีความสำคัญกว่า
แต่มันก็จะไม่มีวันจบแบบเป็นอเนกอนันต์ เพราะมีอีกหลายฟองอากาศที่มีวิญญาณอยู่ข้างในผูกพันอยู่กับวิญญาณที่แตกดับไปนั้น จะผุดโผล่ขึ้นมาถามหาเหตุผลในการแตกดับ รัฐได้เตรียมพื้นที่ไว้ให้คนเหล่านี้หรือไม่ หรือคิดจะปล่อยให้การล่าแม่มดไปจนถึงกระสุนไล่เจาะวิญญาณเหล่านี้ไปเรื่อยๆ เพื่อพื้นที่อันว่างเปล่า?

ศีลธรรมการปกครองแบบพ่อปกครองลูกถูกอ้างอิงหนาแน่นไม่เว้นแม้แต่วงการบันเทิง หรือแม้แต่ในงานออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ ณ ปี พ.ศ.หน้าอย่างไร้บริบททางประวัติศาสตร์ ว่าสิ่งที่รัฐโบราณต้องการยึดครองคือแรงงานหรือคนมิใช่พื้นที่ในแบบรัฐอาณานิคม อำนาจทางศีลธรรมเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ปกครองเพื่อดำรงสถานะที่สูงกว่า ไม่ว่าตำนานเรื่องเล่าผู้ปกครองผู้ทรงธรรมในอดีตนั้นจริงหรือเท็จก็ตาม... เครื่องมือชิ้นนี้ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการครอบครองพื้นที่....

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับรัฐสมัยใหม่แบบอภิสิทธิ์? รัฐนี้มีศีลธรรมสูงส่งแต่ต้องการพื้นที่มากกว่าคน?  รัฐจึงต้องทำcampaign ว่าเรากำลังถูกรุกรานพื้นที่ด้วยคนในชาติเดียวกันเองที่ถูกทำให้เป็นผู้ก่อการร้ายไปเสียก่อนในขั้นแรก  หรืออีกนัยหนึ่งคือทำให้พื้นที่มีค่ามากกว่าคน ชาติสมัยใหม่ได้ให้ความสำคัญกับดินแดนอาณาเขตอย่างสมบูรณ์เสียแล้ว หนึ่งในสามเสาหลักของความเป็นไทยไม่เคยมีประชาชนอยู่ในนิยาม ดังที่จอมพล ป.ต้องระบุเพิ่มเข้าไปในยุคสมัยหนึ่ง ถูกถอดออกในยุคถัดมา และนิยามเด่นชัดยิ่งขึ้นในรัฐอภิสิทธิ์นี้เอง แล้วศีลธรรมก็ทำงานได้ผลกับผู้คนสักครึ่งหนึ่งที่เห็นดีเห็นงามกับความคิดในการออกล่าคืนพื้นที่ ที่แม้จะต้องทำลายมนุษย์หรือความเป็นมนุษย์เพื่อรัฐอันทรงคุณธรรมที่สูงส่งกว่านี้ก็ตาม

น่าจะเป็นรัฐที่ประมาทอย่างยิ่งที่ไม่เหลือช่องว่างทางเลือกให้ตัวเองในฐานะพลเมือง ที่หากวันใดคุณคิดต่าง ก็คงจะต้องหาทางกำจัดตัวเองออกไปจากสังคมล่ะหรือ? ช่างเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่ที่น่าหวาดระแวงสยดสยองเป็นอย่างยิ่ง รัฐแบบนี้สุดท้ายคงเหลือเพียงพื้นที่ว่างเปล่าชิ้นมหึมาที่มีเพียงผู้ปกครองผู้เหลือพื้นที่ในใจอันคับแคบอาศัยอยู่?

ภาพการเผาไหม้จนวอดวายหน้า Central World แม้ไม่มีเครื่องบินลำยักษ์ฝังอยู่ด้านใน แต่สังคมไทยได้พื้นที่ที่มีความพินาศพร้อมความเกลียดชังชิ้นมหึมาฝังติดอยู่ในนั้น มันคือการพังทลายของอาคารกลับสู่ ground zero  ที่เป็นระดับเริ่มต้นอ้างอิงในการออกแบบ ซึ่งอาจเป็นระดับ+0.00 ของสถาปัตยกรรมแห่งการทำลายล้างที่กำลังเริ่มต้น สร้างขึ้นบนแนวความคิดของศีลธรรมและความรักที่มากล้นเสียจนต้องเกลียดฝ่ายอธรรมจนสามารถมองดูการกำจัดทิ้งกันไปข้างหนึ่งได้อย่างเฉยเมย

แล้วข้าพเจ้าก็ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังที่เขียนไว้ข้างต้น เพราะในทุกพื้นที่ที่เราอยู่ร่วมกันนั้นมี “มนุษย์”อยู่เสมอ แม้คุณจะทำให้วิญญาณเขาแตกดับไปแล้วก็ตาม แม้แต่ในการออกแบบพื้นที่ที่ไร้มนุษย์โดยสิ้นเชิงอย่างสุสาน พลังของที่ว่างไม่ใช่กายภาพของมัน แต่คือความรู้สึกถึงวิญญาณที่สิงสถิตในนั้น ให้ผู้ที่ผูกพันเข้ามาสื่อสารกันทางจิตใจ เพื่อปลอบโยนหัวใจว่าทุกคนเหล่านั้นยังมีตัวตน หรือเก็บรักษาความเป็นมนุษย์กันไว้ในพื้นที่สัญลักษณ์ ที่ว่างเหล่านี้จึงไม่เคยว่างเปล่าและไม่มีใครบังอาจมาขอคืนไปจากเขาได้

นี่ไม่ใช่คำสรรเสริญวีรชนเชิงนามธรรมเพื่อปลุกเร้าความเจ็บปวด ข้อเท็จจริงคือความทรงจำที่หนักหน่วงในใจมนุษย์ตะหากที่ทำให้คนออกไปสร้างพื้นที่ของตัวเองต่อไปไม่จบสิ้น เพื่อรำลึก ค้นหาความจริง แสดงตัวตนแท้จริงที่เขาเคยถูกกล่าวหาหรือถูกเหยียดหยามอย่างไม่เป็นธรรม ตราบใดที่คำอธิบายไม่พอเพียง เขาและเราก็จะไม่รู้ว่าจะให้อภัยแก่ใคร ตัวอย่างก็มีให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์ชาวยิวยังถูกสร้างกันอยู่เกือบทุกมุมโลกไม่หยุด เพราะทุกชีวิตที่เคยถูกแย่งชิงพื้นที่ความเป็นมนุษย์ไปนั้น ชีวิตในรุ่นถัดๆ มาล้วนพร้อมจะมอบพื้นที่คืนให้เขา เพื่อให้เรื่องเล่าที่ไม่ถูกเล่าได้ปลดปล่อยออกมาจากการกดทับจนหมดสิ้นครบทุกหน่วยชีวิต

ส่วนพื้นที่ว่างเปล่าที่คุณได้ครอบครองกลับคืนไป มันคือหัวใจที่ว่างโหวงของตัวเอง ที่คุณผลักเพื่อนมนุษย์ออกไปจนหมด แล้วคุณก็คงจะต้องมีชีวิตอยู่กับมันตลอดไป ขอให้ท่านเหล่านี้โชคดีมีชัย

  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net